9 พ.ค.62 - นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตสมาชิกวุฒิสภ เผยแพร่บทความเรื่อง "รับขวัญพันธมิตร คืนสู่อิสรภาพ" ผ่าน www.thaipost.net โดยมีเนื้อหาดังนี้
พรฎ. กฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ และเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระราชทานแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งปวงทั้งผู้ที่ได้รับการลดโทษและได้รับการปล่อยตัว
ในที่นี้ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จำนวน 5 คน ประกอบด้วย พลตรีจำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสุริยะใส กตะศิลา ที่ได้รับการปล่อยตัว ส่วนนายสนธิ ลิ้มทองกุล ยังติดค้างคดีอื่นอยู่จึงเป็นบุคคลที่จะยังไม่ถูกปล่อยตัว เป็นคดีที่ศาลฎีกาสั่งจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญาในคดีบุกรุกสถานที่ราชการ และทำลายทรัพย์สินราชการเสียหาย ในปี 2551
แกนนำพันธมิตรทั้ง 6 คน ( รวมทั้งนายสนธิ ลิ้มทองกุล ด้วย ) น้อมรับคำพิพากษาของศาลฎีกาอย่างไม่มีเงื่อนไข ถึงแม้จะคาดหวัง การลงโทษและการรอลงอาญา แต่เมื่อศาลตัดสินเช่นนั้น ทั้ง 6 คน ต้อนรับด้วยดุษณีภาพ เดินเข้าประตูเรือนจำอย่างสง่าผ่าเผย ไม่หนีคดี ไม่บิดพลิ้ว ไม่โวยวาย ไม่กล่าวโทษใครอื่น ไม่ทำแบบนักโทษหนีอาญาแผ่นดิน ที่ปราศจากความรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเอง ต่อคนอื่นและต่อบ้านเมือง
เมื่อหันไปทบทวนเหตุการณ์ การชุมนุมขับไล่ระบอบทักษิณ ที่เริ่มมาตั้งแต่ ปี 2548 โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นโทรคมนาคมอันเป็นกิจการความมั่นคงของชาติ ทำให้กลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์เข้ามาซื้อหุ้นชินคอร์ปทั้งหมดของตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์มูลค่า 73,000 ล้านบาท เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่ฉกรรจ์กว่าเรื่องการไม่เสียภาษี ผนวกกับความฉ้อฉลในอีกหลายกรณี ทำให้เกิดการชุมนุมจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ณ บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ข้างทำเนียบรัฐบาลนั่นเอง
ในเวลานั้น ข่าวและภาพปรากฏชัดว่ารัฐบาลตัวแทนของระบอบทักษิณ คือรัฐบาล สมัครสุนทรเวช ต่อเนื่องมาเป็นรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เกิดการยิงระเบิดและยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ที่ชุมนุม แทบไม่เว้นแต่ละวันโดยเจ้าหน้าที่ของทางการกระทำอะไรไม่ได้
เพื่อรักษาชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชน ให้ปลอดภัยจากระเบิดและแก๊สน้ำตา จึงมีการเคลื่อนย้ายเวทีชุมนุมเข้าไปในบริเวณทำเนียบรัฐบาล โดยหันหน้าเวทีเข้าตึกไทยคู่ฟ้า และหันหลังเวทีให้คลองผดุงกรุงเกษม ความคาดหวังคือ คิดว่าทำเนียบรัฐบาลมีรั้วรอบขอบชิด มีคลองกั้นไว้ด้านหนึ่ง มีอาคารในทำเนียบที่เป็นปราการป้องกันแก๊สน้ำตาและระเบิดได้ การย้ายเวทีจึงเป็นการจัดการเพื่อความปลอดภัยของประชาชนสถานเดียว
นึกภาพดูว่าหากไม่มีการย้ายเวที ผู้คนที่มาชุมนุมอาจบาดเจ็บล้มตายมากกว่านั้นก็เป็นได้
อนึ่ง ในคดีที่เกี่ยวโยงกัน คือ คดีปิดล้อมรัฐสภา ที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล และแกนนำพันธมิตรฯ รวม 21 คน โจทก์ฟ้องจำเลยว่าใช้กำลังขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
เมื่อ 4 มีนาคม 2562 นี้เอง ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 21 คน โดยความตอนหนึ่ง ศาลระบุว่า “ ศาลพิเคราะห์ พยานหลักฐานที่นำสืบของคู่ความทั้งสองแล้ว เห็นว่าการที่แกนนำปราศรัยให้ประชาชนมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) เป็นการปราศรัยให้ความรู้ต่อประชาชน ในการตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาลและกรณีที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค รวมถึงคดีที่ทำให้กัมพูชาได้ขึ้นทะเบียน
เขาพระวิหารเป็นมรดกโลก อีกทั้งการชุมนุมของจำเลยทั้ง 21 เป็นการชุมนุมแสดงสัญลักษณ์ มีการปราศรัยที่สมเหตุผล ห้ามปรามไม่ให้ก่อความรุนแรง ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 63 ได้รองรับไว้ และแม้จะมีการกีดขวางกระทบการจราจรไปบ้าง แต่ก็เป็นปกติของการชุมนุมแสดงออกตามสิทธิ การชุมนุมตั้งแต่ วันที่ 5-7 ต.ค. ไม่ปรากฏว่ามีความรุนแรงหรือมีผู้ใดฝ่าฝืนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย
ส่วนกรณีความวุ่นวายในการชุมนุมช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค. 2551 ศาลระบุว่า เริ่มจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมเปิดทางให้นายสมชาย เข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยพลันด่วน ทำให้ผู้ชุมนุมซึ่งไม่ทันตั้งตัวและได้รับบาดเจ็บความเสียหายไม่สามารถระงับอารมณ์ ขว้างปาขวดน้ำสิ่งของโต้ตอบ กรณีเป็นความวุ่นวายที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ ไม่ใช่ว่าการชุมนุมที่ผ่านมาของกลุ่มจำเลยก่อนหน้านั้นจะไม่สงบ
นอกจากนี้ ศาลยังระบุว่า อีกทั้งเหตุการณ์อื่นตามฟ้องของอัยการก็ไม่ปรากฏว่า มีแกนนำไปอยู่บริเวณที่เกิดเหตุที่จะเกี่ยวข้อง และเป็นผลต่อเนื่องจากการที่ผู้ชุมนุมถูกสลายการชุมนุมเมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค. การกระทำของจำเลยทั้ง 21 จึงเป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญพิพากษายกฟ้อง ”
คดีพันธมิตรฯ ทั้งสองคดีนี้ทำให้นึกถึงพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานให้แก่ เนติบัณฑิตยสภาสมัยที่ 33 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2554 ซึ่งมีข้อความ
สำคัญว่า
“ กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรมไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแต่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย......”
จึงขอต้อนรับและรับขวัญแกนนำพันธมิตรทั้ง 5 คน ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้ด้วยความยินดียิ่ง
ความหาญกล้าทางจริยธรรมของแกนนำพันธมิตรฯ ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ตนเองเลย แต่เป็นการกระทำเพื่อให้ประเทศชาติอยู่รอดปลอดภัยจากระบอบทักษิณอันฉ้อฉลโดยแท้.
ประสาร มฤคพิทักษ์
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |