ฎีกาพิพากษากลับ 6 บริษัทประกันภัย จ่ายเยียวยา "ตลาดหลักทรัพย์" ร่วม 100 ล้าน หลังถูกวางเพลิงเหตุการณ์เผาเมืองปี 2553 ศาลระบุเพลิงไหม้เพราะกลุ่มบุคคล 10 คนอำพรางใบหน้า จึงไม่มีน้ำหนักว่าเกิดจากการลุกฮือต้านรัฐบาล หรือก่อการร้าย
ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา หมายเลขดำ 8132/2561 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, บริษัทศูนย์รับฝากทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แฟมิลี่ โนฮาว จำกัด โจทก์ที่ 1-3 ยื่นฟ้อง บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์, บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท ฟอลคอลประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน), บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในเรื่องประกันภัย
จำเลยทั้งหกให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งหกไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะความเสียหายจากการวางเพลิงเผาอาคารของโจทก์ที่ 1 และทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามที่อยู่ในอาคารของโจทก์ที่ 1 เกิดจากการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล และเป็นการก่อการร้าย เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยทั้งหกไม่ต้องรับผิดทั้งความเสียหายจากการทุบทำลาย เพลิงไหม้ น้ำที่ใช้ดับเพลิงจากอุปกรณ์ดับเพลิงอัตโนมัติ และควันไฟมิใช่ภัยเนื่องจากการกระทำอันป่าเถื่อน และกระทำด้วยเจตนาร้ายมุ่งหวังเพื่อทำลายตัวทรัพย์ที่เอาประกันเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการกระทำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่กระทำโดยมุ่งหวังให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง และเป็นการกระทำโดยมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเป็นสำคัญ และโจทก์ทั้งสามเรียกค่าเสียหายสูงเกินส่วน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษายืน โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ประกอบกิจการตลาดหลักทรัพย์โดยไม่นำผลกำไรมาแบ่งปันกัน จัดให้มีการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียน จัดระบบและวิธีการซื้อขายหลักทรัพย์โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยโจทก์ที่ 2 ประกอบกิจการรับฝากหลักทรัพย์ส่วนโจทก์ที่ 3 ประกอบกิจการจัดการงานนิทรรศการ การแสดงสินค้า การฝึกอบรม และประชุมสัมมนา จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลจดทะเบียน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับหนังสือรับรองให้ประกอบธุรกิจรับประกันวินาศภัย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจรับประกันวินาศภัย
เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2553 โจทก์ทั้งสามร่วมกับผู้เอาประกันรายอื่นทำสัญญาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เลขที่ 26 ถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร (รวมฐานราก) ที่จอดรถ สิ่งต่อเติมต่างๆ กำแพงประตู รั้วตลอดแนว เฟอร์นิเจอร์สิ่งตกแต่งต่างๆ อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ทุกชนิดระบบปรับอากาศและระบบอื่นๆ เครื่องจักร และอุปกรณ์ทุกชนิด ระบบลิฟต์ เสาอากาศ และระบบสัญญาณวิทยุ ระบบโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และทรัพย์สินต่างๆ ภายในสถานที่เอาประกันภัย รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ และทรัพย์สินอื่นๆ ทุกชนิดในอาคารดังกล่าวไว้ต่อจำเลยทั้งหก
โดยคุ้มครองการเสี่ยงภัยทุกชนิดระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.2553 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2554 จำนวนเงินเอาประกันภัย 3,474,408,510.33 บาท จำเลยทั้งหกแบ่งสัดส่วนการรับประกันภัยตามลำดับ โดยกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อยกเว้นความรับผิดว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองความเสียหายอันเป็นผลโดยตรงหรือโดยอ้อมมาจาก หรือสืบเนื่องมาจากการก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล การกบฏ การปฏิวัติ การยึดอำนาจการปกครองโดยทหาร หรือการก่อการร้ายโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการผู้ก่อการร้ายที่ใช้กำลังอย่างรุนแรงเพื่อผลทางการเมือง และรวมถึงการใช้กำลังอย่างรุนแรงเพื่อสร้างความหวาดกลัวแก่สาธารณชนตามกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.2553 ถึงวันที่ 19 มี.ค. 2553 มีเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม นปช. เพื่อประท้วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งหรือยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งใหม่ มีการตั้งเวทีใหญ่บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง และมีการตั้งเวทีย่อยบริเวณแยกคลองเตย ใกล้อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีการปิดการจราจรบนถนนรอบพื้นที่การชุมนุมทุกแห่ง การชุมนุมมีการใช้ความรุนแรง
รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 รัฐบาลส่งกำลังทหารสลายการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ และได้เกิดเหตุเพลิงไหม้สถานที่หลายแห่ง รวมทั้งอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายโจทก์ทั้งสาม จึงได้แจ้งเหตุความเสียหายต่อจำเลยทั้งหก ซึ่งจำเลยทั้งหกมอบให้บริษัทแม็คลาเรนส์ (ประเทศไทย) จำกัด สำรวจความเสียหายจากเหตุดังกล่าว แล้วปฏิเสธความรับผิด อ้างว่าเหตุความเสียหายเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ทั้งสามบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งหกรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉยไม่ชำระ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ทั้งสามได้รับอนุญาตให้ฎีกาในประการแรกว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเกิดจากภัยประเภทใดและเป็นภัยที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยตามฟ้องหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าเหตุความเสียหายต่อทรัพย์สินตามฟ้องเป็นผลมาจากมีกลุ่มบุคคลบุกรุกเข้าไปในอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และก่อให้เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารจนทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามที่อยู่ภายในอาคารและตัวอาคารดังกล่าวได้รับความเสียหาย ความเสียหายดังกล่าวจึงเป็นภัยที่เกิดจากเหตุเพลิงไหม้และการกระทำด้วยเจตนาร้าย ซึ่งเป็นภัยที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
ขณะที่ทางนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเหตุเพลิงไหม้อาคารเกิดขึ้นตอน 15.00 น. ภายหลังแกนนำประกาศยุติชุมนุมตอน 13.00 น. ตลอดจนผู้ก่อเหตุทุบทำลายและเผาอาคาร ก็มีประมาณ 10 คน ทั้งเป็นกลุ่มบุคคลที่ปิดบังอำพรางใบหน้า และกลุ่มที่ทำในลักษณะมีเจตนาก่อเหตุร้ายแล้วหลบหนีไปทันที โดยไม่มีประชาชนอื่นใดร่วมกระทำการ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งหกไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่าเหตุเพลิงไหม้ตามฟ้องเป็นผลมาจากการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาล และเป็นการก่อการร้ายเพื่อหวังผลทางการเมืองตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งหก ดังนั้นจำเลยทั้งหกจึงไม่อาจอ้างข้อยกเว้นความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
ปัญหาว่าจำเลยทั้งหกต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามเพียงใด ข้อนี้โจทก์ทั้งสามนำสืบความเสียหายของโจทก์แต่ละรายไว้แล้ว พร้อมตารางสรุปจำนวน โดยโจทก์มิได้นำสืบแสดง รายละเอียดความเสียหายตามที่กล่าวอ้างในแต่ละรายการ แต่กลับปรากฏความเสียหายบางรายการที่มิใช่ความเสียหายอันเกิดจากวินาศภัยภายใต้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ยังได้คำเบิกความของเจ้าหน้าที่วิศวะอาคารและหัวหน้าช่างซ่อมบำรุงอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พยานโจทก์ทั้งสามว่า ทรัพย์สินบางรายการ เช่น พรมหรือเฟอร์นิเจอร์ อาจไม่ต้องซ่อมแซม เพียงแต่ทำความสะอาดก็สามารถใช้งานได้ดังเดิม เมื่อจำเลยทั้งหกปฏิเสธโต้เถียงว่าโจทก์ทั้งสามเรียกค่าเสียหายสูงเกิน กรณีจึงไม่อาจรับฟังว่าโจทก์ทั้งสามต้องเสียหายตามจำนวนที่กล่าวอ้าง แต่แม้โจทก์ทั้งสามจะนำสืบความเสียหายได้ ไม่สมข้ออ้าง
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์ จึงเห็นควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 89 ล้านบาท ส่วนโจทก์ที่ 2 ที่เรียกร้องค่าเสียหายเป็นค่าซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 8 ชุด ซึ่งเป็นความเสียหายที่ไม่อยู่ในความคุ้มครองตามกรมธรรม์ฯ ส่วนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนผ้าหุ้มเก้าอี้พนักงาน จำนวน 13,209 บาท ก็ไม่มีหลักฐานการชำระเงิน คงมีเฉพาะส่วนที่จำเลยทั้งหกได้นำสืบยอมรับค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 มีเพียง 50,414 บาท ดังนั้นศาลจึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 57,500 บาท ส่วนโจทก์ที่ 3 ศาลเห็นควรกำหนดค่าเสียหายจำนวน 9 ล้านบาท
และเมื่อปรากฏว่าหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคาร พวกโจทก์ได้มีหนังสือเรียกร้องค่าสินไหม และหนังสือแจ้งปรับปรุงข้อมูลความเสียหายให้จำเลยทั้งหกชำระ แต่พวกจำเลยมีหนังสือแจ้งปฏิเสธความรับผิด โจทก์ทั้งสามขอให้บังคับจำเลยทั้งหกรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย มิใช่ผู้กระทำละเมิด เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2554 จึงถือว่าจำเลยทั้งหกผิดนัดชำระตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2554 จึงต้องได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันดังกล่าว ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามมานั้น ศาลฎีกาฯ ไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 26,700,000 บาท จำเลยที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 17,800,000 บาท จำเลยที่ 3 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 13,350,000 บาท จำเลยที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 13,350,000 บาท จำเลยที่ 5 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 8,9000,000 บาท และจำเลยที่ 6 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 8,900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ม.ค.2554 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1
ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 17,250 บาท จำเลยที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 11,500 บาท จำเลยที่ 3 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 8,625 บาท จำเลยที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 8,625 บาท จำเลยที่ 5 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 5,750 บาท และจำเลยที่ 6 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 5,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ม.ค. 2554 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2
ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 2,700,000 บาท จำเลยที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 1,800,000 บาท จำเลยที่ 3 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 1,350,000 บาท จำเลยที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 1,350,000 บาท จำเลยที่ 5 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 900,000 บาท และจำเลยที่ 6 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ม.ค. 2554 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |