2พ.ค.บอร์ด อิสระฯ เสนอ ปรับ บทบาท สช. ให้บทบาทกว้างและใหญ่ขึ้น เพื่อสนับสนุนส่งเสริม รร.เอกชน ที่มีส่วนช่วบจัดการศึกษา 20% พร้อมจัดทำข้อเสนอ คัดร.ร.ขนาดเล็ก 1พันแห่ง ให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นวัตกรรม เชื่อเป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำ
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ได้พิจารณาสรุปบทบาทของภาคเอกชนในการจัดการศึกษา พร้อมข้อเสนอเพื่อนำประกอบในรายงานของคณะกรรมการอิสระฯ เพื่อที่จะนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อที่จะให้แสดงความสำคัญและบทบาทของภาคเอกชนในการจัดการศึกษา เพราะจากข้อมูลพบว่าเอกชนเข้ามามีส่วนในการจัดการศึกษาไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสัดส่วน และมีรูปแบบในการจัดการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ทั้งการศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาทางเลือก การศึกษาที่ไม่มุ่งคุณวุฒิ ซึ่งภาคเอกชนมีความคล่องตัวในการจัดการศึกษา ลงทุนน้อยกว่าและบางส่วนมีคุณภาพดี ที่สำคัญสามารถพัฒนาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าภาครัฐที่ปรับตัวได้ช้า คณะกรรมการอิสระฯ จึงจะมีข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการของภาคเอกชนต่อรัฐบาล เช่น การปรับเปลี่ยนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่มองว่ายังเล็กและแคบไปไม่สามารถดูแลได้ครอบคลุม จำเป็นต้องปรับเพื่อให้สามารถสนับสนุนส่งเสริม และกำกับดูแลได้ตามความหลากหลายและแตกต่างตามสภาพ
นพ.จรัส กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 15,000 โรง จากโรงเรียนทั้งสิ้น 33,000 โรง และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเด็กเกิดน้อยลง การคมนาคมดีขึ้นเด็กสามารถไปเรียนโรงเรียนใหญ่ที่มีคุณภาพ ซึ่งปัญหาทั้งคุณภาพและความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นในโรงเรียนขนาดเล็กเป็นหลัก ซึ่งธนาคารโลกก็ระบุว่า ประเทศไทยลงทุนในโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก แต่ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นต่ำจำเป็นต้องแก้ไข
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอิสระฯ ได้พิจารณาข้อดีของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีโอกาสจะพัฒนาให้มีคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมีกฏเกณฑ์หลายอย่างที่เป็นอุปสรรค ดังนั้นที่ประชุมจึงมีข้อเสนอในการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อให้มีคุณภาพกว่า 10 ข้อ เช่น การปรับเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้เพียงพอและเหมาะสมกับพื้นที่ ปรับแก้เกณฑ์จำนวนครูต่อนักเรียนให้เหมาะสม ทั้งยังต้องให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะชุมชนเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือ เป็นต้น
“รูปแบบที่จะนำเสนอคือ จะให้โรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 1,000 โรง มาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นวัตกรรมเพื่อทำการพัฒนาทดลอง โดยคัดเลือกจำนวน 1 ใน 4 ของโรงเรียนในที่ห่างไกลและบนเกาะ และ 1 ใน 10 ของโรงเรียนที่เหลือ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมและคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัด ที่จะคัดเลือกโรงเรียนให้ได้รับการพัฒนาสนับสนุนเป็นพิเศษ เพื่อเป็นตัวอย่างในการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก”ประธาน คกก.อิสระฯ กล่าว