ผุดขั้วที่3บีบ‘พปชร.’ ‘ภท.-ปชป.-ชทพ.’จับมือจี้คลายเก้าอี้กระทรวงหลักลั่นมีศักด์ิศรี


เพิ่มเพื่อน    

 “อุตตม” แจงยังอยู่ในขั้นตอนทาบทามพรรคการเมือง คาดไม่นานได้เห็นโฉมหน้าแน่ ปัดข่าวแย่งโควตารัฐมนตรี “สุริยะ” โอ่มีเสียงในมือ 245-255 สมศักดิ์สำทับ 11 พรรคเล็กซบอกแน่ สะพัด “ภท.-ปชป.” ไม่พอใจเก้าอี้ที่ถูกจัดสรรให้ ปูดจับมือสร้างขั้วที่ 3 หวังบีบคลายกระทรวงเศรษฐกิจทั้ง “คมนาคม-คลัง-เกษตรฯ” สาธิตยัวะข่าวให้ 6 ตำแหน่ง บอก ปชป.มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่โยนอะไรมาก็งับ หัวหน้าพรรคเล็กเรียงหน้าดัน “ลุงตู่” นั่งนายกฯ ต่อ ภูมิธรรมกัดฟัน ลั่น 7 พรรคยังมีเสียงมากที่สุด 245 เสียง “ส้มหวาน” ปลุกแคมเปญปิดสวิตช์ ส.ว. 

เมื่อวันพฤหัสบดี ประเด็นการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลยังคงมีความร้อนแรง หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรอง ส.ส.ทั้ง 2 บัญชีแล้วไม่ต่ำกว่า 95% โดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้แถลงถึงแนวทางจัดตั้งรัฐบาลว่า อยู่ระหว่างหารือ ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งการประสานงานกับพรรคต่างๆ ในการจัดตั้งรัฐบาลตนเอง และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคดำเนินการ ไม่ใช่ทหารที่มีบ้านพักย่านดินแดง (บ้านพัก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม) ตามกระแสข่าว 
นานอุตตมกล่าวต่อว่า รูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลมีหลายรูปแบบ อาจใช้วิธีโทร.หา เพราะรู้จักกันดีกับแกนนำพรรคการเมืองทั้งหลาย ซึ่งติดต่อไม่ยาก และที่ผ่านมาก็คุยกันต่อเนื่อง และวันนี้ก็ต้องคุยให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นที่จะมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้องมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยหรือไม่นั้น ในชั้นนี้เป็นเรื่องของพรรค แต่แน่นอน พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ถึงเวลาอันสมควรก็ไปว่ากันอีกที  
เมื่อถามถึงตัวเลขที่ พปชร.รวบรวมได้ 254 เสียงนั้น ข้อเท็จจริงเป็นเช่นใด นายอุตตมตอบว่า ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ ต้องรอให้ทุกอย่างยุติ จึงขอไม่พูดเรื่องตัวเลขขณะนี้ โดยขณะนี้ก็มีพูดคุยกับ 11 พรรคเล็กบางส่วน แต่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ เพราะยังไม่ได้ข้อยุติ แต่มั่นใจเช่นเดิมว่าจะพูดคุยเจรจากับพรรคที่ร่วมอุดมการณ์ และพรรคจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหากเป็นไปตามโรดแมป คาดว่าไม่นานก็จะได้เห็นโฉมหน้ารัฐบาล ส่วนจะภายในเดือน พ.ค.นี้ บอกไม่ได้ แต่ถ้าถามอยากให้จบมั้ย เชื่อว่าทุกคนคงอยากให้จบ 
ถามอีกว่า ต้องรอให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เลือกหัวหน้าพรรคเสร็จถึงจะพูดคุยเรื่องตั้งรัฐบาลใช่หรือไม่ นายอุตตมกล่าวว่า ต้องรอฟังผลอย่างเป็นทางการก่อน ส่วนกระแสข่าวว่าพรรค ปชป.กับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ไม่พอใจการจัดสรรโควตาที่พรรคคุมกระทรวงเศรษฐกิจไว้ทั้งหมดนั้น ยังไม่ได้เป็นถึงขั้นได้ข้อยุติ เพราะการรับรอง ส.ส.ของ กกต.เพิ่งเสร็จสิ้น และ ส.ส.ใหม่เพิ่งทยอยไปรายงานตัว จึงยังไม่มีการตกลงตามข่าวระบุ 
“เป็นเรื่องที่พรรคต้องหารือกันภายใน และหารือกับพรรคที่จะมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการแบ่งงานถือเป็นประเด็นสำคัญในการหารือ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะพรรคได้นำเสนอนโยบายหาเสียงกับพี่น้องประชาชนมาแล้วจนกระทั่งเลือกตั้งเสร็จสิ้น ดังนั้นขอยืนยันในหลักการว่าเรื่องเศรษฐกิจพรรคให้ความสำคัญ เพราะสัญญากับประชาชนไว้ และต้องขับเคลื่อนให้ได้ ส่วนรายละเอียดจะลงไปถึงระดับไหน ให้พรรคใด ยังคุยไม่ถึงตรงนั้น” นายอุตตมกล่าวถึง พปชร.ต้องเก็บกระทรวงเศรษฐกิจไว้กับตัวเองใช่หรือไม่ 
เมื่อถามถึงกระแสข่าว ปชป.ไม่พอใจการจัดสรรโควตาจึงเตรียมจับมือกับพรรค ภท.และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ตั้งรัฐบาลแข่งนั้น นายอุตตมกล่าวว่า ยังไม่ได้ยินข่าวนี้ และยังเชื่อว่าการดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคจะเดินต่อไป เพราะขณะนี้ยังไม่เห็นเงื่อนไขอะไรเลย ไม่มีการติดขัดเรื่องต่อรองตำแหน่งอะไรเลย เนื่องจากทุกพรรคที่คุยล้วนอยากให้ประเทศชาติเดินหน้า สามารถสร้างความเข้าใจร่วมกันว่าในการหารือก็คือพยายามให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ส่วนกรณีนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ออกมาระบุว่าพร้อมทำหน้าที่ประธานรัฐสภานั้น ยอมรับว่านายสุชาติมีศักยภาพอยู่แล้ว แต่จะเป็นแบบนั้นหรือไม่ ต้องหารือกันก่อนภายในพรรค ยังไม่ได้ข้อยุติ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. กล่าวว่า หลังจากที่ กกต.ประกาศตัวเลข ส.ส.อย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้เกิดความมั่นใจว่าฝ่ายที่จะพยายามจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่แรกมีตัวเลข ส.ส.ไม่ครบ 250 เสียง ดังนั้นจึงเป็นความชอบธรรมของพรรค พปชร.ที่จะขยับมาจัดตั้งรัฐบาล ถือเป็นความชอบธรรมที่ชัดเจนแล้ว ส่วนการเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำนั้น ที่ผ่านมาเคยมีรัฐบาลเสียงข้างมากก็อยู่ได้ไม่นาน แต่ถ้าเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำแล้วบริหารจัดการดีสามารถอยู่ได้ครบ 4 ปีก็มีอยู่มาก ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลอยู่ได้นาน   
เมื่อถามว่า การจัดสรรโควตารัฐมนตรีให้กับพรรคร่วมรัฐบาลที่มีจำนวนมากจะเกิดปัญหาหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่จัดตั้งรัฐบาลต้องแบ่งโควตารัฐมนตรีกัน ถ้าเอื้ออาทรกันดีๆ ก็อยู่ได้นาน  ส่วนเรื่องที่มีชื่อตนเองเป็นรัฐมนตรีนั้น เวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึง ขอให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อน ส่วนกระแสข่าวที่บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ คือนายสุชาติ ก็เชียร์ทุกคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม 
“พรรคการเมืองขนาดเล็ก 11 พรรค รวมถึงพรรคอื่นที่ไม่ร่วมลงสัตยาบันกับเพื่อไทยน่าจะร่วมกับพรรคพลังประชารัฐทั้งหมด ผู้ที่พูดคุยกับพรรคการเมืองได้เริ่มเดินหน้าไปได้ไกลแล้ว และการพูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยก็เป็นไปในทิศทางบวก” นายสมศักดิ์กล่าว 
โอ่ได้เสียงแล้ว 254-255
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  ประธานยุทธศาสตร์ภาคอีสาน พรรคพลังประชารัฐกล่าวว่า มั่นใจว่าพรรคเล็กๆ อยากมาร่วมงานกับพรรค ซึ่งตัวเลขการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเท่าที่ประเมินในเบื้องต้นมีประมาณ 254-255 เสียง
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร.ยืนยันว่า ในช่วงระยะเวลาอันใกล้จะจัดตั้งรัฐบาลได้ และมั่นใจว่าจะรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 251 เสียง ส่วนการทาบทามพรรค ปชป.มาร่วมรัฐบาลนั้น เราต้องให้เกียรติ เพราะ ปชป.มีวัฒนธรรมและแนวทางการทำงานเป็นตัวของตัวเอง เป็นสถาบันทางการเมือง
“แนวทางการทำงาน แนวคิด และคนพรรคประชาธิปัตย์พูดหลายครั้งว่าไม่มีแนวทางไปร่วมกับพรรคเพื่อไทย ดังนั้นก็คิดว่ามีความเป็นไปได้ว่าการทำงานร่วมกันระหว่างพรรค พปชร.และ ปชป.จะเป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกัน แต่สุดท้ายก็ต้องรอการตัดสินใจของ ปชป.” นายพุทธิพงษ์กล่าว
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรค พปชร.กล่าวว่า เชื่อว่าผู้ใหญ่ภายในพรรคน่าจะทาบทามพรรคเล็กๆ มาร่วมรัฐบาลกับพรรคเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การใช้งูเห่าจากพรรคการเมืองอื่นๆ อาทิ พรรคเพื่อชาติและพรรคอนาคตใหม่คงไม่จำเป็น เป็นเพียงการสร้างวาทกรรมทางการเมืองเท่านั้น
มีรายงานถึงความคืบหน้าในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลของพรรค พปชร. โดยแหล่งข่าวจาก พปชร.ระบุว่า เป็นไปได้สูงที่พรรคจะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ยังมีข้อกังวลที่พรรค ปชป.ยังไม่มีหัวหน้าพรรค ซึ่งต้องจับตาว่า ปชป.จะมีมติออกมาอย่างไร รวมถึงคะแนนเสียง ส.ส. 52 เสียงนั้น จะมีเอกภาพโหวตไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่
นอกจากนี้ มีรายงานว่า พปชร.ได้จัดสรรโควตารัฐมนตรีในส่วนตัวเองไว้ 13-15 ที่นั่ง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 4 อดีตรัฐมนตรีที่เป็นแกนนำพรรค พปชร., กลุ่มอดีตแกนนำ กปปส. 2 เก้าอี้, กลุ่มสามมิตรได้โควตา 4 ตำแหน่ง โดยเฉพาะแกนนำ และเป็นไปได้ว่านายอิทธิพล คุณปลื้ม ผู้อำนวยการพรรค, นายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็มีชื่ออยู่ในข่ายเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ในส่วนของโควตารัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีทั้ง พล.อ.ประวิตร, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.ประยุทธ์ 
ขณะที่พรรค ภท. อาจได้รับการจัดสรรโควตารัฐมนตรี 7 ตำแหน่ง แต่ยังไม่ลงตัวในการเจรจากระทรวงใหญ่ ในข้อเสนอ พปชร.ที่ต้องการเก็บกระทรวงเกรดเอและกระทรวงเศรษฐกิจไว้พรรคการเมืองเดียว โดย ภท.ต้องการมหาดไทย คมนาคม และสาธารณสุข เป็นต้น ส่วน ปชป.เองก็ต้องการกระทรวงเศรษฐกิจเช่นกัน ขณะที่พรรค ชทพ.นั้นต้องการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ที่ได้จับมือกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ยังคงพยายามรวบรวมเสียงพรรคการเมืองขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาขอกระทรวงพลังงาน
มีรายงานอีกว่า นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรค ภท. ได้ต่อสายพูดคุยกับนายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรค ชทพ. เพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกับ พปชร.ใหม่ หลังจากไม่พอใจโควตาที่ได้รับ โดยต้องการกระทรวงคมนาคม แต่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลไม่สามารถให้ได้ เพราะเกรงรัฐบาลถูกมองเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากแกนนำพรรคมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ ซึ่งได้สัมปทานรัฐหลายโครงการ
“นายวราวุธไม่ได้รับปาก เพราะได้ดีลกับแกนนำรัฐบาลปัจจุบันโดยตรงมาตลอดตั้งแต่ต้น และขณะเรื่องนี้ทำให้แกนนำรัฐบาลและ พปชร.หนักใจไม่น้อย เพราะต้องการให้รัฐบาลใหม่ที่มีภาพลักษณ์ที่ดี”รายงานระบุ
นายราเมศ รัตนะเชวง รักษาการกรรมการบริหารพรรค ปชป. กล่าวถึงการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร. ว่าตามข้อบังคับพรรคข้อ 96 ต้องเป็นมติของที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. ซึ่งแน่นอนว่าในวันที่ 15 พ.ค. เมื่อมีหัวหน้าพรรคแล้วสามารถเรียกประชุมได้เลย 
ลั่น“ปชป.”มีศักดิ์ศรี
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายกรณ์ จาติกวณิช, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และนายอภิรักษ์ เกษะโยธิน 3 แคนดิเดตหัวหน้าพรรค มีความเห็นว่าการเข้าร่วมรัฐบาลไม่ใช่เพื่อต้องการตำแหน่งหรืออะไร แต่มองว่าหากเข้าร่วมต้องมีเงื่อนไขว่าพรรคจะสามารถนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปเป็นประโยชน์อย่างไร ซึ่งนายอภิรักษ์และนายพีระพันธุ์พูดตรงกันว่าหากได้เป็นหัวหน้าและเข้าร่วมรัฐบาล ก็จะไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ และหากพรรคไม่เข้าร่วมรัฐบาล ก็ต้องมาดูถึงการฟื้นฟูพรรค
“ข่าวที่ว่าพรรค พปชร.จะให้ตำแหน่งรัฐมนตรีถึง 6 ตำแหน่งให้พรรคนั้น เป็นการสร้างข่าวออกมามากกว่า เพราะพรรคก็มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่เขาโยนอะไรมาก็งับ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีศักดิ์ศรี” นายสาทิตย์กล่าว 
แหล่งข่าวจาก ปชป.กล่าวถึงกระแสข่าวได้ 6 เก้าอี้ว่า แกนนำพรรคแปลกใจกับข่าวที่เกิดขึ้น และอยากเรียกร้องให้เจ้าของพรรคตัวจริงคือ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรมาเปิดโต๊ะเจรจากับแกนนำพรรคการเมืองต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข่าวโดยตรง และขณะนี้พรรคก็ยังไม่ได้คุยกับแกนนำ พปชร.ตัวจริง เพราะจะคุยเรื่องเหล่านี้ภายหลังคัดเลือกหัวหน้าพรรคแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พ.ค.ก่อน
“ไม่เห็นด้วยกับที่ พปชร.จะเก็บกระทรวงเศรษฐกิจไว้ทั้งหมด เพราะจะกระทบต่อความเชื่อมั่นจากประชาชนต่อรัฐบาลในอนาคต และยังเปิดช่องให้ถูกโจมตีจากฝ่ายการเมืองฝั่งตรงข้าม เพราะเวลาการบริหารงานของรัฐบาล คสช. 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าประชาชนระดับล่างและกลางได้รับความยากจนเป็นวงกว้าง หาก พปชร.ไม่ยอมคลายกระทรวงเศรษฐกิจเหล่านี้ให้พรรคการเมืองต่างๆ อาจเกิดปัญหา และพรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่สามารถดำเนินนโยบายที่ประกาศไว้ตอนหาเสียงกับประชาชนได้” รายงานข่าวระบุและว่า สูตรจัดตั้งรัฐบาลที่ปล่อยออกมา ก็ไม่ถูกต้องทั้งหลักการและประเพณีปฏิบัติ เพราะ พปชร.มีเสียงเพียง 115 เสียง แต่ยึดกระทรวงหลักไว้ทั้งหมด  แตกต่างจากสมัยพรรค ปชป.ในปี 2552 ที่เสียงในมือมากถึง 163 เสียง ยังใจถึงมอบเก้าอี้สำคัญให้พรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่าหาก พปชร.ยังไม่ยอมคลายกระทรวงสำคัญ พรรค ปชป. 52 เสียง,   พรรค ภท. 51 เสียง และพรรค ชทพ. 10 เสียง รวม 113 เสียง จะอาสาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเป็นขั้วที่ 3 ไปเชิญชวนพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับ พปชร. และพรรคเพื่อไทย รวมทั้งยังถือเป็นสูตรการเมืองขั้วที่ 3 ที่ไม่มีความขัดแย้งกับใคร และเปิดกว้างการร่วมรัฐบาลกับทุกฝ่าย ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการยอมรับจากพรรคการเมืองต่างๆ และถือเป็นอีกหนึ่งทางออกของประเทศได้อีกด้วย
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท.โพสต์เฟซบุ๊กสั้นๆ ว่า ขอเรียนว่ายังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลและแบ่งกระทรวง พรรคภูมิใจไทยกำลังฟังเสียงประชาชน
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ชทพ.กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน จะมีการคุยกันในวันที่ 14 พ.ค.นี้ แต่สถานการณ์ตอนนี้ต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง ร่วมแรงปฏิรูปประเทศ เวลาตัดสินใจแต่ละครั้ง ไม่ได้มองว่าเอาตำแหน่งโน้นตำแหน่งนี้มาแลก เราเป็นกลางตั้งแต่ก้าวแรกที่เราเดินแล้ว 
พรรคเล็กแห่ซบ พปชร.
สำหรับบรรดาความเห็นของพรรคเล็กๆ นั้น นายชัชวาลย์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท กล่าวว่า เราเอาสถาบันเป็นหลัก ตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้มาดูแลสยามรัฐก็มีหน้าในหลวงมาตลอด ถ้าใครดูแลสถาบันและปกป้องสถาบันเราก็ยืนข้างนั้น 
เมื่อถามว่า จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ใช่หรือไม่ นายชัชวาลย์กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องไปร่วม แต่อะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติก็ต้องทำ ส่วนจะโหวต พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ใช่หรือไม่นั้น ถ้าเสนอมาตามระเบียบเราก็โอเค ไม่มีลูกเล่นอะไร อะไรดีก็ทำ  อะไรไม่ดีก็ไม่ทำ 
ถามอีกว่า พรรค พปชร.มีการประสานมาหรือไม่ นายชัชวาลย์ตอบว่า มีมาแล้ว แต่เราเฉยๆ ส่วนการรวมตัวกับพรรคเล็กเพื่อมีพลังในการขับเคลื่อนทางการเมืองในอนาคตหรือไม่นั้น อะไรที่ดีกับประเทศชาติ ยกมือให้ เราไม่จำเป็นต้องมีกลุ่มก้อนเพื่อต่อรองใคร การทำให้ประเทศชาติไม่ต้องต่อรองใคร
เมื่อถามว่า เท่ากับพลังท้องถิ่นไทเป็นรัฐบาลกับ พปชร.ได้แล้วใช่หรือไม่ นายชัชวาลย์กล่าวว่า คิดว่าอย่างนั้น แต่ไม่ต้องคุยอะไรกัน เรามีจุดยืนและปณิธานของเรา อะไรที่ประเทศไปได้ เราทำหมด จะมีหรือไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่สน ไม่จำเป็น 
นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่กล่าวในเรื่องนี้ว่า ยังตอบไม่ได้ ต้องรอกรรมการบริหารพรรคหารือกับสมาชิกทั่วประเทศ คาดว่าจะได้ความชัดเจนในวันสองวันนี้ ว่าจะให้เราอยู่ฝ่ายใด 
ด้านนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า จะมีการหารือเพื่อสรุปแนวทางการร่วมจัดตั้งรัฐบาล แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานจากพรรค พปชร.เพื่อร่วมรัฐบาล
นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ กล่าวว่า พรรคจะไม่ไปรวมกับพรรคเล็กพรรคอื่นๆ แม้จะพยายามติดต่อให้พรรคไปรวมกลุ่มด้วย จุดยืนที่แน่นอนของพรรคคือจะไปร่วมกับฝั่งที่เป็นรัฐบาลแน่นอน ไม่เกี่ยงว่าฝ่ายใดได้เป็นรัฐบาล เรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีแล้วแต่ว่าจะได้รับหรือไม่ ถ้าให้ก็พร้อมรับตำแหน่ง
นายพิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย กล่าวว่า ขณะนี้พรรคเล็กรวมกลุ่มกันได้ 10 พรรคแล้ว มี 10 เสียงจะไปไหนไปกัน ให้เกิดพลังในการต่อรอง ซึ่งเท่าที่คุยกันเบื้องต้น 10 พรรคเล็ก จะไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกครั้ง และเราไม่ยื่นเงื่อนไขต่อรองตำแหน่งใดๆ ในการร่วมรัฐบาล แต่ก็มีความสนใจเกี่ยวกับด้านแรงงานอยากเข้าไปแก้ไขปัญหาตรงนี้
ส่วนความเคลื่อนไหวของซีกพรรคเพื่อไทยนั้น นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค พท. กล่าวว่า ขณะนี้คะแนนออกมาเป็น 3 กลุ่ม ฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจ 245 เสียง ฝ่ายสนับสนุนสืบทอดอำนาจ 138 เสียง และยังมีพรรคที่ไม่ประกาศตัวชัดเจนคือ พรรค ปชป., ภท., ชพน. และ ชทพ. ซึ่งมีคะแนนรวมกันประมาณ 116 เสียง และหากตีความว่าพรรค ปชป.และ ภท.ซึ่งเคยประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ในการสืบทอดอำนาจด้วยแล้ว ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่ พปชร.จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 
“ขณะนี้ยังไม่มีอะไรบอก 100% ว่า พปชร.รวมเสียงได้เกิน 250 เสียง จนกว่าตัวแทนของพรรคการเมืองทุกพรรคประกาศตัวยืนอยู่ข้าง ตอนนี้จึงอยากทราบว่าพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยที่เคยประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจ วันนี้ยังยืนยันเช่นนั้นหรือไม่ ทุกอย่างจะได้ชัดเจน ตอนนี้ไม่ถือว่าเราแพ้ เพราะตอนนี้ยังไม่มีใครรวมเสียงได้เกินครึ่ง 245 วันนี้เรายังเป็นฝ่ายที่รวมเสียงได้มากที่สุด” นายภูมิธรรมกล่าว
ปลุกปิดสวิตช์“ส.ว.”
นายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า จุดยืนทางการเมืองพรรคยังยืนยันเหมือนเดิม ยืนอยู่ในฝั่งประชาธิปไตย ทั้ง 5 คนเอาไงเอากัน ไปไหนไปกัน และหากจะตัดสินใจทางการเมืองคงต้องพูดคุยกันระหว่างแกนนำของพรรคอีกครั้ง
น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า พรรคพร้อมเป็นตัวกลางในการเปิดโต๊ะเจรจากรณีปิดสวิตช์ ส.ว. เนื่องจากตั้งแต่ก่อนการประกาศรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างเป็นทางการ ก็มีการหารือกับหลายพรรคการเมืองอย่างไม่เป็นทางการ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะไม่ทราบว่าแต่ละพรรคมีคะแนนเท่าไหร่ แต่เมื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคย้ำว่าตั้งแต่วันนี้จะปิดสวิตช์ ส.ว. แสดงว่าขณะนี้โต๊ะเจรจาเปิด พร้อมที่จะเจรจา โดยการเจรจานี้เป็นคนละเรื่องกับการจัดตั้งรัฐบาล เพราะการจัดตั้งรัฐบาลพรรคให้เกียรติพรรคเพื่อไทย ในการเป็นแกนนำเจรจา ส่วนการปิดสวิตซ์ ส.ว. พรรคขอทวงถามถึงพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ใช่แค่ 7 พรรคที่ร่วมลงสัตยาบัน แต่มีอย่างน้อยอีก 2 พรรค คือพรรค ภท. และพรรค ปชป.ที่ได้ให้สัญญากับประชาชนว่าจะต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. หากมีความพร้อมก็จะเดินหน้าเจรจาทันที โดยคาดว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์นี้
          วันเดียวกัน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้จัดเสวนา “แสงสว่างการเมืองไทย ทางเลือกประชาชน ยุคเปลี่ยนผ่านเผด็จการสู่ประชาธิปไตย” โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่า การเมืองไทยวันนี้อยู่ในสภาพที่เรียกว่าสว่างจนมองไม่เห็น เพราะการเลือกตั้งไม่ว่าจะเลือกใครก็ตามก็จะได้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ยิ่งกว่าหวยล็อก แต่จากนี้จะเจอวิบากกรรม เพราะไม่มีมาตรา 44 จะถูกอภิปรายแบบเปิดเปลือย โดยเฉพาะสิ่งต่างๆ ที่เคยทำงานตลอด 5 ปี
          "เส้นทางเดินของ พล.อ.ประยุทธ์รอบนี้แค่ 3 เดือนก็เหนื่อยมาก 6 เดือน คือหมดสภาพ ถ้าเป็นผมจะยุติบทบาทตอนที่ยังมีเสื้อผ้า เขามาตอนแรกเหมือนอัศวินม้าขาว แต่ตอนกลับลาขาวยังเป็นไม่ได้ ดังนั้นเมื่ออยากเป็นแบบนี้ก็เชิญเลย ผมก็อยากเห็นเหมือนกัน” นายจตุพรกล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"