"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ชี้ครัวเรือนกังวลภาวะเศรษฐกิจ แบกภาระค่าใช้จ่าย-หนี้สินเพิ่ม กดดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพครัวเรือนไทยเดือน เม.ย.ทรุด บิ๊กทิสโก้ชี้ตลาดทุนไทยห่วงเสถียรภาพ-เอกภาพรัฐบาล 20 พรรค
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยถึงดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) เดือน เม.ย.62 ว่า มีการปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.5 จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 45.9 เนื่องจากครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจของตัวเองในทุกมิติ ทั้งเรื่องรายได้และการมีงานทำ สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ ตลอดจนค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สิน
โดยครัวเรือนในภาคเกษตรบางส่วนกังวลเรื่องรายได้ที่ลดลง เนื่องจากเข้าสู่ช่วงการปิดหน้ายางพาราและหมดช่วงฤดูทำนา ทำให้ไม่มีปริมาณผลผลิตให้เก็บเกี่ยว ส่งผลให้ครัวเรือนเกษตรบางส่วนมีรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ขณะที่ครัวเรือนนอกภาคเกษตรบางส่วนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการมีงานทำ โดยจากการสำรวจภาวะการครองชีพครัวเรือนในเดือน เม.ย.62 ต่อประเด็นสถานการณ์การจ้างงานในองค์กรหรือหน่วยงานที่ครัวเรือนสังกัดอยู่ พบสัญญาณการชะลอรับพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.8% และการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.8% จากช่วงเดือน ม.ค.61 ที่สัญญาณการชะลอรับพนักงานใหม่อยู่ที่ 10.9% และการเลิกจ้างงานอยู่ที่ 1.9% สอดคล้องกับจำนวนผู้ว่างงานในเดือน เม.ย.62 อยู่ที่ 3.64 แสนคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 3.46 แสนคน
นอกจากนี้ พบว่าในเดือน เม.ย.62 ค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สินของครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยหลักๆ เป็นผลของปัจจัยฤดูกาลที่ทำให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายในรายการพิเศษช่วงเทศกาลสงกรานต์ เช่น ท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนา เป็นต้น ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นในช่วงฤดูร้อน ราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงการชำระค่าเล่าเรียนบุตรหลานที่โรงเรียนทยอยเรียกเก็บก่อนเปิดปีการศึกษาใหม่ในช่วงเดือน พ.ค.62 ซึ่งส่งผลให้ผู้ปกครองบางส่วนมีการกู้ยืม จำนำ หรือกดเงินสดจากบัตรกดเงินสดเพิ่มขึ้นเพื่อมาใช้จ่ายเกี่ยวกับบุตรหลาน
อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนบางส่วนยังมีการขอสินเชื่อใหม่เพื่อซื้อบ้าน รถยนต์ หรือเพื่อการลงทุนประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้นในเดือน เม.ย.62 รวมถึงคาดว่ามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองจากกระทรวงการคลัง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 30 เม.ย. - 31 ธ.ค.62 ก็จะช่วยหนุนให้มีการขอสินเชื่อใหม่เพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค.62 เป็นต้นไป
สำหรับดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากระดับ 47 ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 45.7 ในเดือน เม.ย.62 สะท้อนถึงความกังวลของครัวเรือนต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของตัวเองใน 3 เดือนข้างหน้า (พ.ค.-ก.ค. 62) ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ ขณะที่ภาครัฐได้ออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 คาดว่ามาตรการเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์และบรรเทาภาระค่าครองชีพของครัวเรือนบางส่วน โดยเฉพาะครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ยังเผชิญความไม่แน่นอนอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะลากยาว ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันรายได้เกษตรกรและราคาอาหารสดภายในประเทศ รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อาจจะชะลอตัวมากขึ้น หลังสหรัฐอเมริกาประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 25% จากเดิม 10% ก็น่าจะส่งผลต่อรายได้และกำไรของผู้ประกอบการที่ค้าขายกับต่างประเทศ และอาจส่งผลต่อเนื่องมายังการจ้างงานภายในประเทศอีกด้วย" ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ขณะนี้นักลงทุนในตลาดทุนเป็นห่วงการมีเสถียรภาพและเอกภาพของรัฐบาลใหม่ เนื่องจากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ต่างจากที่ผ่านมา เพราะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและการจับขั้วของแต่ละพรรคการเมืองมีคะแนนเสียงไม่ได้ห่างกันมากนัก เบื้องต้นคาดว่าจะร่วมเสียง 20 พรรค แต่ได้คะแนนเพียง 253-255 เสียงเท่านั้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการบริหารประเทศ โดยเฉพาะการแบ่งปันกระทรวงเศรษฐกิจ ทำให้การกำหนดนโยบายไม่มีประสิทธิภาพ และอาจเกิดการทำงานแบบไซโล ที่ไม่ทำงานร่วมกันหรือไม่แชร์ข้อมูลระหว่างกัน ทำให้บุคคลที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ต้องมีความรู้ด้านเศรษฐกิจ เพื่อสามารถควบคุมสถานการณ์และตัดสินใจได้ทันที
ทั้งนี้ เอกภาพในการทำงานและบริหารประเทศถือเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยการที่พรรคใหญ่เป็นแกนนำแต่ไม่สามารถดูแลเศรษฐกิจได้ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะการบริหารงานจะกระจายตัวและคล้ายกับเมื่อช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้ ที่แต่ละพรรคจะดูเพียงกระทรวงที่รับผิดชอบเท่านั้น ทำให้นโยบายเศรษฐกิจไม่ผสมผสาน รวมทั้งรองนายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถกำกับได้ เนื่องจากส่วนใหญ่จะเลือกรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่อีกมุมก็ยังเชื่อว่าจะสามัคคีและหารือร่วมกันมากขึ้นภายใต้สถานการณ์บังคับ เนื่องจากนักการเมืองส่วนใหญ่ไม่อยากเลือกตั้งใหม่ เพราะใช้ทั้งเงินเสียทั้งเวลา และไม่สามารถการันตีว่าจะกลับมาเหมือนเดิมได้หรือไม่
"ต้องยอมรับว่าความมีเสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่น่าเป็นห่วง แม้จะจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลได้โดยพลังประชารัฐจะเป็นแกนนำ เมื่อร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย และพรรคเล็ก แต่ได้เพียง 253-255 เสียงเท่านั้น ส่งผลให้ความคาดหวังในตลาดทุนจึงมีน้อยมากกับรัฐบาลใหม่ สะท้อนจากผลเลือกตั้งออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ตลาดหุ้นกลับซึมไม่ได้ตอบรับอะไรมากนัก เพราะเชื่อว่าอยู่ได้เพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น แต่หากอยู่ได้นานกว่านั้นหรือสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นก็ถือว่าเป็นเรื่องดี โดยรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาต้องทำงานเชิงรุก และแต่งตั้งบุคคลที่มีความสามารถเข้ามาทำงานได้ทันที" นายไพบูลย์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |