รายชื่อวุฒิสภา หรือ ส.ว. 250 คน ที่ออกปรากฏเป็นข่าว ส่วนใหญ่มาจากอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), อดีตข้าราชการพลเรือน, อดีตข้าราชการทหาร, อดีตข้าราชการตำรวจ และตัวแทนภาคส่วนต่างๆ
หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี เพราะทำงานอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอดีต ส.ว. ที่กลายสภาพมาเป็นอดีตสมาชิก สนช. สปช. และ สปท. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหากได้ดำรงตำแหน่ง ส.ว.อีก 5 สมัย จะทำให้บางคนทำงานอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัตินานกว่านักเลือกตั้ง หรือ ส.ส.บางคนอีก
ลำพังหากนับรวมตอนเป็นสมาชิก สนช. ตั้งแต่ปี 2557 และจะบวกอีก 5 ปีต่อจากนี้ จะทำให้บางคนอยู่ยาวในฝ่ายนิติบัญญัติ 10 ปีเต็มๆ เช่น พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร, พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย ที่เคยเป็น ส.ว.กทม. ก่อนหมดวาระไป และได้รับการแต่งตั้งมาเป็นสมาชิก สนช.ในยุคนี้
แต่ยังมีอีกหลายคน หากได้เป็น ส.ว.จะอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติยาวนานกว่า 10 ปี โดยกลุ่มนี้จะเป็นพวกที่เคยเป็น ส.ว.มาก่อน กระทั่งเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิก สนช. และสมาชิก สปช. และ สปท.ต่อ เช่น นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 ซึ่งเคยเป็น ส.ว.อุตรดิตถ์ ในเดือนมีนาคม 2557
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ที่เป็น ส.ว.สรรหา มาตั้งแต่ปี 2554, พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง อดีต ส.ว.สรรหา ปี 2554, พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีตสมาชิก สปช. และ สปท. ที่เคยเป็น ส.ว.สรรหา มาตั้งแต่ปี 2554, นายบุญชัย โชควัฒนา อดีต ส.ว.สรรหา ปี 2554
ขณะที่หลายคน ถ้าได้เป็น ส.ว.จะอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติเกิน 15 ปี เช่น นายมณเฑียร บุญตัน ที่เป็น ส.ว.สรรหา มาตั้งแต่ปี 2550 และได้รับการสรรหาเป็น ส.ว.สมัยที่ 2 ในปี 2554 แล้วเปลี่ยนมาเป็นสมาชิก สนช. ในปี 2557 ซึ่งหากได้เป็น ส.ว.อีกครั้ง จะทำให้อยู่ในสภานานถึง 17 ปี
ใกล้เคียงกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 2 ซึ่งได้รับการสรรหาเป็น ส.ว.ในปี 2551 และได้รับการสรรหาให้เป็น ส.ว.สมัยที่ 2 ในปี 2554 ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สนช.ในปี 2557 หากเป็น ส.ว.อีกครั้ง จะอยู่ยาวในสภายาวนานถึง 16 ปี หรือหากนับรวมตอนเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี 2550 บวกเข้าไปด้วย จะมีระยะเวลาเท่ากับนายมณเฑียรคือ 17 ปี
แต่ยังพบว่า มีที่ยาวนานกว่านั้นหากได้รับแต่งตั้งให้เป็น ส.ว.อีก โดยมีถึง 3 คน ที่เคยเป็นอดีตสมาชิก สนช.ในปี 2549 หรือเมื่อครั้งรัฐประหาร 19 กันยายน 2559 ก่อนได้รับการสรรหาเป็น ส.ว.ในเวลาต่อมา ลากยาวมาจนเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และได้เป็นสมาชิก สนช.อีกครั้ง
คนแรกคือ นายตวง อันทะไชย ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สนช. จากภาคการพัฒนาท้องถิ่น การส่งเสริมคุณธรรม องค์กรแรงงาน องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ ในปี 2549 ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะได้รับการสรรหาให้เป็น ส.ว. กระทั่งมีการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สนช.หนที่ 2 และกำลังจะได้เป็น ส.ว.อีกครั้ง เท่ากับว่าจะอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติมากถึง 19 ปี
เช่นเดียวกับ นายสมชาย แสวงการ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิก สนช.จากภาคสื่อสารมวลชน นักเขียน ศิลปิน ในปี 2549 ก่อนได้รับสรรหาให้เป็น ส.ว.ยาวมาแบบเดียวกับเส้นทางของนายตวง อีกคนคือ นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิก สนช.ด้านสื่อสารมวลชน นักเขียน ศิลปิน ในปี 2549 ที่ได้รับการสรรหาเป็น ส.ว.หลังจากนั้นเรื่อยมาจนถึงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิก สนช.ในครั้งนี้ แต่ก็เป็นสมาชิก สปช. สปท. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ
ทั้งหมดนี้ถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก มากกว่านักเลือกตั้งอาชีพ อดีต ส.ส.บางคน ที่ยังหมุนเวียนสลับหน้ากันเข้าสภาฯ ชนะเลือกตั้งบ้าง สอบตกบ้าง แต่พวกเขาเหล่านี้ แม้ไม่ใช่นักเลือกตั้ง แต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ แต่อยู่ยาวจนถูกยกให้เป็น “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” แล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |