แกนนำ พปชร.ยันร่วมกับพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาลได้ ระบุเป็นสิทธิหากขั้วที่ 3 จับมือตั้ง รบ.แข่ง สะพัด! ยังกอดเก้าอี้ "กห.-มท.-คลัง-คค." แน่น "ป๊อก" อาจขยับนั่ง กห. "ป้อม" รองนายกฯ "บิ๊กแป๊ะ-บิ๊กอ๊อด" คั่ว มท.1 ชทพ.ได้ ก.ทรัพย์ "อนุทิน-วราวุธ" ปัดข่าว "เนวิน" ร่วมเจรจา ขณะที่ ปชป.รอ กก.บห.ชุดใหม่ตัดสินใจ ด้าน พท.ย้ำ 7 พรรคยังเหนียวแน่น เย้ยซีก พปชร.มีแค่ 137 เสียง ตราบใดยังไม่จับมือแถลงได้ 255 เสียงก็เป็นแค่ความอยาก จี้ "ปชป.-ภท.-ชทพ.-ชพน." รีบแสดงจุดยืน "ธนาธร" ลั่นพยายามเต็มที่
เมื่อวันศุกร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เดินทางมารับใบรับรองการเป็น ส.ส. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนเข้ารายงานตัวที่รัฐสภาอย่างคึกคัก พร้อมกับมีความเคลื่อนไหวการจัดตั้งรัฐบาลเข้มข้นขึ้น โดยที่รัฐสภา เกียกกาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดรายงานตัว ส.ส. เป็นวันที่สาม มี ส.ส.เดินทางมาตลอดวัน อาทิ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำทีม ส.ส.กทม.ของพรรค อีก 11 คน สำหรับพรรคเพื่อไทย (พท.) เช่น นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม., นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน, นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้แก่ นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง, นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาภิวัฒน์ เป็นต้น
ขณะที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ซึ่งได้ ส.ส. 5 คน มารายงานตัวครบแล้ว นำโดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค, น.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายสุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร
อย่างไรก็ตาม จำนวนสมาชิกที่มารายงานตัวในวันศุกร์ 206 คน มียอดทั้ง 3 วันรวมทั้งสิ้น 320 คน โดยสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ยังคงเปิดให้สมาชิกรายงานตัวได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
ด้านนายพุทธิพงษ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลว่า ขณะนี้ชัดเจนว่าเรามีพันธมิตรที่มีแนวทางการทำงานใกล้เคียงกัน แต่ต้องให้เกียรติแต่ละพรรคในการดำเนินการภายในพรรค เช่น การประชุม และเลือกหัวหน้าพรรค รวมไปถึงพรรคเล็กที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจ ส่วนกระแสข่าวเรื่องการตกลงตำแหน่งไม่ลงตัวจนขั้วที่ 3 เตรียมจับมือตั้งพรรคการเมืองแข่งกับ พปชร.นั้น ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องปกติที่ทำได้ แต่เราเชื่อมั่นว่า พปชร.และพันธมิตรจะสามารถตั้งรัฐบาลได้เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
ส่วนกระแสข่าวที่ว่าบางพรรคไม่พอใจที่ พปชร.เก็บโควตากระทรวงเศรษฐกิจไว้ทั้งหมดนั้น นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ยังเร็วไปที่พูดคุยเรื่องตำแหน่งในวันนี้ เพราะหากจะเป็นรัฐบาลร่วมกันก็ต้องฟังซึ่งกันและกัน รวมทั้งฟังแนวทางบริหารของทุกพรรค ไม่ว่าจะกระทรวงไหนก็คงมีทิศทางเดินไปแบบเดียวกัน พปชร.ไม่จำเป็นต้องได้กระทรวงหลักเท่านั้น ทุกอย่างอยู่ภายใต้การทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ไม่เช่นนั้นก็ทำงานด้วยกันลำบาก
แกนนำพรรค พปชร.ยังปฏิเสธกระแสข่าวนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ไม่พอใจที่ พปชร.เก็บเก้าอี้ของกระทรวงคมนาคมไว้ ส่วนจะให้โควตานี้กับพรรค ภท.เลยหรือไม่ คงตอบไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจตัดสินใจ ส่วนข่าวแกนนำ กปปส.ต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีก็ไม่เป็นความจริง และ พปชร.เราเป็นหนึ่งเดียว เราทำงานด้วยกันอย่างดี ช่วยเหลือกันทุกคน ไม่ได้มีกลุ่ม แม้จะมีที่มาจากหลายกลุ่ม ก็ตาม ส่วนตัวเลข 255 ของพรรคร่วมรัฐบาลต้องรอการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค ปชป. เพราะคาดว่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการร่วมรัฐบาล
มีรายงานข่าวจาก พปชร.ถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลว่า ขณะนี้ทุกอย่างกำลังดำเนินตามขั้นตอนและธรรมชาติของการจัดตั้งรัฐบาล คือการพูดคุยกับพรรคที่จะร่วมทำงานและการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้มีความเหมาะสม ในสัปดาห์หน้าแม้การเจรจาจะยังไม่สมบูรณ์ แต่จะเห็นความชัดเจน เพราะทุกอย่างต้องจบก่อนการประชุมเลือกประธานสภาฯแน่นอน ทั้งนี้ แกนนำพรรคได้แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ รวมถึงการพูดคุยกับพรรคร่วมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเป็นระยะในฐานะแคนดิเดตนายกฯ รับทราบมาโดยตลอด
พปชร.ยังกอดเก้าอี้หลักแน่น
แหล่งข่าว พปชร.กล่าวถึงกรณี 3 พรรคการเมือง คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ไม่พอใจถึงการแบ่งโควตารัฐมนตรี เพราะไม่ยอมคลายกระทรวงหลักและกระทรวงเศรษฐกิจว่า ยอมรับว่ากรณีดังกล่าวนี้เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลที่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลงมาเกลี่ยและจัดสรรตำแหน่งใหม่ จากเดิมที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นผู้จัดการจัดตั้งรัฐบาล และกำหนดโควตาเศรษฐกิจไว้กับ พปชร.ทั้งหมด แต่หลังจากเลือกตั้งสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไป พปชร.ไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง จึงจำเป็นต้องเดินเข้าไปหาและชวนพรรคการเมืองต่างๆเพื่อขอเสียงสนับสนุนเพื่อให้ได้เสียงเกิน 251 เสียง พร้อมทั้งแกนนำบางส่วนต้องเปลี่ยนวิถีคิด เพราะตอนนี้ไม่ใช่ช่วงรัฐประหารที่รัฐบาล คสช.จะยึดทุกกระทรวงที่ต้องการเอาไว้ในมือได้
“พปชร.ต้องยอมปล่อยกระทรวงหลัก หรืออย่างน้อยตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยในกระทรวงเศรษฐกิจออกไปให้แก่พรรคร่วมรัฐบาลบ้าง เพื่อให้การเจรจาเดินไปได้ และสร้างความพึงพอใจให้แก่พรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะพรรค ปชป.และพรรค ภท. พรรค ชทพ. ที่เป็นคะแนนเสียงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ พปชร.เป็นรัฐบาลได้ เพราะหากพวกเขาไม่พอใจจริงๆ และไปตั้งรัฐบาลแข่ง หรือบางพรรคแยกตัวไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยจริง ผู้จัดตั้งรัฐบาลอาจจะไม่ได้อยู่ในเงื้อมมือของ พปชร.อีกต่อไป เพราะเราก็มีแค่ 115 เสียง”
แหล่งข่าวจาก พปชร.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบเงื่อนไขใหม่ที่ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่ตอบรับการร่วมรัฐบาลจาก พปชร. คือยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯ และเป็นหัวหน้า ครม.เพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะมาจากการเลือกตั้งตามระบบรัฐธรรมนูญ พร้อมปฏิเสธ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรองหัวหน้า คสช. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และบุคคลอื่นๆ ที่มาจาก คสช. ที่จะเข้ามานั่งใน ครม. เพราะเป็นการย้ำภาพการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร ถือเป็นจุดอ่อน ทั้งปมปัญหาในอดีต มาถึงปัจจุบันที่สังคมไม่ยอมรับ โดยเฉพาะสถานการณ์ล่าสุดในการสรรหา ส.ว. จำนวน 250 คน เกิดกระแสต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร แรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะใช้ระบบพวกพ้อง ที่นำบุคคลใน คสช. รัฐมนตรี สนช. สปท. สปช. รวมทั้งระบบพี่ตั้งน้องมาเป็น ส.ว.สรรหา สืบทอดอำนาจ 5 ปี โดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง
ล่าสุดจนถึงขณะนี้แกนนำรัฐบาลและแกนนำพปชร.ยังยืนกรานเอา 4 กระทรวงหลักความมั่นคงและเศรษฐกิจไว้ดูแลเอง คือ กระทรวงกลาโหม มหาดไทย คลัง และคมนาคม โดยกลาโหมยังคงเป็นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะที่กระทรวงการคลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งนั่งรองนายกฯ และอาจควบนั่ง รมว.การคลัง หรือดันนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. นั่ง รมว.การคลัง ขณะที่กระทรวงมหาดไทย ยังคงเป็น พล.อ.อนุพงษ์ แต่หากพล.อ.ประวิตรมีปัญหาเรื่องสุขภาพต้องการพัก มีความเป็นไปได้ที่ พล.อ.อนุพงษ์จะขยับไปนั่งเป็น รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตรอาจเหลือแค่รองนายกฯ ตำแหน่งเดียว ซึ่งจะทำให้ตำแหน่ง รมว.มหาดไทยว่างลง โดยล่าสุดปรากฏชื่อของนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดมหาดไทยขึ้นมาเป็นแคนดิเดต แต่หากนายฉัตรชัยปฏิเสธรับตำแหน่ง ทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. คนปัจจุบัน และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และอดีตผบ.ตร. ซึ่งทั้ง 2 คนถือว่ามีคอนเนกชั่นที่ดีกับพรรคภูมิใจไทย ถือเป็นตัวเลือกที่ถูกมองไว้ และถ้า พล.ต.อ.จักรทิพย์ หรือ พล.ต.อ.สมยศได้ก็จะกลายเป็นโควตาพรรคภูมิใจไทย
ขณะที่กระทรวงคมนาคม เป็นกระทรวงที่พรรคภูมิใจไทยต่อรองเพื่อขอในส่วนนี้ แต่ขณะนี้ พปชร.ยังไม่ตกลงให้ เนื่องจากต้องการเดินหน้าต่อส่วนของเมกะโปรเจ็กต์ที่ได้ปักหมุดไว้ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ โดยภูมิใจไทยอาจจะได้ รมช.คมนาคม มีชื่อนายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.พระนครศรีอยุธยา อดีตรมช.คมนาคม มาดำรงตำแหน่ง ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นโควตาของนายอิทธิพล คุณปลื้ม รองหัวหน้าพรรค พปชร. โดยพรรคชาติไทยพัฒนาจะได้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีชื่อนายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคชาติไทยพัฒนา มานั่งเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากต้องการดูการบริหารจัดการน้ำ ส่วนประชาธิปัตย์ แม้ยังต้องรอมติพรรควันที่ 15 พ.ค. แต่เบื้องต้นจะได้ 6-7 ที่นั่งเท่ากับภูมิใจไทย ส่วนหนึ่งจะได้กระทรวงศึกษาธิการและ รมช.มหาดไทย ส่วนกระทรวงน้องใหม่อย่างกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม น่าชัดเจนกว่าเก้าอี้อื่น โดยจะมอบหมายให้นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค พปชร. นั่งดูแล เนื่องจากขับเคลื่อนทำกระทรวงนี้มา
ปัด"เนวิน"ร่วมเจรจา
ด้าน พล.อ.ประวิตร กล่าวตอบคำถามถึงการจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ว่า แล้วจะมาถามอะไรผม ผมไม่รู้เรื่องเลย ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้นายกรัฐมนตรี จะไปจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างไร ก็พูดกันไปเรื่อย
เมื่อถามว่า ในส่วนของตำแหน่ง รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตรพร้อมเข้ามาทำงานด้วยตัวเองหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่รู้ เพราะยังไม่ได้ตัวนายกฯ จะไปรู้ได้อย่างไร เมื่อถามอีกว่า ใครๆ ก็พูดว่าจะได้นายกฯ คนเดิม พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ยังไม่รู้
เมื่อถามต่อว่า หากมีการส่งเทียบเชิญให้ พล.อ.ประวิตรนั่งเป็น รมว.กลาโหมต่อ จะรับหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่ได้ตัวนายกฯ เลย แล้วจะมาถามอะไร ส่วนกระแสข่าวว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย อาจจะมาเป็น รมว.กลาโหม ก็ไม่รู้และไม่มีใครรู้ทั้งนั้น แล้วจะไปรู้ได้อย่างไรว่ามีใครเป็นอะไรบ้าง ตอนนี้ก็มีแต่ทำงานไป
นายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายพรรค ชทพ. กล่าวถึงกระแสข่าวที่ระบุมีการพูดคุยกับนายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ว่าถือเป็นเรื่องปกติ โดยเป็นการหารือเรื่องการทำฟุตบอลและนักเตะ ซึ่งที่ผ่านมาก็พูดคุยกับนายเนวินตลอดทุกปี ไม่ได้พูดคุยเรื่องการเมือง หากจะคุยเรื่องการเมืองกับพรรคภูมิใจไทยก็ต้องคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคเท่านั้น
"จนถึงขณะนี้ 2 พรรคใหญ่คือพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยยังไม่มีการติดต่อมายังพรรคชาติไทยพัฒนา เพราะเราเป็นพรรคเล็ก มีเพียง 10 เสียงเท่านั้น โดยเชื่อว่าพรรคใหญ่จะต้องไปเจรจากับพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ก่อน ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลสูง อย่างไรก็ตาม หากมีการติดต่อเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลพรรคชาติไทยพัฒนา ผมก็จะต้องนำไปหารือกับหัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรคเพื่อตัดสินใจต่อไป" นายวราวุธกล่าว
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า มีข่าวนี้ออกหลายสื่อเมื่อเช้าวันนี้ ขอยืนยันครับว่าไม่มีมูลความจริง เรื่องการตัดสินใจใดๆ ทางการเมืองของพรรคภูมิใจไทยต้องพูดคุยเจรจาต๊ะอ้วยกับหัวหน้าพรรคเท่านั้น ส่วนใครอยากคุยเรื่องฟุตบอลของบุรีรัมย์หรือสุพรรณบุรี ติดต่อทั้งสองท่านนี้ได้โดยตรงครับ คือแบบว่ามันคนละเรื่องเดียวกันเลยอ่ะ
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กล่าวว่า เราเป็นพรรคใหม่ และมีหลายพวกมารวมตัวด้วยกัน โดยมากมาจากกลุ่ม กปปส. ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคก็เป็นคนสมัยใหม่ มีการนำเสนอที่ดี ส่วนจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่นั้น พรรคเราไม่ได้เสนอชื่อนายกฯ จะเข้ากับใครก็ง่าย แต่จะเข้า-ไม่เข้าอีกเรื่องหนึ่ง ทิ้งไว้แค่นั้นก่อน พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนดีคนหนึ่ง
นายชัชวาลย์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้ารายงานตัว ส.ส.ใหม่ ยืนยันว่า พรรคจะขอร่วมงานกับพรรคการเมืองที่ปกป้องสถาบัน ฝ่ายไหนที่ปกป้องสถาบัน เราก็อยู่กับฝ่ายนั้น ที่ผ่านมีการพูดคุยกับคนรู้จักตามปกติ แต่ไม่ได้มีการพูดคุยกับผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ และไม่ได้มีการต่อรองขอตำแหน่งใดๆ เพราะตนไม่ได้หวังตำแหน่ง แต่ต้องการเข้ามาแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน ส่วนการพูดคุยกับพรรคขนาดเล็ก 10 พรรคนั้น ตนไม่ได้มีการไปพูดคุยหรือรวมตัวเพื่อต่อรองตำแหน่ง เพราะเรามีแค่ 3 เสียง เรื่องใดที่เป็นประโยชน์จะยกมือให้อยู่แล้ว แต่เรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่เห็นด้วย
ปชป.รอมติกก.บห.ชุดใหม่
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคปชป. ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวว่า ปชป.ไม่พอใจการต่อรองตำแหน่งทางการเมืองกับ พปชร. ในการร่วมรัฐบาลว่า แปลกใจว่าข่าวดังกล่าวมาจากไหน เพราะขณะนี้พรรคยังไม่มีมติร่วมรัฐบาล ต้องรอให้มีหัวหน้าพรรควันที่ 15 พ.ค.ก่อน จากนั้นกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และ ส.ส.จะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ แต่ยอมรับว่ามีการติดต่อกับคนในพรรค รวมทั้งตนเองด้วย ซึ่งตนยืนยันไปว่าไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจ ต้องรอให้ ส.ส.และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เป็นผู้ตัดสินใจ
"ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ทำประโยชน์ให้ประชาชนได้เช่นกัน อย่าอ้างว่าทำเพื่อชาติเพียงอย่างเดียว เพราะประชาชนอาจจะเลี่ยนได้ หากทำเพื่อชาติจริง คงไม่เกิดการซื้อเสียง การโกง คนที่อ้างประชาธิปไตยก็อย่าดูแค่คำพูด ต้องดูภาคปฏิบัติด้วย ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นตัวของตัวเอง เชื่อว่าทุกคนจะเคารพมติพรรค" นายชวนกล่าว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวเช่นกันว่า คงต้องรอให้มีการเลือกหัวหน้าพรรคและ กก.บห.ชุดใหม่เสร็จสิ้นก่อน ทุกอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวก็เป็นแค่ข่าว แต่ข้อเท็จจริงจะต้องนับหนึ่งจากวันที่ 15 พ.ค. ที่ได้ กก.บห.ชุดใหม่แล้ว ส่วนกระแสข่าวการเมืองขั้วที่สามก็ยังไม่ทราบ
เมื่อถามว่า กระแสข่าวต่างๆ ที่ออกมา จะมีผลต่อการเลือกหัวหน้าพรรคและ กก.บห.ชุดใหม่หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องการเลือกหัวหน้าพรรคมีการพูดกันว่าอยากให้แยกกันระหว่างการเลือกหัวหน้าและ กก.บห.ชุดใหม่ กับการตัดสินใจว่าจะร่วมรัฐบาลหรือจะเป็นฝ่ายค้านในอนาคต เพราะเมื่อเลือกไปแล้วไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะตัดสินใจว่าร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วมยังมีภารกิจอีกมากมายในการนำพาพรรคให้เดินไปข้างหน้าได้
นายธนา ชีรวินิจ รักษาการโฆษกพรรค ปชป.กล่าวถึงกระแสข่าวมีการเจรจาต่อรองตำแหน่งในรัฐบาลที่มี พปชร.เป็นแกนนำว่า ปชป.ขอปฏิเสธโดยสิ้นเชิงว่าไม่ได้มีการเจรจาต่อรองตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้นเนื่องจากกรรมการบริหารชุดเก่าเป็นกรรมการชุดรักษาการ ในการดำเนินกิจการทางการเมืองนั้น หัวหน้าพรรคคนใหม่และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล
ทางด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ 7 พรรคการเมืองที่เคยลงสัตยาบัน ยังคงเหนียวแน่นอยู่ด้วยกันอย่างแข็งแรง เราไม่ได้มีเจตนารมณ์รวมกันเพื่อตั้งรัฐบาลแล้วมานั่งแบ่งเค้กเก้าอี้รัฐมนตรี แต่เพราะก่อนการเลือกตั้งได้ประกาศชัดว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกฯอีกรอบ ไม่เห็นด้วยที่จะมีการสืบทอดอำนาจ หลังการเลือกตั้งยังยึดเจตนารมณ์ดังกล่าว การเมืองขณะนี้กำลังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นเป็นเพียงความเชื่อและความอยากของพรรคพลังประชารัฐ ตราบใดที่ยังไม่สามารถมานั่งรวมกันและแถลงประกาศจับมือและมีเสียงเกิน 255 ได้ ก็ยังคงเป็นเพียงแค่ความอยากเฉพาะตน ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นฉันทานุมัติได้
เลขาธิการพรรค พท.กล่าวถึงโอกาสจับมือกับกลุ่มพรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ว่าสิ่งสำคัญของการเป็นนักการเมืองคือเราต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ได้พูดไว้กับประชาชน วันนี้เราเห็นกันอยู่แล้วว่าการเมืองมี 3 กลุ่มใหญ่ คือ ซีกประชาธิปไตยมี 245 เสียง, ซีกพลังประชารัฐมี 137 เสียง และกลุ่มที่สามคือพรรคขนาดกลางมี 121 เสียง ต้องมาดูอุดมการณ์ของกลุ่มที่สามตรงกับกลุ่มไหนก็สามารถไปร่วมมือกันได้ แต่อย่าใช้เวลาตัดสินใจนานมากเกินไป เพราะปัญหาของประชาชนมีมาก ไม่สามารถรอได้
จี้ 4 พรรคแสดงจุดยืน
เมื่อถามว่า ได้ต่อสายคุยกับนายอนุทินบ้างหรือยัง นายภูมิธรรมกล่าวว่า การเมืองเป็นเพื่อนกันหมด เคารพทุกความคิด ให้แต่ละฝ่ายได้คิดว่าจะหาทางออกให้ประเทศอย่างไร ถือเป็นการพูดคุยหลายกลุ่มในหลายระดับ คงไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ ส่วนเรื่องงูเห่า เมื่อกติกาบิดเบี้ยวอย่างนี้ทำให้งูเห่าเกิดขึ้นได้ และเกิดได้ทุกพรรค กับพรรคเพื่อไทยก็เกิดได้ ตนยังเชื่อมั่นในคนของเพื่อไทย ถ้าใครจะคิดเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า ก็อาจจะเห็นการตัดสินใจทางการเมืองครั้งสุดท้ายของชีวิตทางการเมืองของเขา
นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรค พท. กล่าวว่า หลายพรรคการเมืองประกาศต่อสาธารณชนบนเวทีปราศรัยหาเสียงว่า พรรคของตนไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ แต่พอถึงวันนี้อันเป็นช่วงเวลาของการแย่งชิงกันรวบรวมเสียงให้มากที่สุด เพื่อให้มีอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลระหว่างฝ่ายหนุนการสืบทอดอำนาจกับฝ่ายหนุนประชาธิปไตยกลับมีชื่อของหลายพรรคปรากฏว่าจะไปหนุนฝ่ายสืบทอดอำนาจ มีการแบ่งเค้ก จัดสรรตำแหน่งใน ครม. สร้างความสะเทือนใจ ความผิดหวังให้แก่ประชาชนผู้ให้การสนับสนุนเลือกส.ส.ของพรรคเหล่านั้น แต่แกนนำของพรรคดังกล่าวพลิกลิ้น กลับคำพูดมาหนุนลุงตู่ ไม่เคารพสิทธิ์เสียงของประชาชนที่ได้มอบให้
"ฝ่ายที่ยังไม่ประกาศตัวว่าจะหนุนฝ่ายใด มีอยู่ 116 ที่นั่ง 4 พรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา ขอถามไปยัง 4 พรรค 116 ที่นั่งว่า วันนี้ท่านจะเลือกช่วยเหลือประชาชน หรือจะเลือกช่วยเหลือตัวเอง จะหนุนฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ จะหนุนฝ่ายสืบทอดอำนาจจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ถ้าพวกท่านเคยหาเสียงไม่เอาสืบทอดอำนาจ แต่มาวันนี้กลับหนุนลุงตู่อยู่ต่อ ถือเป็นการหักหลังประชาชนที่เลือกเข้ามาหรือไม่” นางลดาวัลลิ์กล่าว
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท. กล่าวถึงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลว่า ผลจะออกมาอย่างไรก็อยู่ที่นักการเมืองว่าจะเดินทางไหนใคร ไปกับระบอบประยุทธ์ก็ต้องให้สังคมมองไว้แล้วที่พากันเรียกร้องแทบเป็นแทบตายให้ปฏิรูปประเทศ วันนี้ได้เห็นบางกลุ่มบางคนเริ่มออกลายแล้วว่า ที่พูดมาเป็นเพียงแค่ลมปาก วันนี้ระบอบประยุทธ์ทำทุกวิถีทางเพื่อเป็นรัฐบาลต่อไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น พรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายประชาธิปไตยก็พร้อมที่จะทำงานฝ่ายตรวจสอบแล้วเรามาพิสูจน์กันในสนามสภาฯ
ที่สำนักงาน กกต. นายธนาธร จงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.), นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค เดินทางมารับหนังสือรับรอง ส.ส. โดยนายธนาธรกล่าวว่า ขอสัญญากับประชาชน ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ 80 คน ทุกคนจะทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้อย่างเต็มความสามารถ สัญญาว่าจะไม่นำเงินภาษีของประชาชนเพื่อประโยชน์ส่วนตน ไม่มีการคอร์รัปชัน จะทำการเมืองที่ดี สร้างสรรค์ เปลี่ยนแปลงประเทศไทย เชื่อว่าไม่มี ส.ส.คนใดที่ไปยกมือสนับสนุนให้กับเผด็จการสืบทอดอำนาจ ยืนยันว่าไม่มีการให้ ส.ส.เซ็นใบลาออกล่วงหน้า
อนค.พยายามอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า พรรคอนาคตใหม่ยังยืนยันที่จะจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายธนาธรกล่าวว่า การลงนามร่วมกันหลังการเลือกตั้งนั้นเป็นการสร้างแนวร่วมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ส่วนการที่จะร่วมรัฐบาลกับใคร ยังอยู่ในขั้นตอนที่กำลังพูดคุยกันอยู่ ยังไม่มีข้อสรุป ที่สังคมปักใจเชื่อว่าพรรคพปชร.จะจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น ก็เป็นเรื่องที่เกินไป เพราะ พปชร.และพรรคที่เสนอ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เพียง 121 เสียงเท่านั้น ถ้าต้องการให้มีเสียงเกิน 250 เสียง พรรค พปชร.จะต้องรวมเสียงกับพรรคที่เหลือทั้งหมด การเจรจาต่อรองกับ 20 พรรคการเมืองไม่ได้เป็นเรื่องที่ง่าย ดังนั้นขอให้รอดูอีกสักพักเพราะทางพรรคอนาคตใหม่กำลังพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะยุติการสืบทอดอำนาจของ คสช. ยืนยันเราสามารถหยุดยั้งกลไก ส.ว.ได้ เพราะ 378 เสียงของส.ส.ย่อมเกินกึ่งหนึ่งของของรัฐสภา ส่วนใน 378 เสียงใครจะเป็นรัฐบาล ใครจะเป็นฝ่ายค้าน ก็ว่ากันไป
นายปิยบุตรกล่าวว่า ยืนยันว่ามีการทาบทามติดต่อตามข่าวจริง ซึ่งมี ส.ส.หลายท่านมาบอก และหากมีการทาบทามต่อเนื่อง และมีความพยายามที่จะใช้วิธีดึง ส.ส.จากพรรคอื่น เราอาจจะนำหลักฐานการทาบทามมาเปิดเผยให้เห็น แต่ยืนยันว่า ส.ส.ที่ถูกทาบทามทุกคนจะไม่ไปแน่นอน
ขณะที่นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ พร้อมด้วย ส.ส.ของพรรค เดินทางมารับหนังสือรับรอง ส.ส.จาก กกต. โดยนายสงครามให้สัมภาษณ์ว่า จุดยืนของพรรคยืนยันว่าสนับสนุนพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ส่วนพรรคการเมืองอีกฝ่ายอาจจะมีเข้ามาคุยกับคนอื่น แต่เราก็ยังยืนยันในจุดยืนเดิม
ยังมีความเคลื่อนไหวชิงหัวหน้าพรรค ปชป. โดยนายกรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้าพรรคปชป. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงประวัติผลงานการทำงานของตนเองทั้งภาคธุรกิจและเป็นอดีต รมว.คลัง ขอเป็นสะพานข้ามความขัดแย้ง ที่จะเชื่อมทุกคนไปสู่ก้าวใหม่ เดินหน้าต่อไปด้วยกัน พร้อมจะยกเครื่องพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นเครื่องมือในการทำงานให้แก่ประชาชน และเป็นตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศ
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตรองหัวหน้าพรรคปชป. กล่าวว่า เหตุผลที่ลงสมัครหัวหน้าพรรค เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง พร้อมเดินหน้าในฐานะผู้นำในการบริหารเปลี่ยนแปลงพรรค เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมยุคใหม่ และอยากช่วยสมาชิกทุกภูมิภาคในการทำหน้าที่เพื่อประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น รวมทั้งสร้างศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ใหม่ๆ ทั่วประเทศ
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข รักษาการกรรมการบริหารพรรค กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจมากที่พรรคประชาธิปัตย์ในปี 2562 มีผู้สมัครหัวหน้าพรรคและทีมที่มีคุณภาพทั้ง 4 คณะ และจะเป็นครั้งแรกของพรรคประชาธิปัตย์ที่สมาชิกซึ่งมีอำนาจการตัดสินใจลำบากใจในการจะเลือกมาก เพราะทั้ง 4 คนที่เสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรค มีคุณสมบัติความรู้ความสามารถด้วยกันทั้งหมด
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า อยากจะฝากผู้นำพรรคคนใหม่ นั่นคือพรรคประชาธิปัตย์ต้องกลับมายืนอยู่บนจุดแข็งของพรรค และแยกแยะปัญหาทางการเมืองของประเทศให้ได้ เชื่อมือในการแก้ปัญหาปากท้องของทุกๆ ท่านที่เป็นผู้เข้าชิง แต่การวิเคราะห์ปัญหาทางการเมืองต่างหากที่ยังวิเคราะห์ไม่ตรงกัน และไม่ตรงใจประชาชนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ถ้าแยกแยะปัญหาของประเทศผิด และยังถลำไปในทิศทางที่ผิดๆ อีก จบกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |