คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขตทั่วประเทศไปเมื่อ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยประกาศให้ผู้ซึ่งได้รับการเลือกตั้ง จำนวน 349 คน จาก 350 เขต ได้เป็น ส.ส. ส่วนอีกหนึ่งเขตที่ไม่รับรองก็คือ เขตเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่ เขต 8 ที่ "สุรพล เกียรติไชยากร" จาก เพื่อไทย โดน ใบส้ม จาก กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันอาทิตย์ที่ 26 พ.ค.
อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. แม้ กกต.จะประกาศรับรองไปแล้ว แต่ กกต.ก็ยังมีอำนาจตามกฎหมาย คือภายใน 1 ปี หากพบว่า ส.ส.คนใดมีปัญหาเช่น มีพยานหลักฐานพบพฤติการณ์ซื้อเสียง หรือพบว่าขาดคุณสมบัติ ก็สามารถสั่งเลือกตั้งใหม่ได้
และถัดมาในวันพุธที่ 8 พ.ค.นี้ ก็จะถึงคิวที่ กกต.จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ที่ กกต.จะแจ้งถึงสูตรการคำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงได้ และพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กี่คน หลังจากใช้สูตรดังกล่าว
โดยมีคิวคั่นก่อนที่ กกต.จะประกาศ เพราะ กกต.ก็จะรอมติ-คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะวินิจฉัยปมปัญหาเรื่องเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ ที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงได้ เพราะในช่วงเช้าวันที่ 8 พ.ค.นี้ ศาล รธน.ได้นัดประชุมเพื่อลงมติในคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการคิดคำนวณเก้าอี้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ
ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่า สุดท้ายแล้ว มติและคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่จะออกมาจะลงลึกรายละเอียดในเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลยหรือไม่ หรือจะวินิจฉัยเพียงแค่บอกว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ที่จะดำเนินการ ทางศาล รธน.ไม่ได้ลงลึกอะไร ซึ่งทั้งหมดก็ต้องดูคำวินิจฉัยหลังการประชุมตุลาการศาล รธน. ที่ได้นัดลงมติกันในเวลา 09.30 น.
โดยคำวินิจฉัยของศาล รธน.และมติของ กกต. ที่จะคิดคำนวณเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงได้ ถือเป็นจุดสำคัญของจังหวะขยับทางการเมืองที่สำคัญต่อจากนี้ นั่นก็คือ
“การช่วงชิงเสียง ส.ส.เพื่อจัดตั้งรัฐบาล” ของสองขั้วการเมืองใหญ่ “พรรคเพื่อไทย” กับ "พรรคพลังประชารัฐ”
ที่ไม่ว่าสุดท้าย กกต.จะใช้สูตรไหน จะมีผลต่อการแกว่งไปแกว่งมา ศึกชิงเสียง ส.ส.ตั้งรัฐบาลว่าจะไหลไปอยู่ที่ขั้วไหน กันอยู่ที่ประมาณ 8-11 เสียง อันจะมีผลต่อชัยชนะในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะฝ่ายขั้วพลังประชารัฐ ที่อยู่ในสภาพกุมไพ่-ความได้เปรียบทางการเมือง ที่เหนือกว่าขั้วเพื่อไทยหลายขุม เป็นต่อหลายช่วงตัว กับการที่จะมี ส.ว.มาโหวตให้ บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ รอบสอง เพราะหาก ส.ว. 250 คน ไม่แตกแถว ลงมติไปในทางเดียวกันหมด ก็เท่ากับฝ่ายพลังประชารัฐขออีกแค่ 126 เสียง บิ๊กตู่ ก็ได้เป็นนายกฯ แล้ว จากนั้น ค่อยมาลุยตั้งรัฐบาลกันภายหลัง
บนความเชื่อของคนในแวดวงการเมืองและแกนนำพรรคพลังประชารัฐว่า เมื่อได้ตัวนายกฯ แล้ว สุดท้ายการเจรจาต่อรองกับพรรคการเมือง–นักเลือกตั้งพรรคต่างๆ แม้แต่พรรคที่เคยไปร่วมลงนามสัตยาบัน กับพรรคเพื่อไทย เมื่อ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็อาจไขว้เขว คือหัวหน้าพรรค–หัวแถว ไม่มาอยู่กับพลังประชารัฐด้วย เพื่อรักษาคำพูด ไม่ให้เสียคน แต่ลูกทีม ส.ส.ในพรรคอาจจะแตกแถว ขอเป็นงูเห่าเลื้อยเข้าขั้วพลังประชารัฐ
ยิ่งหากสุดท้าย กกต.ตัดสินใจใช้สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ โดยใช้สูตรที่ก่อนหน้านี้ทางสำนักงาน กกต.เคยหารือร่วมกับอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และเห็นว่า ควรใช้สูตรที่แม้พรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,057 คะแนน ก็ยังต้องได้โควตา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่สมควรถูกตัดออก เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์การร่าง รธน. ที่ต้องการให้ทุกคะแนนมีความหมาย คะแนนไม่ตกน้ำ อันจะทำให้ พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึง 71,057 คะแนน จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไปพรรคละหนึ่งเก้าอี้
ที่ก็มีข่าวว่าพรรคเล็กๆ ดังกล่าว ทั้งประชาชนปฏิรูป-พลังธรรมใหม่-ประชาภิวัฒน์-พลังไทยรักไทย-ไทยศรีวิไลย์-พลเมืองไทย-ประชานิยม-ครูไทยเพื่อประชาชน-ประชาธรรมไทย-ประชาธิปไตยใหม่ และไทรักธรรม ต่างได้รับการเจรจาจากแกนนำพรรคพลังประชารัฐให้มาอยู่ในขั้วเดียวกันแล้ว
ดังนั้น ฝ่ายขั้วพลังประชารัฐจึงลุ้นเป็นพิเศษ บนความมั่นใจว่า สุดท้าย กกต.น่าจะใช้สูตรดังกล่าวคิดคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อันจะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลของขั้วพลังประชารัฐราบรื่นมากขึ้น จากนั้นก็ไปลุ้น “พรรคสีฟ้า-ประชาธิปัตย์” ที่จะเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในวันที่ 15 พ.ค. ให้มีมติร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ ชนิดมาพร้อมกันหมดทั้งพรรค 52 เสียง ไม่มีแตกแถว ไม่มีงดออกเสียง เพราะการตั้งรัฐบาลรอบนี้ ไม่ว่าจะเป็นขั้วของเพื่อไทยหรือพลังประชารัฐเอง ทุกเสียงมีความหมายทั้งสิ้น
ขณะที่พรรคอื่นๆ ทั้งภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนา-รวมพลังประชาชาติไทย ทางขั้วพลังประชารัฐและแกนนำรัฐบาล คสช. ก็มั่นใจว่า มาชัวร์ มาแน่ มาทุกเสียง เพราะคุยกันไว้หมดแล้ว ส่วนบางพรรคอย่าง เศรษฐกิจใหม่ของมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ยังต้องลุ้นลูกพรรคมิ่งขวัญจะแหกคอกมาหรือไม่
ดังนั้นชั่วโมงนี้แม้คนในเพื่อไทยและแนวร่วมอย่าง อนาคตใหม่-เสรีรวมไทย-ประชาชาติ-เพื่อชาติ จะเชื่อว่ายังมีโอกาสรวมเสียงได้มากกว่า 250 เสียง หากจะมีแตกแถว ก็เป็น "งูเห่า” ที่หากเกิดขึ้น ฝ่ายขั้วเพื่อไทยจะใช้ไปเป็นประเด็นโจมตีพลังประชารัฐได้ว่า ใช้เงินซื้อตัว ส.ส.-ซื้องูเห่า แต่โดยสภาพในเวลานี้ ก็ต้องถือว่าฝ่ายขั้วเพื่อไทยยังเป็นรองพลังประชารัฐอยู่หลายขุม จากเงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้ ส.ว.มาร่วมโหวตนายกฯ
ยามนี้สิ่งที่ เพื่อไทย ทำได้ ก็คือความพยายามสู้ทุกช่องทาง แม้จะสู้ไม่ได้ในขั้นตอนการโหวตนายกฯ ที่พลังประชารัฐมีเสียง ส.ว. 250 เสียงหนุน แต่ก็พยายามขวางไม่ให้พลังประชารัฐรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง จึงไม่แปลกที่ เพื่อไทย จะพยายามขวางสุดตัวไม่ให้ กกต.ใช้สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ที่จะทำให้พรรคเล็กๆ ได้ ส.ส. เพราะจะทำให้พรรคพันธมิตรฯ อย่าง อนาคตใหม่ อาจต้องเสียโควตาปาร์ตี้ลิสต์ไปร่วมๆ 8 เสียง
เห็นได้จากก่อน กกต.จะรับรอง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งวัน บรรดาแกนนำเพื่อไทยก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวและทำหนังสือถึง กกต.รายบุคคล เพื่อจี้ให้ กกต.คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยใช้หลักพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,057 คะแนน ไม่ควรได้โควตาปาร์ตี้ลิสต์
ทั้งหมดคือจุดเริ่มต้นของโหมดการชิงเสียง ชิงเหลี่ยม ในศึกจัดตั้งรัฐบาลของขั้วเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ ที่หลังจากนี้จะทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเจรจาต่อรองต่างๆ ของกลุ่มนักเลือกตั้ง-พรรคการเมืองต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายก็ต้องการให้ฝ่ายตัวเองได้เปรียบมากที่สุด
แต่ก่อนจะไปถึงการโหวตเลือกนายกฯ-ตั้งรัฐบาล ฟอร์ม ครม. ยกแรกของโหมดศึกชิงอำนาจรอบนี้ก็คือ การเลือก "ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ที่จะเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง
ที่คาดว่าจะมีการประชุม ส.ส.เพื่อเลือกประธานสภาฯ ได้ในสัปดาห์หน้านี้ ซึ่งหากขั้วพลังประชารัฐรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 250 เสียง จนคนของฝ่ายตัวเองได้เป็นประธานสภาฯ
เพราะถ้าผลออกมาเช่นนี้ ก็หมายถึงการตั้งรัฐบาลของขั้วพลังประชารัฐสำเร็จแล้ว ส่วนเพื่อไทยก็ End game รอเป็นฝ่ายค้านเต็มตัวต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |