ทรัมป์พลิกเกมอีก....สงคราม การค้ามะกัน-จีนไม่จบง่าย!


เพิ่มเพื่อน    

 

              อยู่ดีๆ โดนัลด์ ทรัมป์ก็ประกาศผ่านทวิตเตอร์เมื่อต้นสัปดาห์ว่า สินค้าจีนมูลค่ากว่า 200,000 ล้านเหรียญที่เข้าตลาดสหรัฐฯ จะถูกเก็บภาษีเพิ่มจากเดิม 10% เป็น 25%

                ใครที่ติดตามข่าวสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ได้เห็นข่าวนี้ก็ต้องแปลกใจเป็นธรรมดา เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ทรัมป์เองเป็นคนออกข่าวว่า "ข่าวดี" กำลังจะมา และวันศุกร์ที่จะถึงนี้จะมีการประกาศความคืบหน้าในทางบวกผลการเจรจาของสองฝ่ายที่ลากยาวมาพอสมควร

                แต่แล้วทรัมป์ก็สร้างความตระหนกให้ทั้งโลก ด้วยการบอกว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนเข้าสหรัฐฯ วันศุกร์นี้แล้ว

                เหตุผลของทรัมป์มีสั้นๆ ห้วนๆ ว่า "เพราะการเจรจาเดินหน้าช้าเกินไป"

                นี่เป็นลีลาของ "นักต่อรอง" อย่างทรัมป์อีกครั้งหนึ่งที่ไม่มีความเกรงอกเกรงใจใครทั้งสิ้น แม้กระทั่งสี จิ้นผิงของจีนที่ทรัมป์ย้ำเสมอว่าเป็น "เพื่อนซี้" กันมาตลอด

                มีเพื่อนอย่างทรัมป์ไม่ต้องมีศัตรูก็ได้ เพราะแกพูดอะไรทำอะไรไม่ให้เกียรติคนที่เป็นคู่เจรจาเลยแม้แต่น้อย

                ความจริงทรัมป์ประกาศว่าจะขึ้นภาษีสินค้าจีนเข้าสหรัฐฯ รอบใหม่จาก 10% เป็น 25% มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ตอนแรกที่ประกาศเป็นข่าวนั้นใครๆ ก็มองออกว่าเป็นเพียงการออกข่าวเพื่อจะกดดันจีนเท่านั้น

                สี จิ้นผิงไม่ได้แสดงความหวั่นเกรงต่อคำขู่นั้นแต่อย่างใด ตอบกลับด้วยการบอกว่าจีนไม่ต้องการจะทำสงครามการค้ากับอเมริกา แต่ถ้าหากสหรัฐฯ ใช้วิธีข่มขู่คุกคาม ไม่ใช้เหตุและผล จีนก็ไม่กลัว ปะฉะดะก็ปะฉะดะว่างั้นเถอะ

                แต่ในจังหวะนั้นทรัมป์ก็ถอย ขอส่งทีมไปเจรจาซึ่งปักกิ่งก็บอกว่าการหาทางออกด้วยการพูดจานั้นเป็นสิ่งที่จีนปรารถนาอยู่แล้ว เพราะไม่ได้ต้องการทำศึกสงครามกับอเมริกาแต่อย่างใด

                จากนั้นเราก็ได้ข่าวเป็นระยะๆ ว่าจีนพร้อมจะซื้อของเพิ่มจากอเมริกาเพื่อลดการได้ดุลการค้ากับอเมริกา เพื่อให้สหรัฐฯ เห็นความจริงใจของจีนที่จะร่วมกันแก้ปัญหา

                แรกๆ ทรัมป์ก็ดูเหมือนจะมองเห็นว่าการที่จีนยอมอ่อนข้อเป็นชัยชนะของตน จึงเขียนทวิตเตอร์ด้วยเนื้อหาทำนองว่าแกกับสี จิ้นผิงกำลังจะประกาศข้อตกลงที่ยิ่งใหญ่

                ทรัมป์เรียกการตกลงว่า deal เสมอ

                คำว่า deal นั้นปกติจะใช้สำหรับนักธุรกิจที่ใช้กลเม็ดเด็ดพรายในการต่อรองเพื่อให้ตนได้ประโยชน์สูงสุดเท่านั้น แต่สำหรับผู้นำโลกแล้วคำนี้มีความหมายในทางติดลบด้วยซ้ำไป เพราะฟังเหมือนกับมีการใช้ลูกเล่นสารพัดเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบตน

                แต่ทรัมป์ไม่แคร์ เพราะโตมาพร้อมกับความเชื่อที่ว่าไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไร ชัยชนะย่อมวัดกันที่  deal มิใช่การทำให้ทั้งสองฝ่ายที่ต่อรองกันได้ประโยชน์ทั้งคู่อย่างที่ฝ่ายจีนเรียก win-win

                 พอทรัมป์แสดงอาการทะลุกลางปล้องออกมาอย่างนี้ ฝ่ายจีนที่มีผู้นำคณะเจรจาคือรองนายกฯ หลิว เฮ่อ ก็บอกว่ากำลังพิจารณาจะเลื่อนการเดินทางไปวอชิงตันที่เดิมกำหนดไว้ว่าเป็นสัปดาห์นี้

                เดิมจะพบกันรอบใหม่เพื่อหาข้อสรุป จะได้ประกาศ "สงบศึก" อย่างที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้

                แต่เมื่อทรัมป์พลิกเกมอย่างนี้แล้ว จีนก็คงต้องถอยมาตั้งหลักเพื่อปรับกลยุทธ์ว่าจะเล่นกับทรัมป์อย่างไร

                เป็นเรื่องค่อนข้างแปลกที่ผู้นำสหรัฐฯ กลายเป็น "เด็กเกเร" ที่ส่งเสียงโวยวายได้ตลอด ขณะที่สี จิ้นผิงกลับเล่นบทผู้ใหญ่ สงบนิ่ง พยายามหลีกเลี่ยงวิธีการ "แลกหมัด" อย่างที่ผู้นำจีนในยุคก่อนๆ เคยใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในเวทีระหว่างประเทศมาก่อนหน้านี้

                ทรัมป์ยิงทวิตเตอร์เรื่องนี้ออกมาเป็นชุด

                หลังจากส่งข้อความทวิตเตอร์เรื่องจะขึ้นภาษีสินค้าเข้าจากจีนที่มียอด 200,000 ล้านเหรียญจาก 10% เป็น 25% ในวันศุกร์นี้แล้ว เขาก็ยังออกข่าวต่อทำนองว่าสหรัฐฯ กำลังพิจารณาปรับภาษีของสินค้านำเข้าจากจีนอีกชุดหนึ่ง มีมูลค่า 325,000 ล้านเหรียญด้วย

                ต่อมาทรัมป์ก็ส่งข้อความทวิตเตอร์อีกว่า

                "อเมริกาขาดดุลการค้ามาหลายปีติดต่อกันแล้ว ปีละ 600,000 ถึง 800,000 ล้านเหรียญ กับจีนประเทศเดียว เราก็ขาดดุล 500,000 ล้านแล้ว เสียใจด้วย เราจะไม่ยอมให้เป็นอย่างนี้อีกต่อไป"

                ว่าแล้วโลกก็ตกอยู่ในภาวะหวั่นไหวต่อไป เพราะทรัมป์ถือว่าตัวเองเป็น "นักต่อรองตัวยง" ที่ยังเอาสี จิ้นผิงไม่ลงนี่แหละ! 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"