เมียนมาปล่อยตัว 2 นักข่าวรอยเตอร์


เพิ่มเพื่อน    

สองนักข่าวรอยเตอร์ชาวเมียนมาได้รับอิสรภาพแล้วเมื่อวันอังคาร ภายหลังโดนจับกุมและจองจำนานกว่า 16 เดือน เหตุจากสืบสวนข่าวการฆ่าหมู่ชายชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ ประธานาธิบดีเมียนมาตัดสินใจอภัยโทษโดยอ้างเป็นผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศ หลังจากคดีของทั้งคู่ทำให้รัฐบาลเมียนมาโดนประณามอย่างรุนแรง

วา โลน (ซ้าย) และจ่อ โซ อู ยกมือทักทายขณะเดินออกจากประตูเรือนจำอินเส่งภายหลังได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 / AFP

    วา โลน วัย 33 ปี และจ่อ โซ อู วัย 29 ปี ถูกจับกุมเมื่อเดือนธันวาคม 2560 และถูกศาลพิพากษาเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืนกฎหมายความลับของทางราชการ และถูกตัดสินลงโทษจำคุกคนละ 7 ปี คดีของพวกเขาทำให้รัฐบาลเมียนมาภายใต้การนำของนางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐ โดนกลุ่มสิทธิและรัฐบาลหลายประเทศรุมประณาม

    รายงานเอเอฟพีและรอยเตอร์กล่าวว่า ทั้งคู่อยู่ในกลุ่มนักโทษ 6,520 คนได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำอินเส่งเมื่อวันอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2562 ตามคำประกาศอภัยโทษของประธานาธิบดีวิน มยินต์ ที่คืนอิสรภาพให้นักโทษครั้งใหญ่นับแต่วันสงกรานต์ของเมียนมาเมื่อวันที่ 17 เมษายน

    วา โลน กล่าวขอบคุณผู้คนจาก "ทั่วโลก" ที่ช่วยกันเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขา และว่าเขาจะกลับไปทำหน้าที่นักข่าวเช่นเดิม

    ด้านสตีเฟน แอดเลอร์ บรรณาธิการบริหารของรอยเตอร์ แสดงความยินดีที่เมียนมาปล่อยตัวนักข่าวที่กล้าหาญของรอยเตอร์ โดยกล่าวว่า นับตั้งแต่การจับกุมทั้งคู่เมื่อ 511 วันก่อน พวกเขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์แทนความสำคัญของเสรีภาพสื่อทั่วโลก

    จ่อ เทย์ โฆษกรัฐบาลเมียนมา เผยกับผู้สื่อข่าวว่า ครอบครัวของนักข่าวทั้งสองได้ส่งจดหมายถึงนางอองซาน ซูจี และประธานาธิบดีวิน มยินต์ เพื่อขออภัยโทษ "ผู้นำทั้งสองพิจารณาถึงผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศ" เขากล่าว

    รายงานของรอยเตอร์กล่าวว่า ภรรยาของนักข่าว 2 คนนี้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลเมื่อเดือนเมษายน ร้องขอให้คืนอิสรภาพแก่สามี ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ได้กระทำความผิด แต่เพราะเหตุผลเพื่อให้พวกเขาได้รับการปล่อยตัวกลับมาอยู่กับครอบครัว

สองนักข่าวรอยเตอร์ถ่ายรูปกับภรรยาและลูกของพวกเขา / AFP

    ตัวแทนของรอยเตอร์มารอรับทั้งคู่ที่หน้าเรือนจำพร้อมกับลอร์ด อารา ดาร์ซี นายแพทย์ชาวอังกฤษที่เป็นสมาชิกในคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลเมียนมาเกี่ยวกับการปฏิรูปในรัฐยะไข่ ดาร์ซีกล่าวในแถลงการณ์ว่าการปล่อยตัวพวกเขาเผยให้เห็นว่าการทูตใช้การได้ แม้แต่ในสภาพการณ์ที่ยากมากที่สุดก็ตาม

    ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพรายนี้เผยว่า การหารืออภัยโทษวา โลน และจ่อ โซ อู นั้นมีบุคคลในรัฐบาล, ตัวแทนของรอยเตอร์, องค์การสหประชาชาติ และตัวแทนของรัฐบาลชาติอื่นๆ เข้าร่วมด้วย แต่เขาไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

    ก่อนโดนจับกุม ทั้งคู่กำลังทำข่าวสืบสวนการฆ่าหมู่ชาวมุสลิมโรฮีนจา 10 คนซึ่งมีทั้งผู้ชายและเด็กชาย ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของรัฐยะไข่ โดยเชื่อว่าเป็นฝีมือของทหารและชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธ โดยเหตุการณ์นี้เกิดในช่วงที่กองทัพเปิดปฏิบัติการกวาดล้างครั้งใหญ่ในรัฐติดชายแดนตะวันตกรัฐนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ปฏิบัติการกวาดล้างส่งผลให้ชาวโรฮีนจาอพยพข้ามชายแดนเข้าบังกลาเทศมากกว่า 730,000 คน

    รายงานข่าวที่ทั้งคู่เขียน โดยได้จากคำให้การของผู้กระทำความผิด, พยาน และครอบครัวของเหยื่อ เพิ่งได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ด้านการรายงานข่าวต่างประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว เพิ่มอีกรางวัลจากเกียรติคุณมากมายที่พวกเขาได้รับก่อนหน้านี้

    ทั้งสองยังได้ขึ้นปกนิตยสารไทม์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของรายงานพิเศษบุคคลแห่งปีของไทม์ ที่ยกย่องผู้สื่อข่าวหลายคนที่โดนจับกุมคุมขังและประหัตประหารจากการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว

    โฆษกของอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น กล่าวว่า กูเตอร์เรสโล่งใจที่ทั้งคู่ได้รับการปล่อยตัว ขณะที่สำนักงานยูเอ็นในเมียนมากล่าวว่า การปล่อยตัวพวกเขาเป็นสัญญาณแสดงความยึดมั่นของรัฐบาลเมียนมาต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"