ศาลอาญาทุจริตฯ พิพากษาคดีเงินทอนวัดสำนวนสอง สั่งจำคุกอดีตพระพรหมดิลก-เจ้าอาวาสวัดสามพระยา 6 ปี อดีตพระอรรถกิจโสภณ-ผู้ช่วยเจ้าอาวาส 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานร่วมกันฟอกเงิน 5 ล้านบาท ทุจริตจัดสรรงบโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้งที่ไม่มีโรงเรียน แต่นำไปใช้ก่อสร้างอาคาร ทนายเผยอุทธรณ์ต่อไป
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อท.196/2561 คดีฟอกเงินทุจริตจัดสรรงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ของวัดสามพระยา ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 1 ได้ยื่นฟ้องนายเอื้อน กลิ่นสาลี อดีตพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา, กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร กับนายสมทรง อรรถกฤษณ์ อดีตพระอรรถกิจโสภณ และเลขาฯ เจ้าคณะกรุงเทพ เป็นจำเลยที่ 1-2
ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต เพื่อให้ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานฯ, ร่วมกันฟอกเงิน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กรณีร่วมกันฟอกเงินจากการทุจริตจัดสรรเงินงบประมาณ พศ. ปี 2557 ให้กับวัดสามพระยา จำนวน 5 ล้านบาท ในงบส่วนอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งที่ไม่มีโรงเรียน โดยเจ้าอาวาสวัดสามพระยา นำงบที่ได้มานั้นไปใช้ก่อสร้างอาคารร่มธรรมแทน ทั้งที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินนั้นมาตั้งแต่แรก ซึ่งอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2561
ขณะที่อดีตพระเถระทั้งสอง ได้สึกจากความเป็นพระและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่การฝากขังในชั้นสอบสวนนับจากวันที่ 24 พ.ค. 2561 จนถึงการพิจารณาในชั้นศาล เนื่องจากไม่ได้ยื่นคำร้องและหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราว
โดยวันนี้ (16 พ.ค.) ศาลได้เบิกตัวจำเลยทั้งสองมาฟังคำพิพากษา ซึ่งสวมชุดสีขาว วันนี้มีพระลูกวัดและญาติโยมได้ติดตามมาร่วมให้กำลังใจอดีตพระเถระผู้ใหญ่ทั้งสองคน และร่วมฟังผลคำพิพากษา
ซึ่งศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนพยานโจทก์-จำเลยแล้ว ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า เมื่อปี 2556-2557 พศ.ได้มีการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2557 จำนวน 72 ล้านบาทให้กับวัดต่างๆ เพื่อสนับสนุนโครงการ รร.พระปริยัติธรรมฯ โดยวัดสามพระยาเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ได้รับงบประมาณมา 5 ล้านบาท จากนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.พศ.ขณะนั้น ต่อมาจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์ร่วมเบิกเงินจากบัญชีวัด ได้มอบอำนาจให้ฆราวาสเบิกถอนเงินจากบัญชีภายหลังนำเช็คที่เป็นเงินที่ได้รับสนับสนุนจาก พศ. ในโครงการ รร.พระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา
ซึ่งข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนรับฟังได้ว่า มีการเบิกถอนเงินจากบัญชีของวัด จำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรก 500,000 บาท, ครั้งที่สอง 1.9 ล้านบาท และครั้งที่สาม 1.68 ล้านบาท โดยเมื่อเบิกถอนเงินมาแล้วได้นำเข้าบัญชีเงินฝากของวัด จำเลยทั้งสองได้นำเงินดังกล่าวโอนเข้าบัญชีนางวิภาพร อุดมโชคปิติ ทั้งที่ความจริงแล้ววัดสามพระยาไม่มี รร.พระปริยัติธรรมฯ แต่อย่างใด
ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเงินดังกล่าวเป็นการอนุมัติตามที่เคยมีหนังสือ 2 ฉบับ ของบประมาณในการก่อสร้างอาคารร่มธรรมและอาคารสงฆ์นั้น ศาลเห็นว่า จากการตรวจสอบเอกสารของบจาก พศ. ไม่ได้มีการลงเลขรับจากหน้าห้องนายนพรัตน์ อดีต ผอ.พศ. อย่างถูกต้อง และยังได้ความจากเจ้าหน้าที่ พศ. ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกันไว้เป็นพยาน ระบุว่างบที่จัดสรรนั้นยังมีในส่วนของวัดอื่น โดยก่อนหน้าวัดสามพระยา ก็มีการจัดสรรให้วัดอื่นที่มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล
จึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองรู้ดีอยู่แล้วว่างบดังกล่าวเป็นงบเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม ส่วนเอกสารที่จำเลยที่สองอ้างว่าเจ้าหน้าที่ พศ.ได้นำมาให้ โดนเว้นช่องรายละเอียดไว้ เพียงแค่ให้ลงชื่อนั้น ก็เป็นการนำมากล่าวอ้างหลังจากตรวจพยานหลักฐานคดีนี้ 1 นัดไปแล้ว ทั้งที่จำเลยอ้างว่าเป็นพยานหลักฐานสำคัญ ซึ่งเป็นเพียงสำเนา ไม่มีเอกสารตอบการรับเงินด้วย ทั้งที่เป็นเอกสารที่ควรอยู่คู่กัน ดังนั้นที่จำเลยอ้างว่าเป็นเพียงการใช้งบที่ผิดวัตถุประสงค์รับฟังไม่ได้ เพราะงบดังกล่าววัดสามพระยาไม่มีสิทธิได้รับตั้งแต่แรก ซึ่งหากเป็นการใช้ผิดวัตถุประสงค์ งบที่ได้มานั้นก็ต้องได้มาตามสิทธิที่ถูกต้องด้วย
พยานหลักฐานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนัก และรับฟังได้ว่าเงินดังกล่าวมาจากการทุจริตจัดสรรงบของ พศ. ซึ่งจำเลยทั้งสองรู้ดีว่าเงินที่ได้มาใช้เพื่อสนับสนุนการศึกษา รร.พระปริยัติธรรมเท่านั้น โดยการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็เป็นเจ้าพนักงานปกครองวัด จะต้องได้รับโทษเป็นสองเท่า
โดยเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์คดีนี้แล้ว เห็นว่าแม้จะมีการเบิกเงินในบัญชี 3 ครั้ง ครั้งแรกเช้าวันที่ 13 ธ.ค.2556 จำนวน 500,000 บาท แต่เงินจำนวนนี้เป็นเงินที่คงอยู่ในบัญชีของวัดสามพระยา ที่คงเหลืออยู่ 1.63 ล้านบาทเศษ เพราะเมื่อได้รับเช็คงบประมาณ 5 ล้านบาทมาแล้ว ได้นำเข้าเช็คต่างธนาคารในวันที่ 12 ธ.ค.2556 ซึ่งจะเบิกจ่ายได้ช่วงบ่ายของวันถัดไป จึงเป็นการเบิกจ่ายเงินของวัดที่มีอยู่เดิม
ส่วนครั้งที่ 2 วันที่ 7 ม.ค.2557 จำนวน 1.9 ล้านบาท และครั้งที่ 3 วันที่ 14 ม.ค.2557 ที่เบิกไป 1.68 ล้านบาทเศษนั้น รับฟังได้ว่าเป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณดังกล่าว โดยมีการเบิกเข้าบัญชีนางวิภาพร และไปฝากบัญชีเงินฝากประจำชื่อบัญชีของวัดจนได้รับดอกเบี้ย แล้วถอนเงินดังกล่าวไปใช้ก่อสร้างอาคารร่มธรรมและอาคารพักสงฆ์ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการรับโอนเงิน และเปลี่ยนสภาพจากการกระทำผิด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 5 (1) (2), 60 ประกอบประมวลกฎหมายมาตรา 83
ส่วนที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือโดยทุจริต และฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายมาตรา 157 เห็นว่าจะต้องเป็นเจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่ในการปฏิบัติโดยตรง แต่เหตุที่เกิดขึ้นเป็นการมอบอำนาจเบิกเงินจากบัญชี จึงไม่ใช่อำนาจโดยตรง จึงไม่มีความผิดตามฟ้องในข้อหานี้
พิพากษาว่า กระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดต่างกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายมาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันฟอกเงิน 2 กระทง กระทงละ 2 ปี ให้จำคุกนายเอื้อน หรืออดีตพระพรหมดิลก รวมจำคุก 6 ปี และนายสมทรง หรืออดีตพระอรรถกิจโสภณ จำเลยที่ 2 จำคุก 2 กระทง กระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี
ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายโกศล ใสสุวรรณ ทนายความอดีตพระพรหมดิลก จำเลยที่ 1 เปิดเผยว่า จะอุทธรณ์สู้แน่นอนคดี โดยศาลพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 6 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 (ผู้ช่วยเจ้าอาวาส) เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษที่เราเห็นว่าศาลสามารถจะรอลงอาญาได้ นอกจากนี้สำหรับคดีฟอกเงินก็เคยมีคดีของเบนซ์ เรซซิ่ง ที่ศาลสั่งจำคุก 8 ปี ต่อมาได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ดังนั้นในสัปดาห์หน้าเราก็จะพิจารณาขอยื่นประกันตัวอดีตพระพรหมดิลก และอดีตพระอรรถกิจโสภณ จำเลยที่ 1-2
ส่วนประเด็นที่จะอุทธรณ์สู้คดีนั้น แม้ข้อเท็จจริงยุติว่าวัดสามพระยา ไม่มี รร.พระปริยัติธรรมแผนกสามัญฯ แต่วัดได้ของบอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์อาคารร่มธรรม และ พศ.ได้พิจารณางบประมาณให้แล้ว ซึ่งวัดสามพระยาได้มอบฉันทะไปทำเรื่องรับเช็คจำนวน 5 ล้านบาท แล้วนำมาใช้ก่อสร้างอาคารจริงๆ จึงไม่ใช่การทุจริต และเราเห็นว่าขั้นตอนวิธีทางปฏิบัติโอนเช็คดังกล่าว พศ.ใช้กับทุกวัด แต่ถ้าเป็นเงินอุดหนุน รร.พระปริยัติธรรม พศ. จะใช้ช่องทางโอนเงินเข้าบัญชีของวัดโดยตรง ซึ่งเราอุทธรณ์จะสู้ในประเด็นนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีทุจริตการจัดสรรงบประมาณ พศ. นับตั้งแต่ปี 2557 ให้กับวัดต่างๆ ทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัดและวัดในพื้นที่ กทม. มูลค่านับ 150 ล้านบาทนั้น พนักงานสอบสวนได้กล่าวหาอดีตพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ทั้งวัดสามพระยา, วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กับกลุ่มฆราวาส และกลุ่มข้าราชการสำนัก พศ. รวมกว่า 20 ราย
ส่วนกรณีที่ยังมีการกล่าวหาอดีตพระเถระชั้นผู้ใหญ่ต่างจังหวัด ร่วมกับข้าราชการสำนัก พศ. ฟอกเงินที่ได้จากการฉ้อฉลจูงใจให้วัดพื้นที่ต่างจังหวัดมาร่วมรับการจัดสรรงบประมาณ พศ.ในส่วนที่เป็นเงินอุดหนุนให้ 12 วัด 13 รายการ จำนวน 28 ล้านบาท ที่กำหนดให้ใช้ในการบูรณะซ่อมแซมวัด หรือเพื่อโครงการศึกษาพระปริยัติธรรม หรือโครงการเผยแผ่กิจกรรมทางศาสนานั้น แล้วภายหลังได้เรียกเงินคืนไปเป็นประโยชน์พวกตัวเองนั้น ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เพิ่งตัดสินคดีสำนวนแรกไปเมื่อวันที่ 18 เม.ย.2562 โดยพิพากษาจำคุก 26 ปี โดยไม่รอลงอาญา นายสมเกียรติ ขันทอง อายุ 55 ปี อดีตพระครูกิตติ พัชรคุณ และอดีตเจ้าคณะอำเภอชนแดน จ.เพชรบูรณ์ และเจ้าอาวาสวัดลาดแค ในความผิดฐานฟอกเงิน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |