หาก AI ทำให้คนตกงาน ควรจะแจกเงินทุกบ้านไหม?


เพิ่มเพื่อน    


    ถ้าหุ่นยนต์มาทดแทนคนได้จริงๆ อนาคตคนก็จะตกงานกันเป็นทิวแถว สังคมจะตั้งรับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอันรุนแรงนี้ได้อย่างไร?
    หนึ่งในข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหานี้คือ การให้รัฐบาลแจกเงินทุกคนในวัยทำงานเป็นรายได้ประจำ
    แนวคิดนี้มีชื่อว่า Universal Basic Income (UBI) ซึ่งมีความน่าสนใจไม่น้อย
    ข้อเสนอนี้เป็น "ประชานิยมสุดขั้ว" หรือไม่
    หรือเป็น "ทางออกสำหรับในยุคที่หุ่นยนต์และ AI จะมาแย่งงานคน" ใช่ไหม
    หนุ่มมะกันเชื้อสายจีนคนหนึ่งชื่อ Andrew Yang ถึงขั้นประกาศเสนอตัวเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในนามพรรคเดโมแครตด้วยนโยบาย UBI เป็นหลัก
    เขาบอกว่าถ้าเขาเป็นผู้นำสหรัฐฯ จะแจกทุกคนที่อายุเกิน 18 เดือนละ 1,000 เหรียญ
    เงินก้อนนี้ถือว่าเป็น "รายได้พื้นฐานสากล" ที่รัฐพึงจะมอบแก่ประชาชน
    เดือนละ 1,000 เหรียญไม่ได้มากพอที่จะทำให้ไม่ต้องทำงาน
    แต่ก็ไม่น้อยเกินไปสำหรับการอยู่รอดไปวันๆ
    เพราะหากคนต้องตกงานด้วยสาเหตุเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องแจกเงินรายได้ขั้นต่ำให้ทุกคน
    จะเอาเงินมาจากไหน?
    คนที่เชื่อในหลักการนี้เสนอว่าเงินก็ควรจะเก็บภาษีจากบริษัทต่างๆ ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะใช้หุ่นยนต์หรือ AI มาทดแทนคน 
    และเก็บภาษีเพิ่มจากเศรษฐีทั้งหลายที่ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
    นโยบายเรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ
    เช่นจำนวนเงินที่จะแจกนั้นควรจะมากน้อยแค่ไหน
    บางคนเสนอว่า "รายได้ขั้นพื้นฐาน" ที่จะแจกนั้นไม่ควรจะมากเกินไป ควรอยู่ในระดับที่ยังให้ผู้ได้รับยังต้องพยายามหางานทำอยู่ ไม่ใช่ได้เงินประจำเดือนมากพอที่จะทิ้งงานทิ้งการ ใช้ชีวิตอย่างไร้เป้าหมาย
    แต่อีกบางคนก็มีความเห็นว่ารายได้ขั้นพื้นฐานที่จะแจกให้ทุกคนนั้น ควรจะมากพอที่จะทำให้ผู้คนไม่ต้องกังวลต่อการยังชีพวันต่อวัน เพื่อว่าจะได้ใช้เวลาว่างและความมั่นคงของรายได้นี้ไปคิดอะไรที่สร้างสรรค์และทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย
    คนที่สนับสนุนแนวคิดนี้บอกว่าเมื่อหุ่นยนต์สามารถทำงานแทนคนได้จำนวนมากพอ สังคมมนุษย์ก็จะก้าวเข้าสู่สภาวะ "สังคมสุขนิยม" หรือ leisure society 
    ในสังคมใหม่เช่นนี้คนก็ไม่จำเป็นต้องเครียดกับการต้อง "ทำมาหากิน" อีกต่อไป ใช้เวลาว่างนั้นทำสิ่งที่ตนเองมีความชอบอย่างมีความสุข ไม่ต้องป็น "ทาส" ของระบบเศรษฐกิจ "ใครมือยาวสาวได้สาวเอา" อีกต่อไป
    ความจริงวิธีคิดเรื่อง UBI นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่
    ที่อเมริกาสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน หรือแม้กระทั่งนักต่อสู้เพื่อคนผิวดำอย่างมาร์ติน ลูเธอร์  คิงก็เคยนำเสนอนโยบายเช่นนี้
    แต่ในช่วงจังหวะนั้น เจตนาของการเสนอแนวคิดนี้ก็เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน และเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของชนชั้นล่างในสังคมอเมริกัน
    ความจริงนิกสันเกือบจะประกาศนโยบายแจกเงินทุกครอบครัวให้พ้น "เส้นแห่งความยากจน" เพื่อสร้างความนิยมให้ตัวเอง แต่ร่างกฎหมายนั้นไม่ผ่านสภา ทำให้หัวข้อนี้หายไปจากเวทีถกแถลงทางการเมืองอยู่พักใหญ่
    เชื่อหรือไม่ว่าความคิดนี้ได้รับการฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ในแวดวงผู้ประกอบการนวัตกรรมยุคดิจิตอลใน  Silicon Valley โดยที่เจ้าของ startups อย่างนาย Sam Altman ของบริษัท Y Combinator และ Chris  Hughes ผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊กที่ประกาศให้ทุนวิจัยเพื่อทำโครงการนำร่องแจกเงิน UBI อีกครั้ง
    ความสนใจของ Silicon Valley ต่อแนวคิด "รายได้พื้นฐานสากล" ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องการแก้ปัญหาความยากจนเหมือนในอดีต
    แต่เป็นการวางแนวทางเพื่อการแก้ปัญหาคนตกงานอันเกิดจากการใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์  (AI) ที่มีสัญญาณว่าจะทำให้คนตกงานกันอย่างกว้างขวางในหลายๆ อาชีพซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาของสังคม
    นโยบาย UBI จะเกิดได้จริงหรือไม่ก็ตาม แต่การถกแถลงแนวทางการตั้งรับปัญหาคนว่างงานเพราะเทคโนโลยีกำลังเป็นหัวข้อร้อนแรงทั่วโลก
    ไทยเราก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น...หากนักการเมืองของเรามีวิสัยทัศน์ยาวไกลเพียงพอ!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"