ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ได้มีการจัดขบวนพระบรมราชอิสริยยศขึ้นรวมทั้งสิ้น 3 ขบวน ประกอบด้วยริ้วขบวนอัญเชิญพระสุพรรณบัฏดวงพระบรมราชสมภพและพระราชลัญจกร ริ้วขบวนที่ 1 จากวัดพระศรีรัตนศาสดารามมายังพระที่นั่งไพศาลทักษิณในวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา
ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 2 อันเป็นริ้วขบวนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชที่ปราสาทพระเทพบิดรและถวายบังคมพระบรมอัฐิ-พระอัฐิที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 4 พ.ค พระราชพิธีทั้งหมดเกิดขึ้นในพระบรมมหาราชวัง มีการถ่ายทอดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยสู่สายตาประชาชน
และริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพยุหยาตราสถลมารคเสด็จฯ เลียบพระนคร ริ้วขบวนที่ 3 ไปยังสามพระอารามหลวงคือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตั้งแต่เย็นถึงค่ำวันที่ 5 พ.ค. ซึ่งมีพสกนิกรทุกหมู่เหล่าเฝ้าฯ ชมพระบารมีอย่างเนืองแน่นพสกนิกรปลื้มปีติตื้นตันใจในสมัยรัชกาลที่10
ในแต่ละริ้วขบวนมีเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสมพระเกียรติแห่งพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี เครื่องสูงเป็นหนึ่งในสิ่งประกอบพระราชอิสริยยศที่ใช้ในพระราชพิธีสำคัญๆของราชสำนักโดยจะเป็นของประดับเกียรติยศในพระราชพิธีหรือในขบวนแห่ขบวนเสด็จพระราชดำเนินทั้งสถลมารคและชลมารครวมทั้งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งประกอบตามโบราณราชประเพณีหลังจากที่พระมหากษัตริย์ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ
ทั้งนี้ เพื่อการเป็นพระมหากษัตริย์ที่สมบูรณ์เป็นเครื่องหมายแห่งการเป็นพระราชาธิบดีนับตั้งแต่โบราณจนปัจจุบัน เครื่องสูงมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยตามที่ได้กล่าวถึงในหนังสือไตรภูมิพระร่วงจนถึงยุครัตนโกสินทร์เครื่องสูงยังมีความสำคัญในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศอาจมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปทั้งชนิดและการใช้ของเครื่องสูง
ซึ่งเครื่องสูงที่ใช้สำหรับแสดงประกอบพระบรมราชอิสริยยศในการเสด็จฯในริ้วขบวนแห่มีทั้งหมด 8 สิ่งได้แก่ ฉัตร7 ชั้น ฉัตร 5 ชั้น ฉัตร 3 ชั้นพระกลดบังแทรกบังสูรย์จามรและพัดโบกแบ่งออกเป็นสองลักษณะถ้าเป็นเครื่องสูงชนิดพระอภิรุมชุมสายบังแทรกพระกลดบังสูรย์ที่ใช้ประดับพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์สมเด็จพระบรมราชินีสมเด็จพระอัครมเหสีและสมเด็จพระยุพราชจะระบุเป็นเครื่องปักหักทองขวางแต่ถ้าสำหรับชั้นเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าเป็นเครื่องปักทองแผ่ลวดฉลุลายโดยฉัตรจะมีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นเป็นชั้นๆถือเป็นสัญลักษณ์ของความผู้มีอำนาจและเป็นเครื่องหมายมงคลที่สำคัญตามคติความเชื่อของอินเดียใช้สำหรับแขวนปักตั้งเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ
มีหลักฐานว่าไทยใช้ฉัตรเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยอยุธยาสำหรับฉัตรเครื่องสูงหรือพระอภิรุมชุมสายเป็นฉัตรเครื่องสูงสำรับหนึ่งประกอบด้วยฉัตร7 ชั้นฉัตร5 ชั้นฉัตร3 ชั้นทั้งนี้ฉัตรพระอภิรุมชุมสายเป็นฉัตรคนละประเภทเศวตฉัตรซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งด้านลักษณะสีสันและประเภทการใช้
พระกลดหมายถึงร่มใช้บังแดดบังฝนมีลักษณะเป็นฉัตรชั้นเดียวมักใช้เมื่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์เสด็จออกพระราชฐานในพระราชพิธีพิธีการต่างๆ
บังแทรกบังสูรย์เป็นเครื่องสูงที่ใช้กั้นบังแดดมีลักษณะคล้ายพัดรูปแบบกลมมีขอบรูปจักรจักโดยรอบคล้ายใบสาเกมียอดแหลมใช้สำหรับปักหรือแห่เสด็จพระราชดำเนินเชิญอยู่ระหว่างฉัตร5 ชั้นทั้งหน้าและหลังบังสูรย์เป็นเครื่องใช้บังแดดสำหรับพระมหากษัตริย์ ใช้ในขบวนแห่ประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์มีลักษณะคล้ายบังแทรกแต่บังสูรย์จะเป็นเหมือนใบโพธิ์เชิญอยู่ข้างพระที่นั่งราชยานตรงข้ามกับพระกลด
จามรเป็นเครื่องสูงอีกประเภทหนึ่งมีรูปคล้ายพัดยอดแหลมสองลอนสำรับหนึ่งมี16 คันมีอินทร์พรหมเป็นผู้เชิญจามรแซงข้างพระที่นั่งราชยานข้างละ8 คันในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หลีกเลี่ยงการใช้แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อินทร์ถือพุ่มดอกไม้เงินข้างซ้ายและให้พรหมถือพุ่มดอกไม้ทองด้านขวา ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เชิญพุ่มดอกไม้เงินและดอกไม้ทองในริ้วขบวนในพระบรมมหาราชวังแต่ถ้าเป็นริ้วขบวนนอกพระบรมมหาราชวังให้ใช้ทวนเงินทวนทองแทน
ส่วนเครื่องสูงพัดโบกเป็นพัดที่ทำด้วยใบตาลมี 2 ลักษณะคือพัดโบกรูปช้อยกับพัดโบกรูปมนโดยพัดโบกรูปช้อยปลายพัดมีลักษณะงอนช้อยขึ้นใช้ในขบวนเสด็จพระราชดำเนินสถลมารคขณะที่พัดโบกรูปมนใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับณพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบังลังก์
จะเห็นได้ว่านอกจากเครื่องเบญจราชกุธภัณฑ์ประกอบด้วยพระมหาพิชัยมงกุฎ,พระแสงขรรค์ชัยศรี,ธารพระกร,วาลวิชนีและฉลองพระบาทเชิงงอน อันเป็นสิ่งสำคัญเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นราชาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์แล้วนั้นเครื่องสูงเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศตามโบราณราชประเพณีที่ชาวไทยยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันการเรียนรู้และรับรู้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญครั้งนี้เป็นสิ่งที่คนไทยไม่ควรละเลยและร่วมแสดงความจงรักภักดีโดยพร้อมเพรียงกัน