กองหนังสือนี้เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของความพยายามของผม ที่จะทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะ "ปัญญาประดิษฐ์" หรือ Artificial Intelligence (AI) ที่จะมีผลต่อสังคมไทยทั้งในภาพรวมและภาพย่อยของแต่ละอาชีพ
หรือบางทีก็เรียกมันว่า Super Intelligence ซึ่งหมายถึงความสามารถของมนุษย์ที่จะพัฒนาให้หุ่นยนต์มีความสามารถในการแยกแยะ, ประเมิน, วิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างน่าอัศจรรย์
เขาเรียกมันว่า Machine Learning ซึ่งหมายความว่าเจ้าเครื่องยนต์กลไกที่เราเขียนโปรแกรมที่เก่งขึ้นเรื่อยๆ นั้น ถึงจุดหนึ่งมันจะมีความสามารถที่ "เหนือมนุษย์"
จาก Artificial Intelligence ไปสู่ Super Intelligence หรือกลายเป็นความฉลาดระดับ "ซูเปอร์"
ผมตัดสินใจที่จะต้องทำความเข้าใจกับเจ้า Super Intelligence ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีเลย
แต่เพราะผมรู้ว่ามันจะมีความสำคัญต่อโลกในทุกมิติ และหากมนุษย์สามารถใช้มันอย่างชาญฉลาด เราก็อาจจะได้ประโยชน์มหาศาล
แต่หากเราปฏิเสธที่จะทำความเข้าใจกับ "ความเป็นอัจฉริยะ" ของมัน วันหนึ่งเราก็อาจจะกลายเป็นทาสของมัน
ถึงวันที่เราตระหนักว่าเจ้า AI รู้จักเรามากกว่าที่เรารู้จักตัวเอง ก็จะเข้าสู่สถานภาพที่เราตกเป็นเบี้ยล่างของมันแน่นอน
เพราะทุกวันนี้เจ้า AI สามารถทำอะไรหลายอย่างที่เราไม่เคยเชื่อว่ามันจะทำได้ เช่น
จำหน้าคนได้
เข้าใจภาษาพูด...แปลภาษาต่างชาติได้ในพริบตา
ขับรถเองได้
ผลิตงานศิลปะ
แนะนำหนังสือและภาพยนตร์ที่คุณชอบ (ใช่...มันรู้ว่าคุณชอบหรือไม่ชอบอะไรจริงๆ)
แต่งเพลงได้
แต่งนิยายได้
ทำหน้าที่พิธีกรอ่านและวิเคราะห์ข่าวได้
ทำนายได้ว่าเด็กที่เพิ่งเกิดใหม่อาจมีโอกาสเป็นโรคอะไรได้บ้างตลอดชีวิต
แต่ก่อนนี้คนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นคนกำหนดว่าเจ้าคอมพ์จะทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้
วิธีเดิมคือการเขียนโค้ดเป็น algorithm หรือสูตรที่เป็นภาษาคอมพ์ แล้วมันก็จะทำอะไรตามคำสั่งของมนุษย์
นั่นแปลว่าเจ้าคอมพ์จะทำอะไรเกินที่มนุษย์สั่งไม่ได้ จึงทำให้เชื่อว่าอย่างไรเสียมนุษย์ก็จะต้องเก่งกว่าคอมพิวเตอร์
แต่ทุกวันนี้สำหรับงานบางอย่าง มนุษย์ไม่ต้องเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แล้ว แต่หันไปเก็บข้อมูลที่เรียกว่า data collection
ข้อมูลที่ว่านี้มีกรณีตัวอย่างที่มนุษย์ต้องการให้เจ้าคอมพ์ทำตาม แต่ความฉลาดของมันคือการที่มี algorithm ที่ "เรียนรู้ได้" หรือที่เรียกว่า learning algorithm ที่สามารถปรับโปรแกรมโดยตัวมันเองโดยอัตโนมัติ จนมันสามารถทำภารกิจสอดคล้องกับที่ข้อมูลนั้นๆ กำหนดให้ทำ
หรืออีกนัยหนึ่งคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เครื่องคำนวณตัวเลขหรือสถิติอย่างเดียวอย่างที่เราเคยรู้จักมาตลอดอีกต่อไปแล้ว
ฐานข้อมูล (data bases) กับสื่อดิจิตอล (digital media) ได้มาแทนที่การสื่อสารผ่านกระดาษ
และการสื่อสารด้วยระบบดิจิตอลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้มาทดแทนวิธีการส่งผ่านข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ
วิวัฒนาการนั้นเริ่มด้วยคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลซึ่งมีรูปแบบหรือ graphical interface ที่ง่ายต่อการใช้ ตามมาด้วยโทรศัพท์อัจฉริยะทำให้การสื่อสารทำได้ง่ายและสะดวกขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
คอมพิวเตอร์ที่มาในรูปมือถือทำให้มันกลายเป็นเครื่องมือที่ติดตัวได้อย่างสะดวกสบาย พกพาไปไหนมาไหนได้ง่าย เหมือนทีวีและไมโครเวฟในยุคหนึ่ง
อีกทั้งทุกวันนี้ข้อมูลทุกประเภท ไม่เพียงแต่ตัวเลขและตัวหนังสือเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงภาพ, วิดีโอและเสียงถูกเก็บ ประเมิน และส่งต่อผ่านระบบดิจิตอลได้ด้วยความเร็วและแม่นยำที่เหลือเชื่อ
ก็ด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้แหละที่ทำให้เกิดการเพิ่มพูนของข้อมูลมหาศาลที่เรียกว่า "dataquake" หรือ "ข้อมูลมากมายเทียบได้กับแผ่นดินไหว" ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความสนใจอย่างกว้างขวางต่อสิ่งใหม่ ๆ ที่เราเรียกว่า
การวิเคราะห์ข้อมูล (data analysis) และ Machine Learning อันหมายถึงการที่โปรแกรมเรียนรู้ด้วยตัวเอง (learning programs) มาแทนที่คนเขียนโปรแกรม (programmers)
นั่นเป็นที่มาของการที่โปรแกรม Deep Blue ที่สามารถเอาชนะแชมป์หมากรุกระดับโลกได้ในปี 1997 และโปรแกรม AlphaGo ตีพ่ายแชมป์หมากโกะ ในปี 2016
คำถามก็คือว่า
ถ้ามันฉลาดขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องอาศัยมนุษย์ วันหนึ่งข้างหน้ามันจะหาทางกำจัดมนุษย์ได้หรือไม่?
นั่นคือคำถามใหญ่ที่ผมพยายามจะหาคำตอบให้ได้ก่อนจะหายใจเฮือกสุดท้าย!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |