อดไม่ได้ที่จะเขียนถึงละครน้ำดีเรื่อง “วัยแสบสาแหรกขาด โครงการ 2” อีกครั้ง เมื่อดูจบทุกตอนต้องมานั่งทบทวนคำพูดของครูทรายและตัวละครแต่ละตัว ขอบอกได้เลยว่าเป็นคำพูดที่กระแทกใจคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างยิ่ง บทสนทนาของตัวละครที่สะท้อนความคิดของคนเป็นลูกที่บอกว่า “ไม่มีพ่อแม่คนไหนพอใจลูกตัวเองหรอก” เพราะพ่อแม่พยายามตั้งเป้าเคี่ยวเข็ญให้ลูกเป็นในสิ่งที่ตนเองต้องการ ตัวเด็กเองก็เกิดความรู้สึกไม่พอใจในตัวเองเช่นกัน เพราะทำอะไรก็ไม่ถึงเป้าที่พ่อแม่ตั้งไว้ พ่อแม่ตั้งเป้าหมายอะไรไว้กับลูก ลูกก็พยายามที่จะทำให้เป้าหมายที่พ่อแม่ตั้งเป็นความจริง นั่นคือการแสดงความรักที่กดดันทั้งสองฝ่าย การเป็นพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ครูทรายแนะนำว่าควรคุยกับลูก ให้ลูกรับรู้ว่าสนใจลูกมากกว่า “เป้าหมาย” บางครั้งต้องวางเป้าหมายแล้วหันมาใส่ใจ “ความรู้สึก” ของลูก ให้เวลาลูกได้ค้นหาตัวเองได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาเป็น คำถามของครูทรายที่ให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ลองย้อนวัยไป แล้วถามตัวเองว่า “เราเคยอยากทำอะไรในสิ่งที่พ่อแม่ไม่อยากให้ทำบ้างมั้ย” แน่นอนเมื่อเปิดใจจะรับรู้ความรู้สึกของเด็กว่าถ้าเขาทำในสิ่งที่พ่อแม่ไม่อยากให้ทำ เขาจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ไม่สนับสนุนในสิ่งที่เขาเป็น ในความรู้สึกของเด็กนั้นไม่ว่าเขาจะอยากเป็นอะไร คนที่เขาอยากให้ยอมรับและอยู่เคียงข้างมากที่สุดคือพ่อกับแม่
พ่อแม่ชอบคิดว่ามีชีวิตอยู่เพื่อลูก ลูกเองก็มีชีวิตอยู่เพื่อพ่อแม่ ต้องการทำตัวให้พ่อแม่ภูมิใจเช่นกัน ถ้าไม่มีพ่อแม่อยู่ข้างๆ ก็ไม่รู้จักห่วงตัวเอง ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปเพื่อใคร ปัญหาที่พ่อแม่กังวลส่วนใหญ่จะเป็นเป็นเรื่องของอนาคต โดยมักจะลืมใส่ใจกับปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ปัญหาระหว่างทางที่ลูกต้องเผชิญ ครูทรายบอกว่าสิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นครูในการแก้ปัญหาระหว่างทางที่เกิดขึ้นก็คือ การทำให้เด็กและผู้ปกครองเปิดใจ การฟังเสียงจากข้างในของกันและกัน เมื่อก่อนพ่อแม่เลี้ยงลูกทุกคน พยายามปกป้องลูกจากอันตรายภายนอก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยี การสื่อสารไร้พรมแดน กลายเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวและยากต่อการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการติดเกม การใช้สื่อออนไลน์ในทางที่ผิด การค้นหาข้อมูลแค่คลิกเดียว เด็กที่ขาดทักษะการเข้าสังคมจึงมีโลกใบใหม่ที่ทำให้เด็กปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอกมากขึ้น
การสื่อสารในครอบครัวก็มีความสำคัญมาก ครูทรายได้สอนเรื่อง “การใช้สีเพื่อเรียนรู้อารมณ์ของตัวเอง” และช่วยเปิดโอกาสในการสื่อสารผ่านการถามเรื่องสีของอารมณ์ ทำให้เข้าใจความรู้สึกของกันและกันมากขึ้น เป็นการใส่ใจในความรู้สึกของกันและกัน “การเล่านิทาน” ก็เป็นการสื่อสารที่ทรงพลัง ครูทรายกล่าวว่า “ไม่มีเด็กคนไหนไม่ชอบฟังนิทาน ยิ่งอยู่ในอ้อมกอดแม่ยิ่งมีความสุขมาก” ในเรื่องนี้ได้สะท้อนการต่อสู้ปัญหาของตัวละคร ซึ่งได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนเราเวลาเจอปัญหาจะมีวิธีรับมือสามแบบ คือ สู้ หนี หรือ ช็อก อย่าให้เด็กต้องเผชิญปัญหาอย่างเดียวดาย แค่มีใครสักคนอยู่เคียงข้างเหมือนเพลงประกอบละครที่ถ่ายทอดความรู้สึกของเด็กๆ ว่า “แค่รู้ว่าฉันไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกอันโหดร้าย แค่รู้ว่าฉันไม่ได้อยู่ลำพังท่ามกลางเรื่องราวมากมาย แค่รู้ว่าฉันไม่ได้เดินคนเดียวบนทางที่แสนไกล แค่มีเธอ แค่รู้ว่ามีเธอ” อย่าลืมอยู่เคียงข้างลูกทุกย่างก้าวนะคะ.
จิตติมา กุลประเสริฐรัตน์
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |