เรียบร้อยโรงเรียน "อู๊ดด้า"
ความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เหมือนพรรคการเมืองอื่นจริงๆ
ถูกด่า ถูกค่อนแคะเยอะ
เหยียดหยามว่า เป็นพรรคอนุรักษนิยม ล้าหลัง
เป็นพรรคหนุนเผด็จการ สมุนอำมาตย์
หนุน คสช.สืบทอดอำนาจ
ไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตย
แต่....เลือกหัวหน้าพรรควานนี้ (๑๕ พฤษภาคม) เป็นไงครับ
บรรยากาศประชาธิปไตยจ๋า
มีการเลือกเป็นระบบ เป็นเรื่องเป็นราว
ย้อนกลับดูวันเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฝ่ายประชาธิปไตยเขาซิครับ
มีแต่ข่าวนายใหญ่จิ้ม นายใหญ่สั่ง
จนถึงวันนี้ทิศทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ยังอิมพอร์ตจากดูไบ
กลับมาที่ พรรคประชาธิปัตย์
มีผู้เสนอตัวชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ๔ คน
๑.จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
๒.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
๓.กรณ์ จาติกวณิช
๔.อภิรักษ์ โกษะโยธิน
การนับคะแนนจากโหวตเตอร์ ๓๐๙ คน
กลุ่มแรกสัดส่วน ส.ส.จำนวน ๕๒ คน คิดเป็นคะแนน ๗๐%
คือให้น้ำหนักโหวตเตอร์จาก ส.ส. มากกว่าสมาชิกพรรค
ผล จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้คะแนนนำเป็นอันดับ ๑ ได้ ๒๕ คะแนน
ตามด้วย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ๒๐ คะแนน กรณ์ จาติกวณิช ๕ คะแนน และอภิรักษ์ โกษะโยธิน ๒ คะแนน
ส่วนกลุ่มที่สอง ๓๐% จากสมาชิกพรรค ๒๕๗ คน มาจากรักษาการกรรมการบริหารพรรค อดีตหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค อดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมาชิก อบจ. สมาชิกเทศบาล หัวหน้าสาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ตัวแทนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ตัวแทนสมาชิกสภาเขต และอดีตผู้สมัคร ส.ส.
ผล...เทคะแนนให้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เช่นกัน
ครับ...นี่คือการเลือกหัวหน้าพรรคที่ฝ่ายประชาธิปไตยตะโกนว่าเป็นพวกเผด็จการ
ที่น่าสนใจนับจากนี้คือ ประชาธิปัตย์จะเดินไปทางไหน
ร่วมรัฐบาล?
หรือจะเป็นฝ่ายค้านลอยไปลอยมา ไม่ร่วมขบวนการสืบทอดอำนาจ คสช. ตามแรงยุของพวกเสพติดมวลชน
บทเรียนจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาน่าจะสอนให้ประชาธิปัตย์รู้ว่าควรไปทางไหน
จะกอบกู้พรรคด้วยการปิดพรรคไม่เข้ากับใคร
เพื่อไทยก็ไม่เอา พลังประชารัฐก็ไม่ไป
หรือจะเข้าถ้ำเสือ ไปดึงฐานเสียงจากพลังประชารัฐกลับ
ทางเลือกน่าจะมีอยู่แค่นี้
หรือคิดว่ารัฐบาลหน้าเสียงปริ่มน้ำอยู่ได้ไม่กี่เดือน ต้องเลือกตั้งใหม่ การอยู่กับเผด็จการจะทำให้ประชาธิปัตย์เสียรังวัดหนักเข้าไปอีก
ก่อนอื่นประชาธิปัตย์คงจะรู้ดีว่า คนที่เลือกพรรคเพื่อไทย ไม่มีทางที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์
ส่วนคนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐ เกือบครึ่งคือคนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์
ถ้ามองโจทย์นี้ออก การฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
ไม่ใช่ดูถูก พรรคพลังประชารัฐ มีแนวโน้มเป็นพรรคเฉพาะกิจสูงมาก เพราะโครงสร้างพรรคอ่อนแอ รวมกลุ่มร้อยพ่อพันแม่มากเกินไป
แต่ละมุ้งมีประวัติที่ไม่โสภานัก
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
สุชาติ ตันเจริญ
วิรัช รัตนเศรษฐ
สมศักดิ์ เทพสุทิน
ฯลฯ
เห็นชื่อชั้นนักการเมือง ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่ ประชาธิปัตย์จะกอบกู้พรรคคืนมา
ถ้ายังเห็นอะไรไม่ชัด ลองไปศึกษาความเป็นประชาธิปัตย์ในรัฐบาลหม่อมน้อง-หม่อมพี่ ช่วงปี ๒๕๑๘-๒๕๑๙ แล้วจะเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ควรเดินไปข้างหน้าอย่างไร
๑๘ เสียงพรรคกิจสังคม ส่งให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลสหพรรคได้อย่างเหลือเชื่อ
หากพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เป็นรัฐบาลที่ ๒๐ พรรค ก็ไม่น่าวิตกเกินเหตุ เพราะรัฐบาลสหพรรคของหม่อมน้องมีถึง ๑๖ พรรค
ไม่มากไม่น้อยกว่ากันเท่าไหร่
แต่ที่ต้องเรียนรู้คือการบริหารจัดการ
ถ้ามองแค่เผินๆ รัฐบาลสหพรรค แถมพรรคนายกฯ มีแค่ ๑๘ เสียง จะไปอยู่ยืดได้อย่างไร
เมื่อลงไปดูในรายละเอียด จะพบว่าอยู่มาได้อย่างไรตั้ง ๙ เดือนเศษ
เลือกตั้งปี ๒๕๑๘ ไม่ใช่ปีวิกฤติของประชาธิปัตย์ เพราะได้รับเลือกเป็นลำดับที่ ๑ มี ๗๒ เสียง แต่เลือกตั้งปีถัดไป มาเป็นกอบเป็นกำถึง ๑๑๔ เสียง
จะบอกว่าหม่อมพี่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กอบกู้พรรคคงไม่ได้ แต่เป็นเกมที่ต้องเดินบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยอิทธิพลของกองทัพ
บทบาทของประชาธิปัตย์ในอดีต น้อยคนที่จะพูดถึง
แม้แต่คนในประชาธิปัตย์คงลืมไปแล้วว่า การฟาดฟันกับพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นพรรคคนละสายพันธุ์ โดยเฉพาะพรรคธรรมสังคม ของ ทวิช กลิ่นประทุม และ พรรคชาติไทย โดยพลตรีประมาณ อดิเรกสาร นั้น สาหัสแค่ไหน
๙ เดือนเศษของรัฐบาลคึกฤทธิ์ บนวิกฤตการณ์การเมืองทั้งในและนอกประเทศ นักการเมืองรุ่นหลังควรดูเป็นแบบอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติจากสงความเวียดนาม
การเผชิญกับลัทธิคอมมิวนิสต์
ความขัดแย้งกันเองในพรรคร่วมรัฐบาล
เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลหม่อมพี่
ยกมาชัดๆ ก็กรณีจอมพลประภาส จารุเสถียร และจอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางกลับเข้าประเทศไทย
กรณีของจอมพลประภาส ลักลอบเดินทางเข้าประเทศเดือนสิงหาคม ๒๕๑๙ ก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ส่วนรัฐบาลก็แตกเป็นสองฝ่าย
ประชาธิปัตย์ยืนยันให้ส่งตัวกลับออกไป
แต่ชาติไทยกับธรรมสังคมยืนกราน จอมพลประภาสมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะเดินทางเข้า-ออก ประเทศไทยในฐานะคนไทยคนหนึ่ง
การกลับมาของจอมพลถนอมหลังจากนั้นกลายเป็นว่า รัฐมนตรีของประชาธิปัตย์ ไม่ได้คัดค้านมากนัก เพราะมองเห็นว่า พลังของนักศึกษา ประชาชน ได้อ่อนแอลง
แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้คิดแบบนั้น
มีการบีบให้ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของพรรคประชาธิปัตย์ลาออก เพื่อรับผิดชอบ
เพราะเห็นว่าไม่มีความจริงใจ
และไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะผลักดันจอมพลประภาสกลับออกไปได้
ทั้งๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง
เกมนี้พรรคประชาธิปัตย์รู้ดีว่า พรรคชาติไทยกับพรรคธรรมสังคม ไม่ให้ความร่วมมือ
แถมคนในประชาธิปัตย์ยุคนั้นตั้งข้อสังเกตว่า การเดินทางเข้ามาของจอมพลประภาสนั้น เป็นแผนของพรรคชาติไทย ร่วมมือกับกลุ่มทหารลูกน้องเก่าจอมพลประภาส เพื่อทำการปราบฝ่ายซ้าย
และทำรัฐประหาร โดยใช้จอมพลประภาสเป็นเครื่องมือ
๑๘ กันยายน ๒๕๑๙ จอมพลถนอม เดินทางเข้ามาอีกคน
เป็นผลจากการหยั่งเชิงผ่านทางพรรคชาติไทย
และรัฐมนตรีจากพรรคชาติไทยแสดงความเห็นอกเห็นใจจอมพลถนอมในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่บ่อยครั้ง
เมื่อจอมพลถนอมบวชเณรเข้ามา พรรคชาติไทยและพรรคธรรมสังคม โดยการสนับสนุนของกองทัพแสดงท่าทีเปิดเผยว่า จอมพลถนอมมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะอยู่ในประเทศไทย
สุดท้าย "วีระ มุสิกพงศ์" ขณะนั้นเป็น ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายในสภาวิจารณ์รัฐบาลของตัวเองอย่างรุนแรง ว่าขาดความจริงใจในการผลักดันจอมพลถนอมออกนอกประเทศ
ม.ร.ว.เสนีย์ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเห็นแล้วไร้ทางออกในการแก้ปัญหา
แต่อย่างน้อยก็ประกาศให้เห็นว่า ไม่ได้ไหลไปตามเกมของจอมพล
และทำในสิ่งที่ถูกที่ควร
นั่นคือบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในดงทหาร และรัฐประหาร
แม้จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่วันนี้ ถึงเวลาที่ประชาธิปัตย์ต้องตัดสินใจเข้าไปอยู่ในดงทหาร และพรรคร่วมรัฐบาลคนละสายพันธุ์อีกครั้ง
หรือจะยืนอยู่คนละข้างอย่างชัดเจน
แต่โจทย์ที่เพิ่มขึ้นมาคือ ทหารยุคนี้กับปี ๒๕๑๘-๒๕๑๙ ไม่เหมือนกัน
เช่นกัน...ยุคนี้มีระบอบการเมืองโคตรโกง ที่คนยุคปี ๒๕๑๘-๒๕๑๙ ไม่เคยเห็น
ฉะนั้นจึงเหลือเพียง ๒ ทางเลือก
เข้าไปร่วมรัฐบาล ที่ถูกสมุนคนโกงบอกว่า เป็นเผด็จการสืบทอดอำนาจ
ซึ่งประชาธิปัตย์ยังมีโอกาสทำในสิ่งที่ถูกต้อง อย่างเช่นคนของพรรคเคยทำในอดีต
หรือจะไปร่วมรัฐบาลกับสมุนคนโกง ที่ประชาธิปัตย์ไม่มีทางทำอะไรได้เลยนับแต่ย่างเท้าเข้าไปร่วมกับคนโกงบริหารประเทศ.
ผักกาดหอม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |