อย่านิ่งอยู่เลย...พูดเถอะค่ะ


เพิ่มเพื่อน    

ไม่ว่าใครก็ตาม หากถูกใครบางคนกล่าวหาในทางที่เสียหาย ถือว่าเป็นวิกฤติที่จะต้องจัดการแก้ไข เพราะหากไม่แก้ไขก็จะมีผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียง เมื่อการถูกกล่าวหาจะต้องวางยุทธศาสตร์ในการสื่อสารในภาวะวิกฤติ อย่าคิดว่าคนไทยลืมง่าย ก็เลยทำตีเนียนอยู่นิ่งไม่พูดอะไรเลย เพราะถ้าหากเจ้าตัวไม่พูดก็จะมีคนอื่นมาพูดแทน ยิ่งยุคนี้สมัยนี้เป็นยุคที่ประชาชนมี Social media เป็นช่องทางของการสื่อสาร พวกเขาสามารถที่จะพูดถึงใครคนใดคนหนึ่งอย่างไรก็ได้ เพราะ Social media เป็นสื่อเปิด ให้โอกาสแก่ทุกคนให้เป็น Prosumer นั่นคือพวกเขาทั้งหลายเป็นทั้งผู้ผลิต (Produce) ข้อมูล และผู้บริโภค (Consumer) ข้อมูล โดยการเป็นผู้ผลิตข้อมูลนั้น พวกเขาไม่ต้องขออนุญาตใคร ไม่มีบรรณาธิการเป็นผู้คัดสรรข้อมูล ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อพื้นที่หรือเวลาในสื่อ จึงถือได้ว่า Social media เป็นช่องทางที่ให้เสรีภาพของการสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลต่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาในเรื่องใดก็ตามที่ถือว่าเป็นวิกฤติ จึงไม่อาจนิ่งเฉย แต่จะต้องพูด จะต้องชี้แจง ให้ความกระจ่างแก่ประชาชน หาไม่แล้ว ภาพลักษณ์ชื่อเสียงจะเสียหาย และอาจจะมีผลทำให้คนอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมัวหมองไปด้วย

ตามหลักการของการสื่อสารในภาวะวิกฤตินั้น ผู้ที่โดนข้อหาจะต้องรีบชี้แจงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ (Absolutely no delay) เพราะเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ผู้ที่โดนกล่าวหาจะต้องพูดก่อนคนอื่นพูด (Hit first) และจะต้องพูดจาอย่างหนักแน่นด้วยความมั่นใจ (Hit hard) และหากจะถูกซักถามบ่อยครั้ง ก็อย่าเบื่อที่จะพูด เพราะการได้โอกาสได้พูดหลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ ต่างช่องทาง ย่อมมีโอกาสได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อรายเล็กรายใหญ่ หากเขาถามก็ต้องตอบ ตามหลักของการ “เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน” คือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทีละเล็กทีละน้อย จนจำนวนคนที่เข้าถึงเป็นกอบเป็นกำ เหมือนเงินที่ตกใต้ถุนวันละสองสามบาท หากตกลงไปหลายๆ วันแล้วลงไปเก็บก็อาจจะได้หลายร้อย การได้พูดหลายๆ ครั้งก็คือการเพิ่มความถี่ในการเข้าถึง (Hit often) 

ผู้ที่โดนกล่าวหาไม่ว่าเรื่องอะไรก็แล้วแต่ หากนิ่งเฉยอยู่ จะต้องตระหนักว่า คนที่เป็นนักข่าวนั้น เมื่อเรื่องอะไรเป็นข่าว พวกเขาจะไม่ยอมให้เรื่องผ่านไปโดยที่พวกเขาไม่มีข้อเท็จจริงไปรายงานกับประชาชน เมื่อเจ้าตัวไม่ยอมพูด สื่อมวลชนเขาก็มีวิธีการในการหาข่าวของเขา วิธีแรกเขาก็จะไปสัมภาษณ์ฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งการให้ฝ่ายตรงกันข้ามพูดถึงเรา ย่อมอันตรายกว่าการที่เราจะพูดถึงตัวเราเอง และวิธีที่สอง ถ้าหากเรื่องที่เราถูกกล่าวหาในครั้งนั้น มีเหยื่อผู้ได้รับความเสียหาย สื่อมวลชนเขาก็จะคุยกับคนที่เป็นเหยื่อ ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ดีอีกเช่นกัน เพราะผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของเรานั้น คงไม่พูดดีเกี่ยวกับเราที่ถูกกล่าวหาอย่างแน่นอน วิธีที่สามหากเขาไม่ได้ข้อมูลจากฝ่ายตรงกันข้ามหรือจากเหยื่อ สื่อมวลชนบางรายก็จะเต้าข่าวเอาเอง เพื่อให้เรื่องราวของข่าวที่เขานำเสนอนั้นเป็นจิ๊กซอว์ที่มีภาพเต็ม ไม่มีส่วนที่ขาดหายไป

อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องตระหนักรู้ก็คือ ธรรมชาติรังเกียจความว่างเปล่าฉันใด สมองมนุษย์ก็รังเกียจความว่างเปล่าฉันนั้น เหมือนเวลาใดที่อากาศร้อนลอยขึ้นสู่เบื้องสูง อากาศที่เย็นกว่าก็จะเข้ามาแทนที่ ในเรื่องของการสื่อสารก็เช่นกัน หากประชาชนมีความอยากรู้แต่ความจริงหายไป ไม่มีใครให้คำตอบ ข่าวลือก็จะเข้ามาแทนที่ ซึ่งข่าวลือที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ว่าใครจะเป็นต้นตอก็จะไม่ใช่เรื่องที่ดี และคนที่นำเอาข่าวลือไปขยายมักจะใส่สีตีไข่ไปเรื่อยๆ ในความพยายามค้นหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องหนึ่ง พวกเขาอาจจะพบกับอีกเรื่องหนึ่งที่จะเพิ่มความเสียหายให้แก่ผู้กล่าวหามากขึ้นไปอีก จากนาฬิกาแพงเพียงหนึ่งเรือนอาจจะกลายเป็นหลายเรือน จากแหวนหนึ่งวงอาจจะเป็นหลายวง คราวนี้เรื่องราวก็จะไปกันใหญ่ ดังนั้นหากไม่ต้องการให้ใครค้น ใครสืบ หรือใครสร้างข่าวลือทั้งหลาย ใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาไม่ควรจะเฉย ไม่ควรปล่อยให้ประชาชนมีความอยากรู้อยากเห็นโดยไม่มีคำตอบ อย่าเปิดโอกาสให้เกิดข่าวลือ

ตามหลักจิตวิทยาแล้ว เมื่อประชาชนต้องการคำตอบสำหรับความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขา แต่คนที่เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวหาไม่ยอมพูดอะไร คนที่ติดตามอยู่ก็จะมองว่าคนที่ถูกกล่าวหาคงจะไม่กล้าพูดความจริง เพราะหากพูดความจริงแล้วจะเกิดความเสียหาย การประวิงเวลาก็จะทำให้คนคิดว่ากำลังพยายามที่จะคิดหาคำพูดดีๆ ที่น่าเชื่อถือ และไม่ทำให้ตนเสียหาย คนที่พูดความจริงในการตอบข้อสงสัยของคนอื่น โดยที่ตอบได้ทันทีที่ถูกถาม จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากกว่าคนที่ประวิงเวลาไม่ยอมตอบ คนที่ออกมาพูดช้าไป แม้ในวันหน้าออกมาพูด ก็จะไม่มีความน่าเชื่อถือ คนที่เขาติดตามเรื่องอยู่ เขาจะคิดว่าคำชี้แจงที่เกิดขึ้นอย่างล่าช้านั้น เป็นเพราะคนที่พูดต้องการหาทางที่จะพูดให้ตัวเขาดูดีเท่านั้น ดังนั้นไม่ว่าจะพูดดีแค่ไหนก็ยากที่จะได้รับความน่าเชื่อถือ คนฟังก็อาจจะพูดว่า ถ้าหากเรื่องมันมีเพียงเท่านี้ ก็ไม่เห็นจะต้องประวิงเวลาในการชี้แจงเลย เมื่อถูกกล่าวหา ทำไมไม่ชี้แจงเช่นนี้ตั้งแต่แรก

การที่ใครคนใดคนหนึ่งถูกกล่าวหาแล้วไม่ชี้แจงนั้น นอกจากจะหมดความน่าเชื่อถือแล้ว ประชาชนบางคนก็อาจจะคิดไปอีกว่า เขาไม่คิดจะชี้แจง เพราะเขาคิดว่าเขาเป็นผู้มีอำนาจ ใครอยากจะด่าก็ด่าไป ใครอยากจะว่าก็ว่าไป ใครจะไม่พอใจก็ตามใจ เพราะด้วยอำนาจที่เขามีอยู่นั้น คงไม่มีใครทำอะไรเขาได้ คนที่คิดเช่นนี้ย่อมมีภาพลักษณ์เกี่ยวกับบุคคลที่กล่าวหาไปในทางที่ไม่ดี พวกเขาจะมองว่าคนที่ถูกกล่าวหาแล้วไม่สนใจที่จะชี้แจงนั้นเป็นคนที่หยิ่งยโสอวดดีมั่นใจในอำนาจที่ตนมีอยู่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องอธิบายอะไร ใครจะคิดอย่างไรก็ขอเชิญให้คิดไป เขาไม่สนใจ เขาไม่ให้ค่ากับคำด่าคำว่าเหล่านั้น เพราะคงทำได้แต่เพียงด่าว่า (เห่า) แต่ไม่มีปัญญาที่จะทำอะไรเขาได้ คนที่คิดแบบนี้อาจจะเป็นคนโบราณที่ไม่ตระหนักถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของ Social media แม้ว่าพวกนี้ไม่ได้ฟ้องศาล ไม่ได้ออกมาเดินขบวนขับไล่ แต่พวกเขาก็จะใช้ Social media พูดเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับคนนั้น กดดันคนคนนั้นจนกระทั่งจะอยู่อย่างมีความสุขสักวันก็คงจะยาก
หากท่านเชื่อตามหลักการดังกล่าวนี้ ใครที่โดนกล่าวหาเรื่องอะไรก็ตาม พูดเถอะค่ะ ชี้แจงเถอะค่ะ เพราะหากเจ้าตัวยังไม่ยอมพูด ไม่ใช่เจ้าตัวเท่านั้นที่จะเสียหายและหมดความน่าเชื่อถือ คนที่เป็นผู้บังคับบัญชาก็จะพลอยเสียหายไปด้วย ว่าทำไมไม่กล้าจัดการเรื่องที่มีปัญหา และคนที่มีหน้าที่ตรวจสอบก็จะโดนไปด้วย ว่าทำไมไม่กล้าตรวจสอบ ทำไมไม่ทำหน้าที่ พูดเถอะนะคะ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"