การนับคะแนนใหม่ ที่เขตเลือกตั้งที่ 1 จ.นครปฐม ระหว่าง “พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร” ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ และ ”สาวิกา ลิมปะสุวัณณะ” ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ ที่บทสรุปสุดท้ายเป็นทาง ปชป.ได้รับการชูมือด้วยคะแนนที่มากกว่า 4 คะแนน ท่ามกลางความสับสนและเสียงสวดส่งของบรรดา “ฟิวเจอร์ริสต้า” ทั้งหลาย ถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ย้อนไปดูต้นเรื่องนับแต่หลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา จะพบว่าเขตนี้มีการนับคะแนน จากทั้ง กกต.เอง รวมทั้งทีมงานผู้สมัครจากทั้ง 2 พรรค พลิกไปพลิกมาถึง 5 ตลบ จากการประกาศคะแนนดิบอย่างไม่เป็นทางการ การรวมคะแนนเองแล้วผลออกมาไม่ตรงกัน สู่การขอนับคะแนนใหม่แล้วยังมีความผิดพลาดเกิดขึ้นตอนนับคะแนนใหม่อีก ก่อนที่จะได้เป็นผู้ชนะหน้าเดิม แต่ระยะห่างที่ 147 คะแนน เปลี่ยนมาเป็น 4 คะแนนแทน
“สามารถ นาคสกุล” ผอ.กกต. จ.นครปฐม ได้พูดถึงการโยกคะแนน 66 คะแนน ของพรรคประชาธิปัตย์ในหน่วยเลือกตั้งที่ 25 ไปให้กับพรรคประชาภิวัฒน์ โดยระบุว่าเรื่องดังกล่าว เป็น “ความผิดพลาดของมนุษย์” และดูเหมือนประโยคนี้น่าจะงอกมาอีกหลายครั้งต่อจากนี้ เมื่อ กกต.ถูกทวงถามข้อสงสัยในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ทางหนึ่งต้องยอมรับว่า การที่ประเทศไม่ได้มีการเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบถึง 8 ปี การปรับเปลี่ยนกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่รูปแบบของบัตรเลือก การแข่งเขตเลือกตั้งใหม่ เบอร์ผู้สมัครในแต่ละเขตที่ต่างกัน และอื่นๆ อีกมากมาย เช่นเดียวกับการผลัด “7 อรหันต์ กกต.” ที่เป็นป้ายแดงทั้งหมด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความตะกุกตะกัก และความผิดพลาดจะเกิดขึ้น
แต่กระแสความไม่พอใจของประชาชนที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ระบุให้ 250 ส.ว.มามีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ท่ามกลางความสงสัยของฝ่ายตรงข้ามว่า เป็นการเอื้อให้กับ ส.ส.เขตของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ความสับสนเรื่องเบอร์ผู้สมัคร มาจนถึงการเลื่อนเลือกตั้งจากเดิม ในวันที่ 24 ก.พ. เลื่อนไปเป็น 24 มี.ค. การยุบพรรคไทยรักษาชาติ และสารพันปัญหาตั้งแต่การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การเลือกตั้งล่วงหน้า การประกาศผลคะแนนล่าช้า การดำเนินจนถึงปัญหาการตีความสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป ความไม่พอใจทั้งหมดทั้งมวล จึงระบายมาสู่ กกต. ในฐานะ “หนังหน้าไฟ” ที่ต้องรับไปเต็มๆ เพราะถือเป็น “ผู้รับผิดชอบรายล่าสุด” จนนำไปสู่การล่ารายชื่อถอดถอน โดยเฉพาะการลงชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org ที่รวบรวมรายชื่อประชาชนไปได้แล้วกว่า 820,000 ชื่อ
ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในการนับคะแนนใหม่ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีเขตอื่นๆ อีกหรือไม่ ที่หากมีการนับคะแนนใหม่อีกครั้ง อาจมีการ “พลิก” โฉมหน้าผู้ชนะในเขตนั้นเป็นอีกพรรค จากการประกาศคะแนนของ กกต. พบว่าใน 350 เขตทั่วประเทศ มีทั้งหมด 24 เขต ที่ผู้ชนะและอันดับ 2 มีคะแนนห่างไม่ถึง 1,000 คะแนน ในจำนวนั้นมี 9 เขต ที่คะแนนห่างอยู่ที่ไม่เกิน 500 คะแนน โดยมีเขตที่เฉือนกันสุดๆ 5 เขต ได้แก่ เขต 5 กทม. ที่ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ชนะ คะแนนผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐไป 27,897-27,667 ห่างกัน 230 คะแนน, เขต 28 กทม. อนาคตใหม่ ชนะ พลังประชารัฐ 29,590 ต่อ 29,413 ห่างกัน 173 คะแนน, เขต 6 เชียงราย อนาคตใหม่ ชนะ เพื่อไทย 23,273 ต่อ 23,081 ห่างกัน 192 คะแนน, เขต 2 ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อไทย ชนะ ประชาธิปัตย์ 32,507 ต่อ 3401 ห่างกัน 106 คะแนน, เขต 3 พิษณุโลก 25,207 ต่อ 25,003 พลังประชารัฐ ชนะ ประชาธิปัตย์ ห่างกัน 204 คะแนน
แม้ใน 5 เขตนั้น หากมีการ ”พลิก” เกิดขึ้นจริง ก็ไม่น่าจะส่งผลต่อการรวม ส.ส.เพื่อตั้งรัฐบาล แต่ในฐานะนักการเมืองคนหนึ่ง การที่ "ได้" หรือ "ไม่ได้" เข้าไปนั่งในสภานั้น มี ”มูลค่า” ต่างกันอย่างลิบลับ แต่ในเมื่อไม่มีใครยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อขอนับคะแนนใหม่ ก็คงไม่มีเหตุอันควรใดจะต้องไปนับใหม่ให้เสียทั้งเงินและเวลา ทั้งนี้สำหรับการนับคะแนนการเลือกตั้งใหม่เขต 1 นครปฐมนั้น คาดว่าใช้งบประมาณประมาณ 280,000 บาท ต่อการนับคะแนนใหม่ 1 เขต ซึ่งทั้ง 5 เขตข้างต้นอาจใช้งบประมาณต่ำกว่าจากจำนวนหน่วยเลือกตั้งที่น้อยกว่า
กลับมาที่เขต 1 นครปฐม ทางอนาคตใหม่ได้ออกแถลงการณ์เสนอให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขต 1 จากความเคลือบแคลงสงสัยที่เกิดขึ้น และเตรียมจะยื่นเรื่องขอเลือกตั้งใหม่อีกที่เขต 4 นครปฐม สืบเนื่องจากผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ ชนะเลือกตั้ง แต่ทางอนาคตใหม่เองบอกว่า มีหลักฐานที่ทางผู้ชนะนั้น ซื้อเสียง และส่งเรื่องให้ตำรวจไปแล้ว ความวุ่นวายที่เกิดแล้วและกำลังจะเกิด โดยเฉพาะกรณี ”ตรวจสอบผู้สมัครถือหุ้นสื่อ” ที่กลายเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ตัดฝ่ายตรงข้ามออกจากเกมการเมือง เมื่อ นายภูเบศร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.อนาคตใหม่ เขต 2 สกลนคร ฟาวล์ไปจากปมดังกล่าวตั้งแต่ยังไม่เลือกตั้ง ทีนี้ก็ต้องรอดูต่อไปว่า จากมาตรฐานที่มาจากดุลยพินิจของศาลฎีกาคดีเลือกตั้ง กับกรณีอื่นๆ หากเรื่องไปถึงศาลจริงจะมีการตัดสินกรณีนี้อย่างไร เพราะ อาจมีผู้เกี่ยวข้องจากทุกพรรคการเมืองอีกเพียบเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การเลือกตั้งยังคงไม่นิ่งจนกว่าจะถึงวันที่ 24 มี.ค.2563 หรือ 1 ปีหลังการเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญระบุ ระหว่างนั้นอาจมี “ฟ้าผ่า” ใส่ผู้สมัครพรรคใดพรรคหนึ่ง หรืออาจจะหลายพรรค ก็ไม่รู้ได้ แต่ที่แน่ๆ คือ กกต.เองต้องเป็นคนที่ต้องคอยตอบคำถามเหล่านี้ และปาดเหงื่อไปด้วยจน ปากเปียก ปากแฉะอย่างแน่นอน
สุดท้าย ไม่ว่าจะมีการนับคะแนนใหม่ หรือเลือกตั้งใหม่ สักกี่เขต หรือจะฟัน ส.ส.ไปกี่คน อย่างไรเสียท่ามกลางความสับสนอลหม่านทางการเมือง ที่ยังไม่รู้ว่าจะเดินหน้าไปทางไหนต่อ ผู้ที่ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจตามไปด้วย คงเป็น “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา“ และคณะ ที่จะยังคงได้นั่งอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าเรื่องต่างๆ จะนิ่ง และมีความชัดเจนแล้วนั่นเอง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |