นายกฯ สั่งติดตามผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีน พร้อมหามาตรการรองรับ พาณิชย์ประเมินฉุดส่งออกไทยวูบ 5.6-6.7 พันล้านเหรียญฯ แบงก์ชาติชี้ทำลายบรรยากาศการลงทุน ม.หอการค้าฯ คาดทำเศรษฐกิจโลกปีนี้โตไม่ถึง 3%
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกของประเทศ ไปติดตามว่ากรณีสงครามการค้าสหรัฐอเมริกาและจีน จะมีผลกระทบกับประเทศไทยอย่างไรบ้าง และมาตรการที่ประเทศไทยควรจะดำเนินการ ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดการประชุม และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้กล่าวอะไร แต่ในช่วงสิ้นเดือน พ.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีการประชุมทูตพาณิชย์
ที่กระทรวงพาณิชย์ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนครั้งล่าสุดจาก 10% เป็น 25% มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจีนประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐ เป็นการตอบโต้มูลค่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ว่าในเบื้องต้นประเมินว่าการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนครั้งล่าสุด อาจทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปประเทศต่างๆ ในปีนี้ลดลงถึง 5.6-6.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.2% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่มูลค่า 2.72 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8%
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะลดลง ครอบคลุมรายการสินค้าที่ไทยส่งออกไปประเทศต่างๆ ประมาณ 46% ซึ่งคำนวณจากทั้งการส่งออกของไทยไปสหรัฐ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีน การส่งออกสินค้าไทยไปจีน และการส่งออกสินค้าไทยที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของจีนไปตลาดอื่น ทั้งไต้หวัน มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเวียดนาม โดยการส่งออกไปจีนและประเทศที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของจีนจะลดลง แต่การส่งออกไปสหรัฐจะเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ส่งออกไปจีนและประเทศที่ 3
“การส่งออกที่ลดลง น่าจะทำให้ส่งออกทั้งปีของไทยลดลงต่ำกว่าเป้าหมาย 8% ที่ตั้งไว้ และยิ่งถ้าสหรัฐปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนจากทั่วโลก ตามมาตรการเซฟการ์ด ที่จะประกาศวันที่ 17 พ.ค.นี้ จะยิ่งทำให้มูลค่าส่งออกไทยลดลงได้อีก แต่จะลดลงเท่าไร กระทบเป้าหมายแค่ไหน ต้องรอผลการประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์ในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้” น.ส.พิมพ์ชนกระบุ
ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า จากการประเมินเป็นรายสินค้า พบว่ามีสินค้าไทยหลายตัวที่การส่งออกจะขยายตัวได้ขึ้น เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร ผลไม้ เครื่องดื่ม ไก่ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น ซึ่งแม้จะมีมูลค่าน้อย ไม่อาจชดเชยการหดตัวในสินค้าอุตสาหกรรมได้ แต่การส่งออกสินค้าเหล่านี้ มีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน มีผลต่อรายได้ภาคเกษตรและผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) จึงควรเร่งผลักดันส่งออกให้มากขึ้น ส่วนกลุ่มสินค้าที่การส่งออกอาจลดลงมาก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ เชิญนักลงทุนและผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน มาหารือ เพราะได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมแนวทางการรับมือไว้แล้ว โดย น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทำแผนขยายตลาดในสินค้าที่มีศักยภาพ และเร่งพัฒนาการส่งออกผ่านออนไลน์, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมเจรจาลดอุปสรรคทางการค้ากับประเทศต่างๆ, กรมการค้าต่างประเทศ เตรียมมาตรการผลักดันการค้าชายแดนและการขายข้าว เป็นต้น
ด้านนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐกับจีนโดยรวมเป็นผลเสียมากกว่าผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก เนื่องจากจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.การชะลอตัวของการค้าโลก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศสูง รวมทั้งไทย ทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว
2.ด้านการค้า ผลกระทบจะมีทั้งด้านบวกและด้านลบในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น สินค้าไทยที่ส่งไปประกอบในจีน และเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตที่ส่งต่อไปยังตลาดสหรัฐ จะได้รับผลกระทบ แต่ขณะเดียวกันสินค้าที่ได้รับประโยชน์จะเป็นกลุ่มที่สามารถส่งไปยังตลาดสหรัฐ เพื่อทดแทนสินค้าจากจีน และ 3.ด้านการลงทุน อาจจะมีการย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนและไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งการลงทุนอาจใช้เวลาในบางอุตสาหกรรมเพื่อวางแผนการย้ายกระบวนการผลิต
“โดยรวมแล้วสงครามการค้ากระทบต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ เรื่องการระบายสินค้าที่ส่งไปขายไม่ได้ในระหว่างคู่ค้าหลักเข้ามาทุ่มในตลาดประเทศที่สามอย่างไทย และควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง” นางจันทวรรณกล่าว และว่า ธปท.จะมีการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือน มิ.ย.นี้ต่อไป
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สงครามการค้าสหรัฐกับจีนจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกปี 2562 ขยายตัวได้ไม่ถึง 3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.3-3.5% ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะทำให้การส่งออกของไทยลดลงเหลือเพียง 0.5-1% ต่ำสุดในรอบ 4 ปี จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2-4.6% ทั้งนี้ ไทยควรเร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็วเพื่อเปิดการเจราข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ยุโรป ที่ยังค้างอยู่และ FTA ใหม่ พร้อมกับออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเติบโตได้ตามเป้าหมาย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |