สิ้นปราชญ์สำคัญ ประเสริฐ ณ นคร


เพิ่มเพื่อน    


    สิ้นปราชญ์คนสำคัญของประเทศ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบในวัย 100 ปี ทิ้งผลงานไว้มากมาย ได้รับยกย่องเป็นปรมาจารย์ด้านไทยศึกษา ทั้งยังเป็นผู้ประพันธ์คำร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 9 ถึง 5 เพลง
    เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ มีรายงานว่า ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ.2531 และอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบด้วยโรคชรา ที่บ้านพักภายในซอยท่านผู้หญิงพหล ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. สิริอายุรวม 100 ปี โดยเพจเฟซบุ๊ก KU มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์แสดงความอาลัย ระบุ ศ.ดร.ประเสริฐ คือปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศ เพชรนนทรี และเกษตราภิชาน ผู้รอบรู้อย่างแท้จริงในศาสตร์เกษตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
    ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2462 ที่ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อดีตนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเกษตรวิศวกรรม จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ด้วยทุน ก.พ. ปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทและเอกทางสถิติจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา ประกาศนียบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 11
    เริ่มเข้ารับราชการเป็นนักเกษตรผู้ช่วยโท แผนกปฐพีวิทยา และอาจารย์วิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน กรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตราธิการ เมื่อปี 2482 ก่อนที่จะย้ายไปเป็นอาจารย์ที่สถานีทดลองเกษตรกรรมแม่โจ้ และกลับมาเป็นอาจารย์โทแผนกวิศวกรรม สำนักงานคณะเกษตรศาสตร์, เลขานุการคณะเกษตรศาสตร์ และเลขาธิการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    ต่อมา สอบได้ทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อและสำเร็จปริญญาโทและเอกทางสถิติจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2500 นับเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาทางสถิติ และเป็นผู้ริเริ่มหลักสูตรสถิติในมหาวิทยาลัยต่างๆ หลังจากนั้นได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายกราชบัณฑิตยสถาน และเป็นปลัดทบวงมหาวิทยาลัย อยู่ในตำแหน่งจนเกษียณอายุ
    ศ.ดร.ประเสริฐ เป็นปรมาจารย์ในด้านไทยศึกษา รอบรู้ในลักษณะสหวิทยาการ สนใจงานด้านคณิตศาสตร์ สถิติ การคำนวณปฏิทิน การแต่งเพลง พันธุศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาไทยโบราณ มีผลงานวิจัยเผยแพร่ทั้งในและต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับและอ้างถึงในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี 2531 ในกลุ่มสาขาปรัชญา (ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี) โดยสำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
    นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านดนตรี โดยประพันธ์เพลงไทยเดิมและเพลงสากลอย่างต่อเนื่อง ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประพันธ์คำร้องเพลงพระราชนิพนธ์รวม 5 เพลง คือ เพลงใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต ในดวงใจนิรันดร์ แว่ว และเพลงเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย 
    ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2562 กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาและศิษยานุศิษย์ จัดงาน "ศตวรรษา ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร" เพื่อเชิดชูเกียรติ ในโอกาสที่จะมีอายุครบ 100 ปี เพื่อน้อมรำลึกถึงคุณูปการ และแสดงความกตัญญูกตเวทิตาคุณแด่อาจารย์ผู้เป็นปราชญ์ของไทย และเป็นแบบอย่างของการประกอบคุณงามความดีมาตลอด ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมงานด้วย
ศิลปินแห่งชาติก็สิ้นอีก 1
    วันเดียวกัน นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค. เวลาประมาณ 03.20 น. นายประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) พุทธศักราช  2544  จากไปด้วยอาการปอดติดเชื้อที่โรงพยาบาลรามคำแหง สิริอายุ 96  ปี กล่าวได้ว่า วงการสถาปัตยกรรมไทยสูญเสียศิลปินชั้นครู ผู้เชี่ยวชาญงานสถาปัตยกรรม พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพจะมีขึ้นวันที่ 8 พ.ค. เวลา 17.00 น. ณ ศาลา 9 วัดโสมนัสราชวรวิหาร จ.กรุงเทพฯ และกำหนดสวดพระอภิธรรมระหว่างวันที่ 8 -10 พ.ค. เวลา 18.30 น. โดยมีกำหนดพระราชทานเพลิงศพวันที่ 11 พ.ค. เวลา 14.00 น. ณ เมรุวัดโสมนัสราชวรวิหาร ในส่วนของการช่วยเหลือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพจำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท
    นายประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ ศิลปินแห่งชาติ เกิดเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2465 เป็นศิลปินที่ได้สร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมไว้จำนวนมาก เป็นที่ประจักษ์ที่เหมาะสมและเป็นแบบอย่าง เนื่องด้วยครอบครัวของนายประดิษฐ์มีเลือดเนื้อเชื้อไขเป็นช่างในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีความเป็นเลิศทางงานช่างด้านศิลปะสถาปัตยกรรมที่ฝีมือสูงเด่น ตลอดจนมีครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาการให้ ทำให้ได้รับการสืบทอดสามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นมรดกแก่อนุชนและแผ่นดินเป็นจำนวนมาก 
    นายประดิษฐ์มีความรู้ความชำนาญทางด้านการออกแบบและตกแต่งเจดีย์ อุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ กำแพง ซุ้มประตู การเขียนลวดลายบนบานประตู ฝาผนัง แกะสลักหยวกตกแต่งจิตกาธาน ฯลฯ ตลอดระยะเวลาอันยาวนานสร้างผลงานที่มีการพัฒนา การอนุรักษ์ การสืบสาน และมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองและของประเทศ เป็นที่ยอมรับในวงการช่างวิชาชีพและประชาชน เป็นแบบอย่างให้อนุชนรุ่นหลังดำเนินรอยตามเพื่อสืบสานงานสถาปัตยกรรมแบบประเพณีให้ดำรงอยู่สืบไป จึงได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"