ต่อรองโควตา‘รัฐมนตรี’ตั้งรบ. สัญญาณ‘สนิมเกิดแต่เนื้อในตน’


เพิ่มเพื่อน    

 

          แม้ความได้เปรียบในการรวบรวมเสียง ส.ส. เพื่อจัดตั้งรัฐบาล เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และเลือกนายกรัฐมนตรี จะอยู่ในมือของพรรคพลังประชารัฐ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการออกมาเมื่อวันที่ 7 และ 8 พฤษภาคม

                 แต่มันอาจเป็นเพียงชัยชนะ ที่ไม่ได้จีรังและยั่งยืน เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้เป็นการผสมผสานกันของพรรคการเมืองราว 20 พรรค เรียกว่า เป็น “รัฐบาลผสม” ที่มีพรรคร่วมรัฐบาลมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในอดีต

                ข้อเสียของการมีรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมืองคือ เรื่องความเป็นเอกภาพ บรรดาพรรคร่วมจะมีอำนาจต่อรอง แม้พรรคนั้นจะมี ส.ส.ในมือเพียง 1 ที่นั่ง

                แน่นอนจุดประสงค์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญคือ การแก้ปัญหาการผูกขาดอำนาจจากพรรคแกนนำรัฐบาลก่อนหน้านี้ ที่มีปริมาณ ส.ส.จำนวนมากในสภา จนไม่ฟังเสียงพรรคร่วมรัฐบาล

                ทว่า การเปลี่ยนมาให้เป็นรัฐบาลผสม จะยิ่งสร้างปัญหาหากบรรดาพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่รวมกันเพื่อให้ได้เข้าสู่อำนาจ

                จะเห็นว่า ภายหลัง กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ สิ่งที่สะท้อนปัญหาความเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคคือการต่อรองผลประโยชน์ในการเข้าร่วมคือ โควตารัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ

                นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ปลุกปั้นพรรคพลังประชารัฐ และมือเศรษฐกิจของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการเก็บกระทรวงเศรษฐกิจไว้กับทีมของรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อสานต่อโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่ทำเอาไว้ให้ลุล่วง

                แต่ในขณะที่พรรคการเมืองตัวแปร ต่างต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับเรื่องเศรษฐกิจ อันเป็นกระทรวงสำคัญเกี่ยวกับปากท้อง เพราะมองว่า ไม่ควรใช้ทีมเศรษฐกิจชุดเดิม ที่เสมือนเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลปัจจุบันมาตลอด 5 ปี

                มันจึงทำให้การเจรจาเข้าร่วมรัฐบาล ไม่ได้อยู่บนเงื่อนไขว่า ใช้คนที่มีความรู้ความสามารถ เหมาะกับงานมาดำรงตำแหน่ง หากแต่เป็นการจัดสรรบนความพึงพอใจของพรรคตัวแปร

                และถ้าเจาะลึกลงไปในรายละเอียด ไม่ใช่แค่ความพึงพอใจของพรรคร่วมรัฐบาล หากแต่ในพรรคพลังประชารัฐเองก็อาจจะมีปัญหาเฉกเช่นเดียวกัน

                เพราะรากเหง้าของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้เกิดจากการที่คนมีอุดมการณ์ร่วมกัน แต่เกิดขึ้นบนการกวาดต้อนนักการเมืองกลุ่มก๊วนต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากเนื้อเดียวกัน แต่ล้วนแต่มีเงื่อนไขก่อนมาทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องคดีความ

                ไม่ใช่ทุกคนที่ทำเพื่อพรรค หากแต่บางคนทำเพื่อแลกกับผลประโยชน์การกับลงมือลงแรงในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพื่อจะไปถอนทุนคืนในวันข้างหน้า

                แต่ละมุ้งการเมืองต่างตีกินผลงาน และจำนวน ส.ส.ในมือ มากกว่าจะเห็นเอาประโยชน์ของพรรคเป็นตัวตั้ง ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้จึงจบลงบนความพึงพอใจของแต่ละพรรคแต่ละก๊วนเป็นสำคัญ

                กระนั้น ด้วยปริมาณที่มาก การจะทำให้ทุกคนที่คิดว่าตัวเองมีความสำคัญพึงพอใจจึงยากที่จะเกิดขึ้น ถึงแม้จัดตั้งรัฐบาลได้ แต่จะเป็น “สนิมเกิดแต่เนื้อในตน” ในวันข้างหน้า

                แนวทางการบริหารงานและการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลจะไม่ค่อยราบรื่น จะเกิดกระบวนการเลื่อยขาเก้าอี้กันเอง เพื่อชิงอำนาจไปอยู่ในมือตน  การไม่เด็ดขาดเพราะเกรงใจพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นตัวแปร

                สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ยกเก้าอี้รัฐมนตรีสำคัญเกือบทั้งหมดให้กับพรรคภูมิใจไทยเพียงเพราะต้องการเสียงมาสนับสนุนในการเป็นรัฐบาล คือ บทเรียนสำคัญ ที่สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถดำเนินงานอะไรที่เป็นตัวของตัวเองได้เลย

                แต่ครั้งนี้มีถึง 20 พรรค มันจะเป็นโจทย์ที่ยากกว่าสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นไปอีก อย่าลืมว่า แต่ละพรรคที่มาร่วมไม่ได้เห็นพ้องกับแนวทางพรรคพลังประชารัฐทั้งหมด แต่มีปัจจัยอื่นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

                 ไม่ใช่แค่ในฝ่ายบริหาร แม้แต่ฝ่ายนิติบัญญัติเองก็จะทำงานลำบาก เพราะเสียงของ ส.ส.ที่ “ปริ่มน้ำ” จะทำให้ ส.ส.แต่ละคนมีอำนาจต่อรองในตัว

                ต่อให้แม้จะอยู่พรรคเดียวกัน แต่เมื่อรู้ว่า 1 เสียงของตัวเองมีความหมายในการลงมติเห็นชอบเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือการรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน

                ทุกคนต่างมี “ค่าหัว” ที่จะเรียกรับได้ในทางลับ แม้แต่การเพิ่มปริมาณเสียง ด้วยวิธีการดึง “งูเห่า” จากพรรคฝ่ายค้านมาร่วมลงมติช่วย

                ทุกอย่างจะเกิดขึ้นบนผลประโยชน์ และความพึงพอใจ ทุกคนการตัดสินใจจะวางอยู่บนหลัก “ได้อะไร” ก่อนเป็นสิ่งแรก มากกว่าทำเพื่อส่วนรวม

                ขณะที่การบริหารความพึงพอใจ จะกลายเป็นดาบสองคม ทำให้ความเด็ดขาดหายไป โดยเฉพาะที่ตัว “บิ๊กตู่” และพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำ

                ตลอดอายุ คสช. และรัฐบาล “บิ๊กตู่” กล้าลงดาบข้าราชการที่มีเรื่องฉาวโฉ่โดยใช้มาตรา 44 แต่ในรัฐบาลชุดหน้า การทำแบบนั้นกับบุคคลของพรรคร่วมรัฐบาล อาจนำมาซึ่งความไม่พอใจกันเอง และกลายเป็นความหวาดระแวงเรื่องการ “เปลี่ยนขั้ว” ไปสนับสนุนอีกฝั่งได้

                เมื่อความเด็ดขาดหายไป สิ่งที่ตามมาคือ ข้อครหาเรื่องการทำเพื่อพวกพ้อง อันเคยเป็นจุดเสื่อมที่ทำให้พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ล้มครืนมาแล้ว

                อย่าลืมว่า แม้ขณะนี้ยังไม่ตั้งรัฐบาล ก็ยังเริ่มถูกครหากันแล้วในเรื่องนี้ โดยเฉพาะรายชื่อ 250 ส.ว.ที่หลุดออกมา และปรากฏว่า ส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในปัจจุบันทั้งสิ้น

                ตั้งแต่การตั้ง “บิ๊กติ๊ก” พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ส.ว. ทั้งที่ระหว่างดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถูกครหาในหลายเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการประชุม ที่ไม่ค่อยมา แต่กลับยังมีชื่ออยู่ในสภาสูงได้

                การแต่งตั้งอดีตนายทหาร ที่เป็นเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เข้าไป ส.ว.กันพร้อมหน้าพร้อมตา โดยไม่ฟังเสียงท้วงติง หรือความสง่างามแต่อย่างใด

                แม้ทุกคนจะรับทราบกันดีว่า ส.ว.ชุดนี้ถูกตั้งขึ้นมาด้วยเหตุผลอะไร และจำเป็นต้องใช้คนที่ไว้วางใจมาเป็น หากแต่มันก็มีตัวเลือกและผู้ทรงคุณวุฒิอีกมากมายที่มีความรู้ความสามารถ ไว้วางใจได้ มากกว่าที่จะตั้งญาติสนิทมิตรสหายมาเป็น

                คนจะไม่มองว่า เลือกเพราะความไว้วางใจ แต่จะมองว่า เป็นการตกรางวัล ต่างตอบแทนที่ช่วยงานกันมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะในบทบาทรัฐมนตรี, สนช.,  สปช., สปท. ไม่ได้มาเพราะมีฝีมือ มีคุณภาพ

                และทั้งหมดนี้คือ เหตุผลว่า ทำไมจึงมีการคาดการณ์กันจำนวนมากว่าอายุของรัฐบาลชุดนี้จะสั้น ไม่ครบเทอม!

                จุดเริ่มจะภาพสะท้อนจุดจบ.

   ทีมข่าวการเมือง

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"