เมื่อไม่นานมานี้ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ โดยในมาตรา 6 นักโทษเด็ดขาดที่มีคุณสมบัติครบถ้วนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป ขณะที่ในมาตรา 7-12 นักโทษจะได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษตามคุณสมบัติ รายละเอียดและเงื่อนไขแตกต่างกันไป ซึ่งนักโทษที่เข้าเกณฑ์ประกอบด้วยผู้ต้องโทษจำคุก ไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ซึ่งจะทำให้มีผู้พ้นโทษเพิ่มมากขึ้นจากเดิม
โดยหนึ่งในคุณลักษณะที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษเกี่ยวกับด้านสุขภาพคือ เป็นคนพิการโดยตาบอดทั้ง 2 ข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้ง 2 ข้าง หรือเป็นบุคคล ซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นคนทุพพลภาพมีลักษณะอันเห็นได้ชัด
นอกจากนี้เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคเอดส์ หรือโรคจิต ซึ่งทางราชการได้ทำการรักษามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้ และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ
อีกทั้งเป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย โรคเอดส์ระยะสุดท้าย ซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นระยะสุดท้าย และไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้
ซึ่งปัจจุบันเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ มีผู้ต้องขังจำนวน 386,000 คน ทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นคุก ยังไม่รวมกับผู้ต้องกักในคดีเมาแล้วขับอีกจำนวนหนึ่ง ขาดอีก 14,000 คน ก็จะมีผู้ต้องราชทัณฑ์ครบ 400,000 คน ประเทศไทยมีนักโทษอันดับ 6 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของอาเซียน ตามปกติเรือนจำทั่วประเทศรองรับนักโทษได้แค่ 150,000 คน และผู้คุม 1 คน สามารถดูแลนักโทษได้ 5 คน หรือคิดเป็น 1:5
แต่ในขณะนี้อัตราการดูแลผู้ต้องขังอยู่ที่ 1:35 หรือ 1:40 ซึ่งจำนวนนักโทษที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้ระบบการดูแลสุขภาพนักโทษล้มเหลว เนื่องจากตามพื้นฐานแล้ว การรับนักโทษเข้าเรือนจำมีความจำกัดในเรื่องจำนวน ซึ่งในขณะนี้นักโทษในเรือนจำอยู่ด้วยความแออัด พื้นที่นอนคับแคบ นักโทษนอนเบียดกันเกินไป สุขอนามัยไม่ดี อาหารและน้ำดื่มไม่สะอาด อีกทั้งไม่พอต่อจำนวนประชากรนักโทษ การรักษาพยาบาลไม่เพียงพอต่อความต้องการ และบางคนก็พกโรคติดต่อมาด้วย ทำให้นักโทษเดิมติดโรคระบาด จนในขณะนี้เรือนจำกลายเป็นแหล่งฟักตัวของโรคอย่างสมบูรณ์
ปัญหาด้านสุขภาพของผู้ต้องขังถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สำคัญที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตมาก ปกติผู้ต้องขังในเรือนจำส่วนใหญ่มีชีวิตเหมือน “บัวแล้งน้ำ” รู้สึกตัวเองด้อยคุณค่า ไม่มีอนาคต ใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ ความน่าอดสูด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นความแออัดในเรือนนอน (ซึ่งทำให้บางคนนอนไม่พอ หรือนอนไม่หลับ) เวลาอยู่ในโรงนอนที่นานเกินไป (14-15) ชั่วโมง ได้อาบน้ำแค่ 5 ขัน โดยข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้ปัญหาสาธารณสุขในเรือนจำเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ทำให้ในแต่ละปีจะมีนักโทษเสียชีวิตจากการเจ็บไข้ได้ป่วยปีละ 1,000 ราย และ 80 เปอร์เซ็นต์เกิดจากอาการป่วย ไม่รวมกับปัญหาการทะเลาะวิวาท การฆ่าตัวตายในเรือนจำ และการพยายามหลบหนี
โดยในแต่ละเดือนจะมีผู้ต้องขังถูกปล่อยตัวประมาณ 3,000 คน ซึ่งยังไม่รวมกับการปล่อยตัวจากการพระราชทานอภัยโทษ และมีผู้ต้องขังใหม่เข้ามาประมาณ 5,000 คน ซึ่งจากการตรวจคัดกรองสุขภาพพบว่า ผู้ต้องขังจะมีอาการป่วยก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในเรือนจำด้วยโรคต่างๆ เช่น เอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วัณโรค เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผิวหนัง ฯลฯ ทำให้ผู้ต้องขังถือเป็นกลุ่มผู้เปราะบางด้านสุขภาพ บางรายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เสียชีวิตในเรือนจำ แม้กรมควบคุมโรคจะมีโครงการดูแลนักโทษป่วยก็ตาม แต่ด้วยจำนวนนักโทษที่มีอย่างมหาศาล จึงไม่สามารถดูแลได้ทุกคน
อีกทั้งมีการตรวจคัดกรองผู้ต้องขังทุกรายในเรือนจำทุกแห่ง พบว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้ต้องขังเสียชีวิตอันดับ 1 คือ โรคเอดส์และวัณโรค จากข้อมูลคาดการณ์ว่าความชุกของโรค มีร้อยละ 3 โดยผู้ป่วยโรคเอดส์มีประมาณกว่า 10,000 คน จำนวนดังกล่าวสามารถยืนยันตัวบุคคลได้ชัดเจนแล้ว 5,900 ราย ที่เป็นผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำ ซึ่งแพทย์ได้จ่ายยารักษาโรคตามปกติ โดยให้ยาต้านไวรัส
แต่ก่อนแม้แพทย์ด้านนอกจะเข้ามาดูแลรักษาโรคของนักโทษ แต่เมื่อถึงวันปล่อยตัวก็ปล่อยให้ผู้พ้นโทษเข้าไปสู่การรักษาเอง จัดการกระบวนการต่างๆ เอง ทำให้ผู้พ้นโทษเองรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก สุดท้ายพอยังไม่หายดี ทำให้คนที่อยู่ด้านนอกก็พลอยติดโรคไปด้วย อีกทั้งไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เนื่องจากเคยเป็นนักโทษว่าหางานยากแล้ว เป็นโรคระบาดอีกก็ไม่มีใครอยากจ้างงาน จนสุดท้ายเกิดปัญหาสังคมอย่างไม่มีทางเลือก ต้องกลับไปกระทำผิดซ้ำ กลับไปหายาเสพติดบ้าง ลักทรัพย์บ้าง สุดท้ายก็กลับไปที่วัฏจักรเดิมอีกครั้งคือลงเอยที่เรือนจำ
ซึ่งขณะนี้กรมราชทัณฑ์และกรมควบคุมโรคจึงต้องมีการคัดกรองสุขภาพผู้ต้องขังที่ยังอยู่ในเรือนจำและผู้ใกล้พ้นโทษก่อนปล่อยตัวเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม ซึ่งเมื่อคัดกรองให้การบำบัดรักษาแล้ว ก็มีการแจ้งผลตรวจสุขภาพผู้ที่พ้นโทษไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเฝ้าระวังและมีประวัติในการรักษาโรคเพื่อส่งไปยังสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลในภูมิลำเนาของผู้พ้นโทษ เพียงแค่ผู้พ้นโทษที่ติดโรคเดินไปรับยาเท่านั้นก็ได้รับการบริการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องแล้ว
อีกทั้งได้เน้น 3 กิจกรรมหลักในเรือนจำ คือ 1.พัฒนาระบบ แนวทางการปฏิบัติภายในเรือนจำ เฝ้าระวังป้องกันโรค 2.พัฒนาบุคลากรร่วมกันและอาสาสมัครในเรือนจำ 3.ประสานงานและระบบการจัดการ เช่น การนำผู้เจ็บป่วยส่งต่อสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลใกล้เคียง รวมทั้งมีหน่วยเคลื่อนที่กรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ สภาพพื้นที่ในเรือนจำค่อนข้างแออัด ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคติดต่อ
นอกจากนี้รัฐยังจัดทำแผนเร่งรัดเพื่อการยุติปัญหาเอดส์ในเรือนจำ โดยมีมาตรการสำคัญส่งเสริมการให้ความรู้โดยใช้กลไกเพื่อนช่วยเพื่อนในเรือนจำเพื่อสร้างเพื่อนช่วยเพื่อน จัดบริการปรึกษาและการตรวจเลือดโดยสมัครใจ การส่งเสริมการเข้าถึงถุงยางอนามัยของผู้ต้องขัง ส่งเสริมการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ของผู้ต้องขังที่ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ พัฒนาบริการป้องกันดูแลรักษาแบบครบถ้วนและต่อเนื่องในกลุ่มผู้ต้องขัง พัฒนาระบบการส่งต่อโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรภายนอก และวิจัยพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในเรือนจำ โดยกิจกรรมภายในเรือนจำประกอบไปด้วย 1.การตรวจโรคทั่วไป 2.การตรวจคัดกรองเอชไอวี ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบซี และเอกซเรย์ปอด 3.การให้การปรึกษาและคำแนะนำด้านสุขภาพ เช่น การส่งเสริมการกินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และ 4.การจัดนิทรรศการความรู้ด้านสุขภาพ
ในส่วนผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่ทราบตัวตนเป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเอชไอวีได้ ดังนั้นกรมควบคุมโรคจึงจัดทำแผน เพื่อยุติปัญหาโรคเอดส์ในเรือนจำด้วย แต่ยังมีปัญหา เนื่องจากผู้ต้องขังได้ถูกย้ายกลับไปคุมในเรือนจำภูมิลำเนา จึงทำให้การติดตามผลการรักษาเป็นเรื่องยาก จึงต้องประสานกับกรมราชทัณฑ์เพื่อให้เกิดการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนสุขอนามัยเรือนจำส่วนใหญ่สามารถปฏิบัติสาธารณสุขอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะการให้ความรู้เรื่องสุขภาพโภชนาการ สุขาภิบาล การกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูล เพื่อลดการติดเชื้อภายในเรือนจำ นอกจากนั้นยังห้ามจำหน่ายบุหรี่ตามกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ต้องขังในเรือนจำทุกรายต้องเลิกบุหรี่เด็ดขาด โดยระหว่างนี้ได้สั่งการให้ทุกเรือนจำเตรียมความพร้อมในการให้ความรู้ สร้างแรงจูงใจในการเลิกบุหรี่ โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดการเจ็บป่วยของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเดินหายใจ
ป้องกันไม่ยาก หากสามารถคัดกรองตรวจโรคในระยะเริ่มต้นตั้งแต่แรกเข้าก็จะสามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ในเรือนจำสู่สังคมภายนอกได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |