กลายเป็นหนึ่งในทอล์คออฟเดอะทาวน์ ในทุกช่องทางการสื่อสารสำหรับเรื่องราวอากาศร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายน และยาวมาถึงวันนี้ ที่เป็นเดือนพฤษภาคมในปีนี้ จนติดท็อปชาร์ตแฮชแทค #แดดเมืองไทย #ขอโทษนะนี่แดดประเทศไทยหรือไออุ่นจากนรก ฯลฯ
สภาพอากาศร้อนจัดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือที่ร้อนทะลุ 44 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง อีสาน และใต้ ก็มีอากาศร้อนไม่แพ้กัน ขณะที่ชาวกรุงเทพมหานครต้องรับมือกับระดับความร้อนที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียสร้อนกว่าปกติ อากาศที่ร้อนระอุ แถมร้อนตลอดทั้งวัน ทำให้มีผู้ป่วยเป็นโรคลมแดดหรือฮีทสโตรกจนเสียชีวิต
คำถามมากมายว่า ทำไมประเทศไทยร้อนกว่าปกติหรือร้อนเท่าปีก่อนมั้ย นายบุญธรรม ตั้งล้ำเลิศ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเฝ้าติดตามสภาพอากาศ ภูมิอากาศ พาไปดูลักษณะอากาศของประเทศไทยชัดๆ โดยเปรียบเทียบกับสถิติอุณหภูมิสูงที่สุดในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ.2494 -2561 ที่ผ่านมา
นายบุญธรรม ตั้งล้ำเลิศ นักอุตุนิยมวิทยา นักวิชาการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา
นายบุญธรรม กล่าวว่า จากสถิติอุณหภูมิสุงสุดถ้าดูจากเทรนด์อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นมาตลอด โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1-2 องศาเซลเซียส ปีนี้ภาคเหนือมีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ จ.ลำปาง, ตาก, อุตรดิตถ์ อากาศร้อนมากกว่า 44 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับเมษายนปี 2559 อุณหภูมิสูงที่สุดที่ จ.แม่ฮ่องสอน อยู่ที่ 44.6 องศาเซลเซียส รองลงมา จ.สุโขทัย อากาศร้อน 44.5 องศาเซลเซียส ฉะนั้น อุณหภูมิสูงสุดปีนี้จึงไม่ได้ทำลายสถิติในอดีต ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์เคยร้อนมาแล้ว ขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อเทียบกับสถิติ พบว่า อุณหภูมิสูงสุดสูงกว่าปีที่แล้ว จ.ปทุมธานีปีที่แล้ว 39 องศาเซลเซียส ปีนี้ทะลุ 41 องศาเซลเซียส แต่ปัญหาสภาพอากาศที่ชัดเจนขึ้นในปีนี้ คือ อดีตกลางวันและกลางคืนอุณหภูมิแตกต่างกันมาก ไม่ได้ร้อนทั้งวัน ไม่เหมือนปัจจุบันที่ลักษณะอากาศมีความร้อนอบอ้าวทั้งวัน ทั้งที่กลางคืนควรจะเย็นลง แต่มันไม่เย็น อุณหภูมิต่ำสุดและสูงสุดใกล้เคียงกัน โดยอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 30-40 องศาเซลเซียส ทำให้คนรู้สึกถึงอากาศที่ร้อนจัด จากแผนข้อมูลภูมิอากาศ แสดงค่าเฉลี่ยอุณหภูมิต่ำสุดของประเทศไทย 22 องศาเซลเซียส เมื่อกาลเวลาผ่านมา กรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ อุณหภูมิต่ำสุดสูงเฉลี่ยถึง 25 - 30 องศาเซลเซียส แสดงถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้นๆ
สถติอุณหภูมิประเทศไทยในรอบ66ปี
" อากาศร้อนผิดปกติเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก มีการเปลี่ยนแปลงในหลายรูปแบบ ประชากรของโลกเพิ่มมากขึ้น พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป การสร้างสาธารณูปโภค ถนนหนทาง สิ่งปลูกสร้าง การใช้ชีวิต การใช้พลังงานต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้น ล้วนส่งผลทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปจากอดีต สิ่งแวดล้อมที่ดี มีปัจจัยแทรกแซงทำให้ลดลง ไม่กลับมาเหมือนเดิม การขาดต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียว ทำให้เมืองขาดประสิทธิภาพในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนมาอยู่ในเนื้อไม้ ทำให้เกิดการสะสมความร้อน เพราะก๊าซเรือนกระจก นอกจากมาจากก๊าซภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังมาจากไอน้ำและก๊าซคาร์บอน ทำให้ชั้นบรรยากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น ฉะนั้น โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอากาศร้อนจัดกำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ เช่นเดียวกับพฤติกรรมฝนที่เปลี่ยนแปลงไป ปกติฝนตก 1,500 -2,000 มิลลิเมตรต่อปี ตกเป็นระยะๆ ปัจจุบันตกหนัก ปริมาณฝนมากต่อครั้ง ทำให้การจัดการน้ำทำได้ยากขึ้น ปัจจุบันนี้เรารับผลจากการกระทำในอดีต ถึงลงมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในปัจจุบัน ก็ไม่ได้หมายความว่า สภาพอากาศที่ดีจะกลับคืนมาใน 5 ปี 10 ปี แต่สิ่งแวดล้อมจะค่อยๆ ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิขึ้นแล้ว ขึ้นเลย ไปไม่กลับ ไม่เหมือนวัฏจักรน้ำ ฝน มีขึ้น มีลง "
สภาพความเสียหายจากพายุปาบึก
นายบุญธรรม กล่าวว่า สภาพอากาศร้อนจัดในประเทศไทย ถ้าร่างกายรับมือกับความอ่อนเพลียจากความร้อนไม่ได้ จะมีอาการโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก ขาดน้ำ ซึ่งต้องได้รับการรักษาโดยด่วน อาจถึงขั้นเสียชีวิต จะต่างกับการเกิดคลื่นความร้อนในยุโรป หรือเขตอบอุ่น ซึ่งอุณหภูมิสูงสุดอยู่ระหว่าง 30-35 องศาเซลเซียส เมื่อคนยุโรปเผชิญปรากฎการณ์คลื่นความร้อน 40 องศาเซลเซียส ระบบร่างกายเปลี่ยนไป รับไม่ไหว เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ซึ่งประเทศไทยไม่มีผลกระทบเรื่องคลื่นความร้อน เพราะอยู่ในเขตร้อนอยู่แล้ว อุณหภูมิฤดูร้อนอยู่ระหว่าง 35-40 องศาเซลเซลเซียส
สภาพอากาศที่ร้อนจัดไม่ใช่สัญญาณเตือนครั้งแรกจากภาวะเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก นายบุญธรรม กล่าวว่า ปรากฏการณ์พายุโซนร้อนปาบึกที่เกิดขึ้น ในเมื่อเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา จากปกติที่ฤดูกาลของพายุทางตอนใต้ของไทยมักเกิดขึ้นช่วงปลายปีประมาณเดือนตุลาคม -ธันวาคม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 60 ปี แสดงถึงฤดูกาลของพายุจะเปลี่ยนแปลงไป ถ้ายังจำกันได้ ปี 2505 พายุโซนร้อนแฮเรียตเข้าถล่มภาคใต้สร้างความเสียหาย 27 ปี ต่อมา หรือพ.ศ.2532 พายุไต้ฝุ่นเกย์เข้าชายฝั่งอ่าวไทย จากนั้นอีก 15 ปี พายุไต้ฝุ่นลินดาเข้าไทยเดือนพฤศจิกายน 2547 แสดงให้เห็นว่า การสะสมพลังงานที่ทำให้เกิดพายุในทะเลจีนใต้ หรืออ่าวไทยลดลง
มาถึงพายุโซนร้อนปาบึก เกิดต้นปี 2562 หรือผ่านมา 15 ปีเหมือนกัน แต่หากมองสถิติย้อนกลับไป 70 ปี เดือน มค. ,ก.พ., มี.ค. ไทยไม่เคยเจอพายุเลย หมายความว่า ภูมิอากาศโลกและจำนวนพายุได้เปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม ต้องเฝ้าติดตามพายุหมุนเขตร้อน หากใน 5-10 ปีนี้มีพายุเข้าไทยช่วงมกราคมอีก จะถือได้ว่า ฤดูกาลเปลี่ยนอย่างถาวรแล้ว ไม่ใช่ชั่วคราว
ในแง่การพยากรณ์อากาศ บุญธรรมบอกว่า ขณะนี้ เหตุการณ์สภาพอากาศเปลี่ยนเร็ว การพยากรณ์ยากขึ้น เนื่องจากลักษณะของตัวแปร การใช้พลังงาน การใช้ประโยชน์ในพื้นดิน ปัจจุบันการพยากรณ์ใช้ข้อมูลเบื้องต้นเข้าไปในแบบจำลอง เป็นข้อมูล 5-10 ปีที่แล้ว แต่โลกปัจจุบันมีคนกว่า 60 ล้านคน และจะเพิ่ม 120 ล้านคน ใน 20 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้น ต้องพัฒนาแบบจำลองให้ทันสมัยตลอดเวลา รวมถึงการประเมินผล ต้องอาศัยข้อมูลนำเข้าที่ดีและทันสมัยมากขึ้น ในแผนงานหรือนโยบายพัฒนาประเทศต้องบูรณาการ และคำนึงถึงประเด็นภูมิอากาศมากขึ้น เพราะสภาวะอากาศทั้งพายุหรือสภาพแล้ง มีผลกระทบต่อพืชพรรณที่ปลูก อย่างพายุเข้าใต้ทุก 15 ปี ชาวสวน ชาวประมง ภาครัฐได้มีการเตรียมพร้อมรับมือในอนาคตหรือไม่ จากการพยากรณ์ฤดูฝนปีนี้ ฝนจะมาเร็ว และเกรงว่าฝนจะทิ้งช่วง นับเป็นเรื่องน่ากลัว เกษตรกรต้องเตรียมพร้อม ใช้น้ำท่ากับน้ำเขื่อนให้สมดุลกัน อดีตฝนตกต้องตามฤดูกาล จัดการง่าย เพราะมีความต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันฝนสาดเข้ามาทีเดียว แล้วหยุด บริหารน้ำยาก นอกเขตชลประทานควรปลูกพืชใช้น้ำน้อย ลดความเสียหาย
สถิติการเกิดพายุในรอบ70ปีของไทย และเป็นครั้งแรกที่เกิดพายุ อันหมายถึง"พายุปาบึก"ในช่วงต้นปีนี้
"กลุ่มผู้ใช้น้ำจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะโลกร้อน การวางแผนรับมือน้ำมาก 5 ปี น้ำน้อย 5 ปี สำคัญ หลายกลุ่มปรับตัวอย่างเกษตรกรอินทรีย์ที่จันทบุรีและตราดมีความรู้เรื่องการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า น่าห่วงภาคประชาชนปลูกพืชตามกระแส เช่นเดียวกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่้ภาคเหนือ ห้ามเผาแต่ก็ยังเผาเตรียมที่ทางทำไร่ แม้กรมอุตุฯ จะประกาศเตือน รณรงค์ พร้อมให้คำแนะนำ แต่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ก็ยังต้องให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งอยากให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุฯ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่ได้รับมอบหมายหลัก "นักอุตุนิยมวิทยากล่าว
อีกบทบาทนอกจากนักอุตุนิยมวิทยาแล้ว บุญธรรม ยังสวมหมวกนักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ขณะนี้เตรียมจะเสนอโครงการการใช้ข้อมูลเส้นทางพายุในการบริหารจัดการพื้นที่ เสนอขอรับทุนต่อ สกว. แก่นสำคัญ คือ หากมีพายุเข้าภาคใต้ พื้นที่ใดต้องเฝ้าระวังคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือ Storm surge โดยแบ่งเป็นพายุโซนร้อน พายุดีเปรสชั่น พายุไต้ฝุ่น มีทุกเคส ระดับอ่อน ปานกลาง และแรง โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการภัยพิบัติ โดยเฉพาะกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หากโครงการได้รับทุน ใช้เวลา 2-3 ปี ก็สามารถส่งมอบรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่ให้ได้ ในประเทศที่เจริญแล้วรัฐบาลจัดเตรียมแผนเหล่านี้ไว้หมด ลดความสูญเสีย ซึ่งข้อมูลจากโครงการวิจัยที่จะทำ สามารถปรับใช้ในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานได้ด้วย แต่เริ่มนำร่องภาคใต้ก่อน เพราะเผชิญทั้งวาตภัยและสตอร์ม เซิร์จ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
ภาพแสดงอุณหภูมิประเทศไทยที่ร้อนจัดตั้งแต่วันที่ 1 -30 .เมษายน 2562