7 ช่องแห่คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล กสทช.ชี้ยุติออกอากาศไม่เกิน ส.ค. กำชับดูแลพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง "บีอีซี" แจงเหตุคืน 2 ช่องมุ่งโฟกัสช่อง 33 "4 องค์กรสื่อ" ร่อนแถลงการณ์ บี้เยียวยา พนง.เป็นธรรมมากกว่า กม.แรงงาน
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สรุปผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ยื่นเรื่องขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินจำนวน 7 ช่อง คือ ไบรท์ทีวี 20, บมจ.อสมท (MCOT) คืนช่อง 14 MCOT Family, บมจ. นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น (NEWS) คืนช่องสปริงนิวส์ 19, บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด คืนช่องวอยซ์ทีวี 21, บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) (บริษัท สปริงส์ 26) คืนช่อง สปริงส์ 26, บมจ.บีอีซีเวิลด์ (BEC) คืนช่อง 28 SD และช่อง 13 Family
นายฐากรกล่าวว่า จากที่เอกชนที่ยื่นขอคืนช่องทีวีดิจิทัลจำนวน 7 ช่อง จะทำให้เหลือช่องทีวีดิจิทัล จำนวน 15 ช่อง จากเดิมที่มีอยู่ 22 ช่อง หลังจากนี้ให้ช่องทีวีที่ขอคืนใบอนุญาตส่งเอกสาร รวมทั้งผลประกอบการในปี 61 และผลประกอบการในช่วง 1 ม.ค.-11 เม.ย.62 มาให้ กสทช.ภายใน 60 วัน และใช้เวลานำเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. ภายใน 30 วัน หากรายใดยื่นเอกสารได้เร็ว จะพิจารณาได้เร็ว และจะได้รับเงินชดเชยได้เร็ว ดังนั้นการยุติออกอากาศของแต่ละช่องจะไม่เท่ากัน ทั้งนี้ คาดว่าอย่างช้ากระบวนการทั้งหมดจะสิ้นสุดในเดือน ส.ค.62 โดยต้องประชาสัมพันธ์แจ้งผู้บริโภค 30-45 วันก่อนยุติออกอากาศ
“7 ช่องที่ขอคืนใบอนุญาตมาอาจจะส่งผลกระทบต่อพนักงาน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเวลาที่ได้รับเงินช่วยเหลือกลับไปแล้ว ขอให้เยียวยากลับไปให้แก่พนักงานให้ดีกว่ากฎหมายแรงงาน ซึ่ง กสทช.ต้องการเห็นแผนเยียวยาพนักงานที่ต้องออกจากงานจากการคืนช่องทีวีดิจิทัล เนื่องจากเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีกำชับว่าจะต้องให้ความสำคัญและมีความเป็นห่วง” นายฐากร ระบุ
เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า การขอคืนช่องทีวีดิจิทัลมาจากแนวโน้มที่เห็นว่าเมื่อมี 5G จะส่งผลกระทบต่อทีวีดิจิทัล จากปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วเมื่อมี 3G/4G ทำให้ทุกคนหันไปชมรายการต่างๆ ผ่านช่อง OTT เพิ่มขึ้น และดูทีวีน้อยลง อย่างบางช่องที่มี 2-3 ช่อง เท่าที่ฟังขาดทุนเป็นหมื่นล้าน การคืนช่องมาจะทำให้ภาพรวมทีวีดิจิทัลเมื่อมีน้อยรายน่าจะทำให้ดี แต่ละรายจะได้ค่าชดเชยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าขาดทุนกำไรเท่าไร แต่อย่างน้อยจะได้รับเงิน 55% ของเงินที่จ่ายค่าใบอนุญาตไปแล้วงวดที่ 1-4 โดยจะนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จ่ายชดเชยให้ไปก่อน โดยไม่ต้องรอเงินจากการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์
นายฐากรกล่าวด้วยว่า ในส่วนผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 3 ราย คือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่ได้มายื่นขอรับสิทธิยืดระยะเวลาจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz เมื่อวันที่ 7 พ.ค. แต่มีเงื่อนไขเรื่องราคาประมูลคลื่น 700 MHz ที่จะประกาศในวันที่ 14 พ.ค.นี้ หากมีราคาสูงเกินไป อาจไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz ขณะที่ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) แจ้งยื่นขอใช้สิทธิขยายเวลาจ่ายใบอนุญาตคลื่น 900 MHz และแจ้งว่าราคาเริ่มต้นคลื่น 700 MHz ที่ กสทช.มีข่าวออกไปเห็นว่าราคายังสูง DTAC จะขอรอการรับฟังความเห็นสาธารณะของการประมูลคลื่น 700 MHz ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) แจ้งขอใช้สิทธิเช่นกัน แต่มีเงื่อนไขการเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz หากราคาสูงเกินไปอาจเปลี่ยนใจไม่เข้าร่วม
"ราคาประมูลเริ่มต้นของคลื่น 700 MHz ที่ 25,000 ล้านบาท หากเอกชนเห็นว่าสูงเกินไป ก็มีสิทธิปฏิเสธที่จะไม่เข้าร่วมประมูลได้ อย่างไรก็ตาม กสทช.จะไม่ปรับราคาตามใจผู้ประกอบการโทรคมนาคม ซึ่งได้ส่งให้หน่วยงานในต่างประเทศตรวจสอบก่อนที่ประกาศลงในเว็บไซต์วันที่ 14 พ.ค.นี้ และเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะในวันที่ 22 พ.ค.นี้" เลขาธิการ กสทช.ระบุ
ด้านบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์เรื่อง การคืนช่องทีวีดิจิทัลช่อง 13 และ ช่อง 28 ว่าเนื่องจากปัญหาของการแข่งขันที่สูงในธุรกิจทีวีดิจิทัล จากจำนวนช่องที่มากเกินไป ในขณะที่เม็ดเงินโฆษณาไม่ได้โตขึ้น แต่กลับมีการหดตัวของเม็ดเงินโฆษณา อีกทั้งกิจการโทรทัศน์ยังโดนผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ชมที่หันไปรับชมรายการต่างๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนมากต้องแบกรับปัญหาการขาดทุน อย่างไรก็ตาม บมจ.บีอีซีเวิลด์ยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในธุรกิจ โดยจะยังคงสร้างสรรค์รายการที่มีคุณภาพ ที่ให้ทั้งความบันเทิงและสาระที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชมทางช่อง 3 และ 33 และจะยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเต็มที่ต่อไป
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คณะกรรมการ บมจ.อสมท ได้พิจารณาตามที่ฝ่ายบริหารนำเสนอและมีมติเห็นชอบในการคืนใบอนุญาตฯ ช่อง 14 MCOT Family เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับ บมจ. อสมท และผู้มีส่วนได้เสีย อย่างไรก็ตาม บมจ.อสมท ยังคงมีจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุน ส่งเสริม เด็ก เยาวชน สังคมและครอบครัว ตามภารกิจขององค์กรผ่านช่องทางการสื่อสารทุกช่องทางของ บมจ.
นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด จะยังคงดำเนินงานต่อ แต่ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มในการนำเสนอมุ่งเน้นการพัฒนาข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งในเว็บไซต์ ยูทูบ เฟซบุ๊กเพจ ไลน์ อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ ตามแผนดำเนินงานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ วอยซ์ทีวี 21 จะออกอากาศผ่านระบบดิจิทัลจนถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้ และในระหว่างวันที่ 1-31 ก.ค. จะดำเนินการออกอากาศคู่ขนานผ่านระบบดิจิทัล ดาวเทียม และแพลตฟอร์มออนไลน์หลักคือเฟซบุ๊กและยูทูบ
นายสมชาย มีเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ NMG กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าการถือใบอนุญาตโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลไว้ถึง 2 ช่อง คือช่อง 22 ผ่านบริษัท เนชั่น บรอดคาสติ้ง จำกัด (มหาชน) และช่อง 26 ผ่านบริษัท สปริง 26 ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการประกอบการของบริษัท ซึ่งเป็นองค์กรข่าว จึงตัดสินใจคืนใบอนุญาตช่อง 26 ซึ่งเป็นช่องวาไรตี้ที่กลุ่มบริษัทไม่ได้มีความรู้ความชำนาญอย่างแท้จริง
ขณะที่สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมกรณีคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลว่า ห่วงใยต่อสภาวะการว่างงานของพนักงานสังกัดทีวีดิจิทัลที่ผู้ประกอบการคืนใบอนุญาตที่จะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ในแวดวงสื่อสารมวลชนทีวี จึงมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอดังนี้
1.เรียกร้อง กสทช.ให้ขอความร่วมมือ/กำชับผู้ประกอบการที่คืนใบอนุญาต ได้ดำเนินการดูแลชดเชยเยียวยาพนักงานที่ตกงาน มากกว่าที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนด และ 2.ขอให้ผู้ประกอบการ เจ้าของสื่อ ชดเชยเยียวยาพนักงานที่ตกงานด้วยความเป็นธรรมและมากกว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนด เนื่องจากเป็นการปิดบริษัทอย่างกะทันหัน ไม่ได้แจ้งล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนด และการคืนใบอนุญาตดังกล่าวผู้ประกอบการเองก็ได้รับเงินคืนจาก กสทช.เช่นกัน รวมทั้งต้องออกหนังสือรับรองการทำงานให้ด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |