กฎหมายข่าวกรองแห่งชาติใหม่ ‘ดักฟัง’ ใครได้ในกรณีไหน?


เพิ่มเพื่อน    

          รู้หรือยังครับว่าตั้งแต่วันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา พระราชบัญญัติว่าด้วย "ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562" มีผลบังคับใช้แล้ว และมีผลกระทบต่อคนไทยทั่วไปที่ควรจะได้รับรู้กันด้วย

                ประเด็นที่ควรแก่การทำความเข้าใจที่มีผลต่อคนไทยทั่วไปคือ มาตรา 6 ที่สรุปได้ว่า

                ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารอันเกี่ยวกับข่าวกรอง สำนักข่าวกรองแห่งชาติอาจดำเนินการ "ด้วยวิธีการใดๆ" เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล โดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องระบุเหตุผล ความจำเป็น ผลกระทบต่อบุคคล รวมถึงวิธีการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผลกระทบต่อบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง หากเจ้าหน้าที่กระทำตามหน้าที่และอำนาจโดยสุจริตแล้ว และเป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงหรือการป้องกันภัยสาธารณะ ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย

                ซึ่งแปลว่าหากเจ้าหน้าที่เห็นว่าเกิดกรณี "จำเป็น" ต้องล้วงข้อมูลด้านข่าวกรองจากบุคคลใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น

                การตรวจค้น

                การแฮ็กข้อมูล

                การดักฟังโทรศัพท์

                หรือแม้แต่การเข้าถึงข้อความ ภาพ เสียง คลิปวิดีโอของบุคคลในโลกออนไลน์

                ถ้าปฏิบัติหน้าที่ โดยสุจริต” ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดแต่อย่างใด

                ต้องเข้าใจด้วยว่ามาตรา 6 นี้เป็นเนื้อหาใหม่ ไม่เคยมีมาก่อนใน พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2528 หรือในฉบับเดิมซึ่งใช้บังคับเป็นกฎหมายเมื่อ 34 ปีก่อน ซึ่งยังไม่มีประเด็นของโซเชียลมีเดียแต่อย่างใด

                แล้ว พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติทั้ง 2 ฉบับมีความแตกต่างกันอย่างไร เพิ่มอำนาจอะไรให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติบ้าง

                สำนักข่าวอิศราไปค้นรายละเอียดที่น่าสนใจมาให้อย่างนี้

                นิยามการข่าวกรองตาม พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ.2528 ระบุว่า "การดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงความมุ่งหมายกำลังความสามารถ และความเคลื่อนไหว รวมทั้งวิถีทางของต่างชาติ หรือองค์การก่อการร้ายที่อาจกระทำการอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลนำมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายแห่งชาติ" 

                ส่วน พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ.2562 ระบุว่า "การดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงความมุ่งหมาย กำลังความสามารถ และความเคลื่อนไหว รวมทั้งวิถีทางของบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์การใด ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ที่อาจกระทำการอันเป็นพฤติการณ์เป็นภัยคุกคาม ทั้งนี้เพื่อรักษาความมั่นคงหรือประโยชน์แห่งรัฐ และให้รัฐบาลนำมาประกอบการพิจารณาการกำหนดนโยบายแห่งชาติ"

                ความต่างที่เป็นสาระสำคัญในนิยามต่างๆ เรื่อง "ข่าวกรอง" ระหว่างกฎหมายฉบับเดิมและฉบับใหม่  คือ

                ฉบับเดิม นิยามข่าวกรองในการจับตาติดตามความเคลื่อนไหวของต่างชาติ แต่ฉบับใหม่คือติดตามความเคลื่อนไหวของทั้งบุคคล องค์กรภายในประเทศ และต่างประเทศ

                อีกประเด็นหนึ่งคือ มาตรา 6 ที่ให้อำนาจสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ล้วงข้อมูลทุกอย่างที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติได้ หากเป็นการกระทำที่สุจริต ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย

                ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามระเบียบที่ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติกำหนด โดยความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี

                ตรงนี้แหละที่ต้องมีการจับตาเป็นพิเศษ

                ที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญคือ ที่ผ่านมาการดำเนินการได้มาซึ่งข้อมูลใดๆ จากสาธารณชน จำเป็นจะต้องขออนุญาตต่อศาล หรือมีหมายศาลก่อน

                แต่มาตรานี้กำหนดว่าให้ทำได้เลย โดยเป็นไปตามระเบียบที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติร่างขึ้นเอง

                ที่ผ่านมามีกฎหมายสำคัญอยู่เพียง 2 ฉบับเท่านั้นที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตรวจค้น หรือได้มาซึ่งข้อมูล โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาล ได้แก่ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ในมาตรา 8 และ 9 ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น หรือยึด หรือทำลายได้ทุกสิ่ง และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 10 ที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในคำสั่งตรวจค้น ตรวจสอบ จดหมาย ดักฟังโทรศัพท์ โทรเลข หรือวิธีการสื่อสารทุกอย่าง หรือระงับยับยั้งวิธีการสื่อสารได้

                กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงที่มีอำนาจมาก และจำเป็นต้องประกาศใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

                แต่ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะมาตรา 6 กลับได้อำนาจคล้ายคลึงกับกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในส่วนของการตรวจค้น แฮ็ก ดักฟัง หรือทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ทั้งที่เป็นกฎหมายที่ออกขึ้นเพื่อบังคับใช้ในสถานการณ์ปกติ

                อีกข้อที่ควรมีการเกาะติดคือ ข้อมูลที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติใช้สารพัดวิถีทางที่ได้มาตามมาตรา 6  แห่ง พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ ถือเป็นข้อมูลความมั่นคง

                เนื้อหานี้เข้าข่ายตามร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลความมั่นคงของรัฐและความลับของทางราชการฯ ด้วย ที่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

                ข้อมูลความมั่นคงในส่วนนี้จึงถูกปิดเป็นความลับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการได้มาซึ่งข้อมูล และขั้นตอนการเยียวยาบุคคลผู้ได้รับผลกระทบ หากมีเจ้าหน้าที่รัฐ "แพร่งพราย" โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อาจโดนโทษสถานหนักถึงขั้นติดคุก 5 ปีได้

                นั่นหมายความว่า สาธารณชน หรือสื่อมวลชน ไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่า ข้อมูลที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติใช้ทุกวิถีทาง "ล้วง" เข้าไปนั้น เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงจริงหรือไม่ ประการใด

                ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ในมาตรา 6 ให้อำนาจสำนักข่าวกรองแห่งชาติใช้ทุกวิถีทางในการได้มาซึ่งข้อมูล ทั้งการแฮ็กคอมพิวเตอร์ เจาะเข้าระบบอ่านข้อความ ภาพ เสียง คลิปวิดีโอในโลกออนไลน์ รวมไปถึงการดักฟังโทรศัพท์ในสถานการณ์ปกติด้วย

                การดักฟังทางโทรศัพท์นั้นตามหลักวิชาการ หมายถึง การลอบฟังด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในลักษณะที่เป็นการดักฟังการสื่อสารทางโทรศัพท์ที่บุคคลอื่นมีถึงกัน โดยปราศจากการยินยอมของคู่สนทนา ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการสื่อสาร

                ที่เป็นประเด็นร้อนเพราะตามมาตรา 6 กำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติออกระเบียบ หลักเกณฑ์ในการได้มาซึ่งข้อมูล และให้นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

                เมื่อนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร จึงมีคำถามว่าจะทราบได้อย่างไรว่าข้อมูลดังกล่าวที่ "ล้วง"  ไปนั้น เป็นข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงจริง หรือเป็นการกำจัด "เสี้ยนหนาม" ทางการเมือง

                ท้ายที่สุด คำถามก็คือว่า กฎหมายใหม่จะเปิดทางให้ผู้มีอำนาจใช้ช่องว่างเพื่อใช้อำนาจไม่สุจริต และไม่ชอบธรรม หรือใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองหรือไม่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"