ทำไมนับวันคนไทยยิ่ง เป็นหนี้มากขึ้น?


เพิ่มเพื่อน    

               น่าเป็นห่วงครับ ตัวเลขล่าสุดจากผู้ว่าการแบงก์ชาติบอกเราว่าคนไทยเป็นหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะคนวัยทำงานช่วงอายุ 29-30 ที่ เป็นกำลังสำคัญของชาติ

                นั่นย่อมแปลว่า “วัฒนธรรมสร้างหนี้” โดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการปลดเปลื้องหนี้และมี “อิสรภาพทางการเงิน” กำลังจะบั่นทอนพลังของประเทศทีเดียว

                เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พูดในพิธีเปิดโครงการ “คลินิกแก้หนี้ระยะที่ 2” สรุปประเด็นหลักว่า

                "...จากการศึกษาเชิงลึก พบว่า คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นและมากขึ้น อายุมากแต่หนี้ยังไม่ลด ที่สำคัญสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้น คนที่มีหนี้อายุ 29-30 ปี เป็นหนี้เสียถึง 1 ใน 5 ซึ่งลองคิดดูว่าประเทศจะไปทางไหน เพราะว่าวัยที่เป็นหนี้เสียเป็นวัยที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ วัยที่สร้างครอบครัว และเป็นวัยที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ แม้ว่าภาพใหญ่ในเรื่องตัวเลขของระบบเศรษฐกิจ ตัวเลขการจ้างงานดีขึ้น รายได้ของประชาชนดีขึ้น แต่การจับจ่ายใช้สอยไม่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากประชาชนมีภาระหนี้เยอะมาก ซึ่งมีผลต่อการบริโภคภาพรวมของประเทศ..."

                คุณวิรไท ทวนความว่า จังหวะนี้เป็นโอกาสที่สำคัญต่อระบบการเงินไทย เพราะโครงการคลินิกแก้หนี้ ขยายเป็นระยะที่ 2 โครงการคลินิกแก้หนี้เป็นโครงการที่สำคัญต่อระบบการเงินไทย

                ระยะที่ 1 เป็นช่วงทดลองที่ครอบคลุมเฉพาะลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ มีลูกหนี้ที่เข้าข่ายจำนวนไม่มากหากเทียบกับระบบ

                ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีความพยายามดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมการทำงานของ SAM เพื่อให้ SAM สามารถให้บริการกับผู้ประกอบการ Non-bank ได้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.2562

                ธนาคารกลางได้สามารถทำให้เกิดโครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 2 ได้ด้วยการเชิญชวนชมรมธุรกิจบัตรเครดิต ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล และผู้บริหารของทุกบริษัทเข้าร่วมโครงการ

                ขอนำเอาบางส่วนของคำปราศรัยของผู้ว่าแบงก์ชาติ ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจมากมาให้ได้อ่านกันครับ

                โครงการคลินิกแก้หนี้มีความสำคัญ เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 ซึ่งไม่ได้รวมหนี้บางส่วน เช่น หนี้ กยศ. หนี้ที่สถาบันการเงิน และ Non-bank ตัดหนี้สูญ (write-off) และหนี้นอกระบบ เป็นต้น ถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงถ้าเทียบกับประเทศที่ระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน โดยในระดับที่รายได้ใกล้เคียงกัน ประเทศเรามีสัดส่วนหนี้ที่สูงมาก

                จากการศึกษาเชิงลึก พบว่า คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นและมากขึ้น อายุมากแต่หนี้ยังไม่ลด ที่สำคัญสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้น คนที่มีหนี้อายุ 29-30 ปี เป็นหนี้เสียถึง 1 ใน 5 ซึ่งลองคิดดูว่าประเทศจะไปทางไหน เพราะว่าวัยที่เป็นหนี้เสียเป็นวัยที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ วัยที่สร้างครอบครัว และเป็นวัยที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ แม้ว่าภาพใหญ่ในเรื่องตัวเลขของระบบเศรษฐกิจ ตัวเลขการจ้างงานดีขึ้น รายได้ของประชาชนดีขึ้น แต่การจับจ่ายใช้สอยไม่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากประชาชนมีภาระหนี้เยอะมาก ซึ่งมีผลต่อการบริโภคภาพรวมของประเทศ

                ดังนั้นปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งการแก้ไขปัญหาไม่ได้มีสูตรสำเร็จเพียงแค่สูตรเดียว คือ

                ในการแก้ไขปัญหาของ ธปท. จึงมี 3 มิติด้วยกัน มิติที่หนึ่งคือ การกำกับดูแลสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อที่ยั่งยืน (Responsible Lending) จะเห็นว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การกำกับดูแล Personal Loan, Credit Card สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในเรื่อง LTV และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ช่วงต่อไป ธปท.ได้ทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล และชมรมธุรกิจบัตรเครดิต โดยจะช่วยกันส่งเสริมการให้บริการสินเชื่อที่เป็น Responsible Lending ที่ผ่านมาสถาบันการเงินเร่งขยายสินเชื่อโดยไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลเสียในระยะยาว มิติที่สอง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการคลินิกแก้หนี้ ปัจจุบันลูกหนี้จำนวนมากมีหนี้สินล้นพ้นตัว มีเจ้าหนี้หลายราย และไม่มีทางออก การปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ได้ทีละราย เป็นไปได้ยากที่จะไปเจรจาสำเร็จ ดังนั้นโครงการคลินิกแก้หนี้จึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่สุจริตและตั้งใจที่จะแก้ไขหนี้ และรักษาวินัยทางการเงินให้สามารถออกจากการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวได้

                มิติที่สามคือ การส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจทางการเงิน (Financial Literacy) เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากในการแก้ปัญหนี้ครัวเรือน จากผลการ survey พบว่า คนไทยเป็นจำนวนมากยังไม่เข้าใจเรื่องการใช้บริการทางการเงิน และยุคนี้เป็นยุค Digital Finance และ Digital Banking ซึ่งจะทำให้คนตัดสินใจใช้บริการทางการเงินได้ง่าย ดังนั้นการส่งเสริมความรู้ทางการเงินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้ลูกหนี้ระมัดระวังการใช้จ่าย ไม่ให้ใช้จ่ายเงินเกินตัว ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานร่วมกันให้ความรู้ทางการเงิน

                                                                (อ่านต่อพรุ่งนี้ครับ)

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"