มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เรียกประชุมรัฐสภา 22 พ.ค.นี้ "วิษณุ" เผยเสด็จฯ ทรงเปิดสภา 24 พ.ค. "บิ๊กตู่" ชี้ไม่ใช่คนจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โยนเป็นเรื่องพรรคการเมือง "ประวิตร" ยันสุขภาพแข็งแรง ปัดไม่รู้ได้นั่ง รมว.กลาโหมรัฐบาลใหม่หรือไม่ "อุตตม" ลั่น พปชร.ไม่มีงูเห่า "ลูกพรรค" จองรัฐมนตรีกันฝุ่นตลบ "สมศักดิ์" เล็ง รมว.เกษตรฯ" กลุ่มสามมิตรคว้า 4 เก้าอี้หลัก "13 ส.ส.ใต้" โผล่ขอโควตา "ธนาธร" ปลุก 500 ส.ส.ร่วมต้านสืบทอดอำนาจ
เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2562 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 63 ก เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ.2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 แล้ว และตามความในมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 121 มาตรา 122 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2562 เป็นต้นไป
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังมีการประกาศรายชื่อสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เรียกประชุมรัฐสภา วันที่ 22 พ.ค. ซึ่งอยู่ในระยะเวลา 15 วัน หลังประกาศรายชื่อ ส.ส. ตนทราบว่าทางสภาจะจัดพิธีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสภาในวันที่ 24 พ.ค.
ถามว่า การเลือกประธาน ส.ส.และ ส.ว.จะเกิดขึ้นเมื่อใด นายวิษณุกล่าวว่า แล้วแต่ทางสภาจะเป็นผู้กำหนด แต่ส่วนตัวมองว่าเร็วที่สุดคงเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากเปิดสภา ไม่ควรไปคิดเรื่องวันเสาร์อาทิตย์ เนื่องจากเมื่อ ส.ส.และ ส.ว.มารวมตัวกันแล้ว จะให้เขากลับบ้านแล้วมากันใหม่ทำไม และตนเห็นว่าควรจะเลือกทั้งประธาน ส.ส.และประธาน ส.ว.ในวันเดียวกัน ซึ่งขั้นตอนนี้คงกลับไปใช้สถานที่ของทีโอที เมื่อได้ประธานและรองประธานของทั้ง 2 สภาแล้ว จะมีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งลงมา ประธานสภาฯ สามารถเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้
ซักว่า ทุกอย่างจะเกิดขึ้นภายในเดือนนี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าดูตามขั้นตอนข้างต้น ก็ประมาณการว่าน่าจะได้ในเดือนนี้
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาลที่มีชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย รวมอยู่ด้วยว่า ตนตอบไม่ได้ เพราะตอนนี้ยังไม่ใช่นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ เพราะคนที่ตั้งรัฐบาลและ ครม.ต้องเป็นนายกฯ เมื่อยังไม่ได้เป็นก็พูดอะไรไม่ได้ ทุกอย่างเป็นเรื่องของนายกฯ ใหม่ ซึ่งจะมาหลังจากขั้นตอนการเปิดสภา แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ตั้งประธานสภาฯ ด้วย จึงยังไม่ได้เลือกนายกฯ แล้วตนจะไปตอบแทนใครได้
ถามว่า รู้สึกอย่างไรที่มีข่าวพรรคร่วมไม่พอใจการจัดสรรตำแหน่ง ครม.ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รู้สึกเบื่อหน่อย
"ขอย้ำวันนี้ผมยังไม่ได้เป็นนายกฯ ในรัฐบาลใหม่ การตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องที่พรรคการเมือง และนักการเมืองที่ดำเนินการอยู่แล้ว ในการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ทุกคนคาดหวังว่าเราจะมีรัฐบาลที่ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง และเมื่อได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนแล้ว ก็อยากให้มันทำได้อย่างที่พวกเราพยายามทำมาตลอด 5 ปี และไม่อยากให้หลายอย่างเกิดขึ้นมาแบบเดิมอีก นายกฯ ก็ไม่ได้ไปให้ร้ายใคร เชื่อว่าทุกคนมีความตั้งใจเช่นเดียวกัน" นายกฯ กล่าว
ส่วน พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธข่าวมีชื่อเป็น รมว.กลาโหมในรัฐบาลหน้าอย่างอารมณ์ดีว่า ไม่มี ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย
“ไม่รู้ ยังไม่รู้ เขายังไม่ให้ เขาให้หรือยัง ซึ่งผมก็แล้วแต่ สุขภาพก็ไม่ได้เป็นอะไร และยังไม่มีการมาเทียบเชิญ รวมถึงไม่ได้ไปพูดคุยกับพรรคพลังประชารัฐในการจัดตั้งรัฐบาล” พล.อ.ประวิตรกล่าว
ซักว่า มีข่าวจะวางมือทางการเมืองจริงหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้
พล.อ.อนุพงษ์ก็ปฏิเสธเกี่ยวกับประเด็นการเมือง โดยระบุว่า เรื่องการเมืองขอไม่ตอบ
พปชร.รุมทึ้งเก้าอี้ รมต.
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค พปชร. ได้เดินทางเข้ามาทำเนียบรัฐบาล เพื่อพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางกระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาล ที่นำโดยพรรค พปชร. ซึ่งยังไม่ลงตัว โดยคาดว่านายสุวิทย์ มาพูดคุยหารือในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อสรุป
อย่างไรก็ตาม นายสุวิทย์ปฏิเสธว่า มาทำเนียบรัฐบาลเพื่อดื่มกาแฟเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล เพราะจัดตั้งรัฐบาลต้องให้เป็นไปตามครรลอง
ที่โรงแรมเดอะซายน์ พัทยาเหนือ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่า หลังจาก 11 พรรคเล็กได้มาร่วมรัฐบาล ยอมรับเสียงตอบรับและกระแสที่ดีขึ้น ทำให้พรรคอื่นได้เห็นศักยภาพของพรรคในการร่วมงานพรรคต่างๆ แต่ไม่สามารถพูดได้ 100% ว่าจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการพูดคุย
ถามว่า จะชัดเจนภายในสัปดาห์นี้หรือไม่ นายอุตตมกล่าวว่า ขอให้รอดู เพราะเนื่องจากเรามีระยะเวลาของกฎหมายที่กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่มั่นใจทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
"การทำงานของพรรคเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยกิจกรรมสัมมนา ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อของพรรคที่จัดขึ้นที่พัทยาในวันนี้เป็นการตอกย้ำความสามัคคีที่เราจะระดมสมองในการทำงานให้กับประเทศอย่างไร และงานด้านการเมืองเรามีเอกภาพชัดเจน ไม่มีปัญหา" นายอุตตมกล่าว
ซักถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มีข่าวมีคู่ชิง 2 คน คือ นายสุชาติ ตันเจริญ กับนายวิรัช รัตนเศรษฐ ทางพรรคตัดสินใจอย่างไร หัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวว่า พรรคยังไม่ได้ตัดสินใจ เพราะมีบุคลากรที่หลากหลายและมีความสามารถให้เลือกจำนวนมาก ข่าวมีคู่ชิงเป็นข่าวโคมลอย และสุดท้ายก็ต้องเป็นแค่ชื่อเดียวเท่านั้น
"ยืนยันพรรคพลังประชารัฐจะไม่มีงูเห่า แม้จะเป็นพรรคเกิดใหม่ แต่ก็ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน จึงมั่นใจจะไม่เกิดสัตว์เลื้อยคลานภายในพรรคแน่นอน" หัวหน้าพรรค พปชร.กล่าว
ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลเป็นหน้าที่ของผู้บริหารพรรคและแกนนำ เพราะในส่วนตัวก็ยังคงลุ้นเก้าอี้รัฐมนตรี ยอมรับลุ้นในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอื่นๆ ตามโควตาของกลุ่มสามมิตร
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เเกนนำพรรค พปชร.กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลมีความคืบหน้าไปพอสมควร การตัดสินใจในเรื่องการเเบ่งหน้าที่ใน ครม.ขอให้หัวหน้าพรรคไปพิจารณา 115 ส.ส.ในพรรคนั้น ทุกคนทำงานกันหนัก เเละผู้ใหญ่ในพรรคคงจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาด้วยว่าใครเหมาะสม การเมืองนั้นเราต้องเข้าใจธรรมชาติของนักการเมืองที่อยากทำงานให้ประเทศ เเต่เมื่อตำเเหน่งมีจำกัดก็ต้องเลือกคนที่เหมาะสม
มีรายงานจากกลุ่มสามมิตรเเจ้งว่า เบื้องต้นนั้นส.ส. 7-8 คน จะได้โควตาหนึ่งรัฐมนตรี เเละคีย์เเมนในกลุ่มมี 4 คน คือ นายสุริยะ, นายสมศักดิ์, นายอนุชา นาคาศัย เเละกลุ่มนิติกาญจนา จาก จ.ราชบุรี มีสิทธิได้เป็น ครม.ชุดใหม่ โดยนายสุริยะอาจเปิดทางให้นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ กรรมการบริหารพรรค เเละเป็นหลานของตนเองเป็นรัฐมนตรีเเทน ส่วนนายสมศักดิ์อยากไปทำหน้าที่ รมว.เกษตรเเละสหกรณ์ หรือ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ อีก 3 เก้าอี้ของกลุ่มจะเป็นกระทรวงทางเศรษฐกิจ เช่น พาณิชย์, อุตสาหกรรม, การท่องเที่ยวเเละกีฬา
นายทวี สุระบาล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หนึ่งในทีมเลือกตั้งภาคใต้ของพรรค พปชร. กล่าวว่า 13 ส.ส.ภาคใต้เเละฝ่ายที่เกี่ยวข้องหารือเเล้วเห็นว่า เป็นไปได้ที่ 13 ส.ส.ภาคใต้ที่ชื่อว่า กลุ่มด้ามขวานไทย อาจไม่ได้โควตารัฐมนตรี หากเป็นเช่นนี้ พวกตนยอมไม่ได้ เพราะกระเเสข่าวตั้งรัฐบาลนั้นพบว่าพรรคเเละกลุ่มต่างๆ ที่มี ส.ส.ไม่ถึง 10 คน กลับได้หนึ่งรัฐมนตรีว่าการ เเละหนึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ เเม้เเต่ 11 พรรคเล็กที่มาร่วมกับพรรคในการตั้งรัฐบาลนั้นก็อาจได้ 2 เก้าอี้รัฐมนตรี
“พรรคควรให้โอกาสพวกผมมีตำเเหน่งในฝ่ายบริหาร เรื่องนี้พวกผมหารือเเล้ว เเละคงไม่ยอมกัน พวกผมจะเสนอต่อพรรคว่าตรงนี้คือสิ่งที่พวกผมขอให้พรรคพิจารณา โดยรายชื่อว่าที่รัฐมนตรีในโควตาภาคใต้เบื้องต้น เสนอชื่อ พ.อ.สุชาติ จันทร์โชติกุล อดีตสปช. หัวหน้าทีมเลือกตั้งภาคใต้ของพรรค เเละอีกหนึ่งตำเเหน่ง พวกตนจะหารือกันว่าใครเหมาะสมเเละจะคุยกันค่ำวันนี้” นายทวีกล่าว
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กล่าวถึงกระแสข่าวมีการคุยเรื่องจัดตั้งรัฐบาลว่า ไม่เคยคุยกับใครเลย มีคนเดียวที่เจอกันคือนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) แต่เขาไม่ได้มาคุยกับตน ไปเจอกันที่ร้านอาหารโดยบังเอิญที่แปซิฟิคซิตี้ คลับเท่านั้น
'ธนาธร'ปลุกส.ส.ขวาง
วันเดียวกัน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เปิดแถลงข่าวเรื่อง 3 เหตุผลที่พรรคอนาคตใหม่เรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยระบุว่า มี 3 กรณีศึกษาคือ 1.มีการใช้ภาษีของประชาชนเอื้อกลุ่มทุนใกล้ชิด คสช. เช่น การบินไทยมีแผนซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำ 1.5 แสนล้านบาท ทั้งที่เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมาขาดทุน 1.2 หมื่นล้านบาท และยังมีหนี้สะสมอยู่ 1.5 แสนล้านบาท กลายเป็นภาระผูกพันไปยังรัฐบาลหน้า
นายธนาธรกล่าวว่า 2.ทำให้การกระจายอำนาจถอยหลัง ดึงอำนาจกลับสู่รัฐส่วนกลาง รัฐราชการที่ใหญ่โตเทอะทะ ชุดกฎหมายท้องถิ่น 6 ฉบับที่ออกมาหลังเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา สำหรับอนาคตใหม่ กฎหมายเหล่านี้เป็นโทษต่อประเทศอย่างร้ายแรง และ 3.การลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จากกฎหมายอีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ ที่ออกมาระหว่างก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง มีเนื้อหาลิดรอดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่เพิ่มอำนาจให้รัฐบาลแฮ็กและตรวจสอบโซเชียลมีเดียประชาชนได้ให้อำนาจฝ่ายบริหาร ฝ่ายความมั่นคง เพียงถ้าเขาเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง
"ผมอยากสื่อสารไปยังพรรคการเมืองอื่นว่า นี่คือสิ่งที่สังคมที่อยากเห็นหรือ ในการร่วมสืบทอดอำนาจของเผด็จการ ตอบกับประชาชนหน่อยว่าทำไมจึงร่วมรัฐบาลกับเขา นี่คือเรื่องที่รัฐบาลที่กำลังทำ และจะทำเรื่องพวกนี้ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ใครที่ตัดสินใจไปแล้วขอให้ตอบหน่อย ส่วนพรรคที่ยังไม่ตัดสินใจ ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อยว่ามีฝันอยากเห็นประเทศนี้เป็นอย่างไรกันแน่" นายธนาธรกล่าว
ถามว่า คาดหวังอย่างไรต่อการจัดตั้งรัฐบาล หัวหน้าพรรค อนค.กล่าวว่า คาดหวังกับการเมืองทุกคนทุกพรรคการเมือง สิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 7 วันข้างหน้าจะตัดสินอนาคตประเทศไทย นี่คือเรื่องใหญ่มากกว่าตัวใครคนหนึ่ง การตัดสินใจของ ส.ส. 500 คน จะกำหนดอนาคตของประเทศ ถ้า คสช.สืบทอดอำนาจได้ ไม่รู้จะได้ประชาธิปไตยกลับมาเมื่อไร หลายคนมองโลกสวยบอกอยู่ได้ไม่ถึงปี แต่ปี 2557 เห็นแล้วว่า 5 ปี การตัดสินใจในอีก 7 วันข้างหน้าจะทำให้เห็นว่าประเทศไทยจะไปในเส้นทางไหน ตนไม่ได้คาดหวังกับพรรคสองพรรค แต่คาดหวังกับคนที่เรียกตนเองว่าเป็น ส.ส.ทุกคน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |