ด้วยสภาพเชิงภูมิศาสตร์ ทำให้ไทยได้เปรียบหลายประเทศในอาเซียน จนทำให้หลายๆ คน หลายๆ ประเทศมองไทยเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เป็นเกตเวย์สู่ภูมิภาค รวมถึงเป็นประตูออกสู่การขนส่งสินค้าจากภูมิภาคสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม)
จากปัจจัยดังกล่าวนั้นทำให้รัฐบาลเดินหน้าผลักดัน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ ซึ่ง รมว.คมนาคมอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ถึงกับระบุอย่างชัดเจนว่าประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นฮับการขนส่งสินค้า (Transit Country) ของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) รวม 6 ประเทศ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากในการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและการลดความแออัดบริเวณด่านชายแดน ซึ่งได้มีการลงทุนไปมากกว่า 1 แสนล้านบาท ตามแนวเส้นทางการค้าชายแดนที่สำคัญในการขนส่ง GMS และอยู่ในแผนเส้นทางใหม่ในระเบียงเศรษฐกิจ GMS
เริ่มจาก 1.) ด่านชายแดนเชียงของ มีการลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงินลงทุน 8.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเวนคืนพื้นที่เพื่อก่อสร้าง รวมไปถึงการก่อสร้างศูนย์เชียงของ 1.4 พันล้านบาท คาดจะเปิดให้บริการได้ในปี 2563
2.) ด่านชายแดนนครพนม ก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 6.8 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในไม่ช้า และการพัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้า จ.นครพนม วงเงิน 846 ล้านบาท ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติโครงการไปแล้ว รองรับการขนส่งสินค้าจากชายแดนไปสู่ท่าเรือแหลมฉบังด้วยระบบราง
3.) ด่านชายแดนแม่สอด เป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งยุทธศาสตร์ (Asean East-West Economic Corridor : EWEC) นั้น ล่าสุดได้เปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่สอง วงเงินลงทุน 1.1 พันล้านบาท เชื่อมการขนส่งระหว่างแม่สอด-ย่างกุ้ง-มหาสมุทรอินเดีย และแก้ไขปัญหาความแออัดหน้าด่าน
4.) ด่านชายแดนปอยเปต มีการลงทุนก่อสร้างสะพานข้ามคลองพรหมโหด จ.อรัญประเทศ เพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าไทย-กัมพูชา คาดว่าจะเปิดใช้ด่านการค้าแห่งใหม่นี้ในปี 2564 และ 5.) ด่านชายแดนหนองคาย มีการลงทุนก่อสร้างสะพานทางรถไฟข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์ วงเงินลงทุนมากกว่า 1 พันล้านบาท พร้อมสถานีขนส่งสินค้าและสถานีผู้โดยสารแยกกัน รองรับทั้งระบบรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-ลาว-จีน
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การเป็นฮับขนส่งเดินขึ้นได้อย่างแท้จริง ล่าสุด ไทยโดยกรมการขนส่งทางบกได้ทำบันทึกความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านขนส่ง ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) ในกลุ่ม GMS และเริ่มใช้การแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรระหว่างกันแล้ว ประเทศละ 500 ราย อาทิ ไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม และจีน ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตสามารถขนส่งสินค้าระหว่างกันได้แล้ว ขณะที่กัมพูชานั้นได้เริ่มกับประเทศไทยก่อน พร้อมลงนามความตกลงร่วมกันระหว่างปี 2562-2564 โดยมีการกำหนดใบอนุญาตไว้ที่ประเทศละ 500 ราย
ขณะที่เมียนมาขอทำความร่วมมือแบบทวิภาคีกับไทยก่อนกำหนดสัดส่วนใบอนุญาตจำนวน 100 ราย และเริ่มมีผลแล้ว นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกจะผลักดันแผนลงทุนศูนย์ขนส่งและเปลี่ยนถ่าย 2 แห่ง ได้แก่ ชายแดนมุกดาหาร และชายแดนหนองคาย วงเงินลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 1.5 พันล้านบาท ซึ่งศูนย์ขนส่งดังกล่าวนั้นจะให้บริการขนส่งสินค้าแบบ One Transport กล่าวคือทุกศูนย์ขนส่งสินค้าทางบกและทางรถไฟ จะมีถนนทางหลวงและถนนทางหลวงชนบทรองรับทุกแห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ ดังนั้นไทยมีความพร้อมเป็นฮับขนส่งของ GMS
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาอนุมัติ ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามารับช่วงต่อ ก็ต้องเดินหน้าเร่งผลักดันโครงการให้แล้วเสร็จ อย่ามัวแต่พิจารณาหรือทบทวนว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะให้ประเทศไทยกลายเป็นฮับการขนส่งระดับภูมิภาคได้กันจริงเสียที
และในส่วนของผู้ประกอบการไทยเองก็ต้องปรับตัวให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีของโลกที่ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลหมด รวมถึงรองรับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะขณะนี้กลุ่มโลจิสติกส์รายใหญ่ของโลกก็ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเช่นกัน ดังนั้นอย่าให้การลงทุนของภาครัฐที่ตั้งใจจะยกระดับธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ของคนไทย กลายเป็นประโยชน์ของต่างชาติไปหมด.
บุญช่วย ค้ายาดี
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |