รับรองส.ส.349เขต กกต.ปล่อยก่อนสอยทีหลัง/ลุ้นศาลคลี่ปมปาร์ตี้ลิสต์


เพิ่มเพื่อน    

 กกต.ปล่อยผี 349 ส.ส.เขตแล้ว ยันมีอำนาจ 1 ปีตามสอยได้อีก ชี้ยังมีเรื่องฟ้องร้องค้างคาอีกนับร้อย “ปิยบุตร” อัดทำให้การทำงานขาดอิสระ เพราะกลัวถูกดีดพ้นเก้าอี้ พท.ร่อนหนังสือถึง 7 อรหันต์เรียงคน ขู่หากพรรคเล็กได้ปาร์ตี้ลิสต์ถูกเช็กบิลแน่ “พปชร.” มั่นใจตั้งรัฐบาล “ลุงตู่” ได้ไปต่อ จะแน่ชัดหลัง 15 พ.ค. รอประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าและตัดสินใจ พรรคฝั่งระบอบทักษิณโอ่สัตยาบัน 7 พรรคยังเหนียวแน่น แต่เริ่มเบนเป้าไปยึดเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อคานอำนาจ

เมื่อวันอังคาร ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า จะพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องเพื่อเตรียมประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. โดยยืนยันว่าจะประกาศไม่เกินวันที่  9 พ.ค.แน่นอน ทั้งนี้และทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความถูกต้อง
ต่อมาเมื่อเวลา 14.30 น. นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. แถลงว่า กกต.ได้ออกประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยประกาศผู้ซึ่งได้รับการเลือกตั้ง 349 คน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และขอให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ารับหนังสือรับรอง (ส.ส.6/4) ที่สำนักงาน กกต. ได้ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.เป็นต้นไป ไม่เว้นวันหยุดราชการ ภายในเวลา 08.30-16.30 น. 
นายแสวงยังกล่าวถึงคำร้องคัดค้านต่างๆ ว่ายังอยู่ระหว่างตรวจสอบ เบื้องต้นมี 2-3 เหตุ เช่น มีเหตุตามกฎหมายหรือไม่ กระบวนการพิจารณามีความยากง่าย และข้อเท็จจริงฟังได้อย่างไร เช่น กรณีร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติ มีการยื่นเกือบ 50 เรื่อง และปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีร้องเข้ามากว่า 10 เรื่อง ในขั้นตอนการตรวจของ กกต.จะตรวจสอบไปยัง 23 หน่วยงาน แต่เมื่อมีผู้มาร้องเป็นเรื่องของระเบียบการสืบสวนที่ต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงและนำหลักฐานมาแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นคนละช่องทางกัน เรื่องร้องคัดค้านจึงต้องมีกระบวนการพิจารณาและใช้เวลา
เมื่อถามว่าการรับรองในวันนี้สามารถไปสอยทีหลังเมื่อพบเหตุใช่หรือไม่ นายแสวงตอบว่า เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อประกาศรับรองไปแล้ว กกต.ยังมีอำนาจตามกฎหมายภายใน 1 ปีสามารถสั่งเลือกตั้งใหม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะมีผลเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.พึงมีได้ โดย กกต.จะพิจารณาให้เร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้มีเรื่องร้องคัดค้านหลายกรณี ทั้งประเด็นคุณสมบัติ  เหตุร้องว่าการเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม รวมแล้วประมาณ 400 เรื่อง ซึ่งได้พิจารณาแล้วเสร็จไปมากพอสมควร
ถามย้ำว่า การประกาศรับรองไปก่อน อาจทำให้ประชาชนทั่วไปมองว่าการสอยอาจไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว นายแสวงยืนยันว่า ในประเด็นคุณสมบัติ หากวันนี้ตรวจสอบพบว่าผิด อีก 1 เดือนก็ยังผิด เพราะเป็นเรื่องหลักฐานที่มีความชัดเจน แต่ประเด็นเรื่องคุณสมบัติมีการร้องคัดค้านเข้ามาประมาณ 50 ราย หากจะกันเอาไว้บางส่วนก็จะเป็นปัญหา เพราะถูกร้องมาในเรื่องเดียวกัน เช่นเดียวกับผู้ที่ถูกร้องเรื่องทุจริตการเลือกตั้งจะผิดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน หากฟังได้ว่ามีความผิด กกต.จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณา
    เมื่อถามว่า กกต.สามารถให้ใบส้มและใบเหลืองได้เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่ากระทำความผิด แต่ยังไม่มีการแจก แล้วจะรอให้คดีไปถึงศาล ซึ่งต้องมีหลักฐานที่หนักแน่นกว่าจะทำให้ยากขึ้นหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า เหตุที่จะสั่งให้ใครได้รับใบเหลือง หรือส่งให้ศาลให้ใบแดงและใบดำ ขึ้นอยู่กับเหตุในการร้องและข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ มีหลักฐานอันควรเชื่อหรือไม่ ซึ่งเราอยู่ข้างนอกตรงนี้ไม่มีใครทราบว่าหลักฐานมีอะไรบ้าง แต่เชื่อว่า กกต.จะวินิจฉัยด้วยความรอบคอบ
ย้ำชื่อส.ส.จบก่อน9พ.ค.
เมื่อถามว่า การประกาศรับรอง ส.ส.เขต 349 คน จะมีผลให้การรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ครบทั้งหมดหรือไม่ นายแสวงชี้แจงว่า ต้องดูการคำนวณ ขณะนี้มีพรรคการเมืองที่มีคะแนนบัญชีรายชื่อ จำนวน 74 พรรค ซึ่งคะแนน ณ วันที่ 28 มี.ค.กับคะแนนก่อนวันคำนวณจะแตกต่างกัน เพราะมีการสั่งเลือกตั้งใหม่ และนับคะแนนใหม่ในบางหน่วยเลือกตั้ง รวมทั้งสั่งไม่ให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกหลายราย ซึ่งจะมีผลให้คะแนนถูกตัดออก อีกทั้งไม่ทราบว่าการประชุมในวันที่ 5-6 พ.ค. กกต.ได้สั่งให้ผู้สมัครคนใดไม่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเพิ่มอีกหรือไม่ ถ้ามีก็จะกระทบกับคะแนนและอัตราส่วนบ้าง จึงต้องคำนวณจากคะแนนใหม่  ซึ่งรับรองว่า กกต.จะประกาศรับรองไม่เกินวันที่ 9 พ.ค.
ถามว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อออกมาเป็นลบ หรือไม่เป็นไปตามที่ กกต.กำหนดจะเกิดอะไรขึ้น นายแสวงกล่าวว่า สำนักงานได้เตรียมไว้ทุกอย่างแล้ว เราต้องเตรียมตั้งรับสถานการณ์ไว้ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งออกมาลักษณะใด ก็ต้องมีวิธีการบริหารของสำนักงานเสนอให้ กรรมการ กกต. ซึ่งต้องดูคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 8 พ.ค.
สำหรับรายชื่อ ส.ส.ที่ กกต.ประกาศรับรอง 349  คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย (พท.) 136 คน, พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 97 คน, พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 33 คน, พรรคภูมิใจไทย (ภท.), พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) 30 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 6 คน, พรรคประชาชาติ (ปช.) 6 คน, พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) 1 คน และพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) 1 คน (อ่านรายละเอียดหน้า 4)  
ทั้งนี้ หลัง กกต.ประกาศรับรองผล สำนักงาน กกต.ได้จัดเจ้าหน้าที่มารอมอบหนังสือรับรองให้กับ ส.ส.ใหม่ ซึ่งปรากฏว่านายวันชัย วรรณสว่าง ผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี เขต 3 พรรค พท.ได้นำหนังสือมอบอำนาจมาติดต่อเพื่อขอรับหนังสือรับรองการเป็น ส.ส.ของนายอุบลศักดิ์ รวมถึง น.ส.จิราภรณ์ สินธุไพร บุตรสาวนายนิสิต สินธุไพร อดีตแกนนำ นปช. ซึ่งเป็น ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 5 พรรค พท. ได้เดินทางมาติดต่อขอรับหนังสือรับรองการเป็น ส.ส.แล้ว
ด้านสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เตรียมสถานที่รองรับการรายงานตัวของ ส.ส.ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะเปิดให้รายงานในเวลาราชการ ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.เป็นต้นไป ที่ชั้น 4 ด้านฝั่งวุฒิสภาของรัฐสภาใหม่ ย่านเกียกกาย
ขณะเดียวกัน ที่สำนักงาน กกต. ยังคงมีการมาร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติของ ส.ส.กันอย่างต่อเนื่อง  โดยในเวลา 10.45 น. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอให้ตรวจสอบผู้สมัคร ส.ส.ที่ขาดคุณสมบัติเนื่องจากถือหุ้นสื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) จำนวน 10 ราย เพื่อขอให้ระงับการประกาศผลการเลือกตั้งไว้ก่อน และขอให้รอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก่อน เพราะ กกต.ยังมีเวลาพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้ถึงวันที่ 24 พ.ค. กกต.จะปล่อยผ่านไปก่อนแล้วมาตามสอยทีหลังเพื่อให้ถูกใจใครไม่ได้
สำหรับรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ที่ถูกยื่นคำร้องทั้ง 10 คน คือ นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ผู้สมัคร ส.ส.พปชร., นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ผู้สมัคร ส.ส.พปชร., นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พปชร., นายพิบูลย์ รัชกิจประสาร ผู้สมัคร ส.ส.พรรค ภท., นายสาธิต ปิตุเตชะ ผู้สมัคร ส.ส.พรรค ปชป., นายเดชอิศม์ ขาวทอง ผู้สมัคร ส.ส.ปชป., นายสาคร เกี่ยวข้อง ผู้สมัคร ส.ส.ปชป., นายอัศวิน วิภูศิริ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ปชป., นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ปชป. และนายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ผู้สมัคร ส.ส.พรรค ภท.
นายพีระพันธุ์กล่าวเรื่องนี้ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดที่นายเรืองไกรไปร้อง ต้องรอให้ กกต.แจ้งมา ก็พร้อมชี้แจง แต่ยืนยันว่าไม่มีกิจการสื่อใดๆ 
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการบริหารพรรค พปชร. กล่าวถึงการยื่นเรื่องร้องเรียนและขุดคุ้ยว่าที่ ส.ส.ของพรรคถือครองหุ้นสื่อ ว่าทั้งนายณัฏฐพล, นายชาญวิทย์ และ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ต่างยืนยันว่าสามารถชี้แจง กกต.ได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็สุดแล้วแต่ กกต.จะพิจารณา
ส่วนในเวลา 10.20 น. นายคารม พลพรกลาง ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค อนค. มายื่นหนังสือคัดค้านคำร้องนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ยื่นให้ตรวจสอบผู้สมัครและว่าที่ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ถือหุ้นสื่อ
ด้านนายฉัตรชัย ณ บางช้าง ตัวแทนนางนันทวรรณ ประสพดี ผู้สมัคร ส.ส.เขต 7 สมุทรปราการ พรรค พท. เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีขอให้จัดเลือกตั้งใหม่ เขต 7 จ.สมุทรปราการใหม่ หลังพบการทุจริตการเลือกตั้ง ส่วนว่าที่ ร.อ.กงกฤช เชื้อศรีสกุล ผู้สมัคร ส.ส.เขต 6 นนทบุรี พรรคประชาธรรมไทย ยื่นหนังสือถึง กกต. ขอให้เพิกถอนนายพิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย และ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1  ขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการบริหารพรรค หรือหัวหน้าพรรคการเมือง เพราะมีลักษณะต้องห้าม
เซ็ง กกต.มีเวลาสอยอีก1ปี
ขณะเดียวกันยังคงมีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการประกาศรับรองของ ส.ส. โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค. กล่าวถึงเวลา 1 ปีที่ กกต.ยังสามารถตรวจสอบ ส.ส.ได้ว่า ทำให้ ส.ส.ที่เข้าสภาในช่วงการทำงาน 1 ปีต้องลุ้นว่าจะถูกสอยได้ทุกเมื่อ ทำให้การทำงานขาดความเป็นอิสระหรือไม่ จะกล้าปฏิบัติหน้าที่เผชิญหน้ากับ กกต.หรือไม่ จะกล้าแก้กฎหมายเกี่ยวกับ กกต.หรือไม่ เพราะต้องระมัดระวังว่าอาจโดยสอยได้ จึงเป็นการกระทบกับการทำหน้าที่ของ ส.ส. 
ส่วน พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรค ภท. กล่าวว่า พรรคต้องขอบคุณ กกต.ที่ได้ประกาศรับรอง ส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่ง ส.ส.ทั้งหมดของพรรคพร้อมทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และพร้อมผลักดันทุกนโยบายของพรรคให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ 
สำหรับกรณี ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมกล่าวถึงกรณีอาจเกิดเดดล็อกจากสูตรคำนวณว่าไม่มี เชื่อว่ายังไปได้
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค. พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค พท. ได้ลงนามในหนังสือที่ทำไปถึง กกต.เป็นรายบุคคล เพื่อต้องการให้ กกต.ทั้งหมดได้รับรู้รับทราบถึงข้อเสนอของพรรค ซึ่งเนื้อหาสาระสำคัญอ้างถึงหนังสือที่พรรคเคยทำไปถึงประธาน กกต.เมื่อ 10 เม.ย. ที่ให้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 พร้อมกับแนบท้ายความคิดเห็นของพรรคว่า พรรคใดบ้างควรได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 
“พรรคยังคงยืนยันว่าวิธีคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อมีการเขียนไว้ชัดเจน คือ ถ้าพรรคการเมืองใดก็ตามไม่มีจำนวนคะแนนที่ได้รับถึงคะแนนที่พึงมีได้ พรรคการเมืองนั้น ก็จะไม่ได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้นเพื่อความชัดเจน พรรคจึงมีหนังสือถึง กกต.เป็นรายบุคคล ผมไม่อยากให้ กกต.ดำเนินการใดๆ เกินเลย ที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติ หากเป็นเช่นนั้น กกต.อาจต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นรายบุคคลหรือองค์คณะ” นายชูศักดิ์กล่าว
ก่อนหน้านี้ ที่สำนักงาน กกต. นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรค พท. พร้อมนายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรค เข้ายื่นหนังสือถึง กกต.ทั้ง 7 คน พร้อมพกใบเหลืองจดรายชื่อ กกต.เพื่อขอให้พิจารณาการประกาศผลการรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อในวันที่ 8 พ.ค. ต้องยึดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 
นายชุมสายกล่าวว่า หากผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อในที่ 7 พ.ค.ออกมาเป็นอย่างไร ก็ถือว่าเป็นที่สุด พรรคจะน้อมรับและไม่ก้าวล่วงคำตัดสินของศาล
รอ“ปชป.”ตัดสินใจ
วันเดียวกัน ยังคงมีความเคลื่อนไหวถึงการจัดตั้งรัฐบาลหลัง กกต.ได้ประกาศรับรอง ส.ส.เขต โดยแกนนำพรรค พปชร. มั่นใจว่าขณะนี้มีเสียงเพียงพอตั้งรัฐบาล เพราะมีเสียง ส.ส.มากกว่า 250 เสียง มากกว่าขั้วพรรค พท.ที่มีเสียง ส.ส. 244 เสียง ซึ่งจะเห็นความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลหลังวันที่ 15 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่พรรค ปชป.จะประชุมเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และจะมีมติกำหนดทิศทางว่าพรรคจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พปชร.หรือไม่ 
“แกนนำพรรค พปชร.ได้พูดคุยกับแกนนำพรรค ปชป.บางคน ถือว่ามีแนวโน้มความเป็นไปสูงที่จะมาร่วม เพราะเข้าใจสถานการณ์ในการเป็นรัฐบาลเพื่อไม่ให้การเมืองติดล็อก แม้มีบางคนในพรรคคัดค้าน แต่หากเป็นมติพรรค ทุกคนในพรรคต้องเคารพ ขณะที่พรรคอื่นๆ โดยเฉพาะนักการเมืองก็เข้าใจดีถึงตัวเลข ส.ส.ว่ามีความสำคัญในการสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อ แต่ตอนนี้ทุกพรรคก็ยังรอการตัดสินใจสุดท้ายของ ปชป. หากมีมติว่าจะร่วมพรรค พปชร. พรรคร่วมอื่นๆ ก็จะเปิดตัวทีเดียวพร้อมกัน ซึ่งมั่นใจว่าตอนนี้มีเสียง ส.ส.สนับสนุนเกิน 250 เสียง ซึ่งตัวเลขนี้ไม่นับรวมเสียงของประธานสภาผู้แทนราษฎร” รายงานระบุ
นายพุทธิพงษ์กล่าวเรื่องนี้ว่า การเดินหน้าพูดคุยทาบทามพรรคการเมืองอื่นๆ มาร่วมกันตั้งรัฐบาลนั้น ก็ยังไม่มีความคืบหน้าไปกว่าก่อนหน้านี้ แต่พรรคยังมั่นใจจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคพันธมิตรที่มีแนวทางทางการเมืองแบบเดียวกัน ต่างยืนยันจะจับมือกับ พปชร.เพื่อตั้งรัฐบาลนำพาประเทศไปสู่ความสงบ
นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรค พปชร.กล่าวว่า มั่นใจว่าพรรคตั้งรัฐบาลได้แน่นอน และ พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯ อีกสมัย และอยากฝากทุกพรรคขอให้ยอมรับในกติกา มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมและศาล โดยขออย่าเอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน และทำให้ประเทศวุ่นวายเหมือนกับบางฝ่ายที่ต้องการ ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ขอให้นำเข้าสู่สภา และอย่าเอาประชาชนเดินถนนอีกครั้ง เพราะบ้านเมืองบอบช้ำมามากแล้ว 
ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค พท. กล่าวเช่นกันว่า เชื่อมั่นในการจับมือของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่จะป้องกันการสืบทอดอำนาจ เราไม่อยากให้ฝ่ายใดใช้เงินหรือกระบวนการนอกระบบ ไปสร้างงูเห่าให้เกิดขึ้นในการเมือง เพราะถือเป็นเรื่องน่าอัปยศ ยังเชื่อว่าพรรคการเมืองที่เคยไปร่วมลงสัตยาบันยังจับมือกัน เพื่อจะทำให้ประเทศมั่นคงและแข็งแรง   
    นายปิยบุตรกล่าวว่า สัตยาบันที่ร่วมลงกับ 7 พรรคการเมืองยังจับมือกันเหนียวแน่น หาก กกต.ใช้สูตรคำนวณยึดหลักรัฐธรรมนูญมาตรา 91 จะทำให้พรรคที่ร่วมลงสัตยาบันมีเสียงเกินครึ่งของสภาแน่นนอน
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์กล่าวว่า เรื่องการประสานงานกับพรรคการเมืองต่างๆ เป็นหน้าที่ของผู้บริหารพรรค โดยเฉพาะนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ซึ่งความชัดเจนของพรรคจะมีขึ้นหลังที่ กกต.ประกาศผล ส.ส.ทั้งหมด ซึ่งพรรคจะยึดหลักเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของพี่น้องประชาชน
ยึดเก้าอี้ประธานสภาชดเชย
ดร.รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ (พช.) กล่าวว่า คะแนนเสียงของแต่ละขั้วไม่ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างปริ่มน้ำ แต่แนวโน้มที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯ ต่อเป็นไปได้สูง เพราะมีเสียง ส.ว.อยู่ในมือ ซึ่งเมื่อคะแนนเสียงฝ่ายประชาธิปไตยค่อนข้างสุ่มเสี่ยง ก้ำกึ่ง ไม่นับรวมว่าจะมีใครที่เป็นงูเห่า ถูกซื้อตัวไปอีกหรือไม่ อย่างน้อยขอให้ฝ่ายประชาธิปไตยรวบรวมให้ได้เกิน 251 เสียง รักษาทุกเสียงที่เคยรวบรวมไว้ให้ได้ เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง และสร้างความได้เปรียบในสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงรัฐสภา ด้วยการรวบรวมเสียงให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ยกมือให้กับคนของฝ่ายประชาธิปไตยได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทั้งนี้ก็จะรวมถึงการเป็นประธานรัฐสภาอีกด้วย 
“อย่างน้อยแม้นายกฯ จะอยู่ในฝ่ายสืบทอดอำนาจ ก็ขอให้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเป็นคนฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อลดทอนไม่ให้ คสช.ต้องผูกขาดและสืบทอดอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จทั้งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ” ดร.รยุศด์ระบุ
นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ เจ้าสำนักสุขิโต จ.เชียงใหม่ หรือฉายาโหร คมช. เผยว่า จากภาพนิมิต หลวงปู่เกวาลัน แห่งเทือกเขาหิมาลัย ฉายภาพถึงรัฐบาลใหม่จะได้เห็นหน้าตาเดือน มิ.ย.ก็จัดตั้งเสร็จสิ้น โดยยังมี พล.อ.ประยุทธ์ทำหน้าที่ต่อไป อย่างที่เคยพูดไว้เป็นแบบนั้น และถึงเวลาหมดหน้าที่เมื่อไหร่ชาติบ้านเมืองเดินไปได้ ท่านจะเดินลงเอง เหมือน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ 
"รัฐบาลมีเสียงเกินกว่า 250 เสียงขึ้นไปแน่นอน มีเสถียรภาพในการดำเนินงานตามหน้าที่พอสมควร เมื่อได้รัฐบาลชุดใหม่สภาพเศรษฐกิจดีขึ้น เป็นยุคมหาจักรพรรดิและยุคศิวิไลซ์ มีระเบียบแบบแผน ทรัพยากรในผืนแผ่นดินที่มีอยู่จะเจอปรากฏในช่วงที่มีผู้มีบุญจึงมาเปิดออกมา ประชาชน ชาวไทย ทุกระดับมีความอุดมสมบูรณ์ เจริญรุ่งเรือง" นายวารินทร์กล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"