เมื่อสี จิ้นผิงสรุปผลการประชุม Belt & Road Initiative (BRI) ที่ปักกิ่งเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ในฐานะเจ้าภาพของ "ความริเริ่มหนึ่งถนนหนึ่งวงแหวน" นักวิเคราะห์บางคนฟันธงว่าจีนได้ผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของโลกแทนสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้ว
แต่ก็มีนักวิเคราะห์อีกค่ายหนึ่งที่ส่งสัญญาณเตือนว่า ปักกิ่งกำลังจะสร้างอิทธิพลเหนือประเทศต่าง ๆ ด้วยการให้เงินกู้เพื่อร่วมสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมกับ BRI ของจีน
กลายเป็น "กับดักหนี้" หรือ debt trap ที่จะทำให้หลายประเทศกลายเป็น "ลูกหนี้" ของจีน และต้องยอมอ่อนข้อต่อเงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของจีน
ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์กำลังพาสหรัฐฯ ออกจากสถานภาพของการเป็นผู้นำโลกเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จีนก็กำลังเล่นบทเข้ามา "ถมช่องว่าง" ที่วอชิงตันทิ้งเอาไว้
เมื่อทรัมป์ประกาศนโยบาย Make America Great Again ก็เท่ากับเปิดทางให้จีนเข้ามาสวมบทบาทของการเป็นพี่ใหญ่ในเวทีระหว่างประเทศ
เพราะจีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิงเปิดประตูของจีนออกไปสู่โลกด้วยนโยบาย "มุ่งสู่นอกประเทศ"
ทำให้นักวิเคราะห์บางคนเรียกนโยบายของทรัมป์ว่าเป็นการ Make China Great Again โดยไม่ได้ตั้งใจ
พอจีนสรุปยอดเงินโครงการที่ลงนามในการประชุม "หนึ่งถนน-หนึ่งวงแหวน" หลังการประชุมที่ปักกิ่ง โดยมีผู้นำจาก 38 ประเทศมาร่วม (รวมทั้งนายกฯ จากประเทศไทย) และตัวแทนจากทั้งหมด 150 ประเทศมาแสดงความพร้อมที่จะจับมือกับจีน ก็จะเห็นตัวเลขที่น่าตื่นตาตื่นใจพอสมควร
ณ ที่ประชุมเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศว่ามีการลงนามการลงทุนหลายโครงการ มูลค่ารวมกว่า 6 หมื่น 4 พันล้านดอลลาร์
ผู้นำจีนต้องการยืนยันโครงการภายใต้ BRI จะนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน
สีตอกย้ำว่า BRI คือแนวคิดที่จะให้มีการเกิด "เส้นทางสายไหม" ยุคใหม่ที่เชื่อมเอเชียและยุโรป จะเป็นโครงการพัฒนาที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มิใช่แนวทางที่จะทำให้จีน "ครอบงำ" ประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างที่มีเสียงวิพากษ์จากบางประเทศ
สียืนยันว่าประเทศที่จะมาร่วมเป็น "หุ้นส่วน" ในโครงการนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ผู้นำจีนกล่าวในสุนทรพจน์ปิดประชุมด้วยการสำทับว่า "ความร่วมมือของประเทศต่างๆ จะนำมาซึ่งคุณภาพที่ดีและอนาคตที่สดใสยิ่งขึ้น"
โครงการต่างๆ ภายใต้ BRI กระจายไปในหลายส่วนของโลก เช่น เอเชีย ยุโรป แอฟริกา โอเชียเนีย และในประเทศแอฟริกาใต้ โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.67 ล้านล้านดอลลาร์
แรกเริ่มเมื่อกรอบการพัฒนา "หนึ่งถนนหนึ่งวงแหวน" เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อนนั้น ความคลางแคลงสงสัยเกิดจากโลกตะวันตกที่มองว่าประเทศที่เข้าร่วมจะต้องควักกระเป๋าออกมาด้วยเงินลงทุนและเงินกู้ค่อนข้างสูง โดยที่ยังไม่อาจประเมินได้ว่าประโยชน์ที่แท้จริงจะมาจากไหน
นอกจากนั้นประเทศตะวันตกบางประเทศมองว่า โครงการนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งของจีนในการแผ่ขยายอิทธิพลไปสู่ส่วนต่างๆ ของโลก และเพิ่มภาระหนี้ที่เกินกำลังประเทศยากจนที่จะสานต่อโครงการอย่างยั่งยืน
แต่จีนก็ใช้เวทีการประชุมนี้ประกาศว่าจะสร้างกรอบการทำงานสำหรับการกู้ยืมเพื่อโครงการภายใต้ BRI ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน "เพื่อป้องกันและหาทางออกให้ความเสี่ยงที่เกิดจากหนี้"
แน่นอนว่าคำประกาศของจีนอย่างนี้ ย่อมถูกมองว่าเป็นความพยายามลดความกังวลจากประเทศต่างๆ ไม่ให้เห็นภาพของจีนเป็น "ยักษ์สมัยใหม่" ที่จะคอยกลืนกินประเทศที่อ่อนแอหรือยากจนกว่าตน
นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายมากกว่าแค่เรื่องการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพราะจีนน่าจะต้องการใช้เวทีดังกล่าวแสดงถึงอิทธิพลของจีนในระดับนานาประเทศมากกว่า
แต่ทางการจีนก็ยืนยันมาตลอดว่า BRI ไม่ได้มีจุดประสงค์ด้านการเมืองแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน-หวางอี้ออกมาย้ำอีกว่า โครงการหนึ่งถนนหนึ่งวงแหวนไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่เป็นการสร้างพื้นที่ให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ
ส่วนใหญ่ของโครงการภายใต้ BRI กำลังดำเนินไปตามแผน แต่บางครั้งเช่นในประเทศมาเลเซียและมัลดีฟส์ โครงการเกิดสะดุดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลในประเทศ
หน่วยงานรัฐของจีนออกข่าวว่าองค์กรต่างๆ อย่างน้อย 17 แห่ง ที่รัฐบาลกลางของจีนเป็นเจ้าของ ลงนามในโครงการพัฒนาช่วงการประชุม BRI รวมมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์
และองค์กรจีนที่เข้ามาเกี่ยวโยงโดยตรงก็มีชัดเจน เช่น บรรษัทก่อสร้างโครงการระบบรางของจีน China Railway Construction Corp และบริษัท Mengnui Dairy เป็นต้น
แต่ไม่ว่าสี จิ้นผิงจะนั่งยันนอนยันอย่างไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองระหว่างประเทศทุกวันนี้ไม่มีกิจกรรมใดที่ไม่โยงกับผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างแน่นอน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |