ทุ่ม1.3หมื่นล้าน ปลุกเที่ยว-ช็อป พยุงศก.กลางปี


เพิ่มเพื่อน    


    มาตรการเพิ่มเติมอีกเป็นระยะ "ธปท." โอดพิษส่งออกดิ่งฉุดจีดีพีทั้งปีเสี่ยงโตต่ำกว่าเป้าหมายที่ 3.8%
    ครม.เทงบ 1.32 หมื่นล้านเคาะมาตรการพยุงเศรษฐกิจกลางปี เพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 500 บาท พร้อมลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว ซื้อสินค้าเพื่อการศึกษา กีฬา ค่าหนังสือ และที่อยู่อาศัย เริ่มตั้งแต่ 30 เม.ย.-31 ธ.ค.62 "คลัง" ชี้ทำรัฐสูญรายได้ 2 หมื่นล้านบาท "ผอ.สศค." เชื่อคุ้มช่วย ศก.ขยายตัวต่อไปได้ "บิ๊กตู่" แย้มมีมาตรการเพิ่มเติมอีกเป็นระยะ "ธปท." โอดพิษส่งออกดิ่งฉุดจีดีพีทั้งปีเสี่ยงโตต่ำกว่าเป้าหมายที่ 3.8%
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 30 เม.ย. นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการพยุงเศรษฐกิจว่า ครม.เห็นชอบมาตรการพยุงเศรษฐกิจกลางปี 2562 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากผลกระทบการชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกและการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่แน่นอน ส่งผลให้การใช้จ่ายเงินในไตรมาส 1 ทรงตัว โดยมาตรการดังกล่าวประกอบไปด้วย กลุ่มมาตรการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการของรัฐ รวม 4 มาตรการ วงเงินรวม 13,200 ล้านบาท 
    นายณัฐพรกล่าวว่า มาตรการแรกเพิ่มเงินช่วยคนพิการ โดยการซื้อสินค้าผ่านบัตรฯ รวมถึงการถอนเงิน จำนวนเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลารวม 5 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ย.2562 วงเงินรวม 1,160 ล้านบาท 2.ช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าครองชีพของเกษตรกร ทั้งการซื้อปุ๋ย อุปกรณ์การเกษตร ยาฆ่าแมลง จำนวนเงิน 1,000 บาทต่อคน กลุ่มเป้าหมาย 4.1 ล้านคน รวมวงเงิน 4,100 ล้านบาท 3.ช่วยเหลือค่าครองชีพในส่วนค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมให้กับผู้มีรายได้น้อย จำนวนเงิน 500 บาทต่อคน ให้กับบุตรผู้มีรายได้น้อย 2.7 ล้านคน รวมวงเงิน 1,350 ล้านบาท และ 4.ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยทั้งหมดที่ถือบัตรสวัสดิการฯ โดยเพิ่มเงินสำหรับซื้อสินค้าในบัตร เป็น 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน คือตั้งแต่ พ.ค.-มิ.ย.62 วงเงินรวม 6,600 ล้านบาท รวมจำนวนทั้งหมด 14.5 ล้านคน
    โฆษกประจำรองนายกฯ กล่าวว่า นอกจากนั้นยังมีมาตรการในส่วนของภาษีเพื่อพยุงเศษฐกิจอีก 6 มาตรการ คือ 1.ส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย โดยใช้มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จ่ายในส่วนของค่าที่พัก โรงแรม โฮมสเตย์ ค่านำเที่ยว ฯลฯ ตามจำนวนเงินจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาทในเมืองรอง ขณะที่ในเมืองหลักจะลดหย่อนไม่เกิน 15,000 บาท โดยมาตรการดังกล่าวจะมีเวลาสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.2562 นี้ โดยมีการกำหนดวงเงินสนับสนุนรวม 1,000 ล้านบาท
    2.มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา แต่ไม่รวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย. 62 นี้ โดยมีการกำหนดวงเงินสนับสนุนรวม 1,500 ล้านบาท 3.มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย หรือสินค้าโอท็อป ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับโครงการพัฒนาชุมชนแล้ว โดยจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย.นี้ โดยมีการกำหนดวงเงินสนับสนุนรวม 150 ล้านบาท
    4.มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่าน ทั้งค่าซื้อหนังสือและบริการหนังสือที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บุ๊ก) โดยขยายเวลาให้รองรับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.62 แต่มีข้อแม้ว่าเมื่อรวมกับมาตรการช็อปช่วยชาติแล้ว จะต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีการกำหนดวงเงินสนับสนุนรวม 2,250 ล้านบาท 5.มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท มาลดหย่อนภาษีได้ โดยจะให้สิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.-31 ธ.ค. แต่มีข้อแม้ว่าผู้ยื่นรับการส่งเสริมจะต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย หรือมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่น้อยกว่า 5 ปี ตั้งแต่วันที่จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ โดยเงินลดหย่อนดังกล่าวจะไม่รวมกับการทำสัญญาซื้อขายที่ดินและดารทำสัญญาปลูกสร้างอาคารด้วย โดยมีการกำหนดวงเงินสนับสนุนรวม 1,350 ล้านบาท 
    6.มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยสามารถนำรายจ่ายเป็นจำนวน 2 เท่าของการลงทุนเพื่อรองรับระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่จ่ายไป อาทิ เครื่องบันทึกการรับเงินและระบบที่เชื่อมโยงกับการรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการพัฒนาระบบหรือค่าบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่จำกัดจำนวนวงเงิน มาลดหย่อนภาษีได้ ถึงวันที่ 31 ธ.ค.นี้ โดยมีการกำหนดวงเงินสนับสนุนรวม 2,370 ล้านบาท 
    “คาดว่าการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะช่วยให้เกิดการจับจ่ายขึ้น และดันให้การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ หรือจีดีพีเติบโตได้ 3.9% ตามที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้แต่เดิม” โฆษกประจำรองนายกฯ กล่าว
    ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า มาตรการพยุงเศรษฐกิจช่วงกลางปี 2562 รวม 4 มาตรการ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะใช้งบประมาณที่ 1.32 หมื่นล้านบาท และ 6 มาตรการภาษี ประมาณการสูญเสียรายได้ที่กว่า 7,000 ล้านบาท รวมแล้วคาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงการคลังตั้งไว้ 
    "ขอย้ำว่าไม่ใช่มาตรการยาแรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นมาตรการพยุงเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ จากที่เห็นสัญญาณเศรษฐกิจแผ่วตัวลงในช่วงไตรมาส 1/2562" นายลวรณกล่าว
    ผอ.สศค.กล่าวว่า ตอนนี้ที่ สศค.เห็นตัวเลขเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีทิศทางชะลอตัวลง แต่ก็ไม่มาก เศรษฐกิจไทยไม่ได้ป่วยหนัก จึงยังไม่จำเป็นต้องใช้ยาแรง โดยยืนยันว่ามาตรการพยุงเศรษฐกิจครั้งนี้ จะช่วยให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเพิ่มได้ 0.1% จากคาดการณ์ 3.8% แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็จะมีความเสี่ยงกับการเติบโตของเศรษฐกิจ
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงหลังประชุม ครม. ถึงมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผ่านมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศว่า จะมีมาตรการเพิ่มเติมชั่วคราวให้เป็นระยะๆ นอกจากนั้น ยังมีมาตรการทางภาษี มาตรการนี้ที่ใส่ไปในบัตรประชารัฐ ไม่ได้ซื้อสินค้าธงฟ้าอย่างเดียว สามารถซื้อสินค้าได้จากร้านค้าที่มีคิวอาร์โค้ด หรือร้านค้าที่ติดเครื่องอ่านบัตร นอกจากนั้นยังจะมีมาตรการช่วยเหลือค่าเครื่องมือการศึกษา 
    "สิ่งที่เราต้องช่วยกันตอนนี้คือ ต้องช่วยกันในระบบเศรษฐกิจเราให้ได้ เพราะมีผลกระทบกับหลายประเทศ ผมไปประชุมมา ทุกคนก็มีปัญหาหมดเรื่องเศรษฐกิจโลก เรื่องความขัดแย้งอะไรต่างๆ มาตรการต่างๆ ของแต่ละประเทศมีผลกระทบโดยรวมกับทุกประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าข้างนอกมีปัญหาอย่างนี้แล้วข้างในมีปัญหาเข้าไปอีก ก็ไม่มีใครแก้ได้ พวกเราต้องแก้กันเอง ทำให้การใช้จ่ายในประเทศสามารถเดินหน้าไปได้ ภาคการผลิตสามารถผลิตสินค้าออกมาได้ หลายอย่างมีเพิ่มขึ้น หลายอย่างก็มีลดลง แต่ท้ายที่สุดก็เป็นไปด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทั้งประเทศ ถ้าเราว่ากันไปว่ากันมา ความเชื่อถือก็ลดน้อยลง" นายกฯ กล่าว 
    วันเดียวกัน นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2562 คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 3.4% และชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการส่งออกหดตัวในหลายหมวดสินค้า จากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้ภาพรวมการส่งออกในไตรมาสแรกขยายตัวติดลบที่ 3.6% และมีแนวโน้มที่การส่งออกในไตรมาส 2/2562 จะขยายตัวติดลบต่อเนื่อง แต่จะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีมีโอกาสสูงที่จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ 3.8% ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาตัวเลขอีกครั้ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"