"ปรีชา" โผล่รายงานตัว ส.ว. ปัดกดดันบอก "ปกติไม่มีอะไร" สุรชัยยังเหนียมลุ้นรองประธานวุฒิฯ ขอเวลาทุกคนพิสูจน์ตัวเอง รับชื่อ "บิ๊กตู่" ไว้พิจารณานั่งนายกฯ "วิษณุ" ชี้ปม "ชยุต" อยู่ขั้นตอนตรวจสอบ หากพบขัด กม.เลื่อนสำรองขึ้นแทนได้ ยันคสช.ใช้งบสรรหาไม่กี่พันบาท เล็งเปิดรายชื่อ กก.สรรหาเร็วๆ นี้
ที่อาคารสุขประพฤติ ถนนประชาชื่น ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเปิดให้รายงานตัว ส.ว. ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นวันที่ 3 มี ส.ว.ทยอยมารายงานตัวเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้า โดยมี พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร มารายงานตัวเป็นคนแรก จากนั้น ส.ว.คนอื่นๆ ทยอยเข้ารายงานตัวตามลำดับ อาทิ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม, พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), นายสุธี มากบุญ อดีต รมช.มหาดไทย, นายลักษณ์ วจนานวัช อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์
โดย พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวถึงบทบาทการทำงาน ของ ส.ว. เป็นเอกภาพเหมือนครั้ง สนช.หรือไม่ ว่า บทบาทมีบางส่วนที่เหมือนกัน เพราะตอนทำหน้าที่ สนช. เป็นทั้ง ส.ส.และ ส.ว. พิจารณากฎหมายในสภาเดียวกัน จึงเป็นการทำหน้าที่ต่อเนื่องจาก สนช. ที่พิจารณากฎหมายคล้ายกัน และเกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว ส่วนความเป็นเอกภาพ ส.ว.นั้น คงมีเหมือนตอนเป็น สนช. เพราะเรามาด้วยกัน คัดเลือกและอยู่ในกลุ่มคนในลักษะที่เข้าใจกันและมีเป้าหมายเดียวกันในการทำงานในสภาเดียวกัน
เมื่อถามว่า ส.ว.จะโหวตเลือกนายกฯ เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้ง 250 คนหรือไม่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ระบุว่า คงตอบแทนสมาชิกคนอื่นไม่ได้ แต่ละคนมีดุลพินิจแตกต่างกันไป เชื่อว่าคนที่จะมาเป็นนายกฯต่อไปในอนาคต จะต้องเป็นคนที่ประชาชนคาดหวัง และประสงค์ให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไป การทำงานของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่มีอะไรขัดแย้งกัน
เมื่อถามย้ำว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลือก ส.ว.มา และ ส.ว.มาเลือกคนที่จะเป็นนายกฯ ต่อ ถือเป็นการต่างตอบแทนผลประโยชน์กันหรือไม่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ตอบว่า ไม่ถือว่าเป็นการต่างตอบแทน เพราะบทบาทของ คสช.จะต้องเลือกส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่การโหวตเลือกนายกฯ ถือเป็นบทบาทหนึ่งของ ส.ว.
ต่อมาเวลา 11.30 น. พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางมารายงานตัวการเป็น ส.ว. จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ถามถึงแรงกดดันในการทำหน้าที่ ส.ว. หลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทำงานสมัยดำรงตำแหน่งสมาชิก สนช. และการที่เป็นน้องชายของนายกรัฐมนตรี ซึ่ง พล.อ.ปรีชาตอบเพียงสั้นๆ ว่า “ปกติไม่มีอะไร" เมื่อถามว่ามีอะไรจะชี้แจงหรือไม่ พล.อ.ปรีชากล่าวว่า “ไม่มี วันนี้มาแสดงตน”
ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. อดีตรองประธาน สนช. กล่าวภายหลังเข้ารายงานตัวว่า ในส่วนของตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา อย่าเพิ่งถามตนเลย เป็นกติกา ซึ่งขึ้นอยู่กับที่ประชุม ตนตั้งตัวเองไม่ได้ ส่วนเสียงวิจารณ์ ส.ว.ว่าเป็นคนหน้าเดิมๆ ที่เคยทำงานในแม่น้ำ 5 สายนั้น ตนรับฟังทุกความเห็นที่สะท้อนกลับมา และเชื่อว่าสมาชิกทุกคนรับฟังเช่นกัน ซึ่งคงใช้เวลาในการทำงานพิสูจน์ตัวเองกับข้อติติงต่างๆ ว่าที่สุดแล้ว ส.ว.ชุดนี้จะสามารถทำงานตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ส่วนงานแรกของ ส.ว.ที่จะโหวตเลือกนายกฯ จะเป็นงานที่พิสูจน์ว่า ส.ว.มีความเป็นอิสระได้เลยหรือไม่นั้น อยากให้ ส.ว.พิสูจน์ให้ทุกคนเห็น
"การโหวตเลือกนายกฯ เป็นกติกาที่เขียนอยู่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น เมื่อกติกาออกมาเป็นแบบนี้ และผ่านการทำประชามติจากประชาชน กลไกก็ต้องเดินตามนี้ แต่สิ่งสำคัญ ส.ส.มีส่วนสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ส.ว.ไม่มีสิทธิ์ เรามีหน้าที่แค่พิจารณาร่วมเท่านั้น ทั้งนี้ จุดเริ่มมาจาก ส.ส. จึงฝากกลับไปยัง ส.ส.ว่าท่านคือด่านแรกที่จะพิจารณาเสนอชื่อต่อที่ประชุมรัฐสภา ว่าผู้ที่มีความเหมาะสมในการทำหน้าที่เป็นนายกฯ เป็นใคร และควรเป็นคนที่ ส.ส.เห็นชอบเป็นเสียงส่วนใหญ่ก่อน" นายสุรชัยระบุ
เมื่อถามว่า หากมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ จะโหวตให้หรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า ก็เป็นหนึ่งในรายชื่อที่เราจะรับไว้พิจารณา ส่วนจะต้องมีการประชุม ส.ว.ทั้ง 250 คนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ ส.ว.ว่าจะหารือเกี่ยวกับรายชื่อที่ถูกเสนอมา ว่าคนไหนมีความเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์บ้านเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีต รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวภายหลังเข้ารายงานตัวเป็น ส.ว. ถึงการเปลี่ยนตำแหน่งจากรัฐมนตรี เป็น ส.ว. เป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่ว่า ตนเปลี่ยนผ่านตำแหน่งต่างๆ ในบ้านเมืองมาพอสมควร ซึ่งการทำหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามภารกิจของรัฐธรรมนูญ ไม่อยู่ภายใต้อาณัติ โดยทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และประชาชน
เมื่อถามว่า จะโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกหรือไม่ นายวีระศักดิ์กล่าวว่า เป็นสิ่งที่วิจารณ์ได้ แต่ภารกิจแรกคือการปฏิญาณตนให้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะตัดสินใจอะไรทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม คนที่เป็นนายกฯ ควรมีความสามารถทำประโยชน์ให้ประเทศ พร้อมเสียสละเรื่องต่างๆ และทำให้ฝ่ายต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกันได้
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเมื่อวันที่ 19 ส.ค.2551 ชี้มูลความผิด นายชยุต สืบตระกูล ส.ว. ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินตาบอดจอดรถขยะกรุงเทพมหานคร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. และปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างฎีกา จะส่งผลให้มีคุณสมบัติต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.หรือไม่ ว่าทราบเรื่องแล้ว แต่ยังไม่สามารถตอบได้ ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบอยู่ หากพบว่าขัดก็พ้นไป ลำดับสำรองก็เลื่อนขึ้นมา เราให้เจ้าตัวเป็นคนเซ็นรับรองคุณสมบัติทั้งหมดเอง เพราะไม่สามารถไปตรวจสอบได้ และจนถึงตอนนี้นายชยุตยังไม่ได้ติดต่อมาเพื่อขอชี้แจงอะไร
เมื่อถามว่า ต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อนหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ขอตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามไม่มีข้อกฎหมายกำหนดว่าต้องชี้แจงภายในกี่วัน แต่เมื่อประกาศรายชื่อไปแล้ว ใครร้องขึ้นมาเป็นเรื่องของการพ้นไปหรือลาออก แล้วก็เลื่อนคนมาแทน ซึ่งจะทำเมื่อไหร่ก็ได้
นอกจากนี้ ที่ไปพูดกันว่ามีการใช้งบประมาณในการคัดเลือก ส.ว.ถึง 1,300 ล้านบาทนั้น เป็นการใช้ในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องหาคนเป็นพันเป็นหมื่น ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด อีกทั้งต้องเช่าสถานที่ แต่ส่วน ส.ว. 194 คนนั้น เข้าใจว่าใช้งบประมาณเพียงไม่กี่พันบาทเท่านั้น เพราะ คสช.ที่เป็นกรรมการสรรหา ไม่ได้มีเบี้ยประชุม และถ้าจะมีค่าใช้จ่ายก็เป็นแค่เรื่องเอกสาร
ส่วนที่พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว.นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร สามารถเปิดเผยได้ และ คสช.คงจะเปิดเผยในไม่ช้านี้ แต่ยังไม่ทราบว่าจะเป็นเมื่อไร โดย คสช.ตั้งใจมาตั้งแต่แรกว่าเมื่อประกาศรายชื่อส.ว.เสร็จแล้วก็ต้องเปิดเผย ซึ่งตนเข้าใจว่าเคยมีการร้องเรื่องนี้ไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินถามมา ทาง คสช.เคยส่งคำสั่งสำเนาแต่งตั้งไปให้
เมื่อถามว่า จะชี้แจงสังคมอย่างไรต่อข้อวิจารณ์ที่ว่ากรรมการสรรหา ส.ว.บางคนมาเป็น ส.ว.เสียเอง นายวิษณุชี้แจงว่า ในระหว่างเวลาพิจารณา จะไม่มีการพิจารณาตัวเอง ถ้าไม่เดินออกจากที่ประชุมก็ไม่ออกความเห็น ซึ่งได้ทำแบบนี้ และได้เตือนในเรื่องนี้ไปแล้ว จึงไม่คิดว่าเป็นปัญหาอะไร ทั้งนี้ มีการประชุม 3 ครั้ง ครั้งละหลายชั่วโมง ยืนยันได้ เพราะอยู่ในที่ประชุมด้วย ส่วนในชั้น คสช.นั้น อาจจะอยู่ไม่ครบ แต่ทราบว่าเจ้าตัวไม่มีส่วนในการออกความเห็นในส่วนของตัวเอง
เมื่อถามว่า มีหลักฐานนำมายืนยันและเผยแพร่ต่อสาธารณะหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า มีการจดรายงานการประชุมไว้ แต่จะเผยแพร่ได้หรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพราะรายงานการประชุมของ คสช.นั้นเผยแพร่ไม่ได้ อย่างไรก็ดี หากมีคดีความ สามารถส่งรายงานการประชุมที่ว่านี้ไปได้ ไม่ได้ลำบากอะไร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |