นารา-ยามาโตะ


เพิ่มเพื่อน    

ประตูซูซากุ พระราชวังเฮโจะ จังหวัดนารา

มื้อค่ำเมื่อคืนวาน ฮิโรกิต้อนรับเราด้วยสุกียากี้ ก่อนเดินทางมาถึงนาราเขาส่งข้อความถามผมก่อนว่ากินไข่ดิบได้ไหม เพราะผมปรารภกับเขาก่อนหน้านั้นว่าเพื่อนที่เมืองฟุกุโอกะเคยแนะนำไก่ซาชิมิหรือไก่ดิบให้ผม แต่ได้ปฏิเสธไปเพราะนึกไม่ออกว่ามนุษย์จะกินไก่ดิบได้ยังไง นอกจากผีไทยบางชนิด หากเป็นปลาดิบ กุ้งดิบ หอยดิบ หรือแม้แต่สัตว์บกอย่างเนื้อม้าดิบ ยังเข้าใจและเคยกินมาแล้ว พอถึงคราวไข่ดิบ ผมนึกว่าคงไม่ดิบจริงจัง อาจจะคล้ายๆ ไข่ลวก จึงตอบไปว่า “กินได้”  

ฮิโรกินำหม้อสุกียากี้ไฟฟ้ารูปร่างต่างจากหม้อสุกี้ที่เราคุ้นเคยมาตั้งบนโต๊ะโคทัตสึ โต๊ะโคทัตสึก็คือโต๊ะเตี้ยที่มีฮีทเตอร์ไฟฟ้าติดอยู่ใต้โต๊ะ มีผ้าหนาๆ ผืนใหญ่ขยายบานออกทั่วทิศให้คนนั่งเอาเท้าเข้าไปรับไออุ่น เด็กๆ ที่ชอบดูการ์ตูนญี่ปุ่นคงรู้จักดี

สุกียากี้ขนานแท้ที่เพิ่งประสบเป็นครั้งแรกเริ่มด้วยการนำเนื้อวัวสไลด์ลงไปในเตา เทซอสสำเร็จรูปลงไปผัดกับเนื้อ (ปกติแล้วซอสจะได้จากการต้มสาเก มิริน ซีอิ้ว และน้ำตาล) จากนั้นใส่ผักกาดขาว เห็ดหอม เห็ดเข็มทอง ตั้งโอ๋ ต้นหอม เต้าหู้ และเส้นก๋วยเตี๋ยวหัวบุกตามลงไป โดยวางชิดกันอย่างเป็นระเบียบ เติมซอสลงไปอีกครั้ง ไม่เติมน้ำเปล่า ฮิโรกิปิดฝาหม้อแล้วหันมาตอกไข่ไก่ดิบลงในถ้วยใบเล็ก 3 ใบ ส่งให้อาคันตุกะคนละใบ (เอมิซัง-ภรรยาของเขาทำอาหารกินเองไปแล้วตั้งแต่เย็น) ผมรับมาและทำใจได้ว่ากินก็กิน เพราะค่อนข้างวางใจในคุณภาพไข่ของญี่ปุ่น

ถนนในเมืองยามาโตะโคริยามะ ไม่จำเป็นต้องเอาสายไฟลงดิน เช่นเดียวกับหลายเมืองในญี่ปุ่น

ตอนนี้เริ่มจะคาดเดาวิธีการกินได้ว่าต้องนำเนื้อและผักในหม้อสุกี้มาคลุกไข่ดิบก่อนเอาเข้าปาก ทำให้ต้องนึกถึงภาพที่สร้างกำลังใจอย่างฉากที่ร็อกกี้ บัลบัว ในหนัง “ร็อกกี้” ตอกไข่ดิบนับไม่ถ้วนใส่แก้วใบใหญ่แล้วกระเดือกลงคอโดยใบหน้าไม่มีอาการเหยเก ก่อนออกไปวิ่งซ้อมมวยตอนเช้า

เพื่อนร่วมทางของผมแม้แต่ไข่ดาวไม่สุกเขาก็ไม่กิน นับประสาอะไรกับไข่ดิบทั้งฟอง จึงยื่นถ้วยคืนให้กับเจ้าบ้าน

ฮิโรกิตีไข่ให้เข้ากัน ผมก็ตีตาม สักพักเขาเปิดฝาหม้อ เราก็เริ่มกินสุกียากี้แท้ๆ กัน ไข่ดิบไม่ได้คาวอย่างที่คิด เมื่อตามด้วยสาเกชั้นเลิศระดับจุนไมไดกินโจ ยี่ห้อ “สามวันเต้นไม่เลิก” ยิ่งส่งเสริมให้รสชาติดีขึ้นไปอีก เนื้อ ผัก และเต้าหู้ ถูกใส่ลงหม้ออีกหลายชุด ฮิโรกิกินไข่จากถ้วยอีกใบจนหมด ส่วนของผมเหลือคาถ้วยนิดหน่อย

เป็นประสบการณ์กินไข่ดิบครั้งแรก สรุปได้ว่าไข่ดิบกินได้ แต่น่าจะมีข้อยกเว้นว่าไม่ควรกินเฉพาะไข่ขาว เพราะทราบว่าคนที่กินยาพิษหมอแนะนำให้กินไข่ขาวดิบล้วนๆ ตามลงไปเพื่อให้ร่างกายยับยั้งการดูดซึมยาพิษ หากเรากินไข่ขาวดิบในภาวะปกติอาหารก็จะไม่ย่อย แต่เมื่อตีไข่แดงผสมกันปัญหาเรื่องย่อยก็คงหายไปหรือมีน้อยลง

แท่นตั้งกล้องสำหรับถ่ายประตูซูซากุ

เช้าวันนี้ ฮิโรกิเปิดประตูห้องรับแขกเข้ามาเพื่อดูว่าเราตื่นกันหรือยัง ผมตื่นแล้วแต่ยังไม่ลุกจากฟูกนอน เขาพูดเรื่องออกไปกินมื้อเช้า ผมถามกลับว่ากี่โมง เขาตอบว่าก่อน 9 โมงก็จะดี ซึ่งตามหลักโภชนาการและนาฬิการ่างกายแล้วเราควรกินอาหารเช้าก่อน 9 โมง แต่ผมมาทราบตอนหลังว่าฮิโรกิไม่รู้เรื่องหลักอะไรที่ว่านี้หรอก

พอเห็นแนวโน้มว่าเราอาจจะอาบน้ำและแต่งตัวเสร็จหลัง 10 โมง ฮิโรกิก็บอกว่าเขาตัดสินใจทำมื้อเช้าที่บ้าน แต่ไม่รู้ว่าเราจะกินกันได้หรือเปล่า ผมให้ความมั่นใจแก่เขาว่า “พวกเรากินได้ทั้งนั้นแหละ”

ฮิโรกินำขนังปังบาแก็ตมาหั่นเฉียงเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วทาเนยกระเทียม เอาเข้าเตาอบ จัดการทอดไข่ดาว 3 ฟอง เตรียมสลัดกะหล่ำปลีและมะเขือเทศ จากนั้นบดเมล็ดกาแฟด้วยเครื่องบดมือ หอมกรุ่นไปทั้งบ้าน ตาสว่างตั้งแต่ยังไม่ดื่ม นำไปใส่กระดาษกรองขนาดใหญ่ที่วางอยู่บนหม้อกาแฟ แล้วค่อยๆ เทน้ำร้อนลงไป กลายเป็นกาแฟแบบดริปที่ดูดีมาก

ผมหวั่นใจอยู่แล้ว เพื่อนร่วมทางของผมไม่กินไข่แดงที่ไม่สุกเต็มที่ ส่วนขนมปังกระเทียมก็กินเหลือหลายชิ้น เช่นเดียวกับสลัด เขาบอกฮิโรกิว่าอร่อยดี แต่เช้านี้ยังไม่ค่อยหิว ผมหยิบขนมปังที่เหลือในจานของเขามากินจนเกือบหมดเพื่อความรู้สึกที่ดีของเจ้าบ้าน ส่วนจานของผมนั่นเกลี้ยงตามมารยาทผสมความหิวไปตั้งนานแล้ว

รถไฟสายคินเท็ตสึ-นารา วิ่งผ่ากลางพื้นที่มรดกโลก 

ราว 11 โมง ฮิโรกิขับนิสสันไมโครคาร์พาเราออกจากที่จอดรถของอพาร์ทเมนต์ในเมืองยามาโตะโคริยามะ ระหว่างทางเขาชี้ให้ดูร้านราเม็งร้านโปรด สักพักพอเราอยู่บนถนนโอมิยะก็เห็นเรือโบราณลำหนึ่งจอดโชว์อยู่หน้าสถานที่ขนาดใหญ่ ฮิโรกิขับเข้าไปหาที่จอด เจ้าหน้าที่แนะนำว่าถ้าไม่ต้องการเสียค่าจอดรถก็ให้ซื้อสินค้าในนี้แล้วให้ร้านประทับตราลงในตั๋วจอดรถ

อากาศเย็นมากเมื่อเราเปิดประตูรถเดินออกไป ฮิโรกิบอกว่าเขาก็เพิ่งเคยมาสถานที่แห่งนี้เป็นครั้งแรก ประตูเมืองโบราณขนาดใหญ่ตั้งเด่นอยู่แต่ไกล มีจุดให้ผู้มาเยือนตั้งกล้องถ่ายภาพคล้ายๆ เป็นขาตั้งกล้องเพื่อเล็งไปยังประตูนี้ ไม่ว่าจะเป็นกล้องใหญ่ กล้องเล็ก หรือแม้แต่กล้องโทรศัพท์มือถือ ฐานเล็งออกแบบเผื่อไว้เรียบร้อย

จากนั้นเราเดินไปยัง Zuzakumon ประตูเมืองสีแดง-ขาว หลังคาสีออกน้ำเงิน หน้าประตูกว้าง 25 เมตร ลึก 10 เมตร และสูง 22 เมตร  มีป้ายข้อความเขียนไว้ว่า “ประตูซูซากุตั้งอยู่เป็นศูนย์กลางของกำแพงทางด้านทิศใต้ เป็นประตูหลักของพระราชวังนารา ชื่อซูซากุมาจากภาษาจีน หมายถึงนกหงส์ไฟในตำนานที่คอยคุ้มครองป้องกันทางทิศใต้ ประตูนี้มี 2 ชั้น ขนาดใหญ่กว่าประตูอื่นๆ ของพระราชวัง พื้นที่โล่งด้านหน้าใช้ในการเฉลิมฉลองงานสำคัญๆ เช่น ฉลองศักราชใหม่ ถนนที่ต่อจากลานโล่งนี้เคยมีความกว้างประมาณ 70 เมตร ชื่อถนนซูซากุ ทอดยาว 3.7 กิโลเมตรไปยังประตูราโช (ราโชมอน) ซึ่งเป็นประตูหลักของเมือง”

ประตูซูซากุและซูซากุอเวนิว

พระราชวังนารามีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าพระราชวังเฮโจะ (Heijo-kyu) เมื่อสมัยที่เมืองหลวงถูกเรียกว่าเฮโจะเกียว (Heijo-Kyo) ในยุคนารา ยุคนี้กินระยะเวลาระหว่างปี ค.ศ. 710ถึง ค.ศ. 794 ขณะที่ยุคก่อนหน้านั้นได้แก่ยุคโคฟุน (ค.ศ. 269 – ค.ศ. 539) ซึ่งเป็นยุคที่เริ่มมีการบันทึกประวัติศาสตร์ เริ่มยุคด้วยจักรพรรดิองค์ที่ 15 ของญี่ปุ่น และยุคอะซุกะ (ค.ศ. 539 –ค.ศ. 710) ล้วนตั้งอยู่บนพื้นที่ของจังหวัดนาราในปัจจุบัน ในสมัยก่อนเรียกว่าจังหวัดยามาโตะ จึงมีการเรียก 2 ยุคนี้รวมกันว่ายุคยามาโตะด้วย

ผมเดินไปที่กลางประตูซูซากุ มองออกไปยังที่ราบกว้างขวางเบื้องหน้า บริเวณนี้คือพระราชวังในอดีต มีพื้นที่ถึง 2,500 เฮคแตร์ หรือประมาณ 15,600 ไร่ สร้างขึ้นโดยอาศัยพระราชวังต้าหมิงกง เมืองฉางอาน ในสมัยราชวงศ์ถังของจีนเป็นต้นแบบ กำแพงสูงล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน มีประตูพระราชวังรวมทั้งสิ้น 12 ประตู  

น่าเสียดายที่กาลเวลาและกองเพลิงหลายระลอกได้ทำลายพระราชวังเฮโจะลงเสียสิ้นหลังมีการย้ายเมืองหลวงไปยังเฮอัน หรือ “เกียวโต” จนบริเวณนี้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมอยู่ยาวนาน กระทั่งมีการขุดค้นพบฐานและซากของท้องพระโรงและตำหนักต่างๆ เมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา

จำลองเท่าของจริง “เคนโตชิ” เรือคณะทูตญี่ปุ่นสู่จีนแผ่นดินใหญ่เมื่อเกือบ 1,500ปีก่อน 

สำหรับประตูซูซากุนี้มีการสร้างขึ้นใหม่ตามเอกสารหลักฐานที่พอหาได้และเปิดโฉมต่อสาธารณะในปี ค.ศ. 1998 นอกจากนี้ก็ยังมีอุทยานพระราชวังตะวันออกที่ฟื้นคืนชีพพร้อมๆ กัน และในปีเดียวกันนี้องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้ส่วนของพระราชวังที่ถูกขุดค้นขึ้นและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นมรดกโลก ส่วนอาคารและพื้นที่รายรอบห่างออกไปไม่ไกลอีกจำนวนหนึ่งก็ได้ถูกจัดให้เป็น “อนุสรณ์สถานประวัติศาสตร์แห่งนาราโบราณ”   

จากนั้นในปี ค.ศ. 2010 เมื่อเมืองหลวงนารา (เฮโจะเกียว) มีอายุครบรอบ 1,300 ปี ท้องพระโรงว่าราชการได้ถูกสร้างขึ้นใหม่จนแล้วเสร็จ มีการเฉลิมฉลองกันอย่างเอิกเกริกทั่วทั้งจังหวัดนารา การก่อสร้างส่วนอื่นๆ ก็ค่อยๆ ดำเนินการเรื่อยมา

ขณะที่ผมไปเยือนและยืนมองอยู่นี้มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่ถูกคลุมผ้าไว้ทั้งหมด โดยผ้านี้มีรูปของประตูวังโบราณติดอยู่ตรงกลาง เหมือนจะบอกให้รู้ว่าสิ่งที่ถูกคลุมอยู่ก็คือประตูวังประตูหนึ่งที่กำลังสร้างขึ้นใหม่บนฐานเดิม

ผมรู้สึกอยู่ว่ามีอะไรแปลกๆ มากั้นทัศนียภาพ ทันใดนั้นก็มีรถไฟวิ่งผ่ากลางพระราชวังเฮโจะ สิ่งที่ไม่เข้ากับวิวที่ผมรู้สึกก็คือเสาและสายไฟนั่นเอง ขณะนี้มีภาพและเสียงของรถไฟเข้ามาเสริมอีก ฮิโรกิบอกว่าเป็นรถไฟสายคินเท็ตสึ-นารา ของบริษัทคินเท็ตสึเรลเวย์ ก็ให้สงสัยว่าทางการญี่ปุ่นอนุญาตให้รถไฟวิ่งผ่านพื้นที่มรดกโลกได้อย่างไร

มุมมองจากเรือเคนโตชิสู่อาคารศูนย์ประชาสัมพันธ์และประตูซูซากุ

ได้อ่านข่าวเก่าจากเจแปนไทม์ก็ทราบว่าชาวนาราไม่ค่อยพอใจภาพที่เป็นอยู่ ส่วนนักท่องเที่ยวก็รู้สึกผิดหวัง ทำให้ทางเมืองและจังหวัดเสนอแผนให้มีการย้ายเส้นทางรถไฟ บริษัทคินเท็ตสึก็คงต้องดำเนินการตามนั้นในไม่ช้า หนังสือพิมพ์กระทุ้งตอนท้ายว่ารัฐบาลกลางควรขยับเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ด้วย   

ลมเริ่มพัดแรงเหมือนฝนใกล้จะตก ฮิโรกิพาเราเดินเข้าไปยังตัวอาคารที่เรือโบราณจอดอยู่ใกล้ๆ เป็นอาคารศูนย์การประชาสัมพันธ์ มีนิทรรศการประวัติศาสตร์การเดินทางจากญี่ปุ่นในยุคนาราไปยังจีนในยุคราชวงศ์ถังที่คาดว่ามีทั้งหมดประมาณ 20 ครั้ง ไกด์อาวุโสที่เกษียณอายุแล้วมาเป็นอาสาสมัครอธิบายข้อมูลให้นักท่องเที่ยวฟัง ลุงแกพูดเป็นภาษาญี่ปุ่นล้วนๆ ผมต้องรบกวนฮิโรกิแปลให้ฟังอยู่หลายนาที

จากนั้นเราเดินไปตามทางเดินที่นำไปสู่ตัวเรือเคนโตชิ เรือที่ใช้ล่องฝ่าคลื่นลมไปยังจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อเกือบ 1,500 ปีก่อน เรือสร้างจำลองขึ้นในขนาดเท่าของจริง ยาว 30 เมตร กว้าง 9.6เมตร จัดวางข้าวของ อุปกรณ์ เครื่องมือเดินเรือในสมัยนั้นตามหลักฐานอ้างอิง  

ระหว่างทางเดินไปยังตัวเรือมีประวัติ เขียนแยกไว้สี่-ห้าป้าย สรุปได้ว่า ก่อนออกเดินทาง คณะทูตของจักรพรรดิที่ได้รับบัญชาได้ไปสักการะขอพรจากเทพเจ้าศาลเจ้าชินโตที่ศักดิ์สิทธิ์ในสมัยนั้น เรือแล่นผ่านเกาะต่างๆ เข้าทะเลเซโตะใน ออกจากญี่ปุ่นสู่ทะเลจีนตะวันออกแล้วมุ่งหน้าจีนแผ่นดินใหญ่ ใช้เวลา 7 วันก็ถึงท่าเรือทีปากแม่น้ำแยงซีและเข้าจอดเมื่อได้รับอนุญาต จากนั้นคณะทูตสันถวไมตรีประมาณ 50 คนเดินทางต่อไปยังเมืองลั่วหยาง เมืองสำคัญทางด้านตะวันออกของแผ่นดินถัง แล้วก็เดินทางต่อจนถึงเมืองฉางอานในที่สุด เข้าเฝ้าจักรพรรดิจีนพร้อมเครื่องราชบรรณาการ เป็นอันว่าภารกิจอันใหญ่หลวงสำเร็จลุล่วงอย่างน่าพอใจ

ดูเรืออยู่ได้ไม่กี่นาทีฝนก็ลงเม็ดจึงพากันเดินเข้าตัวอาคาร ผ่านร้านขายของที่ระลึก ฮิโรกิแวะซื้อกาแฟในคาเฟ่ของศูนย์ประชาสัมพันธ์ และไม่ลืมให้พนักงานแสตมป์บัตร แล้วเราก็วิ่งฝ่าฝนและลมแรงไปขึ้นรถ

 ร้านราเม็งชาบาตอง ถูกใจทั้งพวก 4 ล้อ และ 3 ล้อ

ฮิโรกิขับผ่านร้านราเม็งของเขาอีกครั้ง มองดูนาฬิกาแล้วก็ถามผมว่าอยากกินมื้อเที่ยงหรือยัง ผมตอบโอเคโดยไม่ต้องคิด หน้าร้านเขียนไว้เป็นภาษาญี่ปุ่น มีภาษาอังกฤษอยู่ตรงกลางเขียนว่าwww.muteppou.com โดยที่ชื่อร้านจริงๆ คือ “ชาบาตอง” เรานั่งรอคิวหน้าร้านอยู่ไม่นานนักก็ถูกเรียกเข้าไปข้างใน ต้องหยอดเหรียญกดเมนูจากเครื่องออกตั๋วแล้วไปนั่งที่โต๊ะ พนักงานมารับตั๋วแล้วถามว่าต้องการซุปแบบไหน ฮิโรกิแนะนำให้สั่งแบบซุปกระดูกหมูเข้มข้น ก็เลยสั่งมาเหมือนกันทั้ง 3 ชาม

ราเม็งเสิร์ฟมาในชามใหญ่ยักษ์ ราคาชามละ 8 ร้อยกว่าเยนเท่านั้น รสชาติอร่อยล้ำสมเป็นร้านโปรดที่ฮิโรกิแนะนำให้เราลิ้มลอง 

เจ้าถิ่นกินเหลือเฉพาะซุปครึ่งชาม ผมกินเกือบเกลี้ยง เหลือซุปนิดหน่อย ซี่โครงหมูที่สั่งมาต่างหากชิ้นละ 300 เยนก็ไม่เหลือ ส่วนเพื่อนร่วมทางของผมกินเหลือครึ่งชามทั้งน้ำทั้งเส้น รักษาเอกลักษณ์ไว้อย่างคงเส้นคงวา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"