ตื่นตาจารีตอีสาน 'ฮีต 12 คอง 14' 'บุญบั้งไฟตะไลล้าน'


เพิ่มเพื่อน    

 จารีตประเพณีชาวอีสานที่เรียกว่า “ฮีต 12 คอง 14”  หรืองานบุญเดือนหก (เดือนพฤษภาคม) นั้น สำหรับคนต่างถิ่นแล้วนับเป็นเสน่ห์แบบบ้านๆ ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและความศรัทธาของผู้คน

ชาวอีสานทำบุญประเพณีบั้งไฟก่อนเริ่มฤดูกาลทำนา ด้วยความเชื่อว่าเป็นการขอฝนจากเทวดาให้ตกต้องตามฤดูกาล เพื่อให้ข้าวได้รับน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ ซึ่งในเขตภาคอีสานหลายพื้นที่มีการจัดกิจกรรมเช่นนี้...แต่ที่แตกต่าง โดดเด่น และถือเป็นหนึ่งเดียวไม่เหมือนใคร ต้องยกให้ “บุญบั้งไฟตะไลล้าน” จังหวัดกาฬสินธุ์  

นายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จารีตประเพณีสำคัญของชาวอีสานตาม “ฮีต 12 คอง 14” เมื่อถึงเดือนหกของทุกปีคือประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งบุญบั้งไฟตะไลล้านของจังหวัดกาฬสินธุ์นั้น ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่มีที่ใดเหมือน ทั้งในส่วนตัวกระบอกของบั้งไฟ ซึ่งบรรจุดินเชื้อเพลิงยาวตั้งแต่ 3-6 เมตร และไม้ไผ่สานซึ่งล้อมรอบตัวกระบอกบั้งไฟ ส่วนการจุดบั้งไฟนั้นจะต่างกับบั้งไฟหางทั่วไปที่จุดกันตรงส่วนท้ายเพื่อให้บั้งไฟนั้นขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่สำหรับบั้งไฟตะไลล้านของกาฬสินธุ์ จะจุดจากกลางลำตัว โดยจะเจาะรูเชื้อเพลิงให้ออกด้านข้างลำตัวของบั้งไฟ ทำให้บั้งไฟหมุนขึ้นท้องฟ้าอย่างรวดเร็ว

  “งานประเพณีบั้งไฟตะไลล้าน ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนกุดหว้า เป็นภูมิปัญญาชาวภูไทที่สืบทอดต่อให้ลูกหลานมานาน และความตื่นเต้น สวยงามของบ้องไฟตะไลล้านจะเกิดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 18-19 พฤษภาคม 2562 นี้ ที่ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ถือเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด และสอดคล้องกับแนวความคิด "amazing ไทยเท่" ของ ททท.”

ทางด้านนางสาวศิริวรรณ สีหาราช ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานขอนแก่น (รับผิดชอบพื้นที่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม) กล่าวต่อว่า ในจังหวัดกาฬสินธุ์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถไปเยี่ยมชมได้หลายแห่ง เช่น “หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยบ้านกุดหว้า”  ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้งานหัตถกรรมฝีมือการทำมาลัยไม้ไผ่อันประณีตงดงาม  ซึ่งผูกโยงกับงานประเพณีบุญข้าวสากและบุญข้าวประดับดินตามวิถีประเพณีฮีตสิบสองของชาวอีสาน  อีกทั้งเป็นแหล่งกำเนิดประเพณีบั้งไฟตะไลล้านขนาดใหญ่แห่งเดียวในประเทศไทยด้วย

ต่อด้วย “หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยบ้านโคกโก่ง”  ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ ชาวผู้ไทยบ้านโคกโก่ง เป็นชนผู้ไทยอีกหนึ่งกลุ่มที่เดินทางอพยพย้ายถิ่นฐานมาเรื่อยๆ จนมาตั้งหมู่บ้านโคกโก่งขึ้นในราวปี  พ.ศ.2499 ปัจจุบัน ชาวผู้ไทยโคกโก่งยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองไว้อย่างเข้มแข็ง ทั้งด้านการแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณีของบรรพบุรุษ  วิถีชีวิตที่เรียบง่าย การประกอบอาชีพทำนา เลี้ยงไหม  เลี้ยงสัตว์ ปลูกฝ้าย ปลูกพืชผักสวนครัว และทอผ้าฝ้ายใช้เอง ขณะที่ในบริเวณหมู่บ้าน มีแหล่งท่องเที่ยว ที่แสดงวิถีชีวิตของชาวผู้ไทย และการผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน การทอผ้า จักสานไม้ไผ่ รวมทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติภายในวนอุทยานภูผาวัว  ซึ่งอยู่ติดกับหมู่บ้านด้านทิศเหนือ มีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ชมน้ำตกตาดสูง น้ำตกตาดยาว ผานางคอย ผานางแอ่น และดานโหลง ซึ่งเป็นลานหินกว้างที่มีต้นกระบองเพชรหินขึ้นประดับสวยงามและแปลกตา หรือพักอาศัยในบ้านพักโฮมสเตย์เพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวผู้ไทยบ้านโคกโก่งอย่างใกล้ชิด 

 ถัดมาคือ “หมู่บ้านทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน”   อำเภอคำม่วง  หมู่บ้านวัฒนธรรมชนเผ่าผู้ไทย ซึ่งเป็นแหล่งทอผ้าไหมแพรวาอันละเอียดประณีต มีชื่อเสียงระดับประเทศ ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งไหม” มีลักษณะเด่นคือลวดลายต่างๆ ทรงเรขาคณิตเป็นจำนวนมากในผืนเดียวกัน ใช้เส้นไหมหลากสีสอดสลับกันในลวดลาย ประกอบด้วย ลายหลัก ลายคั่น  และลายช่อปลายเชิงสลับกันไป หากเป็นสไบหรือแพรจะมีเชิงแพรเพื่อเพิ่มความสวยงามยิ่งขึ้น เอกลักษณ์ดั้งเดิมของผ้าไหมแพรวาจะมีสีโทนแดงเป็นพื้น แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาจนมีหลากหลายสีสันและลวดลาย

ปิดท้ายด้วย “วัดวังคำ” ตั้งอยู่บ้านนาวี ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ สิมไทเมืองวัง หรืออุโบสถรูปทรงศิลปะล้านช้างที่มีความอ่อนช้อยงดงาม นอกจากนี้ยังมีพระธาตุเจ้ากูและศาลาการเปรียญซึ่งภายในเป็นที่ประดิษฐานของ “หลวงปู่วังคำ” พระประธานศิลปะล้านช้างที่งดงาม  พร้อมทั้งธรรมาสน์ซึ่งสร้างตามแบบดั้งเดิมตามที่เจ้าอาวาสผู้สร้างเคยเห็นเมื่อครั้งเป็นเด็ก นับเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมในรูปแบบศิลปะล้านช้างให้ได้ชมอย่างหลากหลาย

“เชื่อว่าการมาท่องเที่ยวเมืองรองกาฬสินธุ์ ผ่านประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้าน นอกจากจะได้ตื่นตาตื่นใจกับกิจกรรมเหล่านี้แล้ว ยังได้สัมผัสวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ผ่านการท่องเที่ยวชุมชนต่างๆ ที่สะท้อนอัตลักษณ์โด่ดเด่นของตัวเองออกมาได้อย่างน่าชื่นชม และทุกท่านยังมีส่วนช่วยกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่นได้โดยตรง ขณะเดียวกันยังช่วยสนับสนุนให้ภูมิปัญญาเหล่านี้ดำรงอยู่สืบไป” ผู้อำนวยการ ททท.  สำนักงานขอนแก่น กล่าวปิดท้าย   

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลการเดินทางท่องเที่ยวได้ที่ ททท. สำนักงานขอนแก่น เลขที่ 277/20-21 ถ.กลางเมือง (ถนนรอบบึงแก่นนคร ด้านทิศตะวันตก) อำเภอเมืองฯ จังหวัดขอนแก่น 40000 โทร. 0-4322-7714-5 โทรสาร 0-4322-7717, 0- 4322-7719 อีเมล [email protected] และ FB ททท.สำนักงานขอนแก่น

สรณะ รายงาน

 

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"