วันที่ 12 พ.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบจากกรณีเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้เซ็นหนังสือถึง นายไกรรัตน์ วีรพัฒนาสุวรรณ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ถึงกรณีปรากฏคลิปภาพนายไกรรัตน์ โดนเรียกตรวจใบขับขี่ จนมีการกระทบกระทั่งกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณด่านตรวจในพื้นที่ สภ.อ.ทุ่งใหญ่ ซึ่งปรากฎเป็นข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชน
รายงานข่าวระดับสูงของศาลยุติธรรมได้อธิบายขั้นตอนว่า หากมีการชี้แจงมาทางสำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมในฐานะเลขานุการ ก.ต.จะเป็นผู้รวบรวมสรุปสำนวนข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อนที่จะนำเสนอไปยังที่ประชุม ก.ต. ซึ่งต้องรอดูกันว่าหากมีการชี้แจงจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯภาค 8 กลับมาแล้ว ก็จะมีการนำเสนอได้ทันในการประชุม ก.ต.วันที่ 13 พ.ค.นี้หรือไม่
แต่ก็ยังจะมีอีกกรณีคือ ก.ต.ได้เห็นทราบเหตุการณ์เอง มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวในที่ประชุม ก.ต.ก็จะมีการนำเข้าพิจารณาพูดคุยกันในที่ประชุม ซึ่งประเด็นนี้ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน ส่วนเมื่อประชุมแล้วทาง ก.ต.จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นหรือไม่นั้น ตามขั้นตอนหาก ก.ต.มีการหยิบยกขึ้นพูดพิจารณาในที่ประชุม ก.ต.ก็เป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาที่จะพิจารณานำเรื่องที่รับฟังมาจาก ก.ต.แล้วมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเลยหรือไม่
ซึ่งการสอบข้อเท็จจริงนั้นจะมีการสอบว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายมีมูลหรือไม่ หากผลออกมามีมูลว่าเป็นเรื่องผิดวินัยไม่ร้ายแรง ก็จะส่งคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) ก็จะพิจารณากลั่นกรองทำความเห็นส่ง ก.ต.พิจารณาโทษได้เลย แต่หากสอบแล้วว่ามีมูลที่จะเป็นวินัยร้ายแรง ก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงขึ้นมาอีกชุดก่อนส่ง อ.ก.ต.กลั่นกรองทำความเห็นส่ง ก.ต.พิจารณาต่อไป
ส่วนประเด็นที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้เรียกร้องคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ที่ออกมาเรียกร้องให้ประธานศาลฎีกาและ ก.ต. ที่จะต้องดำเนินการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงสอบจริยธรรมเป็นการเร่งด่วนนั้น ตัวผู้ร้องสามารถร้องเรื่องดังกล่าวเข้าไปสู่สำนักประธานศาลฎีกา ซึ่งเมื่อมีการร้องเรียนเรื่องนั้นก็จะถูกนำเสนอไปยังประธานศาลฎีกาเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาว่าจะนำเสนอไป ก.ต.ต่อไปหรือไม่อย่างไร
สำหรับกระแสการเรียกร้องให้ย้ายนายไกรรัตน์ออกจากพื้นที่นั้น ก็จะต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ ไม่ใช่เป็นการรับฟังจากสื่อมวลชน หรือกระแสสังคมด้านเดียว ต้องเปิดโอกาสให้มีการชี้แจงและตรวจสอบอย่างรอบคอบ ซึ่งระบบของศาลยุติธรรมนั้นถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการถูกแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาจากบุคคลภายนอก เพื่อประกันความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี ฉะนั้นการที่จะมีคำสั่งใดๆ ที่เกี่ยวกับการโยกย้ายแต่งตั้งจะต้องมีการพิจารณาตรวจสอบ อีกทั้งการกระทำดังกล่าวยังไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในงานคดี ที่จะต้องมีคำสั่งย้ายด่วน
ส่วนประเด็นที่นายไกรรัตน์ ดำรงตำแหน่งถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค8 ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีทุจริตฯ ของข้าราชการซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่นั้น แล้วจะใช้อำนาจกลั่นแกล้งใครนั้น เรื่องนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ว่านายไกรรัตน์จะสามารถใช้อำนาจกลั่นแกล้งใคร เนื่องจากการพิจารณาคดีในศาลจะใช้ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะเป็นผู้พิจารณาสำนวน และมีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษา ต่อให้ผู้บริหารระดับสูงแค่ไหน ก็ไม่สามารถแทรกแซงคดี ที่ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาไปสั่งการให้มีใครกลั่นแกล้งบุคคลใดได้ ไม่มีผู้พิพากษาคนไหนกล้าเสี่ยงในเรื่องแบบนี้ ไม่มีใครเอาด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับระดับการลงโทษวินัยผู้พิพากษาในโทษวินัยไม่ร้ายแรง จะประกอบด้วยการตักเตือน ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดเงินเดือน ส่วนโทษวินัยร้ายแรง คือปลดออก ไล่ออก
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |