หวั่นค่าโง่ซ้ำรอย ลุกลามประมูลดิวตี้ฟรี


เพิ่มเพื่อน    

     กรณีปัญหาโครงการทางรถไฟยกระดับ “โฮปเวลล์” ที่หน่วยงานอย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำสัญญาอันเป็นปัญหาเรื้อรัง จนถูกเรียกว่า “อนุสาวรีย์ยาวที่สุดในโลก” มาถึง 29 ปี ได้ยุติลงพร้อมกับความเจ็บปวดของคนไทยทั้งประเทศ กล่าวคือ รฟท.ต้องเสียเงินชดใช้ให้กับบริษัทโฮปเวลล์ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย สิริรวม 25,000 ล้านบาท

                 ซ้ำเติมองค์กรที่อยู่ในสภาวะขาดทุน ให้จมเหวทั้งรายได้ที่ต้องหามาชดใช้จะดำเนินการอย่างไร และภาพลักษณ์ให้ติดลบในสายตาชาวไทย และนานาชาติ    

                ทั้งที่หน่วยงานแห่งนี้ น่าจะทำกำไรให้แก่ประเทศชาติได้มากกว่านี้ เพราะมีต้นทุนดีพอสมควร โดยเฉพาะจำนวนที่ดินเชิงพาณิชย์ในทำเลทองจำนวนมหาศาล กว่า 36,302 ไร่  แต่ปรากฏว่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา กลับสร้างเม็ดเงินไม่คุ้มค่า แถมยังได้หนี้กลับมาอีกมากโข

                อย่างเช่นง่ายๆ กรณีสัมปทานในพื้นที่สามเหลี่ยมพหลโยธิน 47.22 ไร่ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญ และพื้นที่เศรษฐกิจ แต่เมื่อไปส่องดูสัญญาที่มีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2521-2551 เก็บค่าเช่าเฉลี่ยเพียงเดือนละ 3-7 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งการเก็บเงินได้เท่านั้น มีคำอธิบายว่าเป็นยุคบุกเบิกจากท้องไร่ท้องนา ก่อนพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ดังที่เห็นทุกวันนี้   

                จนภายหลังมีการต่อสัญญาฉบับใหม่อีกครั้ง ให้บริษัทรายเดิมทำสัญญาเช่าไปอีก 20 ปี ระหว่างปี 2551-2571 มูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาท แม้ตัวเลขที่ รฟท.จะได้เสมือนสมเหตุสมผล และเอกชนก็ชำระเงินค่าเช่าเรื่อยๆ มาประมาณปีละพันกว่าล้านบาท 

                แต่มาพร้อมขอสงสัยพิรุธหลายประเด็น ที่บัดนี้ยังไม่สิ้นกระแสความ หลังจากเปิดเผยข้อมูลในช่วงปี 2553 จากรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภาได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษากรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ลงนามต่อสัญญาเช่าที่ดินบริเวณสามเหลี่ยมพหลโยธิน กับบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด จำนวน 47.22 ไร่ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2551  

                ในรายงานดังกล่าวระบุว่า มีการดำเนินการน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายประการ โดยเฉพาะการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 อย่างครบถ้วน ต่อด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งรีบเซ็นสัญญาจนผิดสังเกต และรายได้ที่เหมาะสมที่ควรจะได้รับถูกต้องหรือไม่ ซึ่งได้มีการส่งเรื่องไปที่ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวน แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป... 

                กระทั่งมาพบความเคลื่อนไหวอีกครั้ง เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2561 เมื่อ ป.ป.ช.ได้ออกหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช.ลับ ที่ ปช.0019/0377 ลงวันที่ 13 มี.ค.2561 ถึงผู้ว่าฯ รฟท. ขอเอกสารเพิ่มเติม โดยมีประเด็นสำคัญคือ ต้องการทราบความจริงเรื่องที่ รฟท.รับค่าปรับตามสัญญาเช่าที่ดินบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน จากบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ผู้เช่าที่ดิน ที่ทำผิดสัญญาโดยต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และต่อสัญญาให้สิทธิประโยชน์ศูนย์การค้า ฉบับวันที่ 9 ธ.ค.2551 โดยเรื่องทั้งหมดนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาขององค์กรอิสระ ป.ป.ช.

                แต่ที่น่าฉงน...กับองค์กรอย่าง รฟท. เมื่อมีการท้วงติงเกิดขึ้น กลับยังไม่มีท่าทีต่อต้านหรือดำเนินการใดๆ ทั้งที่เอกชนยอมรับว่ามีการทำผิดสัญญาต่อเติมอาคาร ดังที่หนังสือของ ป.ป.ช.ดังกล่าวอ้างถึง แต่การรถไฟกลับยินยอมให้บริษัทในเครือเซ็นทรัลมาซื้อซองประมูลในโครงการอื่นๆ เช่น เข้าร่วมลงทุนพัฒนาที่ดินบริเวณสถานีบางซื่อ แปลง A ที่มีมูลค่าโครงการ 2 หมื่นกว่าล้านบาท เมื่อวันที่ 10 เมย.62 ที่ผ่านมา แตกต่างจากมาตรฐานขององค์กร หรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ อย่างเช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือกระทรวงยุติธรรม ที่จะเข้มงวดเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างมาก เพราะหากพบว่าผู้รับงานมีอะไรไม่ชอบมาพากลก็จะขึ้นบัญชีดำ ไม่สามารถให้ร่วมงานได้อีกต่อไป

                นอกจากประเด็นข้างต้นที่ต้องรอความจริงกระจ่างจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว ในเร็วๆ นี้ยังมีการประมูลใหญ่ ด้วยงบประมาณกว่าแสนล้านบาท คือการเปิดประมูลร้านค้าปลอดอากร ดิวตี้ฟรี และบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นระยะเวลา 10 ปี ใน 4 สนามบิน ประกอบด้วย 1.สนามสนามบินสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานในภูมิภาคอีก 3 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ 

                ทั้งนี้ การประมูลดังกล่าวกำลังเป็นที่จับตามองจากภาคประชาชน สื่อมวลชน และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ที่ต้องการเห็นความโปร่งใส และไม่ต้องการให้ใครต้องเสียค่าโง่ซ้ำสองอีกตามมา โดยก่อนหน้านี้ ACT ได้เคยออกมาเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้นำหลักคุณธรรมมาบังคับใช้เป็นมาตรฐานในการประมูล  

                พร้อมขอให้ภาคประชาชนร่วมกันตรวจสอบการประมูลครั้งนี้ให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด เพราะเห็นว่าภาครัฐควรจะมีรายได้ และผลตอบแทนมากกว่าการสัมปทานกับรายเดิมที่เคยทำไว้ กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT

                ขณะที่บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ ก็ได้เตรียมเชิญสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าร่วมสังเกตการณ์ทั้งในวันชี้แจงคุณสมบัติและวันเปิดซอง เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้

                การประมูลดิวตี้ฟรีครั้งนี้นับว่ามีความเข้มข้น และเป็นที่สนใจมาก เนื่องจากหลายบริษัทที่ซื้อซองประมูล ล้วนมีข่าวต่อเนื่องเกี่ยวกับประวัติบริษัท และผู้บริหาร ที่ยังมีความน่าสงสัย อย่างเช่น บางบริษัทมีกระแสข่าวเกี่ยวกับผู้บริหารเพิ่งถูกกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. แจ้งความดำเนินคดี ข้อหาสร้างราคาหุ้นของบริษัท หรือปั่นหุ้น ซึ่งมีโทษปรับสูงเกือบ 500 ล้านบาท และบริษัทนี้ยังไปจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ และต่อมาถูกจับคดีคอร์รัปชัน จนผู้บริหารต้องฆ่าตัวตายหนีคดี 

                ในขณะที่ผู้บริหารของบางบริษัทก็ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญในการบริหารงานพื้นที่ดิวตี้ฟรี และบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ใน 4 สนามบินให้มีประสิทธิภาพได้  

                ข้อสงสัยเหล่านี้หวังว่า ทอท.จะมีการหยิบยกมาพิจารณาและตรวจสอบเชิงลึกในทุกบริษัทที่เข้าร่วมประมูลงานเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม

                 สำหรับรายชื่อเอกชนที่ร่วมซื้อซองประมูลร้านค้าดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิ ประกอบด้วย 1.บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด 2.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด 4.บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และ 5.บริษัท รอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

                ขณะที่รายชื่อผู้ซื้อซองประมูลดิวตี้ฟรี ท่าอากาศยานภูมิภาค ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ หลังการปิดขายซอง 25 เม.ย.62 เวลา 16.00 น. 4 ราย ได้แก่ 1.บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด 2.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท รอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ 4.บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด

                การประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบินครั้งนี้ หวังว่า ทอท.จะไม่เสียค่าโง่ให้กับใครอีก หลังจากที่ประเทศชาติเสียหายมามาก และผลกรรมสุดท้ายก็ตกอยู่ที่ประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"