ปชป.ได้เวลาปรับเปลี่ยน เราพร้อมฟังเสียงประชาชน
การแข่งขันชิงตำแหน่ง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งที่ประชุมใหญ่พรรคจะมีการโหวตเลือกกันในวันพุธที่ 15 พ.ค.นี้ พบว่ามีความเข้มข้นขึ้นทุกขณะว่าสุดท้ายใครจะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.ที่มีภารกิจสำคัญรออยู่คือ การกอบกู้พรรคให้คืนสภาพทางการเมืองกลับมามีคะแนนและจำนวน ส.ส.หลังการเลือกตั้งเหมือนเช่นก่อนหน้านี้ หลังจากพรรคพ่ายแพ้การเลือกตั้งที่ผ่านมาชนิดหลายฝ่ายคาดไม่ถึง ขณะเดียวกันสิ่งที่หลายคนจับตามองก็คือ ท่าทีของพรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาลว่าสุดท้ายจะไปจับมือกับพรรคพลังประชารัฐหลัง ปชป.ได้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารชุดใหม่หรือไม่
กรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป.-อดีต รมว.การคลัง-แกนนำพรรค หนึ่งในแคนดิเดตที่ลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป.แสดงความเห็นถึงการเลือกหัวหน้าพรรคที่จะมีขึ้นกลางสัปดาห์หน้านี้ ตลอดจนแนวคิดและยุทธศาสตร์ทางการเมืองของตัวเองในการทำให้แฟนคลับ ปชป.กลับมาเลือกพรรคเหมือนในอดีต
ลำดับแรก กรณ์ เล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจลงสมัครเป็นแคนดิเดตในครั้งนี้ว่า สำหรับจุดตัดสินใจที่ลงสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ ผมได้ตัดสินใจหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ผมก็มาทบทวนบทบาททางการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์ให้โอกาสผมในช่วงที่ผ่านมา ว่าหลังจากนี้ควรต้องเป็นอย่างไร ผมก็ถือว่า ชีวิตทางการเมืองของผม ได้เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่สมัยยังทำงานอยู่
...ตอนที่ผมมาสมัครเป็นสมาชิกพรรค ผมก็ไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นนักการเมือง ไม่คิดว่าจะมีวันไหนมาเป็น ส.ส. เพราะที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคก็เพื่อต้องการสนับสนุนและมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตย เป็นพรรคการเมืองที่มีหลักอุดมการณ์สอดคล้องกับชุดความคิดของผม และเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ ผมก็เลยแค่เข้ามาแสดงตนเพื่อสนับสนุนพรรค และต้องการมีส่วนร่วมกับพรรคในฐานะสมาชิกพรรคคนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาร่วม 30 กว่าปีแล้ว
เมื่อเวลาผ่านเลยมา หลังจากผมได้สร้างเนื้อสร้างตัวในสายอาชีพที่เราเลือก จนประสบความสำเร็จในระดับที่เราพอใจทางด้านวัตถุและการเงิน ก็เลยเห็นว่าควรต้องเข้าไปทำงานเพื่อสังคม
จากจุดดังกล่าวทำให้เห็นว่าช่องทางที่เหมาะกับบุคลิกและความทะเยอทะยานที่มี ก็คือการเข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงตัดสินใจจะขอลงสมัคร ส.ส.ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ให้โอกาส ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต ในพื้นที่สาทร-ยานนาวา โดยผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ก็ให้การสนับสนุน เช่น ดร.เจริญ คันธวงศ์ ที่เป็นอดีต ส.ส.ในพื้นที่ ซึ่งท่านก็ได้สร้างความประทับใจให้ผมอย่างมาก เพราะได้ลงมาช่วยเดินหาเสียงให้ทุกวันเสมือนกับว่า ดร.เจริญลงสมัคร ส.ส.เขตด้วยตัวเอง ทำให้ได้เห็นความเสียสละของคนในพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงการให้โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ให้กับผม
...ต่อมาเมื่อเข้ามาเป็น ส.ส.ในสภา พรรคเห็นว่าผมมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ด้านการเงิน ก็ให้ผมทำงานด้านดังกล่าวตั้งแต่แรก จนกระทั่งผมก็มีโอกาสได้เข้าไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปีที่สี่ของการเป็นนักการเมือง อันเป็นเกียรติสูงสุด ได้เข้าไปอยู่ในกระทรวงที่คุณพ่อของผมเคยรับราชการมาตลอดชีวิตการรับราชการ ทำให้ผมมีความรู้สึกว่า ผมได้รับทุกอย่างจากพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ผมเห็นว่าพรรคการเมืองที่ให้โอกาสคนแบบนี้ควรที่จะได้รับการสนับสนุนให้มีความเข้มแข็งต่อไป
“ผมก็เลยตัดสินใจว่าในจังหวะที่พรรคสูญเสียฐานคะแนนสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ไปเยอะ จังหวะที่คนที่เคยเลือกเราอยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์มีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ผมก็มองว่าผมก็เป็นคนหนึ่งในพรรคที่อยู่ในสถานะที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้”
...ผมมองว่าจากโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ความต้องการของคนสมัยใหม่ที่มีต่อพรรคการเมือง ที่มีต่อหัวหน้าพรรคการเมือง มันน่าจะที่สอดคล้องกับตัวผม เพราะอย่างในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม ผมก็ได้กลับไปทบทวนความรู้ และไปเรียนรู้ถึงแนวทางการทำธุรกิจ แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่มีการพัฒนา มีนวัตกรรม ผมก็มีความรู้สึกว่าผมได้สะสมข้อมูลและวิสัยทัศน์ ที่จะช่วยทำให้ผมสามารถนำพาพรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นที่พึ่งและที่เลือกของประชาชนได้ ก็ไม่ได้คิดอะไรมากกว่านั้น คือมองว่ามันเป็นหน้าที่ ซึ่งตัวเราควรต้องเสนอตัวเองให้เป็นตัวเลือกให้กับเพื่อนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยความเชื่อว่าอย่างน้อยเราก็มีความตั้งใจที่จะช่วยฟื้นฟูพรรค ช่วยทำให้พรรคกลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชนไม่น้อยกว่าใครคนอื่นในพรรค
เมื่อถามถึงว่าได้ตัดสินใจลงเป็นแคนดิเดตแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในคืนวันเลือกตั้ง 24 มี.ค.เลยใช่หรือไม่ กรณ์-รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ความจริงผมก็คิดเรื่องนี้มาก่อนแล้ว แต่พอเห็นว่าจำนวน ส.ส.ของพรรคซึ่งไม่ได้เข้ามาตามเป้าที่คุณอภิสิทธิ์ได้เคยกำหนดไว้ว่า ถ้าพรรคได้ ส.ส.ในการเลือกตั้งต่ำกว่าร้อยคนจะลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อมีความชัดเจนในคืนวันที่ 24 มี.ค.แล้วว่าพรรคได้ ส.ส.ไม่ถึง 100 คน ผมก็รู้แล้วว่าผมต้องตัดสินใจ และด้วยความที่คิดเผื่อไว้แล้วก็เลยตัดสินใจตามนั้น
ทั้งนี้จนถึงช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสนอตัวลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รวมกันทั้งสิ้น 4 ราย ประกอบด้วย นายกรณ์ จาติกวณิช, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค, นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รักษาการกรรมการบริหารพรรค
โดย กรณ์-อดีต รมว.การคลัง ย้ำว่า มองว่าพรรคเราก็โชคดี เพราะพอเข้าสู่ช่วงการเตรียมเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ก็เป็นสิ่งยืนยันอีกครั้งว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่สร้างคนจริงๆ เพราะหากดูจากว่าที่ผู้สมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ปรากฏตามสื่อมวลชน ที่มีด้วยกัน 4 คนก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีคุณภาพ มีประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย แต่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีประวัติในทางบวกในแวดวงการเมือง
สิ่งนี้คือตัวสะท้อนให้เห็นว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันในแง่การสร้างคน เป็นพรรคการเมืองที่มีบุคลากรที่มีคุณภาพ จากชื่อที่ปรากฏทุกคนก็ทำงานรับใช้บ้านเมืองมาไม่น้อยกว่าสิบปีกันทุกคน
...ผมจึงมองว่ายังไงพรรคประชาธิปัตย์ก็น่าจะไปได้ดี ส่วนจะไปในทิศทางไหน ผู้สมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แต่ละคนผมก็คิดว่ามีความแตกต่าง มีความหลากหลายเพียงพอที่จะทำให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เลือกได้ว่าอยากจะให้พรรคเดินไปในทิศทางใด เพราะเราแต่ละคนก็มีความเหมือนในเชิงอุดมการณ์ มีความเหมือนในเรื่องการถูกหล่อหลอมมาในเรื่องจุดยืนหลักการสำคัญๆ ทางการเมือง ทั้งเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยฯ เรื่องเหล่านี้คือหลักการในความเป็นประชาธิปัตย์ที่เรามีเหมือนกัน แต่นอกเหนือจากนี้เราต่างกันและต่างกันมาก ซึ่งผมก็คิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ท้าทายและน่าสนใจสำหรับเพื่อนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
กรณ์-แคนดิเดตชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. ยังกล่าวถึงทีมงานที่ลงแข่งด้วยในครั้งนี้ คือ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ อดีต รมว.อุตสาหกรรม-ส.ส.ตาก ที่ถูกวางตัวไว้ให้เป็นเลขาธิการพรรค ปชป.หากนายกรณ์ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคว่า ผมคิดตั้งแต่วันแรกเลยที่จะลงสมัครเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภารกิจสำคัญในส่วนของภายในพรรคก็คือ การสร้างความสามัคคีภายในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะต้องยอมรับว่ามีความแตกแยกปรากฏในระดับหนึ่งที่ทำให้เราขาดเอกภาพขาดพลัง ผมก็เลยมองว่าการแข่งขันครั้งนี้ เมื่อจบแล้วก็ต้องจบ ช่วงแข่งเราก็แข่งกันได้เต็มที่ภายใต้กฎกติกามารยาทที่ควร และการแข่งขันครั้งนี้แตกต่างจากการแข่งขันครั้งที่ผ่านมาล่าสุด เพราะโดยเจตนาเราตั้งใจว่าจะแข่งกันอย่างไร ที่เมื่อการแข่งขันจบสิ้นลงแล้วเราต้องสามารถกลับมาทำงานร่วมกันได้ทุกคน
คุณชัยวุฒิมีคุณสมบัติคือเขาเป็นคนที่เป็นที่เคารพรักของทุกคน ไม่เคยแบ่งพรรคแบ่งพวก แน่นอนที่สุดบางครั้งคุณชัยวุฒิต้องตัดสินใจว่าจะเลือกสนับสนุนใคร แต่เขาก็มีความเป็นสุภาพบุรุษที่ไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายต้องเคลือบแคลงใจ เพราะเขามีความตั้งใจที่ดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ เพราะฉะนั้นคุณชัยวุฒิมีความสามารถที่จะพูดคุยได้กับทุกคน และทำให้ทุกคนมั่นใจได้ว่าหากคุณชัยวุฒิเป็นเลขาธิการพรรค ทุกคนเข้าถึงได้และจะได้รับความเป็นธรรมจากคุณชัยวุฒิแน่นอน ซึ่งตรงนี้สำคัญมากสำหรับผม บางคนที่เข้ามาเป็นตัวเลือก อาจจะเหมือนกับมีคะแนนติดตัวมากกว่า แต่ด้วยความที่คุณชัยวุฒิไม่มีกลุ่มไม่มีก๊ก ในมุมกลับก็คือก็จะไม่มีกลุ่ม ส.ส.ที่จะเป็นคะแนนติดตัวมา แต่ผมมองข้ามช็อตไปที่การบริหารจัดการในกรณีที่หากฝ่ายเราได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ผมมองว่าคุณชัยวุฒิน่าจะเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ที่จะเป็นประโยชน์กับพรรคในสถานการณ์เวลานี้ได้มากกว่าท่านอื่น ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีหลายคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความตั้งใจที่จะเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ได้ แต่สุดท้ายยังไงเราก็ต้องเลือกคนเดียว
ส่วนนอกพรรคคุณชัยวุฒิมีพื้นที่ ประวัติเป็นวิศวกร โดยสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณชัยวุฒิเป็นรัฐมนตรีมาสองกระทรวง คือ รมช.ศึกษาธิการและ รมว.อุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นในเรื่องภาคอุตสาหกรรม-โลกเศรษฐกิจ คุณชัยวุฒินอกจากมีความรู้แล้ว ก็ยังเป็นที่รู้จักเป็นที่ยอมรับของนักธุรกิจทั่วไป ซึ่งตรงนี้ก็สำคัญกับการเชื่อมโยงกับสายธุรกิจ ในการกำหนดนโยบายที่จะนำไปสู่การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมของประเทศ และเมื่อผสมผสานกับประสบการณ์ของตัวผม ในฐานะนักการเงินและอดีต รมว.การคลัง
...ผมคิดว่าก็เป็นการสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า พรรคประชาธิปัตย์ในยุคของเราสองคนจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านไหน ซึ่งก็แตกต่างจากภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต ที่อาจจะเป็นนักกฎหมาย นักการเมือง นักรัฐศาสตร์ เป็นหลัก กลับกลายเป็นว่าถ้าเราได้รับเลือก เบอร์หนึ่ง เบอร์สองของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นนักการเงิน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ซึ่งผมคิดว่ามันสอดคล้องกับยุคสมัยและความต้องการของประเทศในวันนี้
ประชาธิปัตย์ต้องปรับเปลี่ยน
กรณ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบเดิมเริ่มที่จะส่งสัญญาณชัดเจนว่าต้องมีการปรับเปลี่ยน พูดง่ายๆ ว่าโมเดลที่เราใช้ในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา ตอนนี้ได้แปรเปลี่ยนจากการเป็นเศรษฐกิจที่มีภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวนำ แต่ปัจจุบันต้องทบทวนโมเดลนี้เพราะว่าขีดความสามารถในการแข่งขันที่เราเคยมี ที่ทำให้ไทยเราเคยได้เปรียบประเทศอื่น เช่น ปริมาณแรงงาน, ค่าจ้างแรงงาน หรือพื้นที่ซึ่งเหมาะสมในการเปลี่ยนมาทำอุตสาหกรรม เดิมไทยเราเคยได้เปรียบประเทศอื่นในเรื่องเหล่านี้ แต่ปัจจุบันพื้นที่ซึ่งจะสามารถทำอุตสาหกรรมได้พบว่าลดน้อยลง รวมถึงแรงงานก็ขาดแคลน ค่าจ้าง ค่าแรงก็สูงขึ้น อีกทั้งปัจจัยเรื่องทุนเราก็ไม่ได้เปรียบเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างเช่นเวียดนาม ทำให้จุดแข่งขันที่ทำให้ประเทศไทยเคยได้เปรียบแต่ปัจจุบันมันหมดไป เราจะยังยึดแนวทางการพัฒนาแบบเดิมก็ไม่ได้ ปัจจัยเหล่านี้คือสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเราชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา
ยุคนี้จึงเป็นยุคที่ภาคการเมืองต้องมีคำตอบว่า เราจะร่วมมือกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชน เพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนอย่างไร
ผมถึงมองว่ายุคนี้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจึงสำคัญ ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคการเมืองทางเลือก พรรคที่จะนำเสนอทางออกให้กับประชาชนประเทศชาติได้ เราต้องเป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนมั่นใจว่าเราเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เราเข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจยุคใหม่ รวมถึงเข้าใจความสำคัญของเทคโนโลยีและการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเข้าใจเรื่องนวัตกรรมต่างๆ ที่จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับผู้ประกอบการในทุกภาคอุตสาหกรรมของประเทศ
“ตรงนี้จึงเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่พรรคประชาธิปัตย์เองควรต้องปรับเปลี่ยนภายในเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการภายนอก”
-ฟังจากที่กล่าว หากสุดท้ายถ้าได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะให้พรรคชูเรื่องเศรษฐกิจเป็นตัวนำ?
ผมคิดว่าเรื่องเศรษฐกิจยังไงก็ต้องสำคัญอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญคือเราต้องทำให้ประชาชนเห็นด้วยว่า เราเป็นพรรคการเมืองที่มุ่งมั่นและให้ความสำคัญในทุกลมหายใจต่อการอยู่ดีกินดีของประชาชน เราต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง และทุกอย่างที่เราคิดเราทำต้องมีความชัดเจนว่าเรามุ่งเป้าไปสู่อะไร ประชาชนต้องเข้าใจว่าทุกการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์เราตัดสินใจเพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้ประเทศก้าวหน้าและมีความมั่นคง
ในอดีตที่ผ่านมาประชาชนอาจจะยังขาดความมั่นใจว่าเลือกประชาธิปัตย์แล้วเขาจะได้อะไร เราต้องทำให้ประชาชนเห็นและศรัทธาในแนวทางของเรา ซึ่งการที่พรรคจะทำได้ต้องมีความมั่นคงต่อท่าทีและทุกการกระทำ ทั้งหมดคือสิ่งที่ผมตั้งใจว่าจะพยายามทำให้กับพรรคประชาธิปัตย์
-หากได้เป็นหัวหน้าพรรค สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคจากผลการเลือกตั้งที่ออกมา ซึ่งเดิมปี 2554 เคยได้ 11 ล้านเสียง แต่เลือกตั้งที่ผ่านมาเหลือแค่ 4 ล้าน และจากที่เคยมี ส.ส. 165 ที่นั่ง ตอนนี้เหลือ 52 คน จะทำอย่างไรให้กลับมามีคะแนนและจำนวน ส.ส.ได้เหมือนก่อนหน้านี้?
ในเชิงยุทธศาสตร์ กลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรกก็คือกลุ่มประชาชนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ตอนปี 2554 แต่มาครั้งนี้ด้วยเหตุผลของเขา ทำให้ไม่ได้เลือกประชาธิปัตย์แต่ไปเลือกพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นสัดส่วนการสูญเสียคะแนนเดิมที่มากที่สุด หากให้ผมประเมินจากที่เคยได้ 11 ล้านเสียง ตอนนี้เหลือประมาณ 4 ล้านคะแนน คิดว่าน่าจะประมาณสักห้าล้านคน ที่การเลือกตั้งที่ผ่านมาเขาหันไปเลือกพรรคพลังประชารัฐ
โจทย์ก็คือเราจะทำอย่างไรให้คนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์เขากลับมา ซึ่งเป้าหมายในชั้นแรกก็คือ การดึงคะแนนเสียงในส่วนนี้กลับมา แน่นอนก็อาจมีบางส่วนที่ไปเลือกพรรคอื่นด้วย เช่น พรรคภูมิใจไทยหรือพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งทุกๆ คนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์ถือว่าหลักอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์สอดคล้องกับหลักคิดของเขาในระดับหนึ่ง เพียงแต่ในบางช่วงบางจังหวะเวลา ท่าทีของเรา นโยบายของเราในบางเรื่องอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของเขา
...อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผมคิดว่าไม่ใช่จากปัจจัยเรื่องนโยบาย แต่คิดว่าเป็นเรื่องท่าที ซึ่งก็แล้วแต่เงื่อนไขทางสังคมในแต่ละจังหวะ ดังนั้นเราต้องฟังและต้องไม่มีทิฐิในการแสดงท่าทีของเราเอง ซึ่งถ้าเขาเห็นว่าเรายังยึดมั่นในหลักอุดมการณ์และมีความเสมอต้นเสมอปลาย มีความชัดเจนในการทำงานรับใช้ประชาชนและสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศ สำคัญที่สุดคือยึดมั่นอย่างไม่มีเงื่อนไขในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต ผมคิดว่าตรงนี้จะเป็นวิธีการในการที่จะดึงเขากลับมาเลือกเราได้
กรณ์ กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า แฟนคลับของพรรคประชาธิปัตย์จริงๆ มีมากกว่าคะแนน 4 ล้านคะแนนที่พรรคได้ในการเลือกตั้ง แต่แฟนคลับที่แท้จริงไม่ได้หมายความว่าจะเลือกเราโดยไม่มีเงื่อนไข แฟนคลับที่แท้จริงก็คือผู้ที่ศรัทธาในความเป็นประชาธิปัตย์ของเรา แต่อย่างที่ผมบอกคือในบางครั้งบางจังหวะเขาอาจจะมีเหตุผล ทำให้เขามีความรู้สึกว่าเขาต้องเลือกพรรคอื่น แต่ถ้าถามว่าเขาเป็นแฟนคลับเราไหม-ก็ใช่ ก็เหมือนกับเช่นผมเป็นแฟนเครื่องดื่มโค้ก แต่บางทีผมก็ยังดื่มเป๊ปซี่ ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ อันนี้ก็เป็นข่าวดีสำหรับเรา เพราะคนกลุ่มนี้ก็เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์มา
ดังนั้นโอกาสที่เขาจะกลับมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์อีกก็มี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเราว่าเราจะเรียนรู้จากบทเรียน จากประสบการณ์ในอดีต เราจะปรับตัวอย่างไร เราจะพัฒนาตัวเราเองอย่างไร และเราจะมีสัญญาณและท่าทีซึ่งชัดเจนกับเขาอย่างไรว่าเขาสามารถพึ่งเราได้
-หากเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องทำเป็นเรื่องแรกๆ
ก็ต้องจัดชุดกรรมการ ผู้บริหารพรรค ที่ในความเข้าใจของผมก็คือต้องสามารถที่จะรวมทุกคนที่มีความรู้ความสามารถความตั้งใจให้เข้ามาทำงานร่วมกันให้ได้ เราจะได้มีพลัง
จะเกิดคลื่นใต้น้ำหลัง 15 พ.ค.หรือไม่?
เมื่อถามว่า มีเสียงวิจารณ์กันว่าหลังเสร็จสิ้นการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.วันที่ 15 พ.ค.อาจทำให้พรรคมีปัญหารอยร้าว คลื่นใต้น้ำ ความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรคตามมา กรณ์-แคนดิเดตชิงหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวตอบว่า มันก็ขึ้นอยู่กับพวกเรา ถ้าเราไม่ทำให้เป็นอย่างนั้นมันก็จะไม่เป็นอย่างนั้น ผมก็จะพยายามบริหารไม่ให้มีหรือให้มีน้อยที่สุด
...เรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างกัน การมีพรรคมีพวกภายในทุกองค์กร มันเป็นเรื่องหากเราพูดความจริงกันก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธยาก แต่อยู่ที่ว่าสุดท้ายแล้วจะทำอย่างไรให้ความคิดเห็นที่หลากหลายทั้งหมด เรายังเดินไปด้วยกันได้ มีพลังในการขับเคลื่อนพรรคไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งผมมั่นใจว่าทำได้
กรณ์ ย้ำว่า ที่ผมพูดว่ามั่นใจไม่ได้พูดลอยๆ เพราะตลอดช่วง 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินสายพบเพื่อน ส.ส.ประชาธิปัตย์ รวมถึงเพื่อนอดีต ส.ส.ของพรรค ได้เจอกันเยอะมากเกือบทุกวัน ผมใช้เวลาวันละเกือบสิบกว่าชั่วโมงในการพูดคุยสนทนา ทำให้ผมพบอะไรหลายอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะจากที่ผมอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์มาสิบกว่าปี จริงๆ ก็รู้จักกันทุกคนและทุกคนก็รู้จักผม แต่ผมเชื่อว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทำให้หลายคนรู้จักผมดีขึ้น และแน่นอนที่สุดทำให้ผมรู้จักทุกคนดีขึ้น
สิ่งที่ผมเห็นก็คือ ระดับความรักพรรคประชาธิปัตย์ที่ทุกคนมี ทุกคนรักพรรคประชาธิปัตย์จริงๆ และรักเพื่อนผู้แทนของพรรค การเลือกตั้งที่ผ่านมาผมขอบอกเลยว่าหลายคนบอบช้ำ เสียใจมากกับการสูญเสียเพื่อนอดีต ส.ส.จำนวนมากจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคีที่มีอยู่โดยธรรมชาติของคนในพรรค ไม่ใช่อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน แล้วต่างคนต่างเป็นห่วงแค่สถานะของตัวเอง แต่เราแคร์ซึ่งกันและกันจริงๆ
...การอยู่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่เรื่องสบาย ต้องทำงานหนัก เราไม่ใช่พรรคนายทุน และในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเราไม่ได้อยู่ในอำนาจ พรรคที่ตั้งใหม่อยู่ในช่วงอำนาจ เขาก็พยายามมาชวนคนของพรรคประชาธิปัตย์ไปอยู่ด้วยตลอดเวลา แต่หลายคนก็ปฏิเสธที่จะไป ทั้งที่หากเขาไปอยู่ด้วยชีวิตเขาจะง่ายกว่าเยอะ ที่ไม่ต้องขยายความก็คงนึกภาพออกว่าอำนาจรัฐมีผลแค่ไหน อำนาจเงินมีผลแค่ไหนต่อการแข่งขัน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทั้งสองอย่าง ก็คงทำให้นึกภาพออกว่าชีวิตการต่อสู้ทางการเมืองมันเหนื่อยยากกว่า แต่เขาก็เลือกที่จะอยู่ตรงนี้ นั่นก็เพราะทุกคนมองว่าถ้าการเมืองเป็นเรื่องของ “ทุน-อำนาจรัฐ” กันไปทั้งหมด ระบบประชาธิปไตยที่เราอยากเห็นมันก็จะไม่มีวันเกิด และแนวทางที่ประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่อำนาจรัฐเป็นใหญ่ อำนาจเงินเป็นใหญ่ มันก็เป็นไปได้ยาก
ดังนั้นหากเราต้องการให้ประชาชนเป็นใหญ่จริง เราต้องรักษาหลักการความเป็นประชาธิปัตย์แบบนี้ ถึงแม้ว่าจะทำให้พวกเราแต่ละคนเหนื่อยยากลำบากก็ตาม
...สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผมได้สัมผัสจากการพูดคุยกับเพื่อนๆ ในพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งผู้ที่ชนะการเลือกตั้งและผู้ที่แพ้การเลือกตั้ง และมันเป็นเหตุผลที่รั้งพวกเขาไว้ให้อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป เราจึงต้องต่อยอดคุณลักษณะพิเศษดังกล่าวของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อให้ทุกคนในพรรคมีความศรัทธาพรรคเหมือนเดิม และต้องขยายผลจากความศรัทธในปัจจุบันให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต และกำหนดท่าทีของพรรคในลักษณะที่ทำให้เราเป็นที่พึ่งของประชาชนได้
“เพราะฉะนั้นโดยรวมๆ ด้วยความที่เป็นประชาธิปัตย์ ผมมั่นใจว่าถ้าพวกเราร่วมมือกัน เราสามารถที่จะดึงคะแนนเสียงกลับคืนมาได้ และจะสร้างฐานของพรรคให้เป็นแกนหลักทางการเมืองของประเทศได้ในอนาคต”
ต่อข้อถามที่ว่า Positioning ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ หากสุดท้ายได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะวาง Positioning ทางการเมืองไว้อย่างไร ตรงจุดไหน เพราะอย่างยุคนายอภิสิทธิ์ ตอนช่วงเลือกตั้งก็วางแนวทางไว้ว่าเป็นพรรคการเมืองที่ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ ไม่เอา คสช.-นายกฯ บิ๊กตู่ กรณ์-แคนดิเดตชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. ยืนยันว่า ยังไงเราก็หนีอุดมการณ์หลักของพรรคไม่ได้ ก็คือเราเป็นประชาธิปไตย ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งตรงนี้ก็ชัดเจน
...วันนี้ก็เช่นเดียวกัน เราก็ต้องการนำพาประเทศกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตย ในรูปแบบที่จะทำให้ประเทศมีความมั่นคง ก้าวหน้า และทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขมากที่สุด ส่วนในเชิงยุทธศาสตร์เราจะเดินไปสู่จุดนั้นอย่างไร ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องประเมินด้วยกันตามสถานการณ์ เราคงไม่ได้ปฏิเสธทางเลือกต่างๆ ที่มีให้กับเรา ตราบใดที่ทางเดินที่เราเลือกมันนำไปสู่อย่างที่ผมย้ำคือความเป็นอยู่ของประชาชน ความก้าวหน้าและความมั่นคงของประเทศ
ยุทธศาสตร์ฟื้นฟู-พัฒนาพรรค ปชป.
-จะมีแนวทางการฟื้นฟูพรรคต่อจากนี้อย่างไร หากได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ?
เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ โดยการบริหารจัดการต้องเป็นระบบมากขึ้น อย่างเรื่องการมอบหมายภารกิจให้กับทุกๆ คนในพรรคประชาธิปัตย์ต้องมีความชัดเจนมากขึ้น ใครมีหน้าที่ซึ่งจะต้องเอาชนะในเขตเลือกตั้งให้ได้ เขาก็ไม่ต้องมากังวลเรื่องอื่น ไม่ต้องมากังวลว่าผู้บริหารพรรคจะมองว่าไม่มีส่วนร่วม ตราบใดที่คนคนนั้นประสบความสำเร็จในภารกิจที่ได้ตกลงกันระหว่างเขากับพรรค เพื่อที่จะได้มีความชัดเจน เพราะบางคนเขาอาจไม่ได้เป็นส.ส.ระบบเขต แต่เขามีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เขาก็ต้องมีภารกิจในการช่วยงานพรรคประชาธิปัตย์ในด้านกฎหมาย ไม่ต้องมากังวลว่าจะด้อยกว่าคนอื่นในพรรค เพียงเพราะไม่ได้มีเขตเลือกตั้งที่ต้องรับผิดชอบดูแล
...จะต้องทำให้ทุกคนมีภารกิจมีหน้าที่ซึ่งต่างกันตามทักษะและประสบการณ์ของแต่ละคน และที่สำคัญก็คือ ต้องมีการตกลงร่วมกันระหว่างพรรคกับแต่ละบุคคลให้ชัดเจนว่า เป้าหมายในการทำงานของแต่ละบุคคลคืออะไร ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
กรณ์ กล่าวถึงการพัฒนาปรับปรุงพรรค ปชป.ต่อไปว่า สำหรับเรื่องของการปรับโครงสร้างพรรค เป็นเรื่องจำเป็น ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการสื่อสารชัดเจนที่สุด เพราะโครงสร้างพรรคยังเป็นแบบเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ก่อนยุคดิจิตอล คือเรามีระบบโฆษกพรรค แต่เรายังไม่มีระบบเรื่องการดูแลการสื่อสาร การมีศูนย์กลางในการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารภายนอก ที่ก็คือการสื่อสารกับประชาชนหรือการสื่อสารภายในระหว่าง ส.ส.ด้วยกันเองหรือระหว่างสมาชิกพรรค ในการกำหนดแนวทางพรรคร่วมกัน ยังไม่มีระบบในการกำหนดแนวทางการสื่อสารในแต่ละจังหวัดในแต่ละวัน ยังไม่มีระบบในการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียประเภทต่างๆ ที่เป็นระบบและมีการบริหารจัดการจากศูนย์กลางในทางยุทธศาสตร์ เรื่องเหล่านี้ต้องมีการปรับเปลี่ยน
ถามย้ำว่าเรื่องการส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับต่างๆ หากได้เป็นหัวหน้าพรรคจะมีแนวทางหลักเกณฑ์อย่างไร เพราะอย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เช่นคนของกลุ่มนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่เคยลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.แข่งกับนายอภิสิทธิ์ ก็มีหลายคนในสายหมอวรงค์ที่พรรคไม่ได้ส่งลงระบบเขต แล้วให้ไปอยู่ปาร์ตี้ลิสต์อันดับไม่ค่อยดี กรณ์-รักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวตอบว่า บางทีมันก็พูดยากถึงสาเหตุที่บางคนได้ลง ส.ส.เขตหรือไม่ได้ลง เพราะสาเหตุอะไร แต่ผมคิดว่าก็ต้องมีหลักวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ใครที่เป็นทายาทไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้มีความรู้ความสามารถหรือไม่เหมาะสม แต่ขณะเดียวกันคนที่ไม่ได้เป็นทายาท ก็ต้องไม่มีความรู้สึกว่าเขาไม่มีโอกาสจะได้ลงเพราะไม่ได้เป็นทายาทคนในพรรค เพราะฉะนั้นพรรคก็ต้องมีระบบที่จะต้องให้ความเป็นธรรม มีหลักวิทยาศาสตร์ในการพิจารณา
และที่สำคัญที่สุดต้องฟังประชาชน ที่ผ่านมาเราฟังแต่เราเหมือนกับไม่ได้ยิน เราต้องฟังประชาชนในทุกเรื่อง ผมเข้าใจว่าพรรคการเมืองในบางครั้งบางกรณีต้องเป็นผู้นำความคิดทางสังคม ซึ่งก็หมายความว่าต้องเป็นผู้นำความคิดประชาชน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเรายึดความคิดของตัวเราเองโดยไม่ได้ฟังความเห็น สัมผัสในความรู้สึก หรือขานรับในความต้องการของประชาชนเลย เพราะฉะนั้นต้องหาความสมดุลให้ได้ บางครั้งที่ผ่านมาเราอาจให้ความสำคัญกับตัวเราเองมากเกินไป หรือความคิดของตัวเราเองมากเกินไป ตรงนี้คือการปรับที่สำคัญ ซึ่งมีผลต่อการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ของพรรคด้วย
กรณ์ แสดงความเห็นหลังเราตั้งคำถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ที่วันนี้ตั้งมา 73 ปี ในพรรคมีทั้งคนที่อยู่ในวงการเมืองมาหลายสิบปี อายุ 70 กว่าปี และก็มีพวกรุ่นใหม่เลย อย่างนิวเดม อายุ 25 ปี เพิ่งครบเกณฑ์ลงเลือกตั้งได้ หากได้เป็นหัวหน้าพรรคจะทำให้คนแต่ละรุ่นในพรรค ปชป.หลอมรวมกันได้อย่างไร โดยเขาให้ความเห็นว่า ความจริงประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองของคนทุกวัย เป็นอย่างนั้นมาตลอด อย่างสมัยที่ผมเข้ามาพรรคประชาธิปัตย์ มาลงสมัคร ส.ส.เขต กทม. สมัยแรก ผมก็แจ้งกับเลขาธิการพรรค ปชป.เวลานั้นคือคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่าต้องการเข้ามาช่วยงานพรรคด้านการทำกิจกรรมเยาวชน แต่ขอทำในรูปแบบใหม่
...จากก่อนหน้านั้นที่เรียกกันว่ายุวประชาธิปัตย์ เราก็ปรับให้เข้ากับยุคสมัยและความต้องการของเด็ก เช่นมีการจัดกิจกรรม Young-D ค่ายเยาวชนรักดี ที่ทำกันหลายรูปแบบ ทำต่อเนื่องกันมาสิบปี จนเกิดเหตุรัฐประหารเมื่อปี 2557 และมีการสั่งให้ยุติกิจกรรมทางการเมือง เราก็เลยเลิกไป แต่ช่วงนี้ก็จะกลับมารื้อฟื้นและทำในรูปแบบใหม่ เพราะปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราต้องหันมาฟื้นฟูโครงการเหล่านี้
จากการที่ผมเคยเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมลักษณะดังกล่าวของพรรคมาตลอด มันก็สะท้อนถึงการที่ผมได้นำพาคนรุ่นใหม่เข้าพรรคประชาธิปัตย์ และการได้พูดคุยกับคนเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผมเห็นถึงความสำคัญในการฟังความเห็น-ข้อเสนอของพวกเขา
...ช่วงที่ทำนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผมก็ได้ขอโควตากรรมการนโยบายให้กับเด็ก-คนรุ่นใหม่ กลุ่ม Newdem 2-3 ที่นั่ง ที่ก็มีหลายนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ที่มาจากความคิดของพวกเขา บางนโยบายหากไม่มีพวกเขา เราก็อาจคิดไม่ได้ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำไป เช่นการให้ความสำคัญและส่งเสริมในเรื่อง E-sport แม้แต่ข้อเท็จจริงในเชิงข้อมูลในเรื่องเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร ทัศนคติที่พรรคควรจะมีเกี่ยวกับกลุ่ม LGBT
...สิ่งเหล่านี้คือการผสมผสาน เขาฟังเรา เราก็ฟังเขา และสังเคราะห์ออกมาเป็นนโยบาย มันอาจจะไม่สุดโต่งเหมือนกับบางพรรค แต่เราก็เชื่อว่าเป็นนโยบายที่ขับเคลื่อนได้จริง และเป็นนโยบายที่ไม่ได้สร้างความขัดแย้งในสังคมระหว่างรุ่นระหว่างวัย และเป็นนโยบายที่ทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์
-พื้นที่เลือกตั้งซึ่งเป็นจุดอ่อนของ ปชป.มาตลอด คือภาคเหนือกับภาคอีสาน การเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ หากเป็นหัวหน้าพรรคจะมีแนวทางอย่างไรให้พรรคได้ ส.ส.เขตในภาคเหนือกับอีสานมากขึ้น?
เราก็ต้องทำงานต่อเนื่อง การเลือกตั้งที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปเดินหาเสียงที่ภาคอีสานอยู่หลายวัน สิ่งหนึ่งที่พบก็คือ พรรคเรามีผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมคิดว่าเขาก็มีโอกาสและเป็นคนมีคุณภาพ เพียงแต่ว่าพรรคต้องช่วยเขาเดินอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่มาสนับสนุนเขาแค่ในช่วงการเลือกตั้ง
ผมคิดว่าเราต้องให้โอกาสคนรุ่นใหม่ คนหน้าใหม่ เพราะเราก็ไม่มีอะไรจะเสียที่อีสาน แล้วก็เลือกคนที่ต้องการที่จะทำงานรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย และพร้อมที่จะทำงานตั้งแต่วันนี้ ซึ่งภาคเหนือก็เหมือนกัน
สิ่งที่สำคัญ การเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ใช้ระบบการเลือกตั้งด้วยบัตรลงคะแนนเสียงใบเดียว มันทำให้เราเห็นว่าภาพลักษณ์ของพรรค ท่าทีของพรรค ตัวตนของผู้นำพรรค เป็นปัจจัยสำคัญมากในการตัดสินใจของประชาชนทั่วประเทศ หลายเขต หลายจังหวัด ประชาชนเลือกคนเป็น ส.ส.โดยที่เขาไม่ได้รู้จักตัวผู้สมัครเลย โดยที่ผู้สมัครบางกรณีไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมือง ไม่เคยลงพื้นที่ ไม่เคยช่วยเหลือใคร แต่เขาเลือกเพราะเขาศรัทธาในตัวพรรคส่วนกลาง
เราจึงปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าการแข่งขันในอนาคตกับระบบการเลือกตั้งแบบปัจจุบัน เราต้องแข่งขันด้วยภาพลักษณ์ของพรรคโดยรวมในส่วนกลาง ที่ก็จะส่งผลไปถึงเขตพื้นที่เลือกตั้ง ซึ่งตรงนี้ก็ดีเพราะแบรนด์ของพรรคประชาธิปัตย์มีอยู่แล้ว คนรู้จัก เพียงแต่ต้องสื่อสารในแนวทางที่ทำให้เขายอมรับเราและอยากเลือกเรา การเปลี่ยนแปลงของพรรคครั้งนี้จึงอยู่ในจังหวะที่เหมาะสม ที่เราสามารถนำเสนอแนวทางความคิดใหม่ๆ ภาพลักษณ์ใหม่ จากส่วนกลางไปให้กับประชาชนทั่วประเทศได้ และจะทำให้การแข่งขันในระดับเขตของผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคง่ายขึ้น
จับมือ พปชร.ตั้งรัฐบาล ชัดเจนเมื่อใด?
ส่วนเรื่องที่หลายคนอยากรู้ หลังเริ่มมีกระแสข่าวการจับขั้วพรรคการเมืองตั้งรัฐบาลกันแล้วหลัง กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ เมื่อเราถามถึงการตัดสินใจของพรรค ปชป.ว่าจะไปร่วมหรือไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ หากได้เป็นหัวหน้าพรรคจะมีแนวทางการตัดสินใจอย่างไร?
สิ่งที่หลายคนอยากทราบความชัดเจนดังกล่าว กรณ์-แคนดิเดตที่ลงสมัครชิงหัวหน้าพรรคปชป. กล่าวอย่างสงวนท่าทีว่า ใครเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.ก็ต้องตัดสินใจเรื่องนี้ ที่จะรอหลัง กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ต้องดูตัวเลขจะออกมาอย่างไร สามารถที่จะมีแนวโน้มการรวมตัวจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ รัฐบาลจะมีศักยภาพหรือไม่ ซึ่งขั้นตอนการตัดสินใจก็เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะเป็นเรื่องที่กรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ของพรรคต้องร่วมประชุมลงคะแนนกัน ทุกคนก็มีคะแนนเท่ากัน
“ส่วนตัวผมมั่นใจว่าพรรคต้องตัดสินใจบนพื้นฐานความเป็นจริง ว่าเราตัดสินใจทางไหน ประชาชนต้องได้ประโยชน์มากที่สุด ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ รักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศได้ สิ่งนี้คือหลักสำคัญที่สุด ไม่มีเรื่องอื่น เรายึดหลักข้างต้นเป็นเรื่องสำคัญ”
ถามปิดท้ายว่า การจะเข้าไปร่วมจัดตั้งรัฐบาล นโยบายที่พรรคคิดและหาเสียงไว้ เช่น การประกันรายได้สินค้าเกษตร, นโยบายเกิดปั๊บรับแสนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้มีบุตรหรือนโยบายโฉนดสีฟ้า ถ้าพรรค ปชป.ไปร่วมรัฐบาล นโยบายเหล่านี้จะต้องถูกขับเคลื่อนหรือไม่ กรณ์-ที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพรรค ปชป. กล่าวตอบไว้ว่า เราเอาทีละขั้น ตอนนี้เราเลือกหัวหน้าพรรคกันก่อน จากนั้นเราก็ค่อยมาประเมินสถานการณ์ มาตัดสินใจ มาดูว่าการตัดสินใจดังกล่าวมีเงื่อนไขหรือไม่ แล้วเงื่อนไขคืออะไร ซึ่งการตัดสินใจก็จะอยู่บนหลักที่ว่าจะช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือไม่ นั่นคือหัวใจ.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
………………………………………………….
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |