สภาแอละแบมาผ่านกฎหมายห้ามทำแท้งสุดเข้ม คนช่วยถึงคุกตลอดชีวิต


เพิ่มเพื่อน    

รัฐสภาท้องถิ่นรัฐแอละแบมาของสหรัฐผ่านร่างกฎหมายห้ามทำแท้งที่มีเนื้อหาเข้มงวดที่สุดในสหรัฐ ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งกรณีเหยื่อข่มขืนหรือร่วมประเวณีกับญาติสนิท กำหนดโทษจำคุกหมอหรือผู้ช่วยทำแท้งสูงสุดถึงตลอดชีวิต กลุ่มสิทธิเตรียมต่อสู้ในศาลสูงสุดของประเทศ

แฟ้มภาพ นักเคลื่อนไหวต่อต้านการทำแท้งเดินขบวน "มาร์ชฟอร์ไลฟ์" ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 / AFP

    วุฒิสภารัฐแอละแบมาซึ่งสมาชิกพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ลงมติ 25 ต่อ 6 เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้เมื่อวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2562 หลังจากร่างกฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรของรัฐมาแล้วก่อนหน้านี้ ขั้นตอนต่อไปคือส่งให้เคย์ ไอวีย์ ผู้ว่าการรัฐซึ่งเป็นรีพับลิกัน ลงนามเพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ภายในเวลา 6 เดือน ผู้ว่าการรัฐหญิงรายนี้ยังไม่เคยให้ทัศนะว่าเธอจะลงนามหรือไม่ แต่เป็นที่รับรู้กันว่าเธอมีจุดยืนคัดค้านการทำแท้ง

    ปีนี้มีถึง 16 มลรัฐของสหรัฐที่เสนอกฎหมายห้ามการทำแท้ง โดยมี 4 มลรัฐ ได้แก่ จอร์เจีย,  เคนทักกี, มิสซิสซิปปี และโอไฮโอ ที่ผู้ว่าการรัฐได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายห้ามทำแท้งหากตรวจพบสัญญาณการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ แต่ร่างกฎหมายของแอละแบมาฉบับนี้นับเป็นกฎหมายห้ามทำแท้งที่เข้มงวดที่สุดของสหรัฐ โดยห้ามการทำแท้งไม่ว่าจะมีอายุครรภ์เท่าใด และผู้ที่ช่วยทำแท้งให้จะถือว่าก่อคดีอาญาอุกฉกรรจ์ที่มีโทษจำคุกระหว่าง 10-99 ปี แม้ว่าผู้หญิงที่ทำแท้งจะไม่ถูกดำเนินคดีอาญาก็ตาม

    ส.ว.พรรคเดโมแครตที่เป็นเสียงข้างน้อยพยายามแก้ไขร่างกฎหมายเพื่อเปิดทางให้อนุญาตทำแท้งได้ กรณีที่ผู้หญิงหรือเด็กหญิงตั้งครรภ์จากการโดนข่มขืนหรือเกิดจากมีเพศสัมพันธ์กับญาติสนิท แต่ ส.ว.รีพับลิกันซึ่งมี 27 คนและเป็นผู้ชายทั้งหมดลงมติคัดค้าน

    เชื่อแน่ว่ากฎหมายห้ามทำแท้งฉบับนี้จะต้องถูกท้าทายในศาลอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับที่กฎหมายของรัฐเคนทักกีและไอโอวาเคยโดนศาลขัดขวางมาแล้วในปีนี้ กลุ่มสิทธิซึ่งรวมถึงสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันประกาศว่าพวกเขาจะยื่นฟ้องคัดค้าน และต่อสู้จนถึงศาลฎีกาของประเทศ
 
    ทั้งนี้ ปัจจุบันศาลสูงสุดของสหรัฐมีตุลาการหัวอนุรักษนิยมครองเสียงข้างมาก ภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่งตั้งตุลาการศาลฎีกาอีก 2 ท่านที่มาจากฝ่ายอนุรักษนิยม และมีโอกาสที่ศาลจะล้มล้างคำพิพากษาคดีโรกับเวดฉบับปี 2516 ที่ให้สิทธิ์ผู้หญิงทำแท้งได้

    กลุ่มแพทย์เพื่ออนามัยการเจริญพันธุ์กล่าวกันว่า การห้ามทำแท้งเกือบสิ้นเชิงนี้จะส่งผลกระทบต่อการบริการด้านสุขภาพ แพทย์จะไม่เต็มใจช่วยเหลือคนไข้ที่มีความต้องการทำแท้ง แม้ว่าการตั้งครรภ์นั้นจะเป็นอันตรายต่อคนไข้ก็ตาม เพราะกลัวว่าจะถูกตรวจสอบโดยระบบศาลอาญา

    องค์กรเพื่อสตรีแห่งชาติ (นาว) ก็ประณามกฎหมายนี้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนอลิสา มิลาโน นักแสดงหญิงและนักเคลื่อนไหว รณรงค์ให้ผู้หญิงประท้วงด้วยการปฏิเสธมีเซ็กซ์กับผู้ชายจนกว่าผู้หญิงจะได้เอกราชเหนือร่างกายตนเองกลับคืน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"