ชม นิทรรศการศิลปนิพนธ์ ของนิสิตมศว.
งานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นต้องได้รับการเผยแพร่จึงจะเป็นประโยชน์และมีคุณค่า ประโยคนี้ศิลปินและผู้ชื่นชอบงานศิลปะหลายท่านมักจะพูดอยู่บ่อยครั้ง เพราะถ้าไม่ได้นำงานออกมาเผยแพร่ก็จะเป็นงานที่ถูกลืม หมดความหมาย เช่นเดียวกับงานศิลปะ ที่พัฒนาจากงานวิจัย ที่ถูกเรียกว่าศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เกือบร้อยผลงานที่ใช้เวลาในการศึกษา เรื่องราว ลงพื้นที่ สู่การออกแบบ ต้องใช้เวลาเกือบปีกว่าจะสำเร็จ หากผลของความทุ่มเทเหล่านี้ถูกเก็บไว้แต่ภายในห้องเรียนก็จะถูกลืม สิงห์ คอมเพล็กซ์ โครงการลักชัวรี มิกซ์ ยูส บริเวณหัวมุมถนนอโศก-เพชรบุรี โดยบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) จึงได้เปิดพื้นที่สาธารณะจัดแสดง “นิทรรศการศิลปนิพนธ์” ของนิสิตมศว.เพื่อเป็นการสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 10-22 พ.ค.นี้ บริเวณชั้น 2-3 ของโครงการ โดยเปิดให้ชมฟรี
นายโอฬาร วัยอุดมวุฒิ ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและการพาณิชย์ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่สิงห์ คอมเพล็กซ์ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการทำงานของกลุ่มคน Gen Y และ Gen Z จึงได้ร่วมสนับสนุนนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว. ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านการผลักดันเยาวชนให้รู้คิดนอกกรอบ มีแนวทางของตนเอง และที่สำคัญสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ได้นำผลงานศิลปนิพนธ์ ที่สวยงาม และมีคุณค่า มาจัดแสดงให้เข้าถึงผู้คนมากขึ้น ซึ่งผลงานของพวกเขาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จขั้นต้นของเยาวชนรุ่นใหม่ในการทำศิลปนิพนธ์ ที่พร้อมจะเติบโต และพัฒนาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ศุภวิช อิศรางกูร ณ อยุธยา หัวหน้าสาขาวิชาออกแบบสื่อสาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว.กล่าวเพิ่มเติมว่า นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ซึ่งการศึกษาในหลายปีมานี้ค่อนข้างมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทางมหาวิทยาลัยก็ได้มีการปรับปรุงตลอด จะมุ่งแต่การเรียนการสอนอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องมีการพยายามเข้าสู่ชุมชนใกล้เคียง ปรับตัวกับการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา รวมถึงการร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ส่วนรายวิชาที่จัดนิทรรศการเป็นการจัดขึ้นทุกปี เพื่อแสดงผลงานตามพื้นที่ต่างๆ เพราะเชื่อว่าการเรียนจบที่มหาวิทยาลัยอย่างเดียวไม่เกิดการพัฒนา และจะไม่มีประโยชน์หรือผลกระทบต่อชุมชน จึงต้องมีการทำงานร่วมกับผู้อื่น และเผยแพร่ผลงานของตนเอง มหาวิทยาลัยก็สนับสนุนการแสดงออกทางความคิดของนิสิต และต้องการให้นิสิตใช้ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้น มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ตนบอกกับนิสิตทุกคนว่า เราสามารถหาแรงบันดาลใจได้ตามสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว อีกสิ่งหนึ่งคือการจะเข้าถึงแรงบันดาลใจก็มาจากเทคโนโลยี จึงอยากฝากว่านักเรียน นิสิต นักศึกษาที่สนใจการออกแบบ เรื่องของความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นสิ่งสำคัญมากในการพัฒนางาน ซึ่งสามารถพบเห็นได้ตลอดเวลา การเรียนรู้ต้องมีตลอดเวลาด้วย ทุกสิ่งรอบตัวสามารถเรียนรู้กับมันได้ และจะทำให้กลายเป็นนักออกแบบที่รู้รอบด้าน
สำหรับผลงานที่จะนำมาแสดงในนิทรรศการเป็นผลงานของ 3 ภาควิชาคณะศิลปกรรมศาสตร์ได้แก่ สาขาวิชาการออกแบบทัศนศิลป์ วิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์, สาขาวิชาการออกแบบสื่อสาร และสาขาวิชาศิลปะจินตทัศน์ วิชาเอกศิลปวัฒนธรรม
หนังตะลุงที่ออกแบบเพิ่มสีสีนไปที่ตัวหนัง
นางสาวอิสรีย์ ยุ้นพันธ์ ตัวแทน ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ กล่าวว่า ปีนี้เรามาในคอนเซ็ปต์ House number 15 ซึ่งหมายถึง บ้านหมายเลขที่ 15 ที่มีสมาชิก 15 คนจากภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นบ้านที่รวบรวมชิ้นงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งสำหรับใช้ในบ้าน และกิจกรรมการพักผ่อนของสมาชิกบ้าน ที่หวังว่าจะทำให้บ้านมีชีวิตชีวาเติมเต็มความสุขให้ผู้ชมงานนิทรรศการ
การออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารให้กับรพ.
ขณะที่นายบุญชัย ศรีกนก ตัวแทนนิสิตสาขาวิชาศิลปะจินตทัศน์ วิชาเอกศิลปวัฒนธรรม กล่าวว่า ในสาขาวิชาศิลปะจินตทัศน์ วิชาเอกศิลปวัฒนธรรม ได้ร่วมกันทำงานวิจัย ภายใต้คอนเซ็ปต์ Anthropocene (แอนโทรโปซีน) หรือ “เกิดใหม่ หมุนเวียน เงียบหาย” สื่อถึงยุคสมัยแห่ง Anthropocene ยุคสมัยที่มนุษย์ฝากร่องรอยเอาไว้บนโลกนี้ ก็จะเกี่ยวกับเรื่องของการเมือง การปกครอง ชนชั้นปกครอง ชนชั้นถูกปกครอง ซึ่งบอกเล่าเกี่ยวกับการกระทำ ของตัวบุคคลสังคม ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งผ่านเรื่องราวใกล้ตัว เช่นความเชื่อ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ศิลปวัฒนธรรมประเพณี ฯลฯ โดยนิสิตในเอกทุกคนได้ทำการลงพื้นที่ต่างๆ คลุกคลีอยู่กับชุมชนและสถานที่ต่างๆ 9 แห่งเป็นเวลาเกือบปี และถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานต่างกัน ทั้งงานภาพถ่าย วิดิโออาร์ต งานเพ้นท์ รวม 9 ผลงานไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่ทำเรื่อง ‘การแทงหยวกสกุลช่างสุสุทธิ เมืองเพชรบุรี’ เน้นเสนอเรื่องศิลปะการแทงหยวก กับความเชื่อที่ผ่านมาตามยุคสมัย หรือจะเป็นเรื่อง ‘แรงงานชาวกัมพูชาในชุมชนตรอกหม้อ’ กรุงเทพมหานคร อันส่งผลต่อมาเป็นผลงานภาพถ่ายสารคดี ฯลฯ
ผลงานวีดีทัศน์
ส่วนนายปิยเมตร วุฒิเฉลิมวัฒน ตัวแทนสาขาวิชาการออกแบบสื่อสาร กล่าวว่า การออกแบบสื่อสารที่จะนำมาจัดแสดงจะค่อนข้างหลากหลายแต่ละคนมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจ มากกว่า 42 ชิ้นงาน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Commuseum” หมายถึงพิพิธภัณฑ์ของสาขาวิชาการออกแบบสื่อสาร ที่รวบรวมผลงานอันมีค่าที่ถูกรังสรรค์เกิดจากกระบวนการคิดอย่างถี่ถ้วน ด้วยความตั้งใจและคาดหวังว่าผลงานจะเป็นที่จดจำ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมงานเช่นเดียวกับการจัดแสดงผลงานที่ถูกจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ยกตัวอย่างผลงานตนชื่อ ‘Feng Shui guide for graphic design’ การออกแบบหนังสือที่แก้ปัญหาระหว่างนักออกแบบที่ยังไม่เข้าใจศาสตร์ของฮวงจุ้ย เพื่อให้ฮวงจุ้ยเป็นเพียงหนึ่งเงื่อนไขในการออกแบบเท่านั้น และสามารถออกแบบงานได้ตรงตามจุดของลูกค้าที่ยึดเรื่องฮวงจุ้ยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพลักษณ์ให้กับธุรกิจของตนเอง หรือผลงาน คิดขึ้นมาจากปัญหาของสังคมในปัจจุบันที่มีความเกี่ยวข้องกับการออกแบบกราฟิกจากการบอกเล่าประสบการณ์ของนักออกแบบที่พบว่ามีผู้ประกอบการในประเทศไทยจำนวนมากที่เอาหลักฮวงจุ้ย เป็นส่วนสำคัญในการพิจารณางานออกแบบ รวมไปถึงกำหนดทิศทางการออกแบบ ดังนั้นเมื่อทั้งสองศาสตร์ที่ดูเหมือนจะแตกต่างกันมากต้องมาเจอกัน จึงเกิดปัญหา ตนก็เลยศึกษาของความต่างกัน เพื่อหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้งานออกแบบสวยงาม แล้วยังคงความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยไปพร้อมกัน
ออกแบบฮวงจุ้ยผสานกับการตกแต่งสมัยใหม่
" หรืออีกงานที่น่าสนใจ คือการออกแบบคาแรกเตอร์ผีไทยในบริบทสังคมสมัยใหม่ จากที่เคยรู้จักกระสือ กระหัง เปรต ก็เปลี่ยนเป็นผีที่อยู่ในสังคมใหม่ เช่น ผีล้มเหยียด ผีเกมแดง ผีพิมพ์นิยม ผีเซลฟี่ ผีปลอมตน ผีขี้แกล้ง ฯลฯ แล้วก็ผลงานที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมอย่าง แลหนังลุง การออกแบบหนังสือให้ความรู้เกี่ยวกับหนังตะลุง ศิลปะการแสดงภาคใต้ที่ใกล้เลือนหาย ออกแบบการแกะตัวหนังตะลุงที่แตกต่างกันใช้สีสันทันสมัยมากขึ้น น่าติดตาม เปิดอ่านแล้วไม่น่าเบื่อ และอีกหลากหลายเรื่องของวิชาเอกนี้"ปิยเมตรกล่าว.
ผลงานการออกแบบคาแรกเตอร์ผีไทยในบริบทสังคมสมัยใหม่โดยนิสิตสาขาการออกแบบสือสาร