15 รัฐมนตรีไขก๊อกรอเป็น ส.ว. "บิ๊กตู่" นำทีมถ่ายภาพหมู่ที่ระลึก บอกใจหายเคยอยู่กันมาถึง 5 ปี ย้ำ "ครม.-คสช." ยังทำหน้าที่ได้ตาม กม. วอนอย่ามอง "ส.ว." เป็นศัตรูใคร ย้ำต้องใช้คนมีประสบการณ์เข้ามาทำงาน "ประวิตร" ลั่นไม่ลาออกรองนายกฯ ขอทำหน้าที่ต่อไป "สนช." 60 คนทยอยยื่นหนังสือลาออก 8-9 พ.ค.นี้ "พท.-อนค." โวยพวก ส.ว.ลากตั้ง "ปิยบุตร" ซัดพวกนั่งกระดิกเท้าไม่ลงเลือกตั้ง แต่ได้เข้ามาใช้อำนาจนิติบัญญัติ
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากจะเป็นการประชุม ครม.เต็มคณะครั้งสุดท้าย แม้รัฐธรรมนูญจะให้อำนาจเต็มในการบริหารจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ เพราะหลังจากวันดังกล่าวเป็นต้นไป สถานภาพของรัฐมนตรีที่ยื่นลาออกไปเป็น ส.ว.จะมีผลแล้ว เนื่องจากต้องเคลียร์คุณสมบัติตัวเองให้เสร็จสิ้น ก่อนที่จะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายในวันที่ 10 พ.ค.2562
ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุม ครม. เวลา 08.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวก่อนการประชุม ครม.ถึงการลาออกของรัฐมนตรีจำนวนมากเพื่อไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า เดี๋ยวรอฟังก็แล้วกัน
จากนั้นผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างช่วงพักการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์พร้อมด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึกร่วมกับรัฐมนตรี 15 คน ที่ยื่นใบลาออกไปเป็น ส.ว.
โดยรายชื่อรัฐมนตรีที่ยื่นใบลาออก 15 คน ประกอบด้วย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี, นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน, นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ, พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ, นายอุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ, นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รมช.การต่างประเทศ, นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา, นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์, นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม, นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย, พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.การคลัง
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. โดยกล่าวทักทายสื่อมวลชนอย่างอารมณ์ดีทันทีว่า ตื่นเต้นอะไรกันหรือ มีอะไรตื่นเต้นกันนักหนา เมื่อผู้สื่อข่าวระบุว่า ตื่นเต้นที่มีรัฐมนตรีลาออกถึง 15 คน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอบพร้อมยิ้มว่า ยังไม่ชินกันอีกหรือ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่รัฐมนตรีลาออกหลายกระทรวง จะมีผลกระทบต่อการทำงานหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันสุดท้ายที่ทำงานร่วมกันในการประชุม ครม.เต็มคณะครบ ถือเป็นครั้งสุดท้าย ก็ต้องลาออกไป สำหรับการมอบหมายกระทรวงที่ไม่มีรัฐมนตรีอยู่นั้น ก็จะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในการบริหาร รวมทั้งทำหน้าที่ขับเคลื่อนและรับผิดชอบเหมือนเดิม
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอเรียนว่าในส่วนของคสช. จากเดิมมี 15 คน เหลือ 11 คน ในส่วนของ ครม.เดิมมี 36 คน เหลือ 17 คน รวมถึงตนในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะมีการลาออกในครั้งที่แล้วจำนวน 4 คน วันนี้อีก 15 คน ทำให้มีรัฐมนตรีคงเหลือปัจจุบัน 17 คน ก็ยังมีการประชุมได้ตามปกติ
ชี้'ส.ว.'ไม่ใช่ศัตรูใคร
"การประชุมร่วม ครม.และ คสช.ยังสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ตราบใดที่ยังมี คสช.อยู่ก็ยังประชุมได้ในช่วงที่มีความสำคัญ แต่ถ้าไม่สำคัญก็จะไม่มีการประชุม ไม่ต้องกังวลอะไร และไม่ว่าจะมีจำนวนเหลืออยู่เท่าไหร่ก็ตาม รัฐบาล รัฐมนตรีที่เหลือ ก็ยังบริหารงานต่อไปได้ โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เหลือมารับผิดชอบงานเพิ่มเติม กระทรวงใดที่รัฐมนตรีว่าการยังอยู่ รัฐมนตรีช่วยออกไป ก็ต้องทำหน้าที่แทนงานที่เคยมอบหมายไป รัฐบาลได้วางแผนการทำงานมาโดยตลอดตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ซักว่า การที่มีรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าไปเป็น ส.ว. จะถูกครหาว่าเป็นเงาของคสช.หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็อย่ามองว่าบุคคลที่เข้าไปเป็น ส.ว.นั้นเป็นศัตรูกับใคร ต้องมองว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทุกคนได้ทำงานอะไรมาบ้าง ดังนั้นในอนาคตวันข้างหน้าการวางพื้นฐานประเทศในทุกๆด้าน ก็ควรจะต้องได้คนที่รู้เรื่องการทำงานในช่วงที่ผ่านมาเข้ามาอยู่ใน ส.ว.ด้วย เพื่อให้เกิดการดำเนินงานต่อไป ซึ่งก็สุดแล้วแต่รัฐบาลชุดต่อไปจะดำเนินการ เพราะ ส.ว.ก็มีหน้าที่ในการดำเนินการด้านกฎหมายเป็นหลัก ขอร้องว่าให้มองในทางสร้างสรรค์กันหน่อย หน้าที่ของทุกคน อย่ามองว่าทุกคนเป็นศัตรู เพราะ คสช.ไม่เคยเป็นศัตรูกับใครเลย
“5 ปี ไม่ใช่เวลาอันสั้นๆ วันนี้ผมก็รู้สึกใจหาย ได้เห็นหน้าเห็นตากันครบถ้วน ก็หายไปหลายคน และวันนี้อยากจะขอร้องว่าสถานการณ์ความสงบเรียบร้อย ความมีมิตรไมตรีต่างๆ ในสังคมทุกระดับในสังคมที่ผ่านมา ไม่ว่าจะสังคมโซเชียลมีเดียก็ได้ลดความรุนแรง ลดเฮตสปีชลงไป ถ้าเราทำได้อย่างนี้ต่อไปบ้านเมืองก็จะสงบเอง เพราะเรื่องความปรองดองเป็นเรื่องจิตใจของทุกคน ถ้าเรายึดมั่นในตัวเราเอง คิดเอาเองมันแก้ไขอะไรไม่ได้ แม้กระทั่งตัวผมเอง ผมก็ยังเอาสิ่งที่ผมคิดและอยากจะทำมาทำเองไม่ได้ ต้องนำไปหารือใน ครม.และ คสช.ทุกเรื่องว่าควรหรือไม่ควร ทำได้หรือไม่ได้ อย่างวันนี้จะเห็นได้ว่าประชุมตั้งแต่ 09.00 น. ทั้ง คสช.และ ครม.ร่วมกัน จากนั้นเป็นการประชุม ครม.จนเลิกในเวลา 15.00 น. ไปดูสถิติก็แล้วกันว่ามีรัฐบาลไหนประชุมแบบนี้บ้าง ต้องนำทุกเรื่องมาหารือกัน” นายกฯ กล่าว
ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม ยอมรับว่าได้ยื่นใบลาออกจากรัฐมนตรีแล้ว โดยจะมีผลในวันที่ 8 พ.ค.นี้ และในวันนี้มีรัฐมนตรีที่ยื่นลาออกทั้งหมด 15 คน ในระหว่างนี้ตนจะเคลียร์งานที่ยังเหลืออีกนิดหน่อยให้เรียบร้อยก่อน
ถามว่านายกฯ ได้ฝากเรื่องการทำงานอย่างไรบ้าง พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า เดี๋ยวท่านจะนัดพูดคุยอีกครั้ง
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยืนยันจะไม่ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อไปดำรงตำแหน่ง ส.ว. จะขอทำหน้าที่ต่อไป
ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงข่าวนายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย ยื่นใบลาออกจากรัฐมนตรีเพื่อเป็น ส.ว.ว่า เรื่องนี้สื่อต้องไปถามจากนายสุธีเอาเอง ไม่น่ามาถามตน เพราะไม่ทราบ แต่ธรรมดาก็เป็นสิทธิ์ของนายสุธี เป็นเรื่องธรรมดา ไม่เห็นจะแปลกอะไร
“ผมเข้าใจว่าจะต้องมีการแจ้งจาก คสช. ไปถึงเพื่อให้มาทำหน้าที่ ส.ว. ถ้าใครที่ผ่านการพิจารณาจาก คสช. ก็ต้องทำคุณสมบัติให้ครบถ้วน ที่จะต้องไม่เป็นข้าราชการหรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคล หรือแม้กระทั่งหาก คสช.แจ้งไปแล้ว จะลาออกหรือไม่ก็อยู่ที่ตัวบุคคล และโดยมารยาทผมคงตอบไม่ได้ เพราะไม่เห็นหนังสือและไม่ได้ถามนายสุธี” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
ซักว่า นายสุธีได้มาเรียนให้ทราบหรือมาหารือหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ยังครับ ต้องลาออกใน 1-2 วันนี้ใช่หรือไม่ จะต้องมาเรียนตนด้วยหรือ คุณจะถามผมให้เกิดสวรรค์วิมานอะไรขึ้นมา
สนช.ทยอยยื่นลาออก
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า ในส่วนของตนยังมีภารกิจเรื่องการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 จึงยังไม่ได้ยื่นใบลาออกแต่อย่างไร ทั้งนี้ ตนไม่ทราบว่ามีใครบ้างที่ลาออกไปเป็น ส.ว.และไม่มีการแจ้งว่าผู้ที่จะไปเป็น ส.ว.ต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล
ถามว่า ถ้าได้รับเลือกเป็น ส.ว.ก็ยินดีใช่หรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ต้องดูก่อนว่างานที่ทำอยู่นั้นเรียบร้อยดีหรือไม่ เพราะตำแหน่ง ส.ว.นั้น ถือเป็นอีกขยักหนึ่ง ซึ่งไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแต่วันนี้ตนยังมีหน้าที่ต้องทำ สิ่งที่จะตัดสินใจว่าจะเป็น ส.ว.หรือไม่ คือต้องดูงานที่ทำอยู่ขณะนี้เป็นหลักก่อน และต้องทำให้งานสัมฤทธิผล ส่วนเรื่องอื่นเอาไว้ก่อน
"งานที่ค้างอยู่ตอนนี้คือการเตรียมประชุมอาเซียนซัมมิตที่จะมีขึ้นในปลายเดือน มิ.ย.นี้ งานด้านต่างประเทศเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกันหลายประเทศ ซึ่งบางเรื่องก็ไม่สามารถจะให้คนอื่นทำแทนได้ ดังนั้นจึงต้องให้คนเดิมทำต่อไป แต่ผมไม่ได้ดูตารางเวลาว่ารัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใดแต่ดูงานข้างหน้าเป็นหลัก ส่วนรมช.การต่างประเทศก็ไม่ทราบว่าได้รับเลือกเป็น ส.ว.ด้วยหรือไม่ เพราะไม่ได้คุยกัน" นายดอนกล่าว
มีรายงานว่า สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นายกฯ ระบุ 4 คน จะไปเป็น ส.ว. ประกอบด้วย 1.พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช. 2.พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคสช. ขณะที่อีก 2 คน คือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ และ รมว.ยุติธรรม รองหัวหน้า คสช. และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และรองหัวหน้า คสช.
ที่รัฐสภา หลังจากที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลายคนที่ได้รับการคัดเลือกจาก คสช.ให้ไปดำรงตำแหน่ง ส.ว. ปรากฏว่า ในวันที่ 7 พ.ค.ได้มีสมาชิก สนช.จำนวนหลายคน ได้เริ่มยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง สนช.และตำแหน่งกรรมาธิการชุดต่างๆ ของ สนช. ต่อนายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรียบร้อยแล้ว อาทิ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา, พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร, พล.ร.อ.นพดล โชคระดา, พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร, นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ, นายตวง อันทะไชย, นายกล้านรงค์ จันทิก, นายกรรณภว์ ธนภรรคภวิน ส่วน สนช.คนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ยื่นหนังสือลาออกในวันที่ 7 พ.ค. จะทยอยไปยื่นหนังสือลาออกเพิ่มเติมในวันที่ 8-9 พ.ค.นี้
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่สอง กล่าวยืนยันในการได้รับคัดเลือกให้เสนอชื่อเป็น ส.ว. ตามที่ คสช.แต่งตั้งและเตรียมนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายวันที่ 10 พ.ค.ว่า มีสมาชิก สนช.ที่ได้รับคัดเลือกให้ไปดำรงตำแหน่ง ส.ว.อีกกว่า 60 คน อาทิ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช., นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่หนึ่ง, นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช., นายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมือง, นายตวง อันทะไชย, นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นต้น
"สมาชิก สนช.ที่ได้รับเลือกหารือเบื้องต้นว่าจะยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง สนช. ต่อเลขาธิการวุฒิสภาพร้อมกันช่วงวันที่ 8-9 พ.ค.นี้" นายพีระศักดิ์กล่าว
ถามว่าการทำงานในรัฐสภาร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่หลายฝ่ายกังวลอาจจะมีปัญหาเพราะเป็นคนละขั้วการเมือง รองประธาน สนช.กล่าวว่า ตนเชื่อว่า ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งและ ส.ส.ชุดใหม่มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ และเชื่อว่าจะทุกฝ่ายต้องการให้การทำงานร่วมกันเดินหน้าไปได้ ส่วนวาระแรกที่ ส.ว.ใหม่และ ส.ส.ใหม่จะประชุมร่วมกันนัดแรก คือการลงมติเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ นั้น ต้องให้สิทธิ ส.ส.รวมเสียงข้างมากให้ได้ก่อน ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าพรรคการเมืองคงเคารพกติกา
ส่วนนายพรเพชร ปฏิเสธให้สัมภาษณ์เรื่องเป็น ส.ว. โดยระบุว่า ต้องรอการโปรดเกล้าฯ อย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ โดยทิศทางของตนหลังจากนี้ต้องรอรายละเอียดอีกครั้ง
ถามว่า การทำงานระหว่าง ส.ว.ใหม่กับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งจะราบรื่นหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวสั้นๆ ว่า ไม่น่ามีปัญหา
'พท.-อนค.'โวยลากตั้ง
มีรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้จัดเตรียมสถานที่ไว้รับการรายงานตัวของ ส.ว.ชุดใหม่ที่จะประกาศแต่งตั้งภายหลังที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรอง ส.ส.ชุดใหม่ครบ 95% ที่อาคารสุขประพฤติ ถนนประชาชื่น
ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พท. กล่าวถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าการตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน ดำเนินการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า คนที่จะเป็นผู้คัดเลือก ส.ว. ควรเป็นคนที่มีความอิสระ ไม่ใช่เป็นคนที่มีส่วนได้เสียโดยตรง ดังนั้นการที่ คสช.ตั้ง พล.อ.ประวิตรจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียใน คสช. เป็นประธานคัดเลือก และแคนดิเดตคนที่จะเป็นนายกฯ ของพรรคการเมือง คือ พล.อ.ประยุทธ์
ถามว่ากรณีนี้จะทำให้ความน่าเชื่อถือของ ส.ว.ที่ได้รับเลือกมาน้อยลงหรือไม่ นายชัยเกษมกล่าวว่า ความจริงก็รู้กันอยู่แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมปที่ร่างไว้ แต่เป็นโรดแมปที่ประชาชนจำนวนมากรับไม่ได้ และไม่อยากจะรับ แต่จำเป็นต้องรับ เพราะอย่างไรก็แล้วแต่อำนาจ คสช. ก็มีอยู่เต็ม
นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรค พท. กล่าวถึงรัฐมนตรีลาออกไปเป็น ส.ว.จำนวนมากว่า เหมือนเป็นการแจกเก้าอี้ ส.ว.ให้กับญาติพี่น้องของบุคคล ทั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือบุคคลที่เคยร่วมรัฐประหารกันมา เหมือนเป็นการเล่นเก้าอี้ดนตรี ทั้งที่ ส.ว. มีอำนาจคล้าย ส.ส. แต่กลับไม่ได้มาจากประชาชน อีกทั้งประชาชนไม่มีสิทธิเลือกเหมือนตอนปี 2540 ซึ่งการกระทำดังนี้ จะส่งผลให้ไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่สามารถตอบสนองและสร้างความสุขให้กับประชาชนได้
"ประชาชนจะไม่ได้รับประโยชน์ เป็นการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นและการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไม่เกิดขึ้น" โฆษกพรรค พท.กล่าว
ที่พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค. กล่าวถึงรัฐมนตรีลาออกไปเป็น ส.ว.ว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.และ ส.ว.ชุดนี้มีอำนาจมากที่มีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ส.ว.ชุดนี้ขาดความชอบธรรมตามระบบประชาธิปไตยที่ชัดเจน เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และยังมีอำนาจเลือกนายกฯ ซึ่งที่กำลังดำเนินการอุกอาจถึงขั้นเอาคนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในรัฐบาล คสช.ลาออกมาสดๆ เพื่อเป็น ส.ว.
"จะทำอะไรก็ควรจะเกรงใจกันบ้าง คือจะเอาทุกอย่าง วันนี้มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีก็ใช้อำนาจในการบริหารราชการเต็มที่ พอมีตำแหน่งมาต่อก็กระโดดมาเป็น ส.ว.อีก" นายปิยบุตรกล่าว
เลขาฯ พรรค อนค.กล่าวว่า ขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนช่วยจับตาว่า 250 ส.ว.มีกี่คนที่เคยทำงานอยู่ในระบอบของ คสช.กี่คน และมี ส.ว.กี่คนที่เคยทำงานตั้งแต่ปี 2549 และยังจะได้เป็น ส.ว.อยู่ กลายเป็นเรื่องมหัศจรรย์ว่ามีคนอยู่กลุ่มหนึ่งได้เป็น ส.ว. ได้ใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยที่นั่งกระดิกเท้าเฉยๆ ไม่เคยลงเลือกตั้งเลยและไม่เคยมีการตรวจสอบ ผิดกับมาตรฐานของนักการเมืองที่ลงเลือกตั้ง ต้องถูกตรวจสอบห้ามเป็นติดต่อกันกี่สมัยนั้น มีกฎกติกาตรวจสอบอยู่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |