สถานการณ์ทะเลไทย เสื่อมโทรมจนน่าใจหาย !


เพิ่มเพื่อน    


    
แม้วันนี้ทะเลไทยจะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ให้ไปแวะเวียนไปชื่นชมความงดงามอย่างไม่ขาดสาย  แต่ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับ กลับไม่มากเท่ากับการการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย  สาเหตุหลักๆ มาจากปัญหาขยะในทะเล ซึ่งไทยมีปัญหาขยะมากสุดอันดับต้นๆ ของโลก  และปัญหาขยะในทะเลนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะปะการังฟอกขาว ซึ่งทั้งสองปัญหาได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลเสื่อมโทรม    ทั้งสองประเด็นเป็นเรื่องที่พูดถึงกันมานาน แต่สถานการณ์ ณ ปัจจุบันก็ยังไม่มีหนทางบรรเทาแก้ไขปัญหา    ขณะที่ กิจกรรมการที่ใช้ประโยชน์จากทะเล ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น ไม่ได้ลดละหรือชะลอตัวตามสภาพความเสื่อมโทรมของทะเลแต่อย่างใด 

นักวิจัยทางทะเลหลายคน ได้เผยผลวิจัย รายงานสถานการณ์ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล พ.ศ.2560 รวมถึงสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับทะเลไทย รวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเล พร้อมกับทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและขับเคลื่อนงานวิจัย “ผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงทางทะเล” ระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อสร้างความร่วมมือการทำงานวิจัยอันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทะเลของประเทศ

 โดยศาสตราจารย์ ดร.เผดิมศักดิ์ จาระพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบัน ในปี 2561  ไทยมีพื้นที่ทางทะเลรวม 323,488.32 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 60% ของพื้นที่ทางบก ความยาวชายฝั่งทะเลเท่ากับ 3,151.13 กิโลเมตร ประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากทะเลอยู่  4 ภาคส่วนคือ 1.การพาณิชย์นาวี 2.การประมง 3.การผลิตพลังงาน และ 4.การท่องเที่ยวจังหวัดชายทะเล การใช้ประโยชน์จากทะเลเริ่มมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้นเหตุให้ต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทะเลชายฝั่งเช่น ปะการัง หญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธ์ ซึ่งเป็นฐานของกิจกรรมการใช้ประโยชน์เสื่อมโทรมลงทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ในปี 2558 มีดัชนีชี้วัดความเสื่อมคุณภาพของทะเล พบการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากอย่างเต่าทะเล โลมา พะยูนและวาฬ รวม 345 ครั้ง ในส่วนของปะการังปัจจุบันประเทศไทยเหลือปะการังที่มีสภาพสมบูรณ์จัดอยู่ในระดับดีถึงดีมากเพียง 5.7 % จากจำนวนปะการังทั้งหมด  ด้านคุณภาพน้ำทะเลกรมควบคุมมลพิษระบุว่ามีความเสื่อมโทรมมากที่สุดคือ อ่าวไทยรูปตัว “ก”
นอกจากกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทางทะเลที่เพิ่มขึ้นอย่างขาดทิศทางการวางแผนร่วมกันที่เหมาะสม จนเป็นเหตุให้ต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลงแล้ว อีกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับผลประโยชน์ไม่มากก็น้อยของคนไทยอีกประการคือ ผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทยไม่ได้ตกอยู่ในมือของคนไทยในปริมาณที่ควรจะเป็น 

ศาสตราจารย์ ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวยกตัวอย่างว่า ที่พอสังเกตได้คือ กรณีนักท่องเที่ยวจากฐานที่พักนอกประเทศสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลภายในประเทศได้โดยตรง อย่างเช่น กรณีหลีเป๊ะ จ.สตูล และคนต่างชาติมาเป็นเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว เช่น ร้านดำน้ำ โดยที่คนไทยที่เป็นเจ้าของพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวเท่าที่ควรจะเป็น และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยการขาดการควบคุมดูแลการเข้าใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม อีกปัญหาที่เริ่มส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ได้แก่ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรประมงของประเทศที่ส่งผลถึงแนวโน้มของดัชนีราคาอาหารทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ปริมาณอาหารทะเลที่คนไทยบริโภคต่อปีนั้นได้ลดลงเรื่อยๆ อย่างปี 2556 ปริมาณการบริโภคอาหารทะเลคนไทยลดลงมาน้อยเป็นอันดับ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน
ส่วนในเรื่องของสถานการณ์ทางทะเล ในปี 2560 ที่ผ่านมา นักวิจัยต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไทยมีประเด็นหลักๆ ที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน คือเรื่องขยะทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง ปะการังเสื่อมโทรม และยังรวมถึงการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมในทะเลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิจัยจาก ม.เกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์และแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะทะเลว่า ปัญหาขยะทะเลเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ขยะส่วนใหญ่เป็นพลาสติกจำพวกถุง หลอด ขวด ฝาจุก ภาชนะบรรจุอาหาร คิดเป็น 49% ของขยะที่พบทั้งหมด ขยะเหล่านี้แม้จะอยู่บนชายหาด แต่เมื่อลงสู่ทะเล ไม่ใช่แค่จะไปทำลายทะเล แต่สามารถลอยไปยังประเทศอื่นได้ ประเทศอื่นเขากำลังเพ่งเล็งมายังไทยในฐานะเป็นประเทศที่มีปัญหาขยะมากสุดอันดับต้นๆ ของโลกที่ยืนยันโดยองค์กรสากล ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ แต่ปัญหาสำคัญสุดคือ ปีนี้ชาวโลกยิ่งตระหนักกับการพบแพขยะทะเลขนาดใหญ่ในทะเลนอกเขตชายฝั่งของ จ.ชุมพร ทำให้ประเด็นขยะทะเลกลายเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนให้ความสนใจอีกครั้ง ทั้งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว การแก้ปัญหาก็คือต้องเริ่มตั้งแต่ชายฝั่ง เลิกใช้พลาสติก ถ้าใช้แล้วก็ต้องรับผิดชอบ ภัตตาคารโรงแรมหลายแห่งเลิกบริการหลอดพลาสติกไปแล้ว แล้วก็ไม่ให้สูบบุหรี่ใกล้ชายฝั่ง หากจะให้เห็นผลดี ควรมีนโยบายที่ชัดเจน และเอาจริงเอาจังไปเลย อาจจะตั้งเป้าทำให้ได้ภายใน 10 ปี แบบนี้จะเห็นภาพความมุ่งมั่น ประเทศอื่นเขาทำหมดแล้ว ไทยยังล่าช้า

“ขอเน้นย้ำอีกว่า ขยะทำร้ายสัตว์ทะเลหายาก เพราะสัตว์ทะเลตายวันละหลายตัว ที่สำคัญมันไปทำลายระบบนิเวศของปะการัง ไปทับปะการังจนตาย ไม่ก็ฟอกขาว มีข้อมูลระบุใหม่อีกว่า ขยะพลาสติกเมื่อกลายเป็นเศษขนาดเล็ก แบบไมโครพลาสติก มันจะไปบาดปะการัง พลาสติกเล็กพวกนี้ก็มีแบคทีเรียที่จะไปสะสมกับปะการัง ทำให้เป็นโรค ฉะนั้นปัญหาปลาลดไม่ต้องโทษแค่จับปลามากเกินไป แต่ปลามันลดเพราะขยะ และที่สำคัญเศษพลาสติกมันทำลายสุขภาพคนได้ มันสลายตัวจนเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร หากเข้าไปสะสมในตัวเราจะก่อให้เกิดโรคได้อีก” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว 

ส่วนประเด็นถัดมาเป็นเรื่องของปะการังเสื่อมโทรม ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน นักวิจัยจากสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุว่า ปัจจุบัน ไทยมีพื้นที่แนวปะการังกินบริเวณ 153 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 36,450 ล้านบาท/ปี โดยมีมูลค่าด้านการท่องเที่ยวคิดเป็นเงิน 84,357 ล้านบาทต่อปี ในปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันหลายรูปแบบที่ส่งผลกระทบต่อสถานภาพปะการัง เช่น การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมการท่องเที่ยวในแหล่งปะการัง และการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเล จึงทำให้ในช่วงปี 2554-2558 ปะการังมีสถานภาพสมบูรณ์ดี และสมบูรณ์ดีมากลดลง เหลือเพียงแค่ร้อยละ 5.7 ของพื้นที่ปะการังทั้งหมด ส่วนแนวทางแก้ไขจำเป็นต้องมีแนวทางด้านการจัดการการท่องเที่ยว แนวทางการจัดการน้ำเสีย แนวทางการจัดการเพื่อลดปริมาณตะกอนลงสู่ทะเล และแนวทางการจัดการประมงที่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง หรืออาจจะบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด ลดใช้ประโยชน์ในบริเวณที่มีปะการังเสื่อมโทรมมากเพื่อให้ปะการังมีโอกาสฟื้นตัว การสร้างเครือข่ายชุมชนชายฝั่งสำหรับเฝ้าระวังติดตาม และสำรวจสำรวจสถานภาพปะการังเพื่อสร้างความตระหนักและความร่วมมือในการบริหารจัดการได้ทันเหตุการณ์

 นอกจากนี้จากการเก็บข้อมูลของนายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  พบว่า ไทยกำลังประสบปัญหาสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการพัฒนาชายฝั่งและพื้นที่ริมทะเล และการแก้ปัญหาการกัดเซาะที่ผิดวิธี ประเด็นการกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการสูญเสียที่ดินทำกินของชุมชนชายฝั่ง โดยในปี 2560 พบชายฝั่งที่มีการกัดเซาะ145.73 กม. หรือคิดเป็นร้อยละ 4.63 จากความยาวชายฝั่งทั่วประเทศ  ซึ่งปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ดำเนินการจัดทำคู่มือ “แนวทางการจัดทำแผนงาน โครงการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง” โดยการใช้หลักมาตรการสีเขียวไปยังสีเทา หรือ Green to Grey นอกจากการแก้ไขแล้ว ภาครัฐกำลังมีแผนประกาศพื้นที่ที่ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อเป็นมาตรการเชิงรุกในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการจัดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 ทั้งนี้ศาสตราจารย์ ดร.เผดิมศักดิ์ ได้กล่าวให้ข้อมูลเสริมว่า การรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมในทะเลเป็นความท้าทายใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย  ทั้งในประเด็นสัมปทานการรื้อถอน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นก่อนและหลังทำการรื้อถอนเนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า สิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมในทะเล มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดปัญหาขยะทะเล ทำลายสัตว์ทะเลหายาก และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแนวปะการัง นำมาสู่การขับเคลื่อนในทางนโยบาย ทั้งนี้ในอ่าวไทยมีแท่นติดตั้งของผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียม รวมมีทั้งหมด 452 แท่น แบ่งเป็น แท่นผลิต 406 แท่น แท่นที่พักอาศัย 11 แท่น และแท่นอื่นๆ เช่น แท่นเผาก๊าซ แท่นกำจัดปรอท แท่นอุปกรณ์เพิ่มความดัน 18 แท่น เรือผลิต และแท่นผลิตชั่วคราว 17 แท่น สำหรับการรื้อถอนเป็นความรับผิดชอบของผู้รับสัมปทาน ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และการรับมอบ ผู้รับสัมปทานต้องมอบให้รัฐบาลไทยโดยไม่คิดมูลค่า ตามกฎกระทรวง กำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ.2555 และ การรื้อถอนแท่นที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งโดยเงื่อนไขคือสิ่งติดตั้งที่ไม่ได้ใช้งานเกิน 1 ปี ปริมาณสำรองปิโตรเลียมน้อยกว่าร้อยละ 40 หรือ หมดอายุสัมปทาน ซึ่งเป็นไปตามกฏกระทรวง

อย่างไรก็ตาม ผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า สำหรับทางเลือกในการรื้อถอน คือ รื้อถอนทั้งหมด ทั้งส่วนเหนือน้ำและใต้น้ำ และนำมาใช้ประโยชน์ทางทะเล เช่น นำมาใช้เป็นสถานีกลางทางทะเล สถานีสังเกตการณ์ สถานีจอดเรือรบ และวางในทะเลเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ คล้ายปะการังเทียม คาดว่าในแต่ละปีจะสามารถรื้อถอนได้ไม่ต่ำกว่า 5 แท่น หรือมากกว่านั้น

 “จากสถานการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมด เราจำเป็นที่จะต้องหาทางแก้ไข ไทยยังขาดการวางแผนในการใช้ทรัพยากรทางทะเล ทำให้การบริหารจัดการผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของไทยในภาพรวมขาดประสิทธิภาพ ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานจำนวนมากยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สาเหตุสำคัญมาจากแนวทางในการแก้ไขปัญหาถูกดำเนินการไปเฉพาะด้าน และขาดการบูรณาการ” รศ.เผดิมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"