ภารกิจร้อนรอ หน.ปชป.คนใหม่ ร่วม-ไม่ร่วมตั้ง รบ.-กอบกู้พรรค


เพิ่มเพื่อน    

       หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขต ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ในช่วงไม่เกิน 9 พ.ค. โหมดการเมืองประเด็นใหญ่จะพุ่งไปที่ การช่วงชิงเสียงการจัดตั้งรัฐบาลของสองขั้วใหญ่คือ พรรคเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ ในสภาพที่ทุกเสียงมีความหมายอย่างยิ่งต่อการช่วงชิงเสียงเพื่อชิงอำนาจการเป็นรัฐบาล

            ซึ่งเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งของการที่พลังประชารัฐ จะตั้งรัฐบาลได้อย่างราบรื่นมีลุ้นให้เกิน 250 เสียง ก็คือ  การได้เสียง ส.ส.ประชาธิปัตย์มาทั้งพรรค ที่เบื้องต้นอยู่ที่ 52 เสียง แยกเป็น ส.ส.เขต 33-ปาร์ตี้ลิสต์ 19 คน แต่หาก กกต.รับรอง ส.ส.ไม่ครบ มีคนโดนใบส้ม-ใบแดง ก็อาจทำให้เสียงไม่ถึง

            ด้วยเหตุนี้ การประชุมใหญ่วิสามัญของ ปชป. 15 พ.ค. ที่จะมีวาระสำคัญคือ การเลือก หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ และ กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จึงมีความหมายต่อทิศทางการเกิดขึ้นของรัฐบาล บิ๊กตู่ คำรบสอง อย่างมาก

            เบื้องต้นจนถึงขณะนี้มีคนที่เปิดตัวชัดเจนว่าจะลงชิงเก้าอี้ หัวหน้าพรรคสีฟ้า-ปชป. แน่นอนแล้ว 3 คน คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, กรณ์ จาติกวณิช, อภิรักษ์ โกษะโยธิน ขณะที่อีกหนึ่งคนที่กำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจคือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม อดีต ส.ส.กทม.

            ทั้งนี้ จุรินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค เป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ปชป. อันดับที่ 6 ส่วนกรณ์อยู่อันดับ 7 ด้านพีระพันธุ์อยู่อันดับ 16   

                ดังนั้น ทั้งสามคนได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เข้าสภาแน่นอน ส่วนอภิรักษ์ที่เป็นแกนนำพรรค ปชป. สายตรง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ไม่มีชื่อลงสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์รอบที่ผ่านมา สาเหตุคงเพราะเตรียมจะไปลงสมัครชิงผู้ว่าฯ กทม.ของพรรค

                กรณีของอภิรักษ์ก็อาจมีข้อเสียเปรียบพอสมควรกับการชิงหัวหน้าพรรค ปชป. โดยที่ตัวเองไม่ได้เป็น ส.ส.ในสภา ที่อาจทำให้โหวตเตอร์ที่จะประชุมกัน 15 พ.ค. ที่มีด้วยกัน 306 คนโดยประมาณ แยกเป็น กลุ่มอดีตกรรมการบริหารพรรค, อดีต ส.ส. เป็นต้น รวมกันประมาณ 254 คน กับกลุ่มว่าที่ ส.ส.ชุดล่าสุดอีก 52 คน อาจไม่หนุนอภิรักษ์

            แม้ภายนอกดูเหมือนคนที่เปิดตัวแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจจะสงบนิ่ง ไม่ได้เคลื่อนไหวขอเสียงโหวตเตอร์ โดยคาดว่าหลังผ่านพ้นช่วงงานสำคัญของประเทศไทย คือเลยวันที่ 6 พ.ค.ไปแล้ว คงเริ่มมีการขยับหาเสียงกับโหวตเตอร์กัน แต่ในความเป็นจริงก็มีข่าวว่า แต่ละคนรวมถึงกองเชียร์ แนวร่วมของแคนดิเดตแต่ละฝ่าย ก็มีการขยับ-เคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก

              ความเคลื่อนไหวล่าสุดหลังเรื่องการชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคสีฟ้าเริ่มถูกโฟกัสทางการเมืองมากขึ้น แคนดิเดตแต่ละคนก็ไม่รอช้า เริ่มเปิดตัวแสดงวิสัยทัศน์ แนวทางการกอบกู้-ฟื้นฟูพรรค ปชป. หลังจากแพ้ศึกเลือกตั้งอย่างย่อยยับ ทั้งตัวเลข ส.ส.ลดลงจากเดิมตอนปี 2554 ที่เคยได้ 165 คน รอบนี้เหลือ 52 คน จากที่เคยได้ popular vote 11 ล้านคะแนน รอบนี้เหลือแค่กว่า 3 ล้านคะแนน

ดังนั้น ภารกิจกอบกู้ ฟื้นฟูพรรค ปชป. จึงเป็นการบ้านข้อใหญ่ของหัวหน้าพรรคสีฟ้าคนใหม่

            ซึ่งล่าสุด ทั้ง กรณ์-อภิรักษ์ ซึ่งจริงๆ ก็คือแกนนำ ปชป.ที่ใกล้ชิด และเป็นทีมงานของอภิสิทธิ์ในช่วงเดอะมาร์คเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.มาตลอด ก็เปิดตัวยืนยันลงชิงหัวหน้าพรรค ปชป.อย่างเป็นทางการแล้ว

             เช่น กรณ์ ที่ระบุผ่านการให้สัมภาษณ์ในรายการเฟซบุ๊ก Suthichai Yoon live ว่า ได้ตัดสินใจลงชิงหัวหน้าพรรค ปชป.ทันทีหลังอภิสิทธิ์ลาออก และวางตัวชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ว่าที่ ส.ส.ตาก อดีต รมว.อุตสาหกรรม เป็นเลขาธิการพรรค ส่วนการจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ ต้องรอกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ตัดสินใจ

ส่วน อภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็ย้ำว่า จะลงชิง หน.ปชป. เพราะผลการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ออกมา ทำให้พรรคจำเป็นต้องรับฟังกระแสสังคมเพื่อปรับปรุงตัวเองให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และระบุว่า หวังจะเข้าไปกอบกู้พรรค ปชป.

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ จุรินทร์ ที่ข่าวว่าได้แรงหนุนจากชวน หลีกภัย-บัญญัติ บรรทัดฐานอภิสิทธิ์ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะวางตัว-เปิดตัวใครเป็นเลขาธิการพรรค หากได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค เพราะตอนแรกมีข่าวว่าทาบทามชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ไว้ก่อนแล้ว แต่ชัยวุฒิ เลือกไปอยู่กับกรณ์แทน ข่าวบางกระแสก็บอกว่า อาจจะเป็นอัศวิน วิภูศิริ หนึ่งในถุงเงินของ ปชป. ที่เป็นพ่อของ ชาญวิทย์ วิภูศิริ ว่าที่ ส.ส.กทม.พลังประชารัฐ ที่กำลังโดนรุกไล่จากเพื่อไทยเรื่องถือหุ้นสื่อ แต่คนในปีกของจุรินทร์ ให้ข่าวอีกทางว่า ไม่น่าจะใช่ชื่อนี้ เพราะบุคลิกของอัศวิน ไม่ใช่คนมีคอนเน็กชั่นมาก และไม่ใช่คนที่พร้อมจะดูแลพรรค-ส.ส.พรรคได้ โดยคนในปีกของจุรินทร์บอกแค่ว่า จุรินทร์กำลังเปิดดีลพูดคุยกับคนที่วางตัวไว้อยู่ ซึ่งคนดังกล่าวต้องมีบุคลิกสำคัญคือ มีบุคลิกเป็นมือประสาน-มากคอนเน็กชั่น และที่สำคัญ งานเฉพาะหน้าคือต้องเป็นคนที่มี เสียงโหวตเตอร์ใน ปชป.ระดับหนึ่ง จาก 306 เสียง ที่จะมาซับพอร์ต เกื้อหนุน ให้จุรินทร์ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.

สำหรับ พีระพันธุ์ ก็มีกระแสข่าวว่าเป็นชื่อที่วงกาแฟ ในหมู่บ้านพิบูลวัฒนา ย่านถนนพระรามหกของ ถาวร เสนเนียม แกนนำ ปชป. ที่เคลื่อนไหวให้ ปชป.ไปร่วมตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐ ที่มีว่าที่ ส.ส.-อดีต ส.ส.ปชป.ไปร่วมกินกาแฟกับถาวร ได้เอ่ยชื่อถึงพีระพันธุ์บ่อยครั้งว่า น่าจะเป็นตัวเลือกที่ควรผลักดัน เพราะเป็นชื่อกลางๆ ไม่ได้มีภาพว่าเป็นคนของกลุ่มอำนาจเก่าสายอภิสิทธิ์หรือกลุ่มถาวร โดยกลุ่มสายถาวรก็ยังไม่ชัดว่าจะหนุนใคร แม้จะมีกระแสข่าว่า กรณ์-ชัยวุฒิ-ถาวร คือคอนเน็กชั่นเดียวกันที่จะสู้กับฝ่ายจุรินทร์

ทั้งนี้ การลงมติของที่ประชุมใหญ่ ปชป. วันที่ 15 พ.ค. ที่จะมีผู้ได้รับแจ้งให้เข้าประชุมราวๆ 306 คน อย่างไรก็ตาม น้ำหนักการออกเสียงเพื่อออกมาเป็นมติที่ประชุมจะแตกต่างกันคือ คนที่เป็นว่าที่ ส.ส.ชุดใหม่ จะมีน้ำหนักในการออกเสียงอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพวกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. อยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะถือว่าคนที่เป็น ส.ส. จะต้องไปทำงาน ไปโหวตในสภา

การเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.รอบนี้ จะมีผลทำให้ ภายในพรรค ปชป.ยิ่งมีรอยร้าวหนักขึ้นหลัง 15 พ.ค.หรือไม่ มองดูแล้วก็มีโอกาสไม่ใช่น้อย!

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"