8 พ.ค.62- ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Mana Nimitmongkol ประเด็น ทำไมคอร์รัปชันไม่ลดลง ? โดยระบุว่า
“ทำไมคอร์รัปชันไม่ลดลง” เพื่อตอบคำถามนี้ ผมขออธิบายด้วย “เรื่องจริง” ที่ประสบมาเพราะเชื่อว่านี่คือเหตุสำคัญที่ทำให้คอร์รัปชันไม่ลดลง โดยเฉพาะ “การรีดไถ เรียกรับส่วยสินบน ค่าน้ำร้อนน้ำชา หรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์และพวกพ้อง”
“ส่วย – สินบน” น่ารังเกียจ แต่ก็จ่ายจนชิน..
การให้บริการ “ประชาชน” เป็นหน้าที่ของ “รัฐ” แต่เมื่อไปติดต่อราชการเรามักพบความยุ่งยาก น่าเบื่อหน่าย เช่น ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่หลายคน หลายขั้นตอน ใช้เอกสารมาก รอคิวนานโดยไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ สถานที่ไม่สะดวกสบาย บ่อยครั้งต้องเจอเจ้าหน้าที่ไม่รอบคอบในการตรวจเอกสารและการใช้ดุลยพินิจที่เอาแน่ไม่ได้ เรื่องแบบนี้นอกจากจะสร้างภาระให้ประชาชนแล้วยังเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียก - รับ “ส่วย สินบน ค่าน้ำร้อนน้ำชา” สร้างความเดือดร้อนให้กับทุกคน ประเทศเสียโอกาส สังคมไม่เป็นธรรมและปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
ตัวอย่างจากเรื่องจริง - นักลงทุนทำหมู่บ้านจัดสรรที่ต้องขายบ้านราคาแพงขึ้น เพราะมีต้นทุนจากการใช้เวลา 7 เดือนโดยเฉลี่ย ไปวิ่งเต้นหลายหน่วยงานเรียกเอกสารและยึดเกณฑ์พิจารณาต่างกันเพื่อให้ได้ใบอนุญาตมากถึง 48 ใบ แถมต้องมีค่าบริการที่ไม่มีใบเสร็จ เช่น เชื่อมถนน - ท่อระบายน้ำต้องจ่ายใบละ 2 หมื่นบาท ตัดต้นไม้ขวางทางเข้าออกจ่ายต้นละ 3 พันบาท ขอเลขที่บ้านจ่าย 200 บาทต่อห้อง ทำสะพาน ขอมิเตอร์น้ำ – ไฟ แยกโฉนดทุกอย่างต้องจ่ายหมด
กฎหมายเป็นตัวตั้ง - ระบบเป็นเครื่องมือ..
บริการของรัฐทำให้ดีขึ้นได้ ที่มีให้เห็นเป็นที่ชื่นใจกันแล้ว เช่น การทำบัตรประชาชน ทำใบขับขี่ ทำพาสปอร์ต แม้เรื่องที่เคยเป็นปัญหามากอย่าง ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ก็แก้ไขได้ และเพื่อเอาชนะปัญหาทั้งระบบตามข้อเสนอของหลายฝ่ายที่มีมานาน จึงมีการตรา พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 โดยหวังให้เกิดการพัฒนาระบบบริการประชาชนที่สะดวก รวดเร็ว ทันสมัยและไม่สร้างภาระให้ประชาชนเกินสมควร จนกล่าวกันว่า เป็นผลงานเพื่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่โดดเด่นที่สุดในยุครัฐบาล คสช.
เรื่องจริงก็คือ -- ผ่านไปสี่ปีกว่าความพยายามนี้กลับไปไม่ถึงไหน เพราะเกิดข้อจำกัดมากมายทั้งในระดับกระทรวงและหน่วยงาน !
กฎหมายนี้ตั้งเป้าหมายให้ “ทุกหน่วยงานของรัฐต้องปรับปรุงกระบวนการทำงาน ลดเอกสาร ลดขั้นตอน ลดเวลาให้บริการประชาชนลงให้ได้ร้อยละ 30 – 50” แต่ที่ทำจริงก็มีแค่จัดทำคู่มือบริการประชาชนที่บอกวิธีและระยะเวลาให้บริการเท่านั้น แถมบางหน่วยงานกลับแอบสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา เช่น เพิ่มเงื่อนไขหรือหมายเหตุทำนองว่าอาจมีข้อยกเว้นหรือจะนับระยะเวลาแบบมีเงื่อนไข
เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “สำนักงาน ก.พ.ร.” ได้เสนอแนวทางเพื่อการพัฒนาอีกหลายประการที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ โดยมีทั้งคำสั่ง คสช. มติ ครม. หรือคำสั่งนายกรัฐมนตรี รองรับตามกรณี อาทิ
- หน่วยงานของรัฐต้องไม่ขอสำเนาเอกสารที่ออกให้โดยราชการ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ทะเบียนการค้า
- ยกเลิกการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหยุมหยิม ไม่จำเป็น ไม่คุ้มค่า ที่มีกว่า 700 รายการๆ ละ 20 ถึง 100 บาท หรืออาจพิจารณายกเลิกใบอนุญาตหรือใบคำขอเหล่านี้ไปเลยก็ได้
- เปิดให้ประชาชนติดต่อใช้บริการทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งนอกจากสะดวกแล้วยังลดเงื่อนไขที่เปิดช่องให้มีการเรียกรับสินบนเมื่อต้องมาเจรจากันด้วย เช่น การออกหนังสือรับรองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และบริการที่เรียกว่า e-Service
- เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกขั้นตอนที่ล้าสมัยหรือหมดความจำเป็น เช่น ไม่ต้องต่อใบอนุญาตในบางเรื่อง หรือ ถือว่าใบเสร็จรับเงินคือหลักฐานการต่อทะเบียน
- ใช้เทคโนโลยีในการทำงาน เช่น ให้บริการผ่านแอพพลิเคชันหรือซอฟท์แวร์ทางโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ ให้บันทึกข้อมูลในคอมพิวเตอร์เพื่อความโปร่งใสตรวจสอบย้อนหลังได้ แถมยังลดการใช้กระดาษและการถ่ายสำเนาด้วย
เรื่องจริงก็คือ -- แนวทางเหล่านี้ยังไม่มีข้อใดเลยที่คืบหน้าจนเป็นที่พอใจ! เมื่อมีการสำรวจพบว่า มีหน่วยงานที่ทำการเชื่อมโยงเอกสารและการบริการทางอินเตอร์เน็ตได้ครบถ้วนเพียง 20 แห่ง (ร้อยละ 6.71) บางส่วน 37 แห่ง (ร้อยละ 13.09) นอกนั้นยังไม่ทำอะไรหรือไม่รู้ว่าทำอะไร (ร้อยละ 31) การให้บริการโดยไม่เรียกสำเนาเอกสารราชการจากประชาชน ทำได้แล้วโดยสมบูรณ์ร้อยละ 6.7 ทำบางส่วนร้อยละ 13 การพัฒนาระบบเอกสารและจัดเก็บข้อมูลตามนโยบายรัฐบาลดิจิตอลก็ยังล่าช้า เป็นต้น
“คน” ทำให้สำเร็จ – หรือล้มเหลวก็ได้ ?!..
ตัวอย่างจากเรื่องจริง - ใครจะเปิดร้านกาแฟต้องขอใบอนุญาตมากถึง 11 ใบ ทำรีสอร์ทเล็กๆ ต้องขอ 13 ใบ เปิดฟิตเนส 2 ใบ แต่ถ้าเป็นห้างขนาดใหญ่ต้องมีมากกว่า 40 ใบ เคยพบว่ามีโรงงานแปรรูปอาหารทะเลแห่งหนึ่งในจังหวัดระยองต้องขอใบอนุญาตไว้มากถึง 500 ใบ นี่ยังไม่รวมการจดทะเบียนการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่มและประกันสังคม
หลายฝ่ายมองว่า อุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งระบบราชการให้ผิดไปจากเป้าหมายเกิดจาก “ผู้นำ” และ “ผู้บริหารระดับสูง” ของหน่วยงานหรือรวมถึง “รัฐมนตรีบางคน” ขาดความใส่ใจที่จะพัฒนา อาจเป็นเพราะไม่รู้ถึงความจำเป็นที่ต้องเอาจริงกับการแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ หรือไม่ยากยุ่งยากกับการเปลี่ยนแปลง บ้างก็เกรงใจคนอื่นที่มีผลประโยชน์กับระบบเดิมอยู่ ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าเกิดจากการหวงอำนาจ ห่วงผลประโยชน์ที่พวกตนเคยได้รับมานานจนเคยชินจึงจงใจเพิกเฉยเสีย
เห็นได้ว่า แม้จะมีกฎหมายและแนวทางทำงานที่ดีแล้ว ระบบและเครื่องมือก็จัดหาเพิ่มเติมได้ตามลำดับ เรื่องจริงก็คือ -- ติดขัดที่ “คน” ที่ควรจะลงมือทำด้วยทัศนคติที่พร้อมจะให้บริการประชาชนอย่างเอื้อเฟื้อ ไม่ใช่เจ้าขุนมูลนายหรือมองแต่เรื่องส่วนตัว
บทสรุป..
ประเทศจะประสบความสำเร็จในการควบคุมคอร์รัปชันให้ลดลงได้ต้องเริ่มจาก “สองปัจจัย” คือ ความตื่นตัวของประชาชนที่รังเกียจการโกงและไม่ยอมให้ใครโกง กับ ความตั้งใจจริง (Political Will) ของผู้บริหารประเทศโดยเฉพาะ “นายกรัฐมนตรี” และยังหมายรวมถึงผู้นำของแต่ละหน่วยงานในแต่ละกรณีด้วย
หากปราศจากสองปัจจัยนี้ก็ยากที่จะเอาชนะคอร์รัปชันได้
ส่วนคำตอบว่า วันนี้คอร์รัปชันเพิ่มขึ้นหรือลดลง ขอให้ดูจากผลการสำรวจ “ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย” ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำการสำรวจมาต่อเนื่อง จะน่าเชื่อถือมากกว่าการอ้างจากข่าวที่ปรากฏ เพราะบ่อยครั้งเป็นเรื่องของกระแสและความรู้สึกซึ่งไม่ถูกต้องนัก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |