กลายเป็นโดมิโน หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติแจ้งข้อกล่าวหา "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ก่อนหรือหลังวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.
ระหว่าง 8 มกราคม 2562 ที่ "ธนาธร" ชี้แจง หรือ 21 มีนาคม 2562 หลังวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ที่ปรากฏอยู่ในข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
แต่ก่อน กกต.จะมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง การแจ้งข้อกล่าวหา "ธนาธร" ที่เดิมพันสถานะ ว่าที่ ส.ส. ได้ลุกลามขยายไปยังพรรคอื่นๆ ว่า มีกรณีคล้ายกันหรือไม่ ประหนึ่งว่า หาก “พ่อของฟ้า” โดน คนเหล่านี้ไม่น่าจะรอดเช่นเดียวกัน
โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ขั้วตรงข้ามที่กลายเป็นเป้านิ่งถูกขุดหารอยแผลในลักษณะเดียวกับ "ธนาธร" ซึ่ง ณ ตอนนี้ พบแล้ว 3 คน ที่ฝ่ายตรงข้ามเจอช่องตรวจสอบได้ ได้แก่ "ชาญวิทย์ วิภูศิริ" ว่าที่ ส.ส.กทม. "ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์" ว่าที่ ส.ส.กทม. และ "พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ" ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
เบื้องต้นมีการโหมกระพือว่า เป็นกรณีเดียวกับนายธนาธร แต่สำหรับพรรคพลังประชารัฐ เตรียมพร้อมสู้คดีหากมีการร้องเรียนกับ กกต.
แม้อีกฝั่งจะระบุว่าเหมือนกัน แต่ทีมฝ่ายกฎหมายของพรรค "พลังประชารัฐ" มองว่าทั้ง 3 คนแตกต่าง โดยเฉพาะข้อมูลของ "ชาญวิทย์" ที่อ้างว่า ตามแบบฟอร์มการกรอกข้อมูลจดทะเบียนบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ต้องเลือกวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจแบบครอบจักรวาลไว้ก่อน
ซึ่ง "ชาญวิทย์" มีถึง 61 ข้อ!!!
ตรงนี้ใส่วัตถุประสงค์อะไรเข้าไปก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อ อสังหาริมทรัพย์ หรือก่อสร้างอาคาร แต่ข้อเท็จจริงหากจะดูว่าบริษัทใดทำสื่อ ต้องดูวัตถุประสงค์ตอนแจ้งงบการเงินว่า มีรายได้จากการทำธุรกิจอะไร
โดยมีการหยิบยกกันว่า หากกรณีแบบนี้ผิด อาจจะมี ส.ส.ครึ่งสภาฯ ที่อาจต้องปลิวหายไปด้วย ทว่า นั่นเป็นเพียงมุมมองของพรรคพลังประชารัฐอย่างเดียว
ขณะที่กรณี "ธนาธร" มีการทำนิตยสาร WHO จดทะเบียนจัดตั้งในนามบริษัท โซลิค มีเดีย จำกัด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2551 และต่อมา ปี 2555 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งมีการประกอบธุรกิจไปแล้ว
ประเด็นของ "ธนาธร" ไม่ได้อยู่ที่ว่า วันที่ 8 มกราคม 2562 จะอยู่ที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ หรือกลับมา กทม.ในช่วงบ่ายจริงหรือไม่ เพราะเป็นเพียงข้อสังเกตปลีกย่อยว่า คำชี้แจงของ "ธนาธร" เป็นจริงหรือไม่เท่านั้น หากแต่ประเด็นคือ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า วันที่ 21 มีนาคม 2562 กกต.จะยึดวันนี้หรือไม่
อย่างไรก็ดี กรณีการถือครองหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส.ได้กลายมาเป็นเกมการเมืองระหว่างพรรคการเมืองไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของการยุบพรรค เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันหนักถึงขั้นว่า จะยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีคุณสมบัติ "ธนาธร" รวมถึงกรณีหัวหน้าพรรคไปเซ็นรับรองคุณสมบัติ "ภูเบศวร์" เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร พรรคอนาคตใหม่ ที่ต่อมาถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินว่า ขาดคุณสมบัติจากการถือหุ้นสื่อ
ทว่าการร้องยุบพรรคจากการเซ็นรับรองส่งผู้สมัคร ส.ส.ที่ขาดคุณสมบัติ มันกลับกำลังเข้าเนื้อหลายพรรคเช่นกัน โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกร้องแล้ว 4 คนคือ สมศักดิ์ สุขประเสริฐ ผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร, ชาญวิทย์, ธณิกานต์ และ พงศ์กวิน
ซึ่งหาก กกต.และศาลตัดสินว่าขาดคุณสมบัติ จะเป็นกรณีเดียวกับที่ "ธนาธร" ในฐานะหัวหน้าพรรคเซ็นรับรองส่ง "ภูเบศวร์"
และดูท่าจะหนักกว่า เพราะ 3 ใน 4 ของคนของพรรคพลังประชารัฐที่ถูกร้องเป็นกรรมการบริหารพรรค ไม่ว่าจะเป็น "ชาญวิทย์", "ธณิกานต์" และ "พงศ์กวิน" แม้ตอนนี้พรรคจะค่อนข้างมั่นใจว่า จะไม่ถูกยุบพรรคหากผิด เพราะถือเป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวกับพรรค ที่ผู้สมัคร ส.ส.จะต้องเคลียร์ตัวเองมาแล้ว หัวหน้าพรรคมีหน้าที่แค่เซ็นรับรอง
ดังนั้น คดียุบพรรคจากข้อหานี้จึงไม่ง่าย เพราะมีผลกระทบต่อกันระหว่างพรรคอนาคตใหม่กับพรรคพลังประชารัฐ
หาก "ธนาธร" โดนวันโอนหุ้น ต้องมาดูในส่วนของพรรคพลังประชารัฐเช่นกันว่า คล้ายหรือแตกต่างกันแค่ไหน หากแตกต่างชัดเจนไม่เท่าไร แต่หากเหมือนแล้วมี “หนึ่งคนรอด” กับอีก “หนึ่งคนไม่รอด” ตรงนี้จะถูกมองว่าเป็นเรื่องของการกลั่นแกล้งได้
หากมีขบวนการกำจัดนายธนาธรจากฝั่งตรงข้ามจริง อย่างที่พรรคอนาคตใหม่พยายามประโคม บางทีขบวนการดังกล่าวก็อาจกำลังคิดหนักว่า อาจต้องยอมเสีย “เบี้ย” บางตัวในกระดานไปบ้างเพื่อแลกกับผลที่คุ้มค่าอย่าง “ขุน”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |