โพลยี้'250ส.ว.ลากตั้ง'


เพิ่มเพื่อน    


    โพลเผยประชาชนไม่เอาด้วย "บิ๊กตู่" ดันคนกันเอง อดีต รมต.ได้เป็น ส.ว.ต่ออีก 5 ปี อยู่กันไปยาวๆ พร้อมค้าน กกต.ใช้สูตรแจกเก้าอี้พรรคเล็กได้ปาร์ตี้ลิสต์ ชี้ควรให้ความสำคัญกับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน "เรืองไกร" นำร่องยื่นค้านต่อศาลปกครอง 
    ความเคลื่อนไหวก่อนเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเตรียมเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน พ.ค.นี้ 
    โดยเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่รัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดรับรายงานตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นวันที่ 5 มี ส.ส.ทยอยเข้ารายงานตัวค่อนข้างบางตา เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ โดยมีจำนวน ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อมารายงานตัวแล้วจำนวน 5 คน ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ 4 คน ได้แก่ นายชวน หลีกภัย, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์, นายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ และพรรคพลังประชารัฐ 1 คน ได้แก่ นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม ทั้งนี้ รวม ส.ส.ที่มารายงานตัวตลอดทั้ง 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 8-12 พ.ค. มีจำนวนทั้งสิ้น 338 คน
    อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเห็นตามมาอย่างต่อเนื่องต่อกรณีการประกาศรายชื่อ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ใช้สูตรให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนรวมต่ำกว่า 7 หมื่นกว่าคะแนนได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วย 
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กในหัวข้อ สมชัยใจดี รับเขียนคำร้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ฟรี การยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของ กกต.ขัดกับรัฐธรรมนูญ มีรายละเอียดและขั้นตอนดังนี้ 1. ผู้ยื่นต้องเป็นผู้ที่มีผลกระทบว่าถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพจากการกระทำที่เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ (มาตรา 7  (11) ของ พ.ร.ป.ศาลรัฐฯ) ซึ่งหมายความถึง ผู้บริหารพรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 7 พรรค คือ พปชร., อนค., ปชป., ภูมิใจไทย, เสรีรวมไทย, ชาติไทยพัฒนา และรวมพลังประชาชาติไทย ที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยกว่าที่ควรจะได้ และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อในลำดับถัดไป รวมจำนวน 12 คน
    นายสมชัยกล่าวอีกว่า 2.การยื่นคำร้อง ต้องระบุ (1) ชื่อและที่อยู่ของผู้ร้อง (2) เรื่องหรือการกระทําทั้งหลายอันเป็นเหตุให้ต้องขอให้ศาลมีคําวินิจฉัยพร้อมทั้งข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง (3) มาตราของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุในคําร้อง (4) คําขอที่ระบุความประสงค์จะให้ศาลดําเนินการอย่างใด พร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุนโดยชัดแจ้ง (มาตรา 42 พ.ร.ป.ศาลรัฐฯ) 3.การยื่นคำร้อง ต้องยื่นที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ภายใน 90 วัน นับจากเกิดเหตุ (มาตรา 46 พ.ร.ป.ศาลรัฐฯ) 4.ผู้ตรวจฯ ต้องพิจารณาส่งศาลฯ ภายใน 60 วัน หากไม่ส่ง ผู้ยื่นคำร้องสามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ (มาตรา 48 พ.ร.ป.ศาลรัฐฯ) ขั้นตอนมีแบบนี้ หากใครที่เสียหายเขียนคำร้องไม่เป็น หรือไม่สะดวกจะเขียนเอง อ.สมชัย บริการเขียนให้ฟรีครับ ติดต่อมาได้ด่วนเลย
    ขณะที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. และสมาชิกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การที่ กกต.ประกาศรายชื่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 149 คนนั้น ถูกต้องแค่จำนวนรวมเท่านั้น แต่ไส้ในไม่ถูกต้อง เพราะมีการนำคะแนนเสียงไปจัดสรรให้พรรคเล็ก 11 พรรค ทั้งที่พรรคเหล่านี้มีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่พึงมี และคะแนนที่นำไปให้นั้น ไม่รู้ไปคว้ามาจากที่ไหน ของใคร พรรคใด เขตใด กกต.ไม่ได้ชี้แจงที่มาที่ไปของคะแนนที่ไปเติมให้พรรคเล็กๆ ไว้แต่อย่างใด เมื่อย้อนดูคะแนนเสียงของพรรคใหญ่แต่ละพรรคที่ได้รับมาจากการเลือกตั้ง ยิ่งเห็นได้ชัดว่าในการคำนวณของ กกต. พรรคใหญ่ถูกทำให้คะแนนเสียงลดลงหรือตกน้ำไปโดยไร้เหตุผล เช่น อนค. ตกน้ำไปประมาณ 561,245 คะแนน, ปชป. ตกน้ำไปประมาณ 256,857 คะแนน, พปชร. ตกน้ำไปประมาณ 229,034 คะแนน เป็นต้น 
    นายเรืองไกรกล่าวว่า เรื่องนี้ทำให้พรรคเหล่านี้สูญเสีย ส.ส.บัญชีรายชื่อไปด้วยอีกหลายคน ตามตารางการคำนวณของ กกต. เป็นสิ่งที่ฟ้องในตัวเองว่า กกต.คำนวณจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ถูกต้อง เพราะผลการจัดสรรดังกล่าวขัดต่อกฎหมายที่บัญญัติบังคับไว้แล้วว่า “การจัดสรรจะต้องไม่ทำให้ได้ ส.ส. เกินกว่าค่าที่พึงมี” ดังนั้น พรรคการเมืองที่มีค่าพึงมีต่ำกว่า 1 คน จึงไม่มีทางจะได้ ส.ส.เลย แต่ กกต.กลับไปหาวิธีการมาทำให้พรรคการเมืองที่มีค่าพึงมีต่ำกว่า 1 คน ได้ ส.ส. 1 คน ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด เรื่องนี้พิสูจน์ได้ง่าย โดยการนำค่าเฉลี่ยของจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมี 1 คน คือ 71,168 คะแนน มาเทียบกับคะแนนของพรรคเล็กทั้ง 11 พรรค จะทำให้เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า ถ้าพรรคเหล่านี้ได้ ส.ส. 1 คน ก็จะต้องมีคะแนนสูงกว่าหรือเท่ากับค่าพึงมี แต่หามีไม่ 
    นายเรืองไกรเห็นว่า ดังนั้นการได้ ส.ส. 1 คน จึงเท่ากับมีการเพิ่มคะแนนค่าพึงมีให้พรรคเหล่านี้ โดยรวมทั้ง 11 พรรค มีคะแนนเพิ่มมา 234,640 เสียง ซึ่ง กกต.อธิบายไม่ได้ว่าคะแนนที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากหน่วยใด เขตใด หรือไปเอาของพรรคใดมาเติมให้พรรคเล็กๆ ดังนั้น การประกาศรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ผ่านมาจึงไม่ถูกต้อง และทำให้ถูกมองว่าพรรคใหญ่โดนยักย้ายถ่ายเทคะแนนไปให้พรรคเล็กตามอำเภอใจ ทั้งที่คนเข้าคูหากาคะแนนให้พรรคใหญ่
    นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า เรื่องนี้ กกต.ทำไม่ถูกต้อง ทำให้สังคมส่วนใหญ่ถึงจุดรับไม่ได้ จึงมีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก และมีการจ้องฟ้องร้องตามมาอีกหลายทาง
    "ผมเป็นหนึ่งในนั้น ที่เห็นว่าเรื่องนี้ปล่อยไปไม่ได้ เพราะคนที่จะไปเป็นตัวแทนของประชาชนต้องมีที่มาโดยถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมาย ใครก็ตามที่ไม่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนถึงเกณฑ์ค่าที่จะพึงมี ก็ไม่ควรได้รับการรับรองจาก กกต. ให้ไปเป็นตัวแทนของประชาชน ทั้งนี้ เรื่องนี้ปล่อยให้ผ่านไปไม่ได้ ในฐานะผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการกระทำของ กกต. และคนของพรรคเล็กๆ ที่ได้เป็น ส.ส. ทั้งที่ไม่ควรได้ แต่จะไปเป็นตัวแทนของประชาชนและของตนด้วยเพื่อทำหน้าที่ในสภาผู้แทนฯ นั้น ผมจึงเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจเดือดร้อนเสียหายตามไปด้วย จึงต้องนำเรื่องนี้ไปฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้มีคำสั่งยกเลิกเพิกถอนประกาศ กกต.ดังกล่าว และขอให้ศาลสั่งให้ กกต.จัดสรรใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้พรรคใหญ่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อกลับมาคืน ตามจำนวนสัดส่วนของคะแนนที่ประชาชนเลือก โดยตนจะไปยื่นคำร้องในวันที่ 13 พฤษภาคม ศกนี้ เวลา 10.00 น. ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ" นายเรืองไกรกล่าว 
    นายเรืองไกรย้ำว่า ขอท้าให้พวกที่เห็นว่าพรรคเล็กที่ได้คะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์พึงมี ควรได้ ส.ส. 1 คน ก็ขอให้ออกมาแสดงตนอย่างเปิดเผย อย่าทำตัวเป็นอีแอบแหกปากตะโกนตะแบงเชียร์อยู่ด้านเดียว ควรออกมารับฟังความเห็นอีกด้านหนึ่งด้วย เพื่อถกเถียงโต้แย้งกันอย่างมีเหตุผลต่อหน้าสาธารณชนได้เลย โดยการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อแสดงความคิดอย่างมีเหตุผลตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย พร้อมไปทุกเวที เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องตัวเลข พิสูจน์กันได้ง่าย ประชาชนจะได้รู้ความจริงว่าอะไรถูก อะไรผิด 
    วันเดียวกันนี้ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณีการรับรอง ส.ส.แบบแบ่งเขต แบบบัญชีรายชื่อ และการเข้าสู่ตำแหน่ง ส.ว. จำนวนทั้งสิ้น 1,187 คน ระหว่างวันที่  7-11 พฤษภาคม 2562 สรุปผลได้ ดังนี้  
    เมื่อถามว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ กรณี กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 349 เขต จาก 350 เขต อันดับ 1 ไม่เห็นด้วย 76.24% เพราะควรประกาศให้ครบทั้ง 350 เขต มีหลายจุดที่พบข้อสงสัย ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการทำหน้าที่ของ กกต.ไม่เป็นกลาง ไม่ชัดเจน ฯลฯ, อันดับ 2    เห็นด้วย 23.76% เพราะเป็นผลที่ถูกต้องตามเงื่อนไขรธน. อยู่ในระยะเวลาที่กำหนด ส.ส.ใหม่จะได้ไปรายงานตัว การเมืองเดินหน้าชัดเจนมากขึ้น ฯลฯ 
    เมื่อถามอีกว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ กรณี กกต.ประกาศรับรอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
อันดับ 1 ไม่เห็นด้วย 75.40% เพราะมีหลายฝ่ายที่ออกมาทักท้วง การคำนวณของ กกต.ไม่เป็นธรรม ควรให้ความสำคัญกับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ฯลฯ, อันดับ 2 เห็นด้วย 24.60% เพราะเมื่อมีการรับรองผล ส.ส.แบบแบ่งเขต ก็ต้องมีการประกาศผล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามมาเช่นกัน เป็นไปตามขั้นตอน ฯลฯ
    ส่วนข้อถามที่ว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ กรณี การลาออกของ 15 รัฐมนตรี เพื่อไปดำรงตำแหน่ง ส.ว. อันดับ 1 ไม่เห็นด้วย 83.15% เพราะเหมือนเป็นการเตรียมการไว้แล้ว เป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ อาจทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง ดูแล้วไม่ค่อยเหมาะสม ฯลฯ, อันดับ 2 เห็นด้วย 16.85% เพราะ    เป็นสิทธิโดยชอบธรรม ทำตามกฎระเบียบ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ รู้และเข้าใจปัญหาบ้านเมือง  จะได้ทำงานต่อเนื่อง ฯลฯ
    ส่วนข้อถามที่ว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ กรณี คสช.เตรียมลาออกเพื่อไปดำรงตำแหน่ง ส.ว. 
อันดับ 1 ไม่เห็นด้วย 85.00% เพราะอยากให้เข้ามาเพื่อช่วยเหลือทำประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างแท้จริง ไม่ได้เข้ามาเพื่อต้องการกุมอำนาจหรือหวังผลใดๆ ฯลฯ, อันดับ 2 เห็นด้วย 15.00% เพราะสามารถทำได้ มีการตรวจสอบคัดกรองคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็น ส.ว. เชื่อมั่นและไว้วางใจในการทำงานของ คสช.ชุดนี้ ฯลฯ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"