วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร หรือ วัดน้อยปักษ์ใต้ แต่ชาวเพชรเรียกว่า “วัดใหญ่ฯ” จนติดปาก มีหลักฐานตามพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงระบุว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถแห่งนี้เขียนมาก่อน 300 ปีขึ้นไป สันนิษฐานว่าวัดนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรม งานจิตรกรรมและประติมากรรมที่รวบรวมฝีมือช่างไว้หลายสาขา ทั้งในพระอุโบสถและบนศาลาการเปรียญล้วนแล้วมีคุณค่าทางศิลปะเก่าแก่ ภาพเทพชุมนุม 5 ชั้น พระพรหมสี่หน้า ยักษ์ ครุฑ ฤาษี เทวดา กลางองค์เทพมีลายดอกไม้
ศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร มีขนาด 10 ห้อง มีความกว้าง 5 วา ยาว 15 วา นับว่ามีขนาดใหญ่ ตามตำนานว่า สมเด็จพระเจ้าเสือได้พระราชทานท้องพระโรงหลังหนึ่งมาเพื่อช่วยเหลืออาจารย์คือ สมเด็จพระสังฆราชแตงโม ทำเป็นการเปรียญในคราวที่ท่านได้กลับมาบูรณะวัดใหญ่สุวรรณารามฯ วัดเดิมที่เคยศึกษาเล่าเรียนมา ซึ่งได้รับพระราชทานท้องพระโรงหลังหนึ่งมาพร้อมกับช่างหลวง มีช่างไม้ ช่างปูน ช่างเขียน ช่างแกะสลัก โดยสมเด็จพระสังฆราชแตงโมเป็นแม่งานคุมการทั้งปวงจนเสร็จในคราวนั้น
ที่ศาลาการเปรียญมีทางขึ้นลงทั้งด้านหน้า ด้านหลัง โครงสร้างเป็นบันไดก่ออิฐถือปูน ตัวอาคารทำจากไม้สักทั้งหลัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย ประดับช่อฟ้าใบระกาติดกระจก ที่บานประตูศาลาการเปรียญทางทิศตะวันออกทำด้วยไม้สักจำหลักลวดลายและปิดทองประดับกระจกสวยงาม ประตูนี้ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากตอนบนของประตูมีรอยแตกเป็นแผลเหมือนถูกขวานจาม เพราะถูกพม่าฟันประตูเพื่อเข้าไปจับคนไทยที่อยู่ด้านใน
ท่านยังได้ไปสร้างวัดหนองหว้าเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้โยมมารดา ไปสร้างวัดดอนบ้านใหม่ที่บางทุลุ (หาดเจ้าสำราญ) อุทิศให้โยมบิดา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเล่าโดยการสันนิษฐานว่า ศาลาการเปรียญวัดใหญ่ฯ เป็นพระตำหนักเจ้าฟ้าอภัยภาค หรือเจ้าขวัญ เมื่อพระเจ้าเสือได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ได้พระราชทานมาปลูกเป็นศาลาการเปรียญวัดใหญ่ฯ ทั้งนี้ เพราะผีดุ และยังมีเรื่องเล่าอีกว่าพระเสือเคยเสด็จมาเมืองเพชรบุรีหลายครั้ง เสด็จทรงปลาบ้าง คล้องช้างบ้างและทรงเคยไปเยี่ยมพระอาจารย์แสงที่วัดเขาบันไดอิฐ และได้เสด็จมาเยี่ยมสมเด็จพระสังฆราชแตงโม พระอาจารย์ที่วัดใหญ่ฯ ทรงเห็นว่ากำลังซ่อมพระอุโบสถอยู่ ยังขาดศาลาการเปรียญ จึงพระราชทานท้องพระโรงหลังหนึ่งมาสร้างเป็นศาลาการเปรียญ และมีธรรมาสน์พรั่งพร้อมด้วยสังเค็ดเหมือนพระตำหนักย่อส่วน (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร) เป็นศิลปะสมัยอยุธยา
บุษบกพานแว่นฟ้า (ธรรมาสน์วัดใหญ่ฯ) ห้องที่เห็นอยู่นี้เมื่อเดือน ส.ค.2560 สำนักพระราชวังได้มีหนังสือมาขออัญเชิญไปยัง กทม. และดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ลงรักปิดทองใหม่ เพื่อเข้าประกอบพิธีในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) โดยอัญเชิญบุษบกแว่นฟ้าประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรม (ท้องสนามหลวง) สำหรับการพระราชพิธีประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิของพระองค์ท่าน (รัชกาลที่ 9) เมื่อช่วงเช้าวันที่ 27 ต.ค.2560 และวันที่ 24 ธ.ค.2560 สำนักพระราชวังจึงอัญเชิญบุษบกแว่นฟ้าหลังนี้กลับมาประดิษฐานยังศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณารามฯ จ.เพชรบุรี ดังเดิม
สิ่งสำคัญที่ควรชมและศึกษา 1.ลายแกะสลักประตูศาลาและรอยขวานพม่าฟันเมื่อปี 2308 2.ภาพแลลายในศาลาการเปรียญ (ท้องพระโรงสมัยอยุธยา) 3.ธรรมาสน์ทรงบุษบกสมัยอยุธยา 4.หอไตร 3 เสากลางน้ำ 5.ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ 6.รูปสมเด็จพระสังฆราชแตงโม และพระพุทธรูป 6 นิ้วในพระอุโบสถ 7.ฝากุฏิ 6 แบบ บ่งบอกเอกลักษณ์ของเรือนไทยสมัยโบราณ 8.พระเชียงแสน พระคันธารราฐ (ปิดทองได้เฉพาะช่วงงานประเพณีสงกรานต์) 9.เว็จกุฏิหรือส้วมโบราณด้านหลังกุฏิสงฆ์
พระครูพัชรศิลปาคม (พระอาจารย์นก วัดใหญ่ฯ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดใหญ่สุวรรณารามฯ กล่าวว่า บนชั้น 2 ของศาลาการเปรียญมีบันได 3 ขั้น อัศวมัจฉาบางส่วนถูกทำลายไป เมื่อเข้ามาภายในแล้วจะเห็นพระแก้วมรกตองค์ใหญ่มากตั้งอยู่เป็นประธาน เนื่องจากมีผู้มีอันจะกินนำมาถวาย หลวงพ่อจึงได้นำมาประดิษฐาน และมีความตั้งใจว่าจะหล่อพระรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) มาตั้งที่นี่ด้วย พระตำหนักเจ้าฟ้าอภัยภาค หรือเจ้าขวัญ เป็นน้องชายพระเจ้าเสือ ซึ่งไม่สามารถเขียนเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษรได้ แต่เป็นที่รู้กันในประวัติศาสตร์ว่าทรงเป็นหนามยอกอก ทำนองว่าคนตาย แต่ของยังอยู่ พระตำหนักเคยเป็นที่ปลงพระศพของเจ้าขุนมูลนายที่เสียชีวิตและตั้งบำเพ็ญกุศลพระศพ
“ของอะไรที่เป็นสิ่งอาถรรพณ์ คนมักจะนำมาถวายวัด อย่างกุฏิของเจ้าอาวาส เป็นบ้านเดิมของคนที่ผูกคอตาย กุฏิรองเจ้าอาวาสก็เป็นของคนที่คลอดลูกตายแล้วคนในครอบครัวก็นำมาถวายวัด หรืออย่างบ้านหลังหนึ่งถูกปล้นและเสียชีวิตทั้งครอบครัวก็มาคนนำมาถวายวัด ของอาถรรพณ์เหล่านี้โบราณว่าไม่ให้เก็บไว้ที่บ้าน ให้นำมาถวายวัด เป็นความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ ที่วัดใหญ่ฯ แห่งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมัยที่ทรงเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เคยเสด็จฯ มา และครั้งหลังสุดเมื่อปี 2551 เสด็จฯ มาสดับธรรมะที่นี่ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ พาทีมงานมาแล้วหลายครั้ง”
เมื่อปี 2559 ที่มีข่าวชาวเพชรอึ้ง ศาลาการเปรียญวัดใหญ่ฯ ใช้ตะปูตอกแทนสลักไม้ ตามเทคนิคโบราณ มีการใช้สลักไม้ การเข้าไม้แบบโบราณ แต่การบูรณะในครั้งนั้นกลับใช้ตะปูโลหะตอกลงบนเนื้อไม้ ขาดความประณีต ทำให้เนื้อไม้เสียหายด้วย การบูรณะไม่ตรงตามเทคนิคของช่างเมืองเพชรโบราณ ขาดความเข้าใจในงาน ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร และทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ ผู้ก่อตั้งมิวเซียมเพชรบุรี ให้สัมภาษณ์รายการวิทยุเพชรภูมิเรดิโอ 103.5 ศาลาการเปรียญนี้เชื่อกันว่าพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยาถวายสมเด็จเจ้าแตงโม พระอาจารย์ของพระองค์ ในครั้งที่สมเด็จเจ้าแตงโมมาบูรณะวัดใหญ่สุวรรณารามฯ เพชรบุรี วัดที่พระองค์ทรงเป็นเด็กวัดได้บวชเรียน ต่อมาพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 มีรับสั่งไว้ ดูการช่างฝีมือช่างเมืองเพชร ต้องมาดูที่วัดใหญ่ฯ การเข้าไม้ ต่อไม้ได้แนบสนิทสุดยอด แต่มาวันนี้มีการบูรณะซึ่งใครก็ทำไม่ได้นอกจากกรมศิลป์ เพราะมีการขึ้นทะเบียนไว้ แต่ไม่รู้เอาช่างที่ไหนมา
งานนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รับสั่งฝากว่างานนี้เป็นงานละเอียด ต้องใช้ช่างชั้นสูงของสถาปนิก ขอให้ใช้ช่างที่เป็นภูมิปัญญาพื้นเมืองคนท้องถิ่นเป็นคนดำเนินการ ถ้าเป็นงานสากลปล่อยให้ผู้รับเหมาเป็นผู้ดำเนินการไป ควรให้ความสำคัญกับช่างท้องถิ่น เขาจะรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี
ขณะนี้วัดใหญ่ฯ ยังมีสิ่งที่จะต้องมีการบูรณะอีกมากมาย กรมศิลปากรหน่วยงานเดียวก็มีงานที่จะต้องดูแลทั่วทั้งประเทศ จะเข้ามาดูแลทุกวัดก็คงจะไม่ไหวเหมือนกัน แต่ที่วัดใหญ่ฯ แห่งนี้ ท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เคยพูดไว้ว่าเป็นอยุธยาพูดได้มีเรื่องราวมากมาย ตอนที่ถ่ายทำภาพยนตร์สมเด็จพระศรีสุริโยไท ก็มาตั้งกองถ่ายทำงานที่นี่เป็นเวลา 6 เดือน ถ่ายทำทั้งภายในพระอุโบสถ บนศาลาการเปรียญแห่งนี้ และบริเวณรอบวัดใหญ่ฯ บริเวณสระน้ำทุกที่ในบริเวณวัด จากการเดินทางเรือเสมือนว่ามีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านวัดแท้จริงแล้วเป็นสระที่อยู่ด้านข้างพระอุโบสถ ต่อมาที่วัดแห่งนี้เป็นที่นิยมมีการถ่ายทำทั้งละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายเรื่องด้วยกัน เรื่องล่าสุดภาพยนตร์ไทยเรื่องขรัวโต อมตะเถระกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นภาพยนตร์ซีรส์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ก็ถ่ายทำที่เตียงมรณภาพด้วย
“ที่วัดใหญ่ฯ ให้สังเกตการณ์ศิลปะของการเข้าไม้ ไม่มีอะไรบัง ไม่มีฝ้าเพดาน ทำเป็นหลังคาสูง ไม่ร้อน เป็นเอกลักษณ์ของบ้านไทยทรงโบราณด้วยภูมิปัญญาของชาวบ้าน เมืองไทยเป็นเมืองร้อน ต้องถือหลักการปลูกสร้างบ้านไม่ขวางตะวันรับแสงแดดร้อน เรื่องอย่างนี้ก็ต้องมีการถอดรหัสด้วย ตามตำนานพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยาเสด็จมาที่นี่เพื่อเยี่ยมพระอาจารย์แตงโมซึ่งสอนหนังสือให้ความรู้ และนำช่างฝีมือมาอยู่ด้วยเป็นแรมปี อีกทั้งนำพระตำหนักของเจ้าฟ้าอภัยภาค หรือเจ้าขวัญ มาใช้สร้างศาลาการเปรียญด้วย พระองค์ยังทรงซักถามพระอาจารย์ว่าขัดสนอะไรบ้างไหม ในคราวเดียวกันยังทรงเยี่ยมพระอาจารย์แสงวัดบันไดอิฐ ผู้เป็นอาจารย์สอนวิทยาอาคมให้กับพระเจ้าเสือ”
อาตมาเดินทางไปประเทศอินเดียมาแล้ว 13 ครั้ง ชอบศึกษาเรื่องราวต่างๆ เพื่อมาสอนเด็กๆ ไปรัฐที่เจริญแล้ว ประเทศไทยสู้เขาไม่ได้ ไปบางรัฐที่กินอยู่อย่างลำบากทำให้นึกถึงเมืองไทย น้ำ 1 กระป๋องในประเทศอินเดียต้องใช้ถึง 4 คน ขณะที่บ้านเราใช้อยู่เพียงคนเดียว บางครั้งเราอาบน้ำคนเดียวใช้น้ำเป็นถังๆ”.
เพชรบุรีดีจัง สุโขสโมสร
1.หอศิลป์สุวรรณาราม ที่กุฏิล่าง นิทรรศการภาพถ่ายวัดใหญ่สุวรรณารามฯ บันทึกประวัติศาสตร์สถานที่และสถาปัตยกรรมของเหล่าผู้ชื่นชอบการถ่ายรูป 2.รวมมิตรติดยิ้ม บริเวณสนามหญ้าข้างศาลาการเปรียญ เครือข่ายเด็กและเยาวชน เพชรบุรี ดีจัง จาก 8 อำเภอ จัดกิจกรรมเรียนรู้เพื่อการสื่อสารพื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตของชุมชน 3.ช่างศิลป์บันดาลสื่อ ที่ศาลาการเปรียญและลานด้านหลังหอระฆัง ปฏิบัติการสื่อสารศิลปะงานช่างของวัดใหญ่สุวรรณารามฯ ผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบ 4.มรดกมีชีวิต ที่สนามหย้าด้านข้างและหน้าพระอุโบสถ พื้นที่ถ่ายทอดความรู้สื่อ ศิลปะพื้นบ้าน ภูมิปัญญาจากหลากหลายชุมชน
5.ศิลปะการแสดงสด เวทีหน้าพระลาน : หน้าพระอุโบสถ การแสดงของเครือข่ายการแสดงหลายพื้นที่ ดนตรี ละครชาตรี โขนสด 6.องค์กรร่วมสร้างสรรค์ ลานด้านข้างสระน้ำ กิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบจากหลายหลายองค์กร 7.สนามเด็กเล่น ห้องประชุมติดแอร์ ผู้ใหญ่ใจดี รวมพลังสร้างพื้นที่เล่นขึ้นในร่มให้เด็กๆ ได้ออกกำลังกาย สร้างสุขภาวะทั้งกาย ใจ ปัญญา มาเล่นกันเถอะ กิจกรรมพิเศษภาคกลางวัน ลานเล่นเป็นสุข ปั่นไปชม ปั่นไปชิม รวมพลคนรักจักรยานและการออกกำลังกาย ชวนกันปั่นไปชมวิถีนาเกลือของชาวบางขุนไทร ตระเวนเมืองเพชร นั่งรถรางชมเมือง ตามเส้นทางรอบเขตเมืองเก่า เรียนรู้ทำข้าวแช่กับแม่ตุ้ม ทำขนมหวานกลางลานวัดใหญ่ฯ สุนทรีย์เสวนาเรื่องวัดใหญ่ฯ ในหลายมุมมอง
การแสดงดนตรีเวทีบริเวณหน้าพระอุโบสถ อ.นกเขา อ.เทวินทร์ เอี้ยนมี คลองเตยดีจัง ตลาดริมน้ำ เปิดงานโดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผจก.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรรณิกา เอี้ยวสกุลรัตน์ วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี การแสดงบนเวทีหน้าหอระฆัง รำอวยพรกลุ่มรักษ์หนองปรง นำโดยครูปานถนอม คงยิ้มละไม เล่าว่า เมื่อไม่นานมานี้ได้รับเชิญให้ไปแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น ครั้งนี้ก็ได้นำนักเรียน รร.วัดหนองปรง (บุญมานุสรณ์) ชั้น ม.2 ที่สอน 3 ภาษา ไทย อังกฤษ ลาว มาร่วมแสดงในชุดไทยทรงดำ ด้วยจังหวะเพลงดั่งมั่งหนอ ใช้เท้ารำเป็นหลัก กลุ่มผู้ชายเขย่ากระบอกไม้ไผ่เป็นจังหวะ ให้กลุ่มผู้ชายและผู้หญิงเต้นตามจังหวะ มีทั้งกระบอกไม้ไผ่ตัวผู้และกระบอกไม้ไผ่ตัวเมีย เซเร่วเซ่ว เซเร่วเซว แปลว่า มาเร็วๆ เห่เรือบกกลุ่มลูกหว้า@นาพันสาม หุ่นสายชายเลน กลุ่มรักษ์ป่าชายเลน ดิเกร์ฮูลู กลุ่มจันทร์เสี้ยว โขนสดคณะต้นกล้าน้อย ศิษย์วัดใหญ่เรียกเสียงปรบมือและตรึงผู้ชมไว้ได้นาน เนื่องจากเป็นการร้องเต้นและพากย์อยู่ในคนคนเดียว ที่สำคัญคือเด็กเล็กก็แสดงโขนได้อย่างเก่งกล้าสามารถ
บริเวณรอบโบสถ์มีการจัดแสดงข้อมูลความรู้ รวมทั้งการตั้งโต๊ะฝึกสอนงานฝีมือพับเติมบุญ พู่ดอกกฐิน มหัศจรรย์พวงมโหตร โซนรวมมิตรติดยิ้ม ภูมิปัญญาเรียนรู้ทำกิจกรรม อุบะรักไม่รู้โรย ใช้ปิ่นโตมาใส่ดอกไม้สำหรับร้อยเป็นพวงมาลัย งานจักสานตะกร้าเป็นโคมไฟ นำเปลือกไม้โกงกาง พืชชายเลนนำมาประดิษฐ์เป็นผ้ามัดย้อม สีไม่ตก มีกลุ่มกกสวยน้อย กกสวยใหญ่เด็กๆ มาหมุนด้ายทอผ้า นำผ้ามัดย้อมมาประดิษฐ์เป็นดอกกุหลาบหลากสีสวยงามมาก โคมไฟสีสวยงาม และที่น่าแปลกก็คือ สุ่มไก่ นำกระดาษลายสีสวยมาติดแล้วต่อดวงไฟเข้าไปข้างในส่องสว่างเห็นลวดลายสวยงาม เป็นที่ประทับใจผู้คนที่เข้ามาเที่ยวในงานเป็นอย่างยิ่ง
สงคราม เสนะโลหิต เจ้าของซุ้มที่นำเมล็ดปาล์มน้ำมัน เศษไม้ฉำฉา นำมาประดิษฐ์เป็นของเล่น ข้าวของเครื่องใช้ประดับบ้าน วัวเทียมเกวียน มีมอเตอร์ไฟฟ้าทำให้ขยับเดินได้ ครกกระเดื่องไม้ตีข้าวกล้อง พวงกุญแจลูกปลา ด้วยการนำลูกปาล์มทิ้งแล้วนำมาประกอบใหม่เป็นสิ่งประดิษฐ์ ที่ซุ้มนี้เรียกความสนใจผู้เข้าชมงานจำนวนมาก เนื่องจากนำตะกร้าจักสานมาประดิษฐ์เป็นโคมไฟสวยงามมาก รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าทำให้คนที่สนใจงานประดิษฐ์มารุมดูเป็นการใหญ่
สงครามเล่าว่า แต่เดิมมีอาชีพเป็นชาวไร่ชาวนา รับจ้างก่อสร้าง ทำเฟอร์นิเจอร์ แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็อยากทำงานเบาๆ ผลิตสินค้าที่ทำจากเศษไม้ที่ทิ้งแล้วมาทำงานประดิษฐ์เพิ่มรายได้ในวัยหลังเกษียณ ผลงานประดิษฐ์เข้าตานักจัดรายการโทรทัศน์ ทำให้สงครามปรากฏตัวหน้าจอมาแล้วหลายรายการ รอยยิ้มของแผ่นดิน คนไทยหัวใจไม่ท้อ ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 รายการทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี ในระหว่างที่อธิบายนั้น สงครามก็ตรวจดูวัวที่นำมาโชว์ “เด็กมาเล่นเมื่อกี้นี้ขวิดเขาหักไปซะแล้ว วิธีการทำงานลุงต้องต่อหูต่อเขาทีละส่วน กว่าจะทำแล้วเสร็จเป็นตัววัวก็ต้องใช้เวลา งานทุกอย่างเป็น Hand Made”
ใบไม้ 3 ธรรมะ : ปลูกต้นไม้ 1 ต้นให้อะไรกับเราบ้าง? ตลอดอายุขัยของต้นไม้ 1 ต้น เก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 1-1.7 ตันคาร์บอน ดักจับอนุภาคมลพิษ ฝุ่น ควัน ไอพิษต่างๆ ได้ 1.4 กก./ปี น้ำที่ระเหยจากการคายน้ำที่ไม่ดูดความร้อนจากบรรยากาศลดอุณหภูมิลงได้ถึง 3-5 องศา ป้องกันแสงและความร้อนจากดวงอาทิตย์ ช่วยให้บ้านสวยงามร่มรื่น รองรับความต้องการของก๊าซออกซิเจนของมนุษย์ได้ 2 คน/ปี ปลดปล่อยก๊าซออกซิเจน/200,000-250,000 ลิตร/ปี (ผู้คนต้องการก๊าซออกซิเจน 130,000 ลิตร/คน/ปี) ในดินที่ร่วนซุยเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ดินร่วนซุยและอุดมสมบูรณ์ใต้ต้นไม้อุ้มน้ำได้ถึง 50% เป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรคและที่อยู่อาศัยของสิ่งที่มีชีวิตนานาชนิด
ภายในงานยังมีรถจาก รพ.กรุงเทพ เพชรบุรี จอดให้บริการอุปกรณ์ยาสำหรับผู้ป่วย และมีรถจักรยานแบบโบราณล้อหน้าใหญ่กว่าล้อหลังให้บริการด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |