ขอทานเมืองจีนก็ใช้ QR Code!


เพิ่มเพื่อน    

           วันก่อนแฟนที่ติดตามรายการและคอลัมน์ประจำของผมท่านหนึ่งส่งรูปนี้มาให้ พร้อมข้อความว่า

                "ผมเพิ่งกลับจากกวางโจวครับ จำที่คุณสุทธิชัยเคยพูดในรายการว่าจีนเจริญมาก แม้แต่ขอทานยังใช้ QR Code ผมแอบสงสัยมานาน จนไปเจอจริงๆ ครับ เลยถ่ายรูปมาให้ดูครับ...."

                ใช่ครับ หลายๆ เมืองในจีนกลายเป็น "สังคมไร้เงินสด" หรือ cashless society อย่างจริงจัง เร็วกว่าจริงจังกว่าในอเมริกาและยุโรปด้วยซ้ำไป

                ใครไปเมืองจีนในช่วงหลังๆ นี้จะเห็นว่าคนจีนกับเทคโนโลยีกำลังจะลุยไปข้างหน้าด้วยกันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

                สี จิ้นผิงเคยประกาศเป็นนโยบายระดับชาติว่า ความรู้ความสามารถของจีนทางด้าน AI หรือปัญญาประดิษฐ์จะต้องแซงหน้าโลกตะวันตก (หมายถึงอเมริกาโดยเฉพาะ) ภายในห้าปีข้างหน้า

                ในแง่เทคโนโลยีอย่างเดียว สหรัฐฯ คงจะยังนำจีนอยู่ในด้านนี้ แต่ของจริงต้องพิสูจน์ด้วยการนำมาใช้ในธุรกิจและชีวิตประจำวันของชาวบ้าน

                ในแง่นี้จีนนำสหรัฐฯ ไปแล้วหลายขุม

                เดิมที่เคยเชื่อว่าจีนล้าหลังในเรื่องเทคโนโลยีและเก่งแต่การลอกเลียนหรือขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของคนอื่นเขา

                แต่วันนี้จีนก้าวกระโดดไปได้ไกลเกินกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจแล้ว

                เหตุผลสำคัญคือ แม้ว่าสหรัฐฯ และยุโรปจะนำหน้าในด้านการค้นคว้าวิจัยด้านเอไอ แต่จีนลัดขั้นตอนด้วยการเข้าสู่โหมดของการนำผลงานวิจัยมาทำเป็นธุรกิจ และก้าวข้ามขั้นตอนของการใช้ "ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน" มาใช้ข้อมูลมโหฬารหรือที่เรียกว่า Big Data เพื่อสร้างธุรกิจผ่านมือถืออย่างคึกคักคล่องแคล่ว

                จีนสร้างระบบเก็บข้อมูลส่วนบุคคลผ่าน social media อย่างเข้มข้นและกว้างขวาง เพราะคนจีนให้ความสนใจเรื่อง "สิทธิส่วนบุคคล" น้อยกว่าการได้สิทธิพิเศษด้านอื่นๆ จากบริการผ่านมือถือ

                คำว่า Big Data จึงมีความสำคัญสำหรับการขยายตัวด้านธุรกิจบนมือถือสำหรับจีน เพราะเขาวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างละเอียดและครบถ้วน

                ข้อมูลส่วนบุคคลของคนจีนที่ใช้ social media จึงกลายเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าที่สุด เพราะสามารถนำมาทำธุรกิจต่อยอดได้อย่างมากมาย

                ผมเคยถามแจ็ก หม่าแห่งอาลีบาบาว่า เขาใช้วิธีการใดในการตัดสินว่าคนขอกู้เงินผ่านมือถือควรจะได้รับอนุมัติหรือไม่

                แกตอบทันทีว่า Big Data กำหนดทุกอย่าง เพราะระบบเอไอสามารถประเมินได้ว่าผู้บริโภคคนใดมีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไร และมีประวัติส่วนตัวในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างไร

                ด้วยเทคโนโลยีที่ซื้อจากต่างประเทศและพัฒนาขึ้นเอง ธุรกิจยักษ์ด้านนี้ของจีนจะสามารถประเมินได้ค่อนข้างแม่นยำว่าใครมีความน่าเชื่อถือทางด้านเครดิตมากน้อยเพียงใด

                ผมถามว่าเขาต้องใช้พนักงานเท่าไหร่จึงจะทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ได้

                แกตอบว่า "ศูนย์"

                ผมถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แกบอกว่าเอไอทำหน้าที่ได้หมดโดยไม่ต้องมีมนุษย์มาเกี่ยวข้องเลย ผมถามว่าเอไอใช้เวลานานเท่าไหร่จึงจะวิเคราะห์ "ความน่าเชื่อถือ" และ "ความน่าจะเป็น" ของผู้ขอกู้เงินผ่านมือถือได้

                แกตอบว่า "ประมาณ 1 นาที ไม่เกินนั้น"

                เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้จีนล้ำหน้าสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ก็คือ การตัดสินใจของรัฐบาลใช้นโยบายส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาธุรกิจด้านดิจิตอลอย่างเต็มที่ ไม่เหมือนโลกตะวันตกที่รัฐบาลปล่อยให้เรื่องนี้เป็นบทบาทของเอกชนเสียส่วนใหญ่

                รัฐบาลจีนวางนโยบายเรื่องนี้ชัดเจน และเมื่อสั่งการจากรัฐบาลกลางแล้ว รัฐบาลท้องถิ่นทุกมณฑลก็แข่งกันดึงดูดนักลงทุนเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมกันสร้าง "สิ่งแวดล้อม" หรือ ecosystem ที่สอดคล้องกับการสร้างอุตสาหกรรมที่ทันสมัยใหม่ล่าสุดอย่างที่เห็นกัน

                ไทยเราต้องเรียนรู้อะไรอีกเท่าไหร่จึงจะเข้าสู่โหมดที่ "พอจะแข่งกับเขาได้"?

                เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"