1พ.ค.62-“หมอจรัส” เผย ร่างพ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ อยู่ระหว่างรัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ ชมรัฐบาล มีความกล้าหาญที่จะผลักดันการปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ ตั้งความหวังชี้ สกศ.มีความเข้มแข็งในการปฏิบัติการ และมีระบบข้อมูลที่ดีเพื่อนำไปสู่การวางนโยบายการศึกษาที่เหมาะสม เตรียมแถลงผลงาน 28 พ.ค.นี้
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....ที่จะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การศึกษาแห่งชาติ ว่า ขณะนี้ทราบว่าร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการปฎิรูปการศึกษา โดยเฉพาะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลการจัดการศึกษาในทุกกระทรวง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายใน 60 วัน และทันทีที่ พ.ร.ก.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะปรับบทบาทหน้าที่ไปเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติทันที ซึ่งกำหนดอยู่ในบทเฉพาะกาล ทราบว่า สกศ.กำลังเตรียมปรับโครงสร้างภายในเพื่อรองรับหน้าที่ใหม่ รวมทั้งต้องมีการปรับแผนการศึกษาแห่งชาติให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติด้วย
“ต้องถือว่ารัฐบาลมีความกล้าหาญที่จะผลักดันการปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ สิ่งที่ คณะกรรมการอิสระฯ หวังไว้ คือ หลังมีการปรับโครงสร้างแล้วอยากให้สภาการศึกษาเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ดำเนินงานแบบส่วนราชการ แต่อยากให้มีความเข้มแข็งในการปฏิบัติการ และมีระบบข้อมูลที่ดีเพื่อนำไปสู่การวางนโยบายการศึกษาที่เหมาะสม ทั้งนี้คณะกรรมการอิสระฯ จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ดังนั้นในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้จะมีการแถลงผลการดำเนินงาน 2 ปีที่ผ่านมาของคณะกรรมการอิสระฯ อย่างไรก็ตาม ใน พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติกำหนดไว้ว่า ในระหว่าง 60 วันที่อยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษาทำหน้าที่ไปพลางๆ ก่อน” ประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ร่าง พ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติได้มีการปรับ ในสิ่งที่กลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาคัดค้านหรือไม่ นพ.จรัส กล่าวว่า ไม่ได้มีการปรับ เพราะหลายเรื่องได้ถูกปรับจากสิ่งที่ คณะกรรมการอิสระฯ เสนอไปแล้ว แต่ยังคงหลักการและความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปการศึกษาที่ให้ความสำคัญและคืนศรัทธารวมถึงยกย่องครูอย่างแท้จริง สิ่งที่ออกมาคัดค้านเป็นเรื่องของตำแหน่งซึ่งเป็นสิ่งสมมุติ แต่สิ่งที่ คณะกรรมการอิสระฯ พยายามสื่อให้ทราบเป็นของจริง คือการศึกษาไม่ได้ดีขึ้นเพราะการบริหารแต่ดีขึ้นเพราะครู และคำว่าครูใหญ่ก็มีความหมายมากกว่าผู้อำนวยการ