เล่นกับหมาดีกว่าสุนัขรับใช้


เพิ่มเพื่อน    

 พรรคการเมืองยังจบไม่ลง ประสานมือด่า กกต. คำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ขัดรัฐธรรมนูญ "สมชัย" อ้าง 10 คะแนนต่อเขตก็เป็น ส.ส.ได้แล้ว ส่วนสรรหา ส.ว. นักการเมืองระบอบทักษิณขย่มหนัก คสช.ครอบงำหวังสืบทอดอำนาจ "ศรีสุวรรณ" เหน็บเล่นกับหมา ดีกว่าเล่นกับพวกสุนัขรับใช้นักการเมืองจอมลวงโลก ที่ไม่ยอมรับความจริงครับ

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรับหนังสือรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ?ในวันที่ 11 พ.ค. มี ส.ส.มารับใบรับรองแล้ว 30 คน แบ่งเป็นส.ส.เขต 14 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 16 คน ทำให้เหลือส.ส.ที่ยังไม่มารับหนังสือรับรอง 30 คน แบ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 22 คน จากภูมิใจไทย 11 คน, เสรีรวมไทย 10 คน, ประชาธิปัตย์ 1 คน ส่วน ส.ส.แบบแบ่งเขตมีจำนวน 8 คน ทั้งนี้ รวม 5 วัน ส.ส.ทั้งสองระบบมารับใบรับรองแล้ว 468 คน เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 127 คน ส.ส.แบ่งเขต 341 คน  
    ส่วนบรรยากาศการรายงานตัว ส.ส.ที่รัฐสภา ในวันที่สี่ มีผู้มารายงานตัวทั้งสิ้น 13 คน อาทิ พรรคพลังประชารัฐ นายประทวน สุทธิอำนวยเดช ส.ส.จังหวัดลพบุรี, นายสายันต์ ยุติธรรม ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช, พรรคเพื่อไทย นายนพคุณ รัฐผไท ส.ส. จังหวัดเชียงใหม่, พรรคอนาคตใหม่ พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จังหวัดจันทบุรี 
    นอกจากนี้ยังมีพรรคประชาธิปัตย์ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายอิสสระ สมชัย ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ, นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งพรรคขนาดเล็ก เช่น นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์, นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย เป็นต้น
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่า เอาสูตร กกต.ที่จัดสรรให้แก่ทุกพรรค โดยไม่สนใจว่าจะมีจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมีถึงหนึ่งคนหรือไม่ ทดลองสร้างตารางคำนวณใหม่ โดยยึดคะแนน 16 พรรคแรกตามเดิมทุกอย่าง และสมมติให้มีพรรคทั้งหมด 250 พรรค พรรคที่ 17 ได้ 3,000 คะแนน และลดลงทีละคะแนนไปจนถึงพรรคที่ 250 มี 2,767 คะแนน เท่ากับมีคนมาใช้สิทธิ์ทั้งประเทศ 35,067,673 คน
         เขาระบุว่า สิ่งที่ต้องการทดสอบคือ พรรคที่ได้คะแนน 3,000 คะแนน จะมีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อสักหนึ่งคนกับเขาได้หรือไม่ สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น คือการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีเศษที่สามารถไหลไปถึงพรรคที่ 17 ได้ เนื่องจากการจัดสรรเป็นจำนวนเต็มในรอบแรก จัดสรรได้แค่ 133 ที่ เหลือต้องมาจัดสรรจากเศษที่เรียงจากมากไปน้อยอีก 16 ที่ และเมื่อพรรคเพื่อไทยไม่มีโอกาสได้รับ เนื่องจากมี ส.ส.เขตเกินแล้ว ส.ส.บัญชีอีกหนึ่งคนที่เหลือก็จะไหลไปที่พรรคที่ 17
10 คะแนนเป็น ส.ส.
    นายสมชัยเห็นว่า หากมีพรรคมากกว่านี้ เช่นเป็น 400 พรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็จะไหลเลื้อยต่อไปยังพรรคที่มีคะแนนน้อยกว่านี้อีกถึง 4-5 พรรค มาตั้งพรรคการเมืองกันให้เยอะๆ ขอแค่ 10 คะแนนต่อเขต ก็มีโอกาสได้เป็น ส.ส.ผู้ทรงเกียรติในสภาแล้ว สูตรนี้ คนที่เขียนสูตรที่อ้างว่าเป็น กรธ. หากไม่อ่อนคณิตศาสตร์ ก็คงอ่อนหัดทางการเมืองยิ่ง
    ด้านนายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ระบุถึงกรณีที่ กกต.รับรอง ส.ส.ให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนรวมต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ว่าในความเห็นส่วนตัวมองว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค 7 คน  และพรรคควรใช้สิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้อง กกต.ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วยกับนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ที่ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้มีคำสั่งให้การคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นโมฆะทั้งหมด รวมถึงไม่เห็นด้วยที่ ส.ว.จะร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีที่กำลังจะเกิดขั้น เนื่องจาก ส.ว.ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. 
    นอกจากนี้ นายคารมยังระบุถึงการเตรียมการที่จะชี้แจงต่อ กกต. หาก กกต.เชิญเข้ามาให้ข้อมูลเกี่ยวกับคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์?การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เรื่องการถือครองหุ้นสื่อของ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 11 คน ว่าได้ขอคัดสำเนาคำร้องเพื่อเตรียมแก้ข้อกล่าวหา พร้อมถามกลับนายศรีสุวรรณทำไมไม่ตรวจสอบสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บ้าง เช่น นายตวง อันทะไชย, นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายสมชาย แสวงการ
    นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุใจความว่า  ดุ๊ก-ดิ๊ก สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ของที่บ้านครับ เล่นกับสุนัข ดีกว่าเล่นกับพวกสุนัขรับใช้นักการเมืองจอมลวงโลก ที่ไม่ยอมรับความจริงครับ
    พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาและหัวหน้าศูนย์สื่อสารข่าวสารเฉพาะกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อครหาของสังคมที่มีต่อกรณีที่กรณีการตั้งแต่พวกพ้องเข้ามาเป็น ส.ว.ว่า ถือว่าไม่ให้เกียรติประชาชนเพราะการคัดสรรไม่โปร่งใสตรวจสอบไม่ได้ แถมส่อขัดรัฐธรรมนูญอีก และหากร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีโดยไม่สนองเจตจำนงผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.อีกก็จะกลายเป็นบุคคลล้มละลายทางความน่าเชื่อถือเพราะโจทย์เร่งด่วนทางการเมือง
สืบทอดอำนาจ
    ขณะนี้ได้มุ่งสู่การแสวงความร่วมมือในการตัดวงจรของการสืบทอดอำนาจเพราะตัวเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากปีกพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจนั้นมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามทั้งในเรื่องขัดกันแห่งผลประโยชน์ชงเองกินเองที่ให้ ส.ว.ที่ถูกครอบงำโดย คสช.เข้ามาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจาก คสช.
         “มูลเหตุดังกล่าวจึงทำให้พรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า น่าจะตัดแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนนี้ออกไป เพื่อมิให้เกิดปัญหายุ่งเหยิงยากต่อการแก้ไข และจะทำให้ประเทศชาติกลับไปสู่วังวนของปัญหาเดิมๆ อีก ซึ่งการตัดวงจรสืบทอดอำนาจนี้ จะทำให้พรรคการเมืองที่ได้ให้สัจวาจาไว้มีความสบายใจและภาคภูมิใจในเกียรติภูมิที่ได้ปฏิบัติตามสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง สถานการณ์การเมืองก็จะเดินหน้าสู่การเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส. ตามครรลองประชาธิปไตยสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาของต่างประเทศ เกิดความเชื่อมั่น ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และความผาสุกกลับคืนมา” พล.ท.ภราดรกล่าว
    นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาล มาตรา 272 กำหนดว่า การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา การที่ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงต่อการทำหน้าที่ของ ส.ว. อยู่ 2 ประการ คือ
          1.กระบวนการสรรหา ส.ว. ส่อว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญตามบทเฉพาะกาล มาตรา 269 (1) ที่บัญญัติให้ คสช.แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองนั้น
          ในข้อเท็จจริง สังคมรับรู้ทั่วไปว่า กระบวนการสรรหาเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. ใช้เงินงบประมาณถึง 1,300 ล้านบาท สุดท้ายจะได้ ส.ว. จากพวกพ้อง จากผู้ที่ทำงานร่วมกันเป็นส่วนใหญ่ ทั้งใน ครม.และใน สนช. ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช.ทั้งสิ้น และหัวหน้า คสช.ก็เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองหนึ่งเสนอรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จึงนับว่ากระบวนการสรรหาเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. น่าจะไม่เป็นกลางทางการเมือง ขัดกับ รธน.ม.269 (1) หรือไม่
          2.การทำหน้าที่ของ ส.ว.ในวาระเริ่มแรกคือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ส่อว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ที่ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งบัญญัติไว้ ดังนี้ "ส.ส.และ ส.ว. ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์"
คสช.ครอบงำ ส.ว.
          แต่โดยข้อเท็จจริงเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า ในกระบวนการสรรหา ส.ว.นั้น ท้ายที่สุดแล้ว คสช.เป็นผู้เลือก ส.ว. จำนวน 250 คน ถือได้ว่า ส.ว.ทั้งหมด "อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ ของ คสช." ซึ่งนับเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114
          เฉพาะอย่างยิ่ง สังคมเห็นภาพชัดเจนที่รัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวนมากลาออกจากตำแหน่งเพื่อไปเป็น ส.ว. ตามที่เป็นข่าวครึกโครมไปทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์หลักที่จะไปโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองหนึ่ง ในขณะเดียวกันบุคคลผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้น ก็เป็นหัวหน้า คสช.ที่มีอำนาจตั้ง ส.ว. มาทำหน้าที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นับเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 หรือไม่
          ต่อประเด็นทางออกในเรื่องนี้ ส.ว.ควรทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ที่บัญญัติให้ ส.ว.เป็น "ผู้แทนปวงชนชาวไทย" เมื่อเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย  ส.ว.ควรต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ แล้วโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือก ส.ส.เข้ามาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเช่นกัน หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือ ส.ว.ใช้สิทธิ์งดออกเสียง ให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ที่ถืออำนาจอธิปไตยจากประชาชนที่เลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
          ทั้งนี้ ความเห็นนี้ไม่รวมกับภาคส่วนอื่นที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตีความในประเด็นที่มาและความชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญของ ส.ว.
          ประการสำคัญที่สุด รัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 269 (3) บัญญัติให้หัวหน้า คสช.เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในการแต่งตั้ง ส.ว. ซึ่งมีประเด็นว่า หัวหน้า คสช.ได้ตรวจสอบความถูกต้อง ชอบธรรม ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้หรือไม่ โดยตรวจสอบกับข้อเท็จจริงที่รัฐมนตรี และสมาชิกสภานิติบัญญัติหลายท่านลาออกจากตำแหน่งเพื่อไปเป็น ส.ว. ตามข่าวที่ปรากฏครึกโครมอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร
    รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า หลังจากมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวม 15 คน ที่ยื่นใบลาออกเพื่อไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แล้ว ยังมี พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เขียนใบลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน โดยมีผลหลังรัฐบาลชุดปัจจุบันสิ้นสภาพ 
ปฏิเสธข่าวลาออก
    ทั้งนี้ ในรัฐบาลหน้า พล.อ.วิลาศได้ขอวางมือไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ และไม่ขอไปเป็น ส.ว.ด้วย เพียงต้องการใช้เวลาอยู่กับครอบครัว โดย พล.อ.วิลาศได้ร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกและร่ำลากับบรรดาข้าราชการแล้ว ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีที่ได้อยู่ทำงานต่อในขณะนี้ อาทิ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้แจ้งด้วยเช่นกันว่า หากสิ้นสุดรัฐบาลชุดนี้จะขอพักผ่อน และไม่รับตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาลหน้า 
    รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งอีกว่า ในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ ช่วงระหว่างที่จะมีรัฐบาลชุดใหม่ พล.อ.ประยุทธ์จะใช้เวลาเร่งสะสางงานที่คั่งค้าง และคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ โดยในวันที่ 15 พ.ค.นายกรัฐมนตรีเตรียมลงพื้นที่เพื่อตรวจราชการตามปกติ ที่เขตพื้นที่คลองเตย โดยจะมี ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย โดยจะถือโอกาสขอบคุณข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ได้ร่วมกันทำงานมาตลอดระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ ในวันที่ 17 พ.ค. นายกรัฐมนตรีจะเชิญสื่อมวลชนร่วมรับประทานอาหารครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะมีรัฐบาลชุดใหม่ พร้อมเปิดใจในการที่ได้ทำงานร่วมกันมา 
     พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวการลาออกจากตำแหน่งของ พล.อ.วิลาศ ว่าจากกรณีมีรายงานข่าวลงในสื่อออนไลน์ว่า พล.อ.วิลาศได้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายนนั้น ขออนุญาตแจ้งให้ผู้สื่อข่าวทุกท่านทราบว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเท็จ ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด ขอความกรุณายุติการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ พล.อ.วิลาศ ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นปกติ ทั้งในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเมื่อวันศุกร์ที่ 10 พ.ค. ยังคงมาปฏิบัติราชการที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นปกติ ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะยื่นใบลาออกตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"