ทีวีดิจิทัล : เยียวยานายทุน แต่ลงโทษคนทำสื่อ?


เพิ่มเพื่อน    

       มาตรการ “เยียวยา” ผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลผ่านมาตรา 44 ของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เกิดคำถามตามมามากมายหลายประการ อาทิ

        ๑.เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเมื่อผู้ประกอบการได้รับการเยียวยา และมีการคืนใบอนุญาต 7 ช่อง คนทำสื่อจะตกงานในคราวเดียวกันเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ประมาณกันว่าอาจจะมีคนในแวดวงสื่อกลายเป็นคนว่างงานฉับพลันถึง 2,000 คน คำถามคือ พวกเขาจะได้รับ “ค่าชดเชย” ตามกฎหมายแรงงานโดยไม่มีค่า “เยียวยา” เหมือนเจ้าของสถานีกระนั้นหรือ? พวกเขาทำอะไรผิดหรือจึงถูก “ลงโทษ” เช่นนี้?

                องค์กรสื่อทั้งหลายได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ กสทช. และเจ้าของสื่อได้พิจารณาเยียวยาคนทำสื่อที่ตกงานครั้งนี้ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งแปลว่าจะต้องสูงกว่าที่กำหนดโดยกฎหมายแรงงาน เพราะความล้มเหลวของนโยบายเรื่องทีวีดิจิทัลมาจากการประเมินที่ผิดพลาดของ กสทช. และผู้ประกอบการเอง มิใช่ความผิดของคนทำสื่อที่ตั้งหน้าตั้งตาจะทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดในสภาพที่ท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์ของอาชีพสื่อสารมวลชน

        ๒.สำหรับคนทำสื่อที่ยังมีงานทำต่อไป พวกเขาและเธอจะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมืออาชีพ มีอิสระตามหลักการจริยธรรมสื่อ เป็นปากเสียงประชาชน เป็น “หมาเฝ้าบ้าน” และเป็นที่หวังพึ่งของประชาชนได้เพียงใด?

        ๓.ประชาชนและสังคมในส่วนรวมได้ประโยชน์อย่างไรจากมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลของ กสทช.ครั้งนี้?

        ๔.อนาคตของการแข่งขันในวงการสื่อทีวีในรูปแบบต่างๆ จะเป็นเช่นไร? การหลับหูหลับตาแข่งขันชิง ratings เพื่อเอาใจบริษัทโฆษณาโดยไม่คำนึงถึงมาตรฐานแห่งสื่อที่มีคุณภาพจะมีผลต่อสังคมโดยรวมอย่างไร?

        ๕.การ “สูญพันธุ์” ของทีวีสำหรับเด็กและครอบครัวจะมีผลร้ายต่อเยาวชน, สถาบันครอบครัวและสังคมส่วนรวมอย่างไร?

                ตอนที่ กสทช.เปิดประมูลทีวีดิจิทัลนั้นได้อ้างว่าการที่แยกให้มีการแข่งขันเพื่อมีช่องสำหรับเด็กและครอบครัวนั้นจะทำให้มีรายการมีคุณภาพสำหรับเยาวชนของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม แต่แล้วก็ปรากฏว่า แม้จำนวนเงินค่าสัมปทานของช่องเด็กจะต่ำกว่าช่องประเทศข่าวและบันเทิง แต่ก็ไม่อาจจะหารายได้ให้อยู่รอดได้ เหตุเป็นเพราะ กสทช.ยังยืนยันว่าช่องเด็กต้องเป็น “ธุรกิจ” เหมือนช่องประเภทอื่นๆ ทั้งที่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าการจะให้มีเนื้อหาที่เหมาะสำหรับเด็กและครอบครัวนั้นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐมากกว่าที่จะให้เอกชนดิ้นรนหาเงินส่งรัฐอย่างที่เป็นอยู่

        ๖.หากสื่อเพื่อการพาณิชย์อยู่ภายใต้อิทธิพลของทุนและต้องพึ่งพารายได้จากโฆษณา เราจะหวังว่าสื่อจะทำหน้าที่รับใช้ประโยชน์สาธารณะอย่างซื่อสัตย์และรักษาอุดมคติแห่งการเป็น “สื่อเพื่อมวลชน” ได้อย่างไร?

        ๗.คนทำสื่อที่กำลัง “อึดอัด” กับบรรยากาศการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าของ ไม่สามารถจะรายงานข่าวแสะแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาจะดำรงความภาคภูมิในศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพสื่อได้อย่างไร?

        ๘.การที่สื่อทีวีส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้ “เจ้าสัว” และ “นายทุนใหญ่” ภายใต้โครงสร้างปัจจุบัน จะทำให้สังคมคาดหวังว่าสื่อจะทำหน้าที่ตนในการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของสังคมที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของธุรกิจยักษ์ได้อย่างไร?

                ประเทศใดไม่มีสื่อที่เป็นอิสระและกล้ารายงานความจริง ย่อมไม่อาจจะสร้างสังคมประชาธิปไตยขึ้นมาได้ เพราะจะขาดการตรวจสอบผู้มีอำนาจและอิทธิพลทั้งด้านการเมืองและทุน และสังคมจะขาดพลังที่จะต่อสู้กับการผูกขาดของกลุ่มทุนที่มุ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มตนเป็นหลัก

        ๙.ในสภาวะเช่นนี้ เราจะคาดหวังว่าคนรุ่นใหม่ที่มีความใฝ่ฝันจะเป็น “สื่อมวลชนอาชีพ” ที่มุ่งมั่นจะ “ทำความจริงให้ประจักษ์” จะยังมีความทุ่มเทที่จะฝึกฝนตนเองให้เข้ามาในวงการสื่อได้หรือไม่อย่างไร? หากไม่มีคนรุ่นใหม่มารับไม้ต่อจากสื่อมืออาชีพ, อนาคตของคนในวงการสื่อจะมีมาตรฐานอย่างไร?

        ๑๐.ได้เวลาที่สังคมไทยจะระดมสมองอย่างจริงจังเพื่อสร้างกลไกแห่ง “สื่ออิสระและเสรี” ที่รับใช้สังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือยัง?.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"